เมื่อประมาณ 3 ปีก่อนหน้านี้ สิน ค้าลิขสิทธิ์เอเชี่ยนเกมส์เป็นขนมหวานที่มีแต่คนจ้องจะจัดการกับเจ้าขนมหวานจานนี้
เม็ดเงินมหาศาลที่ล่อตาล่อใจให้ผู้คนแห่กันเข้ามาประมูล ลิขสิทธิ์นี้ ท้ายสุดเหลือเพียง
2 บริษัท คือ บริษัท เอดดูเทนเมนท์ จำกัด ของค่ายมีเดียพลัสที่จับมือกับพันธมิตร
อย่าง วิชัย รักศรีอักษร เจ้าพ่อดิวตี้ฟรี และบริษัท เอฟบีที สปอร์ตติ้งกู๊ดส์
จำกัด ผู้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องกีฬาและมีความสัมพันธ์อันดีกับคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย
เนื่องจากเอฟบีทีเป็นสปอนเซอร์ให้แก่คณะกรรมการนี้มาตั้งแต่ปี'36 และเป็นสปอนเซอร์ให้กับนักกีฬาทีมชาติไทยที่เข้าแข่งขันในเอเชี่ยนเกมส์ครั้งนี้
ไม่ต้องบอกก็ทราบว่าใครมีภาษีกว่ากัน และในที่สุดเอฟบีทีก็ถูกเลือกให้ได้รับลิขสิทธิ์ในการผลิตและจำหน่ายสินค้าที่ระลึกเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่
13 นี้ อย่างเป็นทางการ
จะเป็นเพราะอาถรรพ์หมายเลข 13 หรือไม่ ไม่มีใครทราบ แต่เท่าที่ทราบคือ
เรื่องของผลประโยชน์เป็นเรื่องที่ไม่เข้าใครออกใคร ประกอบกับในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา
หลังจากที่รัฐบาลไทยได้รับมอบหมายให้เป็นประเทศเจ้าภาพในการจัดงานเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่
13 ได้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหลายชุด รัฐบาลชุดใหม่เข้ามา คณะกรรมการจัดงานฯ
ก็ต้องเปลี่ยนตามไป การทำงานต่างๆ จึงไม่มีความต่อเนื่องและตั้งใจจริง ทำให้เกิดความล่าช้าอย่างที่ไม่น่าจะเป็นไปได้
เท่านั้นยังไม่พอหลังจากรัฐบาลชวลิตได้ออกมาประกาศลอยตัวค่าเงินบาท เป็นผลให้ค่าเงินบาทตกต่ำทำลายสถิติในรอบ
30 ปี สถานการณ์ต่างๆ ยิ่งเลวร้ายมากขึ้น ภาพพจน์ของประเทศก็เสียหายจนเกือบจะถูกถอดจากการเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้
เอฟบีที ก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ถูกเตะถ่วงอยู่นานในสมัยรัฐบาล หนึ่ง ทั้งๆ
ที่ได้รับอนุมัติเรียบร้อยแล้ว มนต์ชัย โชคไพบูลย์กิจ ทายาทเจ้าสัวกมล แห่งเอฟบีที
ผู้รับผิดชอบงานด้านลิขสิทธิ์สินค้าที่ระลึกเอเชี่ยนเกมส์ครั้งนี้ ได้ฉายภาพเบื้องหลังการทำงานครั้งนี้กับ
"ผู้จัดการรายเดือน" ดังนี้
"เราทำแผนงานของเราเสนอต่อ คณะกรรมการตั้งแต่ พ.ย. 38 กว่าจะได้เซ็นสัญญาก็เดือน
พ.ค. 39 รออย่างเดียวครึ่งปีไม่ได้ทำอะไรเลยช่วง นั้นมีแต่ข่าวร้ายๆ นับตั้งแต่เรื่องคุณจารึก
คุณสันติภาพ คีย์แมนสำคัญของงานลาออก ข่าวลือว่าเอเชี่ยนเกมส์จะถูกดึงออกจากประเทศไทย
แล้วใครจะมาซื้อลิขสิทธิ์กับเรา เพราะไม่มีใครแน่ใจว่าเราจะได้เป็นเจ้าภาพหรือเปล่า"
นั่นคือเหตุการณ์เมื่อ 1-2 ปีที่แล้วที่ลากยาวมาจนถึง ฯพณฯ พิชัย รัตตกุล
ได้เข้ามาดูงานนี้ด้วยตัวเองเมื่อต้นปี'41 ที่ผ่านมา
"งานของเราเริ่มได้จริง หลังจากที่ท่านพิชัยเข้ามาได้สัก 2 เดือน
ก่อนหน้านั้นทำอะไรไม่ได้เลย สถานการณ์แย่มาก ทั้งๆ ที่เรารู้ว่าเรื่องจริงเป็นอย่างไร
แต่คนอื่นเขาไม่รู้นอกรู้ในเหมือนเรา ถ้าพูดไปก็จะกลายว่าเป็น SALE TALK"
เป็นความรู้สึกของมนต์ชัยภายหลังจากที่ได้รับอนุมัติให้ได้รับลิขสิทธิ์ดังกล่าวแล้ว
ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นเขามีความมั่นใจอย่างยิ่งว่างานนี้จะสร้างรายได้มหาศาลให้แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
"ช่วงที่เราประมูลงานนี้ได้ เศรษฐกิจยังดีอยู่ ค่าเงินยังดี เราก็วาดภาพไว้ค่อนข้างดี
เราคิดว่าเราจะขายลิขสิทธิ์ได้เป็นล่ำเป็นสัน แต่หลังจากนั้นงานก็ล่าช้าเรื่อยมา
จนมาเจอกับค่าเงินบาทลอยตัว ทำให้เราต้องจ่ายเงินให้ BAGOC เพิ่มมากขึ้นเมื่อคิดเป็นเงินบาท
ประกอบกับงบลงทุนของบริษัทต่างๆ ก็ลดลง เราก็ขายลิขสิทธิ์ไม่ได้เลย เราเพิ่งมาเริ่มขายได้เป็นจริงเป็นจังในปีนี้เอง"
เงินค่าลิขสิทธิ์ขั้นต่ำที่เอฟบีที ต้องหามาจ่ายให้แก่คณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์
หรือ BAGOC (BANGKOK ASIAN GAMES ORGANIZING COMMITTEE) เป็นเงินทั้งสิ้น
5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 125 ล้านบาท (1 $=25 บาท) ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนเงินที่ไม่เหลือบ่ากว่าแรงของเอฟบีทีในยุคที่เศรษฐกิจยังดีอยู่
แต่ปัจจุบันเงินจำนวนนี้ได้พุ่งขึ้นเป็น 200 ล้านบาท (1$ = 40 บาท) จากพิษค่าเงินบาท
ทำให้เอฟบีทีต้องเหนื่อยหนัก เพราะหากขายลิขสิทธิ์ไม่เข้าเป้าก็จะต้องชักเนื้อตัวเอง
ส่วนเรื่องขายเกินทะลุเป้านั้นไม่ต้องหวังและยังมีเงิน 1 ล้านเหรียญฯ ที่เอฟบีทีไม่ได้จ่ายเป็นเม็ดเงิน
แต่เป็นค่าใช้จ่ายในการทำสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าที่ระลึก ซึ่งเป็นที่มาของโครงการเอเชี่ยนเกมส์พาร์คมูลค่า
20 ล้านบาทที่จะกล่าวต่อไปด้วย
สถานการณ์บีบคั้นขึ้นเรื่อยๆ มนต์ชัยจึงต้องเปลี่ยนแผนจากเดิมที่ทางเอฟบีที่จะเก็บเงินค่าลิขสิทธิ์จากผู้ค้าเป็นเงินก้อน
หรือประมาณ 10% ของราคาขายปลีกเปลี่ยนเป็น 5% ของราคาขายปลีกของสินค้าแต่ละชิ้น
และผู้ผลิตสินค้าที่ระลึกจะต้องมาซื้อป้ายแฮโลแกรมจากเอฟบีทีเท่ากับจำนวนที่จะผลิต
และสินค้าที่ระลึกของแท้ทุกชิ้นต้องมีป้ายแฮโลแกรม พร้อมสัญลักษณ์เอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่
13 จากเอฟบีทีห้อยอยู่ด้วย
มนต์ชัยตั้งเป้ายอดขายจากสินค้าที่ระลึกเอเชี่ยนเกมส์ว่าควรจะได้ทั้งสิ้นประมาณ
1,500 ล้านบาท จากไลเซนซีทั้งหมด 191 ราย คิดเป็นค่าลิขสิทธิ์ 10% ก็จะได้เงินประมาณ
150 ล้านบาท ซึ่งจะเพียงพอกับเงิน 5 ล้านเหรียญฯ ก่อนเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาท
แต่ตอนนี้ไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว เพราะยังขาดเงินอีก 50 ล้านบาท และค่าลิขสิทธิ์
10% เก็บจริงก็เพียง 5% เท่านั้น ตัวเลขก็ยิ่งดูห่างไกลเข้าไปอีก
"เราพยายามทำทุกอย่าง ถ้าได้เท่าทุนเราก็พอใจแล้ว เพราะอย่างน้อยก็ถือว่างานนี้
ชื่อของเอฟบีที ได้ออกไปไกลถึง 43 ประเทศ และเราก็คิดว่าเกมนี้เป็นเกมระดับชาติเราทำฟรี
เหนื่อยฟรี แต่ได้พีอาร์เราก็พอใจแล้ว" เป็นความคิดเห็นของมนต์ชัยและบรรดาไลเซนซีอีก
191 รายในการสร้างกำลังใจให้มีแรงในการเข็นงาน นี้ให้สำเร็จ
"ผมพูดตรงๆ ว่า ณ วินาทีที่เราเข้าไปประมูล เราคิดว่าคุ้มแน่นอน แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว
ฉะนั้นตอนนี้ไหนๆเราก็ถูกมอบหมายให้ทำงานนี้แล้ว เราก็ต้องทำให้ตลอด จริงๆ
แล้วถ้าเราคิดจะถอย เราก็ถอยได้ตั้งนานแล้ว ตั้งแต่เราถูกยื้อในการรอเซ็นสัญญาจากรัฐบาลนานถึง
6 เดือน, เหตุการณ์ ค่าเงินบาท... แต่เราคิดไว้นานแล้วว่าเราอยากจะเป็นสปอนเซอร์เอเชี่ยนเกมส์
แต่เราไม่มีเงินมากพอที่จะจ่ายมาเป็นเงินสดและได้รับการโฆษณาชื่อไปตลอดดังเช่นสปอนเซอร์หลักทั้ง
11 ราย" มนต์ชัยสารภาพจากใจ ดังนั้นเขาจึงไม่ถอย ทั้งยังถอดใจในการทำงานแลกชื่อของเอฟบีที
ที่กระจายไปสู่ 43 ประเทศ และได้อยู่เคียงข้างกับสปอนเซอร์หลักทั้ง 11 รายด้วย
สำหรับโครงการเอเชี่ยนเกมส์พาร์ค เป็นโครงการที่เอฟบีที จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์การจำหน่ายสินค้าที่ระลึกเอเชี่ยนเกมส์
ขนาดใหญ่ กว่า 2,000 ตร.ม.ในบริเวณสนามแข่งขันหลัก 3 แห่ง ได้แก่ สนามราชมังคลากีฬาสถาน
(หัวหมาก) สนามกีฬาศูนย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต และสนามศุภชลาศัย (ปทุมวัน)
ในช่วงการแข่งขันกีฬาตั้งแต่วันที่ 1-20 ธ.ค.นี้ ซึ่งมนต์ชัยคาดว่าจะมีคนเข้าในแต่ละสนามไม่ต่ำกว่า
50,000 คนแน่นอน เอเชี่ยนเกมส์พาร์คจึงเป็น การเข้าถึงผู้ซื้อโดยตรง รวมทั้งเป็นการสร้างบรรยากาศของงานให้คึกคักยิ่งขึ้น
สินค้าที่มนต์ชัยคาดว่าจะเป็นพระเอกของงานนี้ก็คือ ตุ๊กตาช้างไชโย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของงานนี้
และเป็นสินค้าที่เอฟบีที ดึงลิขสิทธิ์จากบริษัท เอิร์ธ อินดัสเตรียล มาผลิตเอง
หลังจากที่เอิร์ธฯ ผิดสัญญา มนต์ชัย คาดว่า ตุ๊กตาจะสร้างรายได้ได้ถึง 350
ล้านบาท นอกจากนั้นยังมีสินค้าอื่นที่ผลิตโดยเอฟบีที อีก อาทิ เสื้อยืดที่ระลึกที่คาดว่าจะขายได้ประมาณ
4 แสนตัว รวมยอดขายของเอฟบีทีที่ประมาณการไว้ทั้งหมดประมาณ 500-600 ล้านบาท
คิดเป็น 30% ของยอดรายได้รวมที่ประมาณไว้ 1,500 ล้านบาท ซึ่งเขามีความหวังว่าไลเซนซีอีก
190 รายจะทำยอดขายได้ดีด้วย คิดแล้วก็ทำอีกรายละไม่ถึง 10 ล้านบาท ก็ทะลุเป้าแล้ว
ไม่น่ายากอย่างที่คิด เพราะยังมีไลเซนซีรายใหญ่อย่างศรีไทยซุปเปอร์แวร์ และโอเชี่ยนกลาสอีก
ที่น่าจะช่วยสร้างรายได้ให้เกินเป้าที่ตั้งไว้ งานนี้ฟุตบอลไทยก็คงไม่ต้องชักเนื้ออย่างที่กังวล
"ทุกคนที่เข้ามาร่วมงานเอเชี่ยน เกมส์ครั้งนี้ ได้อะไรกลับไปทุกคน อย่างน้อยเราก็ได้รู้จักพันธมิตรทางธุรกิจเพิ่มขึ้นอีก
191 ราย บางรายก็หวังเอาเอเชี่ยนเกมส์เพื่อขายของ บางรายก็เพื่อสร้างอิมเมจ
ซึ่งไม่ว่ารายได้หรือผลตอบแทนที่เขาได้รับจะเป็นอย่างไร แต่ที่แน่นอนคือ
เขาได้อิมเมจ ภาพลักษณ์ที่ดีแก่บริษัทของเขาที่จะอยู่ไปอีกยาวนาน คุ้มกับเงินที่ลงทุนไป"
มนต์ชัยกล่าว...ไม่มีการลงทุนใดๆ ที่ไม่หวังผลประโยชน์...
เมื่อจบสิ้นจากเกมนี้ทุกอย่างจะกลายเป็นอดีตที่ตราตรึงเป็นบทเรียนแก่ประเทศไทยไปอีกนานเท่านาน...
มีคณะกรรมการท่านหนึ่งของการจัดงานครั้งนี้กล่าวว่า คนไทยชอบทำงานแบบ "LAST
MINUTE" ซึ่งในที่สุดงานก็สำเร็จออกมาได้ แม้เบื้องหลังจะเละตุ้มเป๊ะ...