เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2541ที่ผ่านมานั้น ปรส.ได้นำเอาอสังหาริมทรัพย์ที่ยึดมาจาก
56 ไฟแนนซ์เน่าออกมาประมูลขายเป็นครั้งแรก รวมทั้งสิ้น 319 รายการ มูลค่าตามราคาเริ่มต้นประมาณ
3,800 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาเริ่มต้นที่ยอมรับว่าต่ำมาก เพื่อจูงใจให้มีผู้เข้าร่วมประมูล
ในขณะเดียวกันมูลค่าทางบัญชีทรัพย์สินพวกนี้ ปรส.เคยให้ข่าวไว้ว่าประมาณ
10,000 ล้านบาท ในขณะที่ราคากลางถูกประเมินไว้ที่ประมาณ 3-4 พันล้านบาท
แบ่งเป็นทรัพย์สินราคาเริ่มต้นต่ำกว่า 15 ล้านบาท ที่ใช้วิธียกมือในการประมูล
มีจำนวน 273 รายการ อยู่ในกรุงเทพฯ 88 รายการ วันนั้นทำการประมูลได้ไป 67
รายการในมูลค่า 372 ล้านบาท สูงกว่าราคาเริ่มต้นประมาณ 69%
ต่างจังหวัดมีจำนวนทรัพย์สิน 185 รายการประมูลได้ 117 รายการ ประมูลได้ในราคา
389 ล้านบาท สูงกว่าราคาเริ่มต้นที่วางไว้ประมาณ 47%
ส่วนทรัพย์สินที่ราคาเกิน 15 ล้านบาท และใช้วิธีประมูลแบบยื่นซองนั้นมีทั้งสิ้น
46 รายการ สามารถประมูลได้ทรัพย์สิน 13 รายการ ราคาที่ประมูลได้รวม 778 ล้านบาท
สูงกว่าราคาเริ่มต้น 34%
สรุปแล้วในวันนั้นทรัพย์สิน 319 รายการถูกประมูลไปได้แล้วเพียง 197 รายการ
เป็นเงินประมาณ 1,538 ล้านบาท
อมเรศ ศิลาอ่อน ประธานกรรมการของ ปรส.ออกมากล่าวยืนยันอย่างภูมิใจว่า การประมูลครั้งนี้ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก
เพราะราคาเริ่มต้นของทรัพย์สินทั้งหมดรวมกันเพียง 1,064 ล้านบาทเท่านั้น
คิดเป็นอัตราที่ประมูลได้สูงกว่าอัตราเริ่มต้นถึง 44.55%
แต่อมเรศหลีกเลี่ยงที่จะไม่พูดถึงว่า ยังมีทรัพย์สินที่เอาออกมาขายในวันนั้น
แต่ไม่มีผู้สนใจประมูลอีกตั้ง 122 รายการ
ดังนั้นที่ ปรส.เคยออกมาพูดก่อนหน้านี้ว่า ทรัพย์สินทั้งหมดที่มีราคากลางประมาณ
4,000 กว่าล้านบาทนั้น น่าจะทำรายได้รวมสูงกว่าประมาณ 5% คือประมาณ 4,200
ล้านบาทนั้น มันเป็นจริงไปไม่ได้แล้ว เพราะทรัพย์สินในส่วนที่เหลือยังมีอีกมาก
และ ปรส.จะต้องเอามาประมูลอีกเป็นรอบที่ 2 หรือรอบที่ 3 ความสนใจของคน รวมทั้งราคาในครั้งต่อไปนั้น
ไม่น่าจะมากไปกว่าการประมูลครั้งแรก ซึ่งคาดกันว่าในส่วนที่เหลือนี้ทาง ปรส.อาจจะต้องเอาไปปรับปรุงราคาเริ่มต้น
หรือวิธีการประมูลกันใหม่อีกครั้ง
แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดอย่างเดียวในวันนั้นก็คือ ถ้าทรัพย์สินชิ้นใดมีสภาพที่ดี
อยู่ในทำเลที่มีศักยภาพ อย่างไรก็ต้องขายได้ในราคาที่ดี เช่น อาคารคาเธ่ย์ทรัสต์
บนถนนพระราม 4 ซึ่งเป็นอาคารสูง 11 ชั้นพื้นที่รวม 21,689 ตร.ม.นั้น มีผู้ยื่นซองถึง
9 บริษัทราคาเริ่มต้น 170 ล้านบาทนั้นถูก bid ไปจบลงที่ 278.77 ล้านบาท โดยบริษัทยอดหล้าพร็อพเพอร์ตี้
ซึ่งเป็นราคาที่ดีที่สุดในการประมูลในวันนั้น และเรียกเสียงฮือฮาดังลั่นห้องประชุม
ห้องชุดของเสี่ยพงษ์พันธ์ สัมภวคุปต์ P.S.ทาวเวอร์ ย่านอโศกจำนวน 15 ห้อง
ราคาเริ่มต้น 32 ล้านบาท บริษัทญาติสัมพันธ์ยื่นซองรายเดียวประมูลไปได้ในราคา
40 ล้านบาท หรืออาคารไทยรุ่งเรืองทรัสต์ ราคาเริ่มต้นที่ 18 ล้านบาทก็ไปปิดที่ราคา
30 ล้านบาท เช่นเดียวกับอาคาร C.P.I.ทาวเวอร์บนถนนสุขุมวิท ซึ่งเป็นห้องชุดสำนักงาน
4 ห้อง พื้นที่รวมประมาณ 1,300 ตารางเมตร ราคาเริ่มต้น 25 ล้านบาท ไปปิดที่ราคา
33 ล้านบาท โดยกองทุนรวมสินทรัพย์ไทยรวม 1 ประมูลได้ไป ห้องชุดสำนักงานของอาคารสาธรธานี
บนถนนสาธร 4 ห้องพื้นที่รวมประมาณ 1,000 ตารางเมตร ราคาเริ่มต้น 25 ล้านบาทไปปิดที่
36 ล้านบาท
ส่วนที่ดินแปลงเปล่าอีกหลายแปลงที่ไม่มีผู้ยื่นประมูล แปลงที่ประมูลได้ก็ไม่ได้สูงกว่าราคาเริ่มต้นมากนัก
เช่น ที่ดินจัดสรรชินเขตในซอยชินเขต ถนนงามวงศ์วาน 5 แปลง พื้นที่รวม 1,684
ตารางวา ราคาเริ่มต้น 25 ล้านบาท ประมูลได้ไปในราคา 27 ล้านบาท
และเช่นเดียวกัน ในส่วนของบ้านเดี่ยวก็เป็นไปตามคาดหมาย รายการบ้านเดี่ยวที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในวันนั้นคือ
โครงการบ้านนันทวัน 2 ชั้น พื้นที่ 133 ตารางวา บนถนนรามอินทรา ซึ่งถูกกำหนดราคากลางไว้เพียง
2.6 ล้านบาท มีผู้เข้าร่วมประมูลเกือบ 30 รายราคาถูก bid ไปจนถึง 6 ล้านบาท
ซึ่งใกล้เคียงกับราคาซื้อขายจริงที่ "ผู้จัดการรายเดือน" เคยตรวจสอบเอาไว้
สำหรับบรรยากาศการประมูลคึกคักตลอดทั้งวัน เจ้าหน้าที่ของ ปรส.เปิดเผยว่า
ทรัพย์สินที่มีผู้สนใจซื้อรายงานการประเมินมากที่สุดคือ อาคารคาเธ่ย์ทรัสต์
45 เล่ม, อาคารไทยรุ่งเรืองทรัสต์ 31 เล่ม, บ้านนันทวัน 27 เล่ม, สำหรับเรือยอร์ช
1 ลำ ราคากลาง 6 ล้านบาทนั้น ไม่มีผู้สนใจประมูลต้องเอามาประมูลในรอบต่อไป