การเป็นคนไทยในยุคไอเอ็มเอฟภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลชวน หลีกภัย ในตอนนี้ช่างเป็น
"ชีวิตแห่งความสับสน" อย่างมาก ในเวลาหนึ่งรัฐบาลบอกให้ทุกคนช่วยกันประหยัดรัดเข็มขัดการใช้จ่าย
เพื่อที่จะฝ่ามรสุมเศรษฐกิจตกต่ำอันเนื่องมาจากวิกฤติสถาบันการเงินให้รอด
ครั้นเวลาผ่านไประยะหนึ่ง รัฐบาลก็ยังไม่ได้มีความคืบหน้าเด่นชัดในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ
พลันกลับมีภาคเอกชนร้องขอให้มีการใช้จ่าย เพราะดีมานด์หดหาย เป็นเหตุให้ภาคการผลิตทรุดหนัก
นั่นเป็นเรื่องสับสนแรกของคนเมืองส่วนใหญ่ ที่เผชิญปัญหาจากวิกฤติเศรษฐกิจที่มาถึงตัวอย่างรวดเร็ว
ความสับสนถัดมา แม้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยตรงกับเราๆ ท่านๆ แต่ฟังแล้วก็ให้รู้สึกแปลกๆ
หลายสัปดาห์ก่อน มีการออกข่าวว่าวิกฤติภัยแล้งในปีนี้ (ข้ามไปถึงปี พ.ศ.หน้า)
จะหนักหนาสาหัสนัก ขนาดที่ว่าปริมาณน้ำสำหรับการปลูกข้าวนาปรังที่เคยปลูกในพื้นที่ประมาณ
4 ล้านกว่าไร่ ต้องลดลงเหลือเพียง 2 ล้านไร่เท่านั้น เพราะไม่มีน้ำสำหรับการเพาะปลูก
นั่นหมายความว่าชาวนาหลายครอบครัวไม่สามารถปลูกข้าวได้ ไม่ใช่ชาวนาแต่ละครอบครัวจะปลูกข้าวได้เพียงครึ่งเดียว
ดังนั้นทางการจึงมีการกระจายข่าว เพื่อให้ชาวนาได้เข้าใจและเตรียมรับมือวิกฤติครั้งนี้
แต่แล้วเวลาผ่านไปไม่นานนัก กลับมีการออกข่าวใหม่ว่าอย่าหวั่นวิตกกับภัยแล้งในครั้งนี้จนเกินเหตุ
แม้สื่อมวลชนบางฉบับได้อุตส่าห์ไปถ่ายรูปปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล และพบว่ามีปริมาณลดลงมากกว่าระดับต่ำสุด
นั่นหมายความว่าภัยแล้งครั้งนี้เป็นเรื่องน่าวิตกจริงๆ แต่รัฐบาลกลับออกข่าวใหม่ที่ก่อให้เกิดความสับสน
ล่าสุด นโยบายด้านอัตราดอกเบี้ยที่รัฐบาล โดยกระทรวงการคลังได้ออกมาแสดงบทบาทชี้นำตลาดว่า
spread หรือส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากของแบงก์พาณิชย์ควรอยู่ในระดับ
4% นั้น ฟังดูแล้วผู้กู้เงินแบงก์คงรู้สึกใจชื้นว่า อาจจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยทั้งสองขา
ให้มีความเหมาะสมมากกว่าระดับปัจจุบัน แต่การณ์กลับกลายเป็นเรื่องโอละพ่อ
เมื่อฉากหลังของเรื่องมีความขัดแย้งระหว่างคลังกับแบงก์ชาติ ท้ายที่สุดแบงก์ชาติประกาศให้แต่ละธนาคารพิจารณาดูต้นทุนและสภาพคล่องของตัวเอง
และดำเนินการตามที่เห็นสมควร แต่ข้อเท็จจริงในเวลานี้มีอยู่ว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากนั้น
อยู่ในระดับต่ำไปกว่าอัตราเงินเฟ้อเสียแล้ว ผู้ฝากจึงไม่ได้ประโยชน์อันใดจากการฝากเงินและในบางบัญชีก็มีการเสียภาษีอีกด้วย
เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปจะมีความพัวพันกันเป็นลูกโซ่ ที่จะก่อความเสียหายกับระบบอีกระลอกหนึ่งได้
สกู๊ปข่าวปกฉบับนี้เป็นเรื่องเด่นเกี่ยวกับธุรกิจที่ปรึกษา ว่าด้วยบทบาทของที่ปรึกษาทั้งต่างชาติและไทย
ที่มีส่วนอย่างสำคัญในชีวิตธุรกิจยุคติดหนี้ไอเอ็มเอฟเวลานี้ เพราะกิจการที่ล้มระเนระนาดในเวลานี้ต้องการแนวความคิดการจัดการ
การปรับปรุงแก้ไขปัญหาจากที่ปรึกษา นี่เป็นเหตุให้ธุรกิจที่ปรึกษาเฟื่องฟูอย่างมาก
นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจไทยก็ต้องการที่ปรึกษาเพื่อให้คำแนะนำเรื่องการแปรรูปฯ
ด้วย แต่ในที่สุด 5 ปีเต็มผ่านไป ที่ปรึกษาฯ ขององค์การโทรศัพท์ฯ กับการสื่อสารฯ
กลับโกยเงินเข้ากระเป๋ากันไปมากมายไม่ต่ำกว่า 800 ล้านบาท ทว่างานด้านการแปรรูปฯ
ยังไม่เดินหน้าไปถึงไหน ข่าวปกฉบับนี้เจาะลึกเรื่องราวของที่ปรึกษา ที่วัดดวงกันที่สายสัมพันธ์
ใครดีใครอยู่ ว่างั้นเถอะ!
ด้านสกู๊ปข่าวและคอลัมน์ประจำอื่นๆ ยังพร้อมเช่นเดิม
มีเหตุที่ต้องแจ้งท่านผู้อ่านทราบนิดหนึ่งว่ากองบรรณาธิการกำลังเร่งปิดต้นฉบับเดือน
ธ.ค. ซึ่งในช่วงก่อนสิ้นปีนี้ ท่านผู้อ่านจะได้พบกับ "ผู้จัดการรายเดือน"
ถี่ขึ้นนิดหนึ่ง ก่อนที่จะเข้าสู่รอบปกติในช่วงต้นเดือนเหมือนเคยค่ะ