กว่า 40 ปีมาแล้ว หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบสิ้นลงใหม่ๆ ชายหนุ่มผู้มีนามว่า
กมล โชคไพบูลย์กิจ ได้เริ่มต้นทำมาหากินด้วยอาชีพรับจ้างซ่อมรองเท้าข้างศาลาวัดย่านสะพานเหลือง
อยู่มาวันหนึ่งมีคนเอาลูกบอลหนังมาให้ซ่อม สมัยนั้นคนไทยยังไม่ค่อยรู้จักลูกฟุตบอลเท่าไร
คนที่จะเตะฟุตบอลได้ต้องเป็นคนมีเงิน หรือไม่ก็ฝรั่งที่ยังหลงค้างจากสงคราม
เนื่องจากฟุตบอล เป็นของนำเข้าที่มีราคาแพงมาก ชาวบ้านธรรมดารู้จักแต่ลูกมะพร้าวที่ใช้เตะแก้ขัดได้แต่ไหนแต่ไรมา
หลังจากนั้นก็มีฝรั่งเอาลูกฟุตบอลมาให้กมลซ่อมอยู่เป็นประจำ จนกระทั่งเขาเกิดความคิดว่า
"เราน่าจะเย็บลูกบอลได้เอง" เขาจึงเริ่มต้นแกะลูกบอลหนังที่ลูกค้ามาฝากซ่อม
เรียนรู้วิธีการเย็บของฝรั่ง และเริ่มซื้อหนังมาลองเย็บเองดูบ้างจนสำเร็จ
เขาก็เริ่มต้นอาชีพการเย็บลูกฟุตบอลขายแต่นั้นมา จากวันละลูกสองลูก ได้กำไรพอที่จะขยายกิจการ
โดยไปขอเช่าที่แถวลาดกระบังและจ้างคนงานเพิ่มอีก 2-3 คน กิจการก็เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง
จนในปี 2499 กมลได้ขอจดทะเบียนโรงงานฟุตบอลของเขาเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงงานฟุตบอลไทย
ต่อมาเมื่อปี 2505 ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดกีฬาแหลมทอง กิจการของโรงงานก็พลอยดีไปด้วยจาก
คนงาน 2-3 คน กลายเป็น 20-30 คน และในปี 2511 เป็นปีแรกที่เขาส่งลูกฟุตบอลที่ผลิตได้จากโรงงานฟุตบอลไทยไปขายยังต่างประเทศ
ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาได้รับการติดต่อจากลูกค้าต่างชาติให้เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาชนิดอื่นให้ด้วย
อาทิ นวม กระดานหมากรุก กระดานสกา โต๊ะปิงปอง อุปกรณ์โรงยิมทุกชนิด รวมไปถึงเสื้อผ้าและรองเท้าสำหรับนักกีฬาด้วย
ในปี 2521 ปีที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่
8 ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 3 ของประเทศไทยที่ได้รับเป็นเจ้าภาพงานกีฬานี้ และในปีนั้นเองที่ลูกฟุตบอลไฟว์สตาร์
ที่ผลิตโดยโรงงานฟุตบอลไทย ได้รับเลือกให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ
(FIFA) ให้ใช้ในการแข่งขันระดับนานาชาติได้ แสดงให้เห็นว่า มาตรฐานสินค้าที่ผลิตจากโรงงานฟุตบอลไทยอยู่ในระดับมาตรฐานสากลที่นานาชาติยอมรับ
ทำให้กมลภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง
ยิ่งไปกว่านั้น ตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมาจนกระทั่งปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ของโรงงานฟุตบอลไทยได้รับอนุมัติอย่างเป็นทางการให้เป็นอุปกรณ์ทางการ
ของคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อให้คณะนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ของประเทศไทยใช้ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์
เอเชี่ยนเกมส์ และโอลิมปิกเกมส์ หรือ อีกนัยหนึ่งคือ ฟุตบอลไทยหรือเอฟบีทีได้เป็นสปอนเซอร์
หลักของคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยอย่างเป็นทางการตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
และนั่นคือจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์อันดีกับคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย
อันนำมาซึ่งผลประโยชน์มหาศาลในอนาคต...
กิจการของโรงงานฟุตบอลไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว มิได้ผลิตเพียงลูกฟุตบอลเท่านั้น
หากยังผลิตอุปกรณ์กีฬาชนิดอื่นด้วย อาทิ ไม้แบดมินตัน ไม้เทนนิส ลูกบาสเกตบอล
เป็นต้น ปัจจุบันมีรายการสินค้าที่ผลิตจากโรงงานถึง 218 ชนิด นอกจากนั้นยังได้ขยายโรงงานแห่งที่
2 บนเนื้อที่ 61 ไร่ บริเวณใกล้เคียงกับโรงงาน เดิม ด้วยเงินลงทุนกว่า 300
ล้านบาท พร้อมเครื่องจักรที่ทันสมัย เพื่อผลิตสินค้าเพื่อส่งออกโดยเฉพาะ
กมลไม่ได้อยู่เพียงแค่การผลิตสินค้าอุปกรณ์กีฬาเท่านั้น ตลอด 40 กว่าปีของการทำงานของเขา
เขาฝันที่จะเห็นห้างสรรพสินค้าที่เป็นศูนย์รวมเฉพาะสินค้ากีฬาทุกชนิดในเมืองไทย
และเขาก็สามารถทำให้ฝันของเขาเป็นจริงได้ โดยเมื่อปลายปี 2538 เขาได้เปิดตัวเอฟ
บี ที สปอร์ต คอมเพล็กซ์ ศูนย์สรรพสินค้ากีฬาที่เป็นศูนย์รวมทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับเรื่องของการกีฬา
แห่งแรกและแห่งเดียวของเมืองไทย
ณ ชั้น 9 ของอาคารเอฟบีที สปอร์ตคอมเพล็กซ์ ที่เป็นที่ตั้งของศูนย์บัญชาการคณะกรรมการจัดงานเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่
13 นี้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเช่าสถานที่ เสียเพียงค่าน้ำค่าไฟและค่าโทรศัพท์เองเท่านั้น
มีอายุสัญญาเช่า 2 ปี พอจบสิ้นงานเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 13 นี้ ทุกหน่วยบนชั้น
9 เอฟบีที สปอร์ตคอมเพล็กซ์จะสลายตัวไปในทันที
ปัจจุบันโรงงานฟุตบอลไทยมีพนักงานทั้งสิ้นประมาณ 2,000 คน สามารถผลิตลูกฟุตบอลได้
15,000 ลูกต่อวัน สำหรับยอดขายรวมเมื่อปีที่แล้วบริษัททำได้ 1,200 ล้านบาท
ส่วนในปีนี้เศรษฐกิจไม่เป็นใจ แต่กระนั้น มนต์ชัย ลูกชายคนรองสุดท้องของกมล
ผู้ดูแลงานด้านฝ่ายต่างประเทศและธุรกิจสินค้าลิขสิทธิ์ได้กล่าวอย่างมั่นใจว่า
ยอดขายในปีนี้ของฟุตบอลไทยจะไม่ตกไปจากปีที่แล้วมากนัก เนื่องจากบริษัทมีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าลิขสิทธิ์บอลโลก
"ฟรองซ์'98" ประมาณ 200 ล้านบาท และสินค้าลิขสิทธิ์เอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่
13 นี้ที่คาดว่าจะได้ประมาณ 300-400 ล้านบาท มาช่วยเสริมรายได้อีกช่องทางหนึ่ง
"หลังจากจบงานเอเชี่ยนเกมส์ครั้งนี้แล้ว บริษัทเรามีแผนที่จะใช้สินค้าลิขสิทธิ์เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสร้างรายได้ให้แก่บริษัทต่อไป
ซึ่งเราคาดว่าเราจะเข้าร่วมประมูลเป็นผู้จำหน่ายสินค้าลิขสิทธิ์ในเกมต่างๆ
ทุกปี โดยงานต่อไปคือ งานซิดนีย์ 2000 หรืองานโอลิมปิกเกมส์ที่ซิดนีย์นั่นเอง
ที่เราก็คาดว่าเราจะได้เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าลิขสิทธิ์งานดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย"
มนต์ชัยกล่าวอย่างมั่นใจ จากนั้นเขาก็ใช้วิธีการเดียวกับเอเชี่ยนเกมส์ครั้งนี้คือ
นำลิขสิทธิ์ที่ได้มากระจายต่อให้พันธมิตรของเขา มนต์ชัยยังเผยอีกว่า ค่าใช้จ่ายลิขสิทธิ์สินค้าซิดนีย์
2000 ถูกกว่าสินค้าเอเชี่ยน เกมส์ครั้งนี้หลายเท่า และงานนี้จะถือเป็นการคืนกำไรให้กับบรรดาพันธมิตรที่มาร่วมในงานเอเชี่ยนเกมส์นี้ด้วย
อย่างไรก็ดี ธุรกิจหลักของฟุตบอลไทยก็ยังคงเป็นการผลิตสินค้าอุปกรณ์กีฬาเพื่อส่งออก
และนำเข้าสินค้ากีฬาจากต่างประเทศมาจำหน่ายในไทย ขณะเดียวกัน ฟุตบอลไทยก็มีสินค้าในแบรนด์ของตัวเองที่จำหน่ายทั้งส่งและปลีกในประเทศ
นอกจากนั้น ฟุตบอลไทยยังทำธุรกิจประมูลอุปกรณ์กีฬาของหน่วยงานราชการไทยทั้งหมดอีกด้วย
และธุรกิจสินค้าลิขสิทธิ์ก็ถือเป็นธุรกิจน้องใหม่ที่มีทีท่าว่าจะสร้างรายได้ได้ดีทีเดียว
"ตอนเศรษฐกิจดีๆ ก็มีคนมาจีบให้เข้าตลาดฯ แต่พ่อไม่ยอม เพราะถือว่าบริษัทเป็นของท่านอยู่
100% ดีๆ เป็นหนี้แบงก์ก็นิดหน่อย แต่อยู่ดีๆ จะให้คนอื่นมาร่วมตัดสินใจก็ไม่ดีกว่า"
มนต์ชัยเล่า
กว่า 40 ปีของฟุตบอลไทยเติบโตมาด้วยกำไรของตนเองจากลูกฟุตบอลเพียงหนึ่งลูกกับเงินเพียง
1,000 บาทที่กู้ยืมมาได้ในวันนั้น จนกลายมาเป็นธุรกิจมูลค่า 1,000 ล้านบาทในปัจจุบันที่ยังคงเป็นของตระกูล
"โชคไพบูลย์กิจ" 100%