ครั้งที่แล้วเราคุยกันเรื่องการฆ่าตัวตายที่เป็นข่าวลงในหน้าหนังสือพิมพ์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของนักศึกษาสองท่าน ต่างเพศ ต่างสถาบัน ที่ต่างก็พูดถึงความผิดหวังในผลการเรียนของตนว่า
ไม่ดีอย่างที่คาดคิดไว้ และลงท้ายด้วยการยุติชีวิตของตนด้วยวิธีการที่รุนแรง
คือ การกระโดดตึกจากชั้นสูง และการแขวนคอตาย
ที่ผมต้องย้ำตรงวิธีการรุนแรงก็เพราะว่า คนที่เบื่อหน่ายและท้อแท้กับชีวิตมีจำนวนไม่น้อย
แต่ในจำนวนนี้ไม่ใช่ว่าทุกคนจะตัดสินใจลงเอยกับการฆ่าตัวตายเสมอไป ในอีกด้านหนึ่งคนที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายและลงมือกระทำ
ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสำเร็จทุกราย แต่คนที่เลือกวิธีการรุนแรงในการยุติปัญหาทั้งหมด
เช่น การใช้อาวุธปืน การกระโดดจากตึกสูงๆ การแขวนคอ หรือการกระโดดให้รถชน
มักจะกระทำสำเร็จ ในขณะที่คนที่เลือกใช้วิธีการที่รุนแรงน้อยกว่า เช่น การกินยาแก้ปวด
ยาคลายเครียด หรือยาฆ่าแมลงมักจะมีโอกาสรอดมากกว่า เนื่องจากมักจะถูกผู้พบเห็นนำส่งโรงพยาบาลได้ทันท่วงที
และแพทย์สามารถช่วยชีวิตได้ทัน
นั่นหมายความว่าพฤติกรรมการฆ่าตัวตาย มีผลสรุปได้ 2 ประการคือ ฆ่าตัวตายสำเร็จ
(completed suicide or committed suicide) และผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย หรือ
ผู้ที่ฆ่าตัวตายไม่สำเร็จ (attempted suicide)
ถ้าพิจารณาเช่นนี้ อาจมีคำถามเกิดขึ้นว่า คนที่ใช้วิธีการที่รุนแรงน้อยกว่า
มีความตั้งใจในการฆ่าตัวตาย น้อยกว่าผู้ที่ใช้วิธีการรุนแรงหรือ และคนมักจะลงเอยกับความคิดว่า
คนที่พยายาม ฆ่าตัวตาย ทำเพื่อเรียกร้องความสนใจ ไม่ได้มีความตั้งใจจริงที่จะตาย
ทำแบบยั้งๆ มือ เพื่อให้คนช่วยได้ทัน
คำตอบเป็นได้ทั้งใช่ และไม่ใช่
ในประสบการณ์การทำงานของผม ผมเคยมีโอกาสสนทนากับคนที่พยายามฆ่าตัวตาย ทั้งกรณีที่ใช้วิธีการที่รุนแรง
(กรณีนี้เธอผู้นั้นใช้มีดปาดคอตัวเอง และนอนหมดสติจมกองเลือดอยู่ประมาณ 3
ชั่วโมงญาติจึงมาพบ และนำส่งโรงพยาบาล) และกรณีที่ไม่รุนแรงนักคือ ทานยาแก้ปวดในปริมาณไม่มากนัก
หรือทานยาฆ่าแมลง (ซึ่งเป็นกรณีที่เราพบกันได้บ่อยมากในปัจจุบัน) ในช่วงเวลา
หลังจากที่แพทย์ช่วยเหลือคนเหล่านี้จนถึงขีดปลอดภัย คนเหล่านี้ก็ยังคงยืนยันอย่างหนักแน่นว่า
เขาและเธอ ไม่เห็นประโยชน์และความหมายของการมีชีวิตอยู่ต่อไป และไม่ได้รู้สึกยินดีที่รอดชีวิต
ในกรณีนี้ดูเหมือนว่า คนเหล่านี้กำลังใช้สิทธิในการกำหนดชีวิตของตน การที่ไม่ประสบความสำเร็จก็เป็นเพราะ
เขาเลือกใช้วิธีการที่ไม่รุนแรง หรือไม่ถึงกับเสียชีวิต และในกรณีที่ใช้วิธีที่รุนแรงก็บังเอิญมีบุคคลอื่นมาช่วยได้ทันเวลา
ในอีกกรณีหนึ่งผมได้พูดคุยกับคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ (ในหลายกรณีมักจะเป็นคนที่ใช้ยาฆ่าหญ้า
หรือยาแก้ปวดในขนาดสูงๆ ) ทั้งที่จริงๆ แล้ว คนเหล่านั้นไม่ได้มีความตั้งใจที่จะตายจริงๆ
เพียงแต่ในวูบหนึ่งของความรู้สึก เขามองไม่เห็นทางออกของปัญหา และลงมือกระทำไปด้วยแรงผลักดันในขณะนั้น
แต่หลังจากกระทำไปแล้ว ความคิดและเหตุผลขึ้นมาอยู่เหนืออารมณ์ความรู้สึก
เขารู้สึกดีใจที่ไม่ตาย และคิดที่จะเผชิญหน้ากับปัญหา แต่เขาเหล่านั้นไม่ทราบว่าไม่มีโอกาสอีกแล้วสำหรับเขา
เพราะวิธีการที่ใช้รุนแรงเกินกว่าแพทย์จะช่วยเหลือได้
ในชีวิตประจำวัน เรามักจะให้ความสำคัญกับการฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นกรณีหลังๆ
ที่ตามมา ตั้งแต่นักศึกษาที่โดดตึกจากศูนย์การค้า มาจนถึงชาวนาที่แขวนคอตายที่หน้าทำเนียบ
ที่หลายคนถือกันว่าเป็นการประจานการทำงานที่ล้มเหลวของรัฐบาลในการช่วยเหลือคนจน
ที่จริงแล้ว คนที่แสดงท่าทีเป็นนัย หรือพูดออกมาชัดเจนให้คนข้างเคียงรับทราบว่าอยากฆ่าตัวตาย
หรือคนที่ฆ่าตัวตายไม่สำเร็จ ไม่ได้หมายความว่า เขาพูดเล่น หรือเรียกร้องความสนใจ
หรือไม่ได้ตั้งใจยุติชีวิตตนเองจริงๆ อย่างที่หลายคนเข้าใจ เราอาจจะยังจำกันได้ถึงนักศึกษารามคำแหงคนหนึ่ง
ที่เผาตัวเองเมื่อหลายปีก่อนด้วยประเด็นทางการเมือง คนโดยส่วนใหญ่ และสื่อมวลชนในขณะนั้นไม่มีใครเชื่อว่า
เขาจะทำจริงๆ จนกระทั่งเขาต้องพิสูจน์ด้วยชีวิตของเขาเอง
ไม่ว่าใครจะมีมุมมองว่า คนฆ่าตัวตาย คือคนป่วยทางจิตเวช หรือผู้ที่เชื่อในปรัชญาเอ็กซิสตองเชียลลิสต์จะมองว่า
คนนั้นคือคนที่มีสติสัมปชัญญะครบถ้วนและเลือกทางเดินของชีวิตแบบที่เขาต้องการ
หรือคนที่เชื่อในสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของมนุษย์ จะเชื่อว่าการฆ่าตัวตายนั้นสิ้นคิดและโง่
นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญ
แต่สำหรับคนที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายนั้น ไม่ว่าใครจะมองเขาอย่างไรนั้นไม่สำคัญ
เพราะชีวิตในปัจจุบันนั้นสิ้นหวังและไร้หนทาง ความทุกข์ที่เขาเผชิญอยู่นั้นมากเกินกว่าครั้งใดๆ
ในชีวิตของเขาที่ผ่านมา ความทุกข์นี้ไม่มีใครจะรู้ซึ้งถึงความเจ็บปวดได้ดีเท่ากับเขา
และที่สำคัญที่สุดคือ ทางออกเดียวสำหรับความทุกข์ที่เขาเห็น คือ การฆ่าตัวตาย
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่หลายคนดูว่าไม่น่าจะเป็นปัญหา เช่น การไม่ได้เกียรตินิยมของนักศึกษามหาวิทยาลัยหอการค้า
การไม่สามารถเรียนจบเร็วอย่างที่คาดไว้ของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
การถูกปฏิเสธและบอกเลิกจากแฟนของนักศึกษาหนุ่มที่โดดตึกที่ศูนย์การค้าย่านศรีนครินทร์
การแขวนคอตายหน้าทำเนียบของชาวนาจากการสูญเสียที่ดิน และรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล
การฆ่าตัวตายของวัยรุ่นจากการน้อยใจที่ถูกมารดาดุว่าเรื่องการเที่ยวกลางคืน
การยิงตัวตายของจราจรเหตุจากความกดดันในการทำงาน การยิงตัวตายของชาวนาที่พิจิตรจากปัญหาหนี้สิน
และนาข้าวล่ม มาจนถึงการทยอยฆ่าตัวตายของชาวนาอีกหลายคน รวมไปถึงข่าวการฆ่าตัวตายที่มีเกือบแทบทุกวันในหน้าหนังสือพิมพ์ในระยะที่ผ่านมา
สภาพเหล่านี้ดูเหมือนจะทำให้เกิดการตั้งคำถามในหลายๆ ประเด็น ตั้งแต่ คนที่ฆ่าตัวตายเหล่านี้มีปัญหาสุขภาพจิต
ไปถึงประเด็นการเมืองในเรื่องของการอุ้มคนรวย ไม่ช่วยคนจน และมาลงท้ายที่ปัญหาครอบครัวไม่อบอุ่นในกรณีของวัยรุ่น
และการเอาตัวอย่างกันเป็นแฟชั่น ต้นเหตุที่คนชอบพูดกันส่วนหนึ่งคือการแพร่กระจายเรื่องการฆ่าตัวตายของสื่อ
สังคมยังดูเหมือนจะหลงประเด็นต่อไป ด้วยการหาผู้รับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นครอบครัว
ระบบการเรียนการแข่งขันในมหาวิทยาลัย กฎหมายการขายฝากและการร่วมกันฉ้อโกงชาวนาของ
กรอ. ภาครัฐ โดยข้าราชการระดับล่างกับภาคเอกชน โดยนายทุน หรือนายหน้าปล่อยกู้
รวมถึงการคิดถึงการควบคุมการเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย
ในทัศนะของผมการดำเนินการกับปัญหานี้ต้องเริ่มต้นจากท่าทีของคนในสังคม
สังคมต้องเปลี่ยนท่าทีใหม่กับปัญหานี้ แทนที่จะมุ่งกับปัญหาคนฆ่าตัวตายสำเร็จ
ด้วยการไปหาว่าเขาฆ่าตัวตายด้วยเรื่องอะไร แล้วก็ไปแก้ปัญหานั้นเพียงอย่างเดียว
เพราะไม่มีทางที่เราจะไประวังคนทุกคน หรือ ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา เกิดความทุกข์ขึ้นกับทุกคน
เพราะคนที่ฆ่าตัวตายอาจจะเกิดจากปัญหาได้ร้อยแปด เช่น เพราะเรื่องเรียน เรื่องหนี้สิน
เรื่องแฟน เรื่องครอบครัว และ ทุกข์ของคนแต่ละคนนั้นความหนักเบาของปัญหาก็ต่างกัน
แต่สิ่งที่เหมือนกันประการหนึ่งคือ ความรู้สึกต่อปัญหาและความทุกข์นั้น
มีการศึกษาในจดหมายลาตาย หรือคำพูดก่อนตายของผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ พบว่า
ความรู้สึกร่วมกันของทุกรายมีเพียงประการเดียว คือทุกข์และสิ้นหวัง
สิ่งที่สังคมจะต้องทำ คือ ให้ความสำคัญกับคนที่มีแนวโน้มจะฆ่าตัวตาย นั่นคือ
การลดปัจจัยที่จะทำให้คนที่เกิดความทุกข์ตัดสินใจยุติมันด้วยชีวิตของตน ด้วยการสร้างความหวังในการต่อสู้ชีวิตให้เกิดขึ้น
และพร้อมจะยื่นมือเข้าช่วยเหลือ ให้ความสำคัญกับคนที่บ่นท้อแท้กับชีวิต เพราะนั่นเป็นสัญญาณเบื้องต้นที่อาจนำไปสู่ความรู้สึกสิ้นหวังหากไม่ได้รับการช่วยเหลือ
การที่ผู้สิ้นหวังทั้งหลายจะมาขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง หรือหน่วยงานต่างๆ
ได้นั้น เขาต้องมั่นใจว่า เราเข้าใจและเห็นใจว่าเขาทุกข์ ไม่ว่าปัญหานั้นจะดูเล็กน้อยในสายตาของผู้อื่น
อย่าคิดและพูดเหมือนอดีตสมาชิกสภาฯ ท่านหนึ่งในฝ่ายรัฐบาลที่กล่าวถึง ลุงชุ่ม
สากล ว่า ถึงแม้จะถูกโกงที่และมีหนี้สิน แต่ฐานะก็ไม่ได้ยากจนนัก น้องชายเองก็รับราชการตำรวจ
นั่นคือการมองความทุกข์ของผู้อื่นว่าไม่รุนแรง เพียงเพราะปัญหาของเขาไม่ได้รุนแรงอย่างที่เราคิด