แต่เดิมนั้น ธนาคารที่สนใจจะเข้าร่วมเป็น official part ner ในการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่
13 นี้คือซิตี้แบงก์ที่แสดงความสนใจเข้าร่วม แต่แล้วคนทำงานเอเชี่ยนเกมส์ฝ่ายไทยมองว่าจะเป็นการเสียศักดิ์ศรีเกินไป
หากแบงก์ฝรั่งได้เข้ามาเป็น จึงพยายามเสนอแบงก์ไทยเข้าไป ซึ่งในชั้นแรกนั้น
ธนาคารกรุงไทยได้ตกลงและร่วมร่างสัญญาระดับพาร์ตเนอร์ในวงเงิน 5 ล้านเหรียญสหรัฐ
แต่ปรากฏในภายหลังเมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2540 คณะกรรมการบริหารของธนาคารกรุงไทย
ขอลดวงเงินสนับสนุนจาก 5 ล้านเหรียญสหรัฐ เหลือเพียง 1 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้เป็นที่เข้าใจได้ว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงระบบการ แลกเปลี่ยนเงินบาทเมื่อวันที่
2 ก.ค. 2540 นั้น ธนาคารพาณิชย์ ประสบปัญหาจากเรื่องนี้มาก และในปีที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ยังประสบวิกฤติขนาดหนัก
ตัวเลขเงินจำนวน 5 ล้านเหรียญ เมื่อเทียบเป็นเงินไทยนั้น เพิ่มขึ้นจากเดิมในอัตรา
25 บาท/ดอลลาร์ หรือ 125 ล้านบาทมาเป็น 200-280 ล้านบาท เมื่อคิดที่อัตราแลกเปลี่ยน
40-56 บาท/ดอลลาร์
เมื่อธนาคารกรุงไทยเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเช่นนี้ BAGOC, OCA และ ISL ไม่สามารถรับเงื่อนไขได้
จึงได้ยุติการเจรจากับธนาคารกรุงไทย โดยให้เจรจาและนำเสนอสิทธิประโยชน์กับธนาคารพาณิชย์อื่นๆ
เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารแหลมทอง และธนาคารทหารไทย
ISL ได้เจรจากับธนาคารแหลมทอง ซึ่งในตอนนั้น Sheikh Ahmad Alfahad Al-Sabah
ประธานสภาโอลิมปิคแห่งเอเชียดำรงตำแหน่งเป็นประธานธนาคารแหลมทองด้วย ได้ตกลงในหลักการที่จะให้การสนับสนุน
BAGOC ในวงเงิน 5 ล้านเหรียญ และในที่สุดก็ได้มีการลงนามกันเมื่อ 11 ธันวาคม
2540
ในเวลาต่อมา ธนาคารแหลมทองถูกแบงก์ชาติสั่งให้ควบรวมกิจการกับธนาคารรัตนสิน
และเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารรัตนสิน ซึ่งธนาคารก็ยังคงให้การสนับสนุนการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ต่อไป
ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการธนาคารรัตนสินกล่าวกับ "ผู้จัดการรายเดือน"
ถึงการให้บริการของธนาคารในการแข่งขันกีฬาว่า "มันเป็นการอำนวยความสะดวก
ให้แก่นักกีฬาและผู้มาชมการแข่งขัน ซึ่งธนาคารได้จัดการติดตั้งตู้เอเทีเอ็มให้ที่สนามหลักๆ
3 แห่งรวม 20 ตัวและมีเคาน์เตอร์แลกเปลี่ยนเงินตราประมาณ 10 แห่ง นอกจากนี้ก็อำนวยความสะดวกเรื่องการเปิดบัญชีของคณะกรรมการจัดงานด้วย"
ประโยชน์อีกด้านที่แบงก์ได้รับในตอนนี้คือเรื่องการประชาสัมพันธ์ชื่อแบงก์ใหม่
ซึ่งถือเป็นวิธีประชาสัมพันธ์ที่ประหยัดมากเพราะชื่อของธนาคารได้แพร่หลายไปในตัว
"เราก็ได้ถือโอกาสนี้โฆษณาตัวเราเองให้ประชาชนได้รู้จัก" ดร.วิชิตกล่าว
ในการดำเนินการต่างๆ ครั้งนี้มีการกระทบงบประมาณ ของธนาคารบ้างจำนวนหนึ่ง
แต่เนื่องจากเป็นการเซ็นสัญญา ที่เกิดขึ้นและมีความผูกพันแล้ว คณะกรรมการธนาคารชุดใหม่ก็มาดำเนินการต่อเนื่องไป
"เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเงินทองเฉยๆ มันเป็นเรื่องที่เซ็นกันไปแล้ว ประกาศกันไปแล้ว
ถ้าเรามาถอนตัวตอนนั้น เสียชื่อกับประเทศด้วย แล้วหลายๆ อย่างเช่น เรื่องเอทีเอ็มพวกนี้
เมื่อลงทุนไปแล้วก็ยังสามารถนำมาใช้ได้ ไม่เสียเปล่า เราก็ย้ายจากบริเวณงานไปใช้ที่อื่นได้
มันไม่ใช่การลงทุนครั้งเดียว แต่ยังใช้งานได้อีก"
"ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าจะทำอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าทำแล้วไม่ได้ประโยชน์
แต่ถามว่ามีค่าใช้จ่ายไหม ก็มี ของสปอนเซอร์ รายอื่นก็เช่นกัน"