Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2541








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2541
US ASEAN มั่นใจเศรษฐกิจไทยเดินหน้าลงทุนต่อ             
 


   
search resources

สภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน - US-ASEAN




ท่ามกลางความลังเลใจของนักลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะการลงทุนระยะยาวที่ยังมีค่อนข้างมาก เนื่องจากยังไม่มั่นใจเศรษฐกิจไทยโดยรวม แม้ว่าขณะนี้สถานการณ์ดังกล่าวได้เริ่มผ่อนคลายลงบ้างแล้ว อาทิ อัตราดอกเบี้ย ภาวะตลาดหุ้น แต่หลายคนมีความคิดติดอยู่ว่า นี่คือของแท้หรือของปลอม

อย่างไรก็ตามสภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน (US-ASEAN) กลับมองว่า ถึงเวลาแล้วที่การลงทุนในประเทศแถบอาเซียนได้กลับมาสดใสอีกครั้ง สภาฯ ดังกล่าวเป็นองค์กรเอกชนของอเมริกา ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนให้กับธุรกิจภาคเอกชนของอเมริกา ในกลุ่มประเทศสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASIAN) ได้แก่ ไทย ลาว พม่า เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บรูไน ดารัสซาเล็ม ส่วนกัมพูชายังคงอยู่ในสถานะเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์

ตลอดช่วงเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมา US / ASEAN ดำเนินการสร้างพันธมิตรในเชิงยุทธศาสตร์ และความสัมพันธ์ในการดำเนินงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนในกลุ่มประเทศอาเซียนอย่างต่อเนื่อง โดยมีการส่งเสริมโดยตรงต่อนโยบายการลงทุนและการค้าของอเมริกาในภูมิภาคนี้ อีกทั้งยังช่วยขยายขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของอเมริกาอีกด้วย

สมาชิกของ US ASEAN แต่ละองค์กรนั้น ถือว่าเป็นบริษัทข้ามชาติระดับยักษ์ของโลกทั้งนั้น ซึ่งในแต่ละครั้งที่บริษัทเหล่านี้เข้ามาลงทุนในอาเซียน ได้นำเงินเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมหาศาล บริษัทสมาชิก US ASEAN มียอดขายในอเมริกาสูงกว่า 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

"ประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนนั้น มีความสำคัญอย่างมากต่อธุรกิจของอเมริกา การค้าระหว่างไทยกับอเมริกามีมูลค่าถึง 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2540 และอเมริกานับเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของไทย รวมทั้งเป็นนักลงทุนต่างประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับสองของไทย ที่มีมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือว่าเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 100% นับตั้งแต่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา" จอร์จ เดวิด ประธาน US ASEAN และประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทยูไนเต็ด เทคโนโลยี คอร์ปอเรชั่น (UTC) กล่าวถึงความสำคัญทางด้านการค้าที่มีต่อกันระหว่างอเมริกากับไทย

จากสถิติของกระทรวงพาณิชย์ของอเมริกาบอกไว้ว่า ตัวเลขการค้าในปี 2540 อเมริกาส่งสินค้าออกมาจำหน่ายในไทยมูลค่า 7,357 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2539 จำนวน 2.20% ส่งผลให้ไทยเป็นตลาดสินค้าส่งออกที่ใหญ่เป็นอันดับ 19 ของอเมริกา แต่หลังจากความล่มสลายทางด้านเศรษฐกิจของประเทศแถบอาเซียน ยอดส่งออกสินค้าจากอเมริกามาไทยในช่วง 7 เดือนแรกปี 2541 ลดลง 29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2540

ขณะเดียวกันปี 2540 อเมริกานำเข้าสินค้าจากไทยมูลค่า 12,595 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.10% จากปี 2539 และช่วง 7 เดือนของปี 2541 อเมริกาได้นำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น 8% ซึ่งเป็นอัตราที่ชะลอตัวลงในการนำเข้าสินค้า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ

ด้านการลงทุนของอเมริกาในไทยปี 2540 มีมูลค่า 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 98% นับตั้งแต่ปี 2533 โดยให้น้ำหนักการลงทุนมากที่สุดในภาคอุตสาหกรรมบริการและอื่นๆ 43% ตามมาด้วยภาคการผลิต 31% และด้านปิโตรเลียมและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง 26% ถ้าดูตัวเลขการลงทุนจากอเมริกาทั้งกลุ่มประเทศอาเซียน ขณะนี้มีมูลค่าสูงถึง 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นจำนวน 20% ของการลงทุนทั้งหมดที่อเมริกาออกไปลงทุนนอกประเทศ

การเดินทางมาเยือนไทยครั้งนี้ของกลุ่ม US / ASEAN ถือว่าเป็นการเข้ามาเพื่อเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส และตอกย้ำความมั่นใจว่าไทยยังเป็นประเทศที่น่าลงทุนประเทศหนึ่ง แม้กลุ่มดังกล่าวจะไม่มีอะไรเป็นเครื่องยืนยันว่า ในอนาคตจะเข้ามาลงทุนอย่างแน่นอน แต่สิ่งหนึ่งที่คาดการณ์ไว้คือ ส่วนดีของสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำในภูมิภาคแถบอาเซียน เป็นโอกาสดีที่จะสร้างรากฐานอันแข็งแกร่งเพื่อเติบโตทางเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21

"พวกเรามาครั้งนี้เพื่อหารือถึงมาตรการที่เป็นรูปธรรม เพื่อใช้ดำเนินการทั้งในอาเซียนและอเมริกาในการสร้างความมั่นใจ และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศสู่ไทยอีกครั้ง" เดวิด กล่าว

ด้านเออร์เนส โบเวอร์ ประธานกรรมการ US ASEAN รับผิดชอบดูแลการดำเนินงานและดูแลสำนักงาน 6 แห่งในแถบอาเซียน และยังเป็นหัวหน้ากลุ่มตลาดการเงินและตลาดทุน และก่อนหน้านี้เคยทำงานให้กับบริษัทแม็คดอนนัล ดักลาส คอร์ปอเรชั่น มีหน้าที่วางยุทธศาสตร์การจำหน่ายและการทำตลาดในภูมิภาคเอเชียและแอฟริกา เขากล่าวว่าไทยสมควรได้รับความเชื่อถือ เนื่องจากมีความจริงใจที่จะปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว

"จากการกระทำเช่นนี้ทำให้บริษัทในอเมริกา จับตามองการพัฒนากฎหมายบังคับเอาสินทรัพย์และกฎหมายล้มละลาย รวมทั้งกฎหมายในการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในไทยอย่างใกล้ชิด ตลอดจนมาตรการต่างๆ"

อย่างไรก็ตามพวกเขายังไม่สามารถประกาศออกมาได้ในขณะนี้ว่า มีโครงการไหนที่กำลังเป็นที่พอใจ เหตุผลสั้นๆ ที่ให้ไว้กับรัฐบาลไทยคือ อยากจะแสดงความมั่นใจต่อเศรษฐกิจไทยถึงการฟื้นตัวในอนาคต และการเข้ามาครั้งนี้ทุกบริษัทที่เป็นสมาชิกใน US ASEAN ไม่มีธุรกิจไหนที่ถอนการลงทุนออกไปจากไทย "เรารู้จักไทยดีและในทางกลับกันกำลังศึกษาลู่ทางการลงทุนเพิ่มอีก แต่เปิดเผยไม่ได้ เพราะนี่คือการแข่งขันทางการค้า" เดวิดกล่าว

จากประสบการณ์ของนักลงทุนเหล่านี้ ที่เข้ามาลงทุนในไทยและประสบความสำเร็จมาแล้ว ดังนั้นแผนการลงทุนครั้งใหม่คงจะไม่พ้นอุตสาหกรรมเดิมๆ เช่น นโยบายของบริษัทเจเนอรัล อิเล็กทริค (GE) ได้มุ่งเป้าไปที่สินเชื่อด้านรถยนต์ (auto finance) หรือบริษัทอเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป อิงค์ (AIG) เจ้าพ่อธุรกิจประกันภัย และแนวความคิดการลงทุนคงจะอยู่ในภาคบริการ (service sector) เพราะธุรกิจเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นให้มีการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งการจ้างงานมากขึ้นและยังช่วยให้เกิดวัฏจักรการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอีกด้วย

ส่วนโครงการที่สมาชิก US ASEAN ประกาศการลงทุนในไทยแล้ว ก็มี CPAC Inc. เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ว่ามีแผนสร้างโรงงานผลิตสารเคมีเกี่ยวกับการถ่ายภาพ ที่นิคมอุตสาหกรรมเวลโกร์ว คาดว่าโครงการนี้จะแล้วเสร็จเดือนมีนาคม 2542 และจะเริ่มผลิตได้ในไตรมาสแรกของงบบัญชีปี 2543 ซึ่ง CPAC Inc. เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสารเคมีพิเศษ และเครื่องมืออุปกรณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมถ่ายภาพ มีฐานการผลิตอยู่นิวยอร์ก

สำหรับยูโนแคล คอร์ปอเรชั่น ยักษ์ใหญ่แห่งวงการน้ำมัน มีแผนให้ยูโนแคล ประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทลูก เข้าไปลงทุนในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย ด้วยวงเงินลงทุน 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในระยะเวลา 5 ปี ข้างหน้า โดยมีเป้าหมายจะทำการขุดเจาะน้ำมันให้ได้ 145 หลุมต่อปี และพัฒนาแหล่งน้ำมันเพิ่มขึ้นอีก 11 แห่ง

แนวความคิดการรวมตัวกันของ US ASEAN เปรียบได้ดังสุภาษิตไทยที่ว่า "หลายหัวดีกว่าหัวเดียว" ที่สร้างจุดแข็งให้กับพวกเขาเหล่านี้ที่ดำเนินนโยบายด้านการลงทุน ซึ่งที่ผ่านมาประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และขณะนี้กำลังมีความพอใจกับการเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งด้วยตัวเลขเกือบ 29% ในปี 2540 อีกทั้งมีสมาชิกเข้ามาเพิ่มขึ้นอีก 32 บริษัท เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะมีสมาชิกใหม่เข้ามาเพียง 23 บริษัทต่อปี ทำให้ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งสิ้น 131 บริษัท โดยบริษัทที่เข้ามาเป็นสมาชิกจะกระจายไปยังอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น พลังงาน เหมืองแร่ เครื่องมือ เครื่องจักร ภาคบริการการเงิน ไอที และโทรคมนาคม ปิโตรเคมีคอล เกษตร

เป้าหมายสำคัญอีกประการหนึ่งของกลุ่ม US ASEAN คือ ต้องการให้ประเทศแถบอาเซียนเปิดเสรีทางการค้ากับอเมริกาให้มากและเร็วที่สุด เพราะนี่คือหนทางที่จะช่วยให้เศรษฐกิจในประเทศแถบนี้เติบโตขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง (ในทัศนะของนักลงทุนอเมริกัน)

"เราขอสนับสนุนการเปิดตลาดเสรี และเราจะตอบสนองด้วยการนำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เข้ามาใส่ในตลาดไทยให้มากขึ้น และจะพยายามเรียกร้องให้อเมริการักษาตลาดเสรีให้กับอาเซียนต่อไป" เนื่องจากพวกเขามองว่า การเปิดเสรีทางด้านการค้ามีความจำเป็นอย่างมากในศตวรรษหน้า

"เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาไทยขาดดุลการค้า 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ปีนี้เกินดุลไปแล้ว 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ฉะนั้นนโยบายการค้าเสรีเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินการในประเทศแถบอาเซียน" เดวิดกล่าว

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ US / ASEAN กังวลใจเกี่ยวกับปัจจัยที่จะกระทบถึงแผนการลงทุนคือ การกระตุ้นอุปสงค์ในญี่ปุ่น การผสมผสานกันระหว่างการปฏิรูปโครงสร้างสถาบันการเงินกับการขยายวงเครดิต สิ่งเหล่านี้พวกเขายังมองไม่ค่อยเห็นว่า ประเทศภูมิภาคอาเซียนจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องหรือไม่

"เราเชื่อว่าตอนนี้โครงการที่เหมาะสมได้เกิดขึ้นในไทยแล้ว เราอยากเห็นความต่อเนื่องซึ่งอาจจะลำบากบ้าง แต่ต้องมีความอดทน" เดวิดกล่าวตบท้าย

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us