หลังจากเศรษฐกิจตกสะเก็ดกลุ่ม บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ยักษ์ใหญ่วงการอุตสาหกรรมไทยได้รับผลกระทบอย่างมหาศาล
จนได้รับผลขาดทุนในปี 2540 จำนวน 52,551 ล้านบาท ทำให้ต้องปรับโครงสร้างธุรกิจในเครือทั้งหมดอย่างเร่งด่วน
เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันและอนาคต ทั้งด้านการบริหารงาน โครงสร้างการเงิน
โดยให้แมคคินซี แอนด์ คอมพานี อิงค์ เป็นที่ปรึกษาปรับโครงสร้างธุรกิจ คาดว่าคงต้องใช้เวลานานพอสมควร
ก่อนที่จะถึงวันนั้นบริษัทในเครือปูนซิเมนต์แต่ละบริษัทต้องปรับปรุงธุรกิจของตัวเองไปด้วย
ล่าสุดธุรกิจกระดาษที่มีหัวเรือใหญ่อย่าง บมจ.เยื่อกระดาษสยาม (SPP) ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
จากความต้องการกระดาษในประเทศลดลงจนขาดทุนสุทธิในปี 2540 จำนวน 2,319 ล้านบาท
ถ้ารวมบริษัทย่อยเข้าไปขาดทุนสุทธิสูงถึง 5,735 ล้านบาท ซึ่งรวมขาดทุนสุทธิจากอัตราแลกเปลี่ยนประมาณ
2,975 ล้านบาทใน SPP แต่ถ้ารวมบริษัทย่อยขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 6,681
ล้านบาท
นโยบายการดำเนินงานในช่วงนี้ของ SPP คือ พยายามสร้างรายได้เข้ามาเพื่อก่อให้เกิดสภาพคล่องทางการเงิน
ส่วนแผนการลงทุนที่วางไว้เดิม บริษัทประกาศออกมาแล้วว่ายกเลิกหรือชะลอออกไปก่อน
นอกจากนี้ยังมีนโยบายปรับราคาสินค้าตามสภาวะต้นทุนการผลิต หาตลาดต่างประเทศให้กว้างมากขึ้น
รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายและต้นทุนการผลิตทุกขั้นตอน บริหารเงินอย่างมีประสิทธิภาพโดยการลดสินค้าคงคลัง
ปรับลดระยะและวงเงินให้สินเชื่อแก่ลูกค้า
เมื่อบริษัทแม่อย่าง SPP มีแผนการดำเนินงานอย่างชัดเจนเช่นนี้ มีหรือที่บริษัทลูกต่างๆ
ไม่สนองตอบ ล่าสุดบริษัทผลิตภัณฑ์กระดาษไทย จำกัด ผู้ผลิตกระดาษพิมพ์เขียน
ซึ่งมี SPP ถือหุ้นทั้งหมด 100% เร่งสร้างรายได้ให้กับตัวเองด้วยการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ภายใต้ชื่อ
"กรีน รีด" เนื่องจากขณะนี้บริษัทมีรายได้จากการขายลดลงประมาณ
30-40%
"ตอนนี้เราทำธุรกิจเพื่อความอยู่รอด เพราะการบริโภคกระดาษพิมพ์เขียนในประเทศลดลงประมาณ
40%" สมบูรณ์ ชัชวาลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทผลิตภัณฑ์กระดาษไทย จำกัด
กล่าว กระนั้นก็ตามในปี 2540 บริษัทยังสามารถทำยอดขายให้กับ SPP จำนวน 4,810
ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2539 ถึง 28.1%
กระดาษกรีน รีด เป็นผลิตภัณฑ์ล่าสุดของบริษัทและเป็นรายแรกในไทยที่ผลิตออกมาจำหน่าย
ลักษณะของกระดาษมีสีนวล ผิวหน้าหยาบ สามารถลดแสงสะท้อนเข้าสู่ดวงตา เป็นการถนอมสายตา
"ในต่างประเทศกระดาษชนิดนี้ใช้พิมพ์หนังสือมานานแล้ว ขณะที่บ้านเรายังไม่นิยมกัน
เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่นิยมกระดาษสีขาวฟ้า เหมือนที่นิยมใส่ครามในผ้าสีขาว
แต่เดิมบริษัทผลิตกระดาษปอนด์สีนวล จึงเปลี่ยนการผลิตบางส่วนตามความต้องการของตลาดส่วนใหญ่
ขณะเดียวกันยังมีผู้บริโภคบางส่วน และบริษัทเล็งเห็นถึง ผลกระทบต่อสุขภาพตาของผู้อ่านหนังสือบนกระดาษซึ่งมีความขาวสว่างมากๆ"
สมบูรณ์ กล่าว
การตัดสินใจผลิตกระดาษกรีน รีด ขึ้นมาครั้งนี้เพื่อหนอนหนังสือโดยเฉพาะ
เนื่องจากนักอ่านเหล่านี้ใช้สายตาอย่างมาก ซึ่งความจริงแล้วกระดาษที่เหมาะสมในการพิมพ์หนังสือ
ควรเป็นกระดาษสีนวล ไม่ใช่กระดาษปอนด์สีขาว
"สังเกตได้จากหนังสือพ็อกเกตบุ๊คของต่างประเทศจะใช้กระดาษสีนวลพิมพ์
เพราะจะสะท้อนแสงน้อยกว่ากระดาษปอนด์สีขาวถึง 20%" สมบูรณ์ กล่าวถึงผลดีของการใช้กระดาษกรีน
รีด
สำหรับเป้าหมายด้านการตลาดของบริษัทจะเน้นไปยังสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่มีการพิมพ์หนังสือประเภทพ็อกเกตบุ๊ค
ขณะนี้ได้นำผลิตภัณฑ์ไปทดสอบกับลูกค้ามาแล้ว เช่น บมจ.อมรินทร์พริ้นติ้ง
แอนด์ พับลิชชิ่ง (APRINT) และ บมจ.ซีเอ็ดยูเคชั่น (SE-ED)
"กรีน รีด เริ่มผลิตมาได้ 6 เดือนแล้ว ช่วงแรกๆ จะเป็นการทดลองตลาดดูว่า
ผลตอบรับจะเป็นอย่างไรบ้าง ที่ผ่านมาถือว่าได้ผลพอสมควร เราจึงผลิตเต็มที่
ซึ่งสินค้าตัวนี้ที่เราได้คำแนะนำมาจากผู้ใช้ จนกระทั่งตัดสินใจผลิตออกมาเพื่อสนองตอบกับตลาดพ็อกเกตบุ๊ค"
วิทยา ยมลยง ผู้อำนวยการการตลาดของบริษัทกล่าว
ด้านกำลังการผลิตกรีน รีด เริ่มต้นที่ระดับ 1,200 ตันต่อปี แต่ไม่ได้ลงทุนอะไรมากมายเนื่องจากใช้เครื่องจักรเดิมที่มีอยู่แล้วผลิต
เพียงแต่ปรับเปลี่ยนสูตรการผลิตเท่านั้น" บริษัทเรามีเครื่องผลิตกระดาษทั้งหมด
11 เครื่อง แต่ละเครื่องสามารถผลิตกระดาษชนิดอื่นๆ ได้อีกมากมาย ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตโดยรวมประมาณ
300,000 ตันต่อปี" วิทยากล่าว
สมบูรณ์ กล่าวเสริมว่าการผลิตกรีน รีด ออกมาไม่ใช่ไปลดกำลังการผลิตสินค้าตัวอื่นๆ
เพียงแต่เพิ่มการผลิตกรีน รีด เข้าไปเท่านั้น "นี่คือกลยุทธ์การตลาดของเรา
เพื่อฉีกแนวในการสร้างดีมานด์ให้เพิ่มขึ้นและไปทดแทนกระดาษสีขาว" ซึ่งต้นทุนการผลิตกรีน
รีด จะต่ำกว่ากระดาษปอนด์ประมาณ 5% เนื่องจากขนาดที่ผลิตมีขนาดเดียว คือ
65 แกรม สามารถนำไปใช้แทนกระดาษปอนด์ 70 หรือ 80 แกรมได้ ที่สำคัญระดับราคาจำหน่ายยังมีความใกล้เคียงกัน
ดังนั้นเจตนารมณ์ของกรีน รีด คือ ผลิตเพื่อทดแทนกระดาษปอนด์สีขาว อีกทั้งในปัจจุบันเริ่มมีการนำเข้ากระดาษสีนวลมากขึ้นกว่าในอดีต
เนื่องจากตลาดเริ่มตอบรับมากขึ้น ดังนั้นเพื่อไม่ให้เป็นการเสียโอกาสตรงนี้ไป
"กรีน รีด" จึงเป็นทางเลือกใหม่ของผู้ผลิตหนังสือในประเทศไทย
"ราคาขายกระดาษปอนด์เท่าไหร่ กระดาษกรีน รีด ก็ขายระดับนั้น ถ้าขายสูงกว่ามั่นใจว่าจะขายไม่ได้แน่นอน
ปัจจุบันเขาขายกันที่ระดับ 28 บาทต่อกิโลกรัม กลยุทธ์ของเราก็คือ ถ้าเขาขึ้นราคา
เราก็จะขึ้นตาม" วิทยากล่าว
เป้าหมายยอดขายของบริษัทที่มีต่อผลิตภัณฑ์กรีน รีด คาดว่าจะจำหน่ายได้
100 ตันต่อเดือน และสมมติว่ามีแววสดใส บริษัทจะขยายกำลังการผลิตออกไปอีก
ซึ่งความเป็นไปได้นั้นมีสูง "เนื่องจากคู่แข่งอย่าง บมจ.แอ็ดวานซ์ อะโกร
(AA) คงจะไม่สามารถทำการผลิตออกมาได้ เพราะเครื่องจักรมีขนาดใหญ่เกินไป"
สมบูรณ์กล่าวตบท้าย