Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2541








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2541
เก้าอี้บอร์ดรัฐวิสาหกิจ สมบัติ(ต้อง)ผลัดกันชม             
 





"แค่รายได้จากเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ก็ไม่ต้องใช้เงินเดือนแล้ว ยิ่งใครเป็นหลายแห่ง ยิ่งสบายเลย" บอร์ดรัฐวิสาหกิจคนหนึ่งกล่าวเอาไว้

ผลตอบแทนจากการนั่งเก้าอี้บอร์ดรัฐวิสาหกิจ น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าคนที่มาเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาเกือบทุกยุคทุกสมัย ทันทีที่เปลี่ยนแปลงทางการเมือง มีรัฐมนตรีใหม่ ก็หนีไม่พ้นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เพราะหน้าที่ของบอร์ดรัฐวิสาหกิจก็ไม่ต่างไปจากคณะบริหารของบริษัทเอกชน ที่ต้องตัดสินใจกลั่นกรองงานสำคัญๆ ก่อนจะส่งมาถึงมือรัฐมนตรีต้นสังกัดให้รับทราบ

รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งให้ผลตอบแทนกับบอร์ดแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่ก็ขึ้นอยู่กับความร่ำรวยของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ ที่น่าสนใจคือ ผลตอบแทนนี้ไม่ได้อยู่ในรูปของตัวเงิน ที่เป็นเบี้ยประชุมหรือโบนัสปลายปีตามผลประกอบการ แต่เป็นการสมนาคุณในรูปอื่นๆ ตามที่รัฐวิสาหกิจเหล่านั้นจะสรรหามาให้ ซึ่งหากคิดเป็นเงินแล้วมากกว่าเบี้ยประชุมหลายเท่าตัวนัก

ที่สำคัญผลตอบแทนเหล่านี้อยู่นอกเหนือจากกฎเกณฑ์ที่กระทรวงการคลัง ในฐานะของผู้ถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจเหล่านี้จะรับรู้ได้

แม้ว่าในยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลจะต้องรัดเข็มขัดมีนโยบายให้ลดเพดานค่าเบี้ยประชุมรายเดือนลง 20% ซึ่งคิดเป็นตัวเงินจะต้องไม่เกิน 6,000 บาทต่อเดือนก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ทำให้กระทบกระเทือนไปถึงผลประโยชน์ในรูปแบบอื่นๆ โดยเฉพาะบัตรเครดิต ยังเป็นผลตอบแทนยอดฮิตที่มีไว้สำหรับทุกบอร์ด

หากจัดอันดับแล้ว บริษัทการบินไทย รัฐวิสาหกิจในสังกัดของกระทรวงคมนาคมต้องติดอันดับแรก เพราะหากใครได้นั่งเป็นบอร์ดนี้แล้ว ไม่เพียงแค่เบี้ยประชุมต่อเดือนตามเพดานที่กำหนดไว้

แต่ความน่าสนใจของการเป็นบอร์ดการบินไทยคือ การได้สิทธิบินฟรีทั้งในและนอกประเทศ ตั๋วที่ได้รับก็เป็นระดับเฟิสต์คลาส ซึ่งสิทธินี้รวมไปถึงภรรยาและลูกๆ ที่ติดตามก็ได้ตั๋วชั้นเฟิสต์คลาสด้วย

หากคิดเป็นมูลค่าเงินก็คงไม่ต้องบอกว่ามหาศาลเพียงใด เอาแค่บินไปกลับกรุงเทพ-อเมริกาชั้นเฟิสต์คลาสปีละ 3-4 เที่ยว มาเป็นบอร์ดแค่ปีเดียวก็คุ้มแล้ว เพราะสิทธินี้การบินไทยเขาให้กับบอร์ดทุกคนได้ใช้ไปตลอดชีวิต แม้จะหมดวาระแล้วก็ตาม

นอกจากนี้ การบินไทยยังมีบัตรเครดิตไว้ให้เหล่ากรรมการบอร์ด เอาไว้สำหรับเลี้ยงรับรองหรือประชุมนอกสถานที่ บัตรเครดิตนี้ไม่จำกัดวงเงิน เรียกว่า รูดกันได้ไม่มีพิกัด ขึ้นอยู่กับสามัญสำนึกของแต่ละคน แถมในช่วงสิ้นปีหากมีกำไรบริษัทการบินไทยจะแจกโบนัสให้อีกขึ้นอยู่กับผลประกอบการ แต่จำกัดเอาไว้ว่าจะต้องไม่เกิน 1 แสนบาท

บอร์ดรัฐวิสาหกิจอันดับต่อมาที่ให้ผลตอบแทนไม่น้อยหน้ากว่ากันนัก คือ องค์การโทรศัพท์ฯ ที่มีค่าเบี้ยประชุมให้ประธานบอร์ดเดือนละ 6,000 บาทมีรถประจำตำแหน่งเบนซ์ 230 อี ให้ 1 คัน ส่วนกรรมการจะรับกันไปเดือนละ 4,000 บาท นอกจากนี้ ทศท.มีโบนัสแจกให้บอร์ดทุกปีตามแต่กำไรจะมีมากน้อยเพียงใด

และเพื่อให้สมกับเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านโทรคมนาคม ทศท.จึงมีอุปกรณ์สื่อสารไว้ให้คณะกรรมการแต่ละคนเอาไว้ใช้งาน มีทั้งโทรศัพท์พื้นฐาน โทรศัพท์มือถือระบบจีเอสเอ็ม แฟ็กส์ และวิทยุติดตามตัว อุปกรณ์ทั้งหมดนี้มีไว้ให้กับบอร์ดทุกคนเหมือนกันหมด

นอกจากนี้ ค่าบริการของอุปกรณ์สื่อสารเหล่านี้ ทศท.ยังออกค่าใช้จ่ายให้ด้วยแบบไม่มีจำกัด แต่ก็อยู่ในขอบเขตอำนาจของ ทศท. คือโทรได้ในประเทศและประเทศรอบนอก เช่นมาเลเซีย แต่หากโทรไปต่างประเทศอื่นๆ จะต้องออกค่าใช้จ่ายเอง

แม้ว่าบอร์ด ทศท.บางคนจะหมดวาระไปแล้วก็ตาม แต่ ทศท.ยังใจดีไม่เรียกอุปกรณ์เหล่านี้กลับคืน มอบเอาไว้ให้ใช้ตลอด

แหล่งข่าวจากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ กล่าวว่า กรณีของโทรศัพท์มือถือ ทศท.ใช้วิธีตกลงกับบริษัทผู้รับสัมปทานในสังกัด เช่น ทศท.เอาไปให้บอร์ดใช้ 5 เครื่อง เอไอเอสก็มีสิทธิเอาไปใช้ฟรี 5 เครื่องเช่นกัน โดยไม่ต้องนำไปคิดรวมกับค่าผลประโยชน์ตอบแทนที่ต้องจ่ายให้กับ ทศท.

แต่บอร์ดในยุคของมีชัย วีระไวทยะ ประธานบอร์ด ทศท.ที่ต้องการเน้นภาพลักษณ์และประหยัดตามสไตล์มีชัย นอกจากตัวเองไม่รับรถประจำตำแหน่งแล้ว ยังสั่งให้ลดเบี้ยประชุมบอร์ด ทศท.เหลือแค่ 50%

นโยบายนี้มีชัยยังนำไปใช้ในบอร์ดแบงก์กรุงไทยด้วย สั่งให้ลดเบี้ยประชุมของประธานบอร์ดจาก 80,000 บาท เหลือ 40,000 บาทและไม่ยอมรับรถประจำตำแหน่ง ที่เป็นบีเอ็ม ดับบลิว ซีรีส์ 7 อีกด้วย ส่วนกรรมการแต่เดิมเคยได้กัน 40,000 บาท ก็ถูกหั่นเหลือแค่ 20,000 บาท รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคมอีกรายที่ไม่น้อยหน้าใคร คือ วิทยุการบิน หน่วยงานทำหน้าที่จัดการระบบจราจรทางอากาศ มีรายได้มาจากค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บกับสายการบินต่างๆ ที่มาใช้บริการขึ้นลงบนสนามบิน

หน่วยงานนี้มีจุดเด่นที่เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ไม่ต้องของบประมาณจากรัฐและไม่ต้องส่งรายได้ให้รัฐ รายได้กับรายจ่ายจึงต้องสมดุลกัน ปีไหนรายได้มากกว่าค่าใช้จ่าย พนักงานและบอร์ดก็ได้โบนัสไปเพียบ หากรายได้ไม่พอค่าใช้จ่ายก็ขอชาร์จค่าธรรมเนียมเพิ่มกับสายการบินได้

ผลตอบแทนของบอร์ดวิทยุการบินจึงเต็มที่ นอกจากเบี้ยประชุมต่อเดือนที่ได้ในอัตราปกติที่กำหนดไว้แล้ว สามารถขอตั๋วเครื่องบินได้ฟรีทั้งในและนอกประเทศ ได้พักโรงแรมชั้นดีในประเทศฟรี มีบัตรเครดิตไว้ให้ใช้แบบไม่จำกัดวงเงิน

ทางด้านการท่าอากาศยานฯ บอร์ดของหน่วยงานนี้มีเบี้ยประชุมตามปกติ มีโบนัสให้ปีละ 30,000 บาท มีบัตรเครดิตให้บอร์ดทุกคนใช้ แต่จำกัดวงเงิน 20,000-30,000 บาทต่อเดือน

แต่ที่ประทับใจบอร์ดคือ ทุกปีจะมีการจัดพาเที่ยวไปตามต่างจังหวัด หรือบางครั้งก็ไปถึงต่างประเทศ เรียกกันว่า ไปประชุมนอกสถานที่ ที่น่าสนใจคือทุกเที่ยวที่ไปจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพียบพร้อม ทั้งอาหาร ที่พักและพาหนะรับส่ง บอร์ดที่เคยไปต่างลงความเห็นว่า ทัวร์ชั้นเยี่ยมๆ ยังต้องยอมแพ้

ส่วนการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) แม้จะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบบริการโทรคมนาคมเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้แจกสิ่งอำนวยความสะดวกเท่าที่ควร เพราะที่นี่จะมีเบี้ยประชุม 6,000 บาทตามที่กระทรวงการคลังกำหนดเพดานเอาไว้ และมีโทรศัพท์มือถือระบบแอมป์ 800 หรือ พีซีเอ็น 1800 ไว้ให้ใช้เพียงเครื่องเดียว

สำหรับรัฐวิสาหกิจที่มีผลประกอบการขาดทุนอย่างการประปา หรือการรถไฟ แม้จะมีเบี้ยประชุมไม่แตกต่างกัน แต่ผลตอบแทนในรูปแบบอื่นๆ ก็ลดน้อยตามรายได้ เรียกว่า หากใครนั่งเป็นบอร์ดหน่วยงานเหล่านี้ จะเรียกหาสิ่งอำนวยความสะดวก คงต้องรอไปอีกนาน

บอร์ดการประปา รับกันเดือนละ 2,500-4,000 บาท ส่วนการรถไฟก็เช่นกันได้รับค่าเบี้ยประชุมกันตามเพดานที่กำหนดไว้ และมีตั๋วรถไฟตู้นอนฟรีไว้ให้บริการ แต่ดูเหมือนจะไม่เป็นที่นิยมของบอร์ดเหล่านี้

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า การกำหนดอัตราผลตอบแทน ขึ้นอยู่กับขนาดและความสำคัญของแต่ละรัฐวิสาหกิจ ส่วนอำนาจในการกำหนดผลตอบแทนให้บอร์ด จะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย บางรัฐวิสาหกิจก็ให้อำนาจรัฐมนตรีต้นสังกัด บางแห่งก็ต้องขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สภาพัฒน์ ซึ่งแต่ละแห่งก็มีสิทธิเสนอมาได้

สำหรับกระทรวงการคลังแล้ว ในฐานะของผู้ถือหุ้นเอง แม้จะไม่ยินดีนักกับผลตอบแทนที่นอกเหนือจากเบี้ยประชุม เพราะหนีไม่พ้นต้องใช้งบประมาณของรัฐ ซึ่งเป็นภาษีของประชาชน แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะไม่มีบทลงโทษ ทำได้แค่ตำหนิหรือสั่งให้กำหนดเพดานขั้นต่ำของผลตอบแทนในรูปของเงิน

เก้าอี้บอร์ดรัฐวิสาหกิจจึงยังคงยึดเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันมาทุกยุคทุกสมัย แต่เก้าอี้นี้ก็ไม่ต่างจากสมบัติผลัดกันชม ขึ้นอยู่กับว่ายุคสมัยของใคร และใครจะดวงดีกว่ากันเท่านั้นเอง

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us