ในปี 2533 เมื่อคราวสภากีฬาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (โอซีเอ) มีมติอนุมัติให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่
13 นั้น เมืองไทยไม่มีสปอร์ตคอมเพล็กซ์เลยแม้แต่แห่งเดียว
สถานที่จัดบางกอกเกมส์ กว่าจะเป็นรูปเป็นร่างก็ในอีกหลายปีต่อมาในสมัยรัฐบาล
ชวน หลีกภัย หลังจากถูกกระทุ้งอย่างหนัก โดยอนุมัติให้ทางบริษัทอภิพัฒน์นคร
เป็นผู้ก่อสร้างสปอร์ตคอมเพล็กซ์ มูลค่าประมาณ 9,000 ล้านบาทขึ้น แต่เมื่อทางบริษัทนั้นไม่สามารถหาแหล่งเงินมาค้ำประกันโครงการได้ก็ต้องยกเลิกไป
สนามการแข่งขันหลักของเอเชี่ยนเกมส์ จึงได้กลายมาเป็นสนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน
ที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ สปอร์ตคอมเพล็กซ์ ในศูนย์ธรรมศาสตร์ รังสิต ที่เพิ่งได้รับอนุมัติในสมัยรัฐบาลชวน
เช่นกัน รวมทั้งสปอร์ตคอมเพล็กซ์ในเมืองทองธานี
แต่ละสนามมีเรื่องราวของการก่อสร้างน่าสนใจทีเดียว
สนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถานใช้เวลาในการก่อสร้างถึง 10 ปีเต็ม เริ่มมาตั้งแต่ปี
2529 เพื่อใช้ในการแข่งขันกีฬาระดับชาติแทนสนามศุภชลาศัย การกีฬาแห่งประเทศไทยได้ทำสัญญาจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด
วิวัฒน์ก่อสร้าง ทำการก่อสร้างสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ พร้อมทำสัญญาจ้างบริษัทสยามซีเท็ค
จำกัด ทำการควบคุมการก่อสร้างเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2531 กำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จในวันที่
10 มีนาคม 2534 โดยแบ่งงวดงานก่อสร้างเป็น 30 งวด ระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ
900 วัน ซึ่งงานในส่วนนี้ได้รับการต่ออายุสัญญาจากมติ ครม. 3 ครั้ง รวม 420
วัน และต่ออายุสัญญา เนื่องจากผู้ว่าจ้าง 2 ครั้ง รวม 1,123 วัน รวมเวลาในการก่อสร้างทั้งสิ้น
2,443 วัน เสร็จเรียบร้อยในส่วนนี้ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2538 เป็นค่าก่อสร้างทั้งสิ้น
630 ล้านบาท
อุปสรรคสำคัญที่ก่อให้เกิดความล่าช้าของการก่อสร้างระยะแรกก็คือ ปัญหาในเรื่องเทคนิคต่างๆ
ในการก่อสร้าง มีการแก้ไขงานหลายครั้ง โดยเฉพาะในส่วนของโครงหลังคา ซึ่งเป็นคานคอนกรีตยื่นจำนวน
33 คาน คานที่ยาวที่สุดถึง 55 เมตร
ระยะที่ 2 เป็นงานตกแต่งรายละเอียดในด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม และงานระบบเพิ่มเติม
เช่น ระบบไฟส่องสนาม ระบบเสียง การติดตั้งเก้าอี้อัฒจรรย์มีหลังคา พร้อมราวกันตก
โดย กกท.ได้รับความร่วมมือทางวิชาการจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดยในส่วนที่ 2 นี้ จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 550 ล้านบาท งานหลักๆ ก็คือ งานทางด้านสถาปัตยกรรม
และตกแต่งภายใน ใช้วงเงินไปประมาณ 367 ล้านบาท ผู้รับจ้างคือ ห้างหุ้นส่วนจำกัดช้างม่อยเฟอร์นิเจอร์
งานในระยะที่ 2 นี้ได้เสร็จสิ้นไปเรียบร้อยตั้งแต่ปีที่แล้ว
ส่วนงานระยะที่ 3 นั้นการกีฬาแห่งประเทศไทยก็เพิ่งทำแล้วเสร็จไปก่อนเปิดการแข่งขันประมาณ
1 เดือน คือในเรื่องของการทำตราสัญลักษณ์ และป้ายชื่อสนาม โดยติดตั้งด้านนอกผนังคบเพลิง
มีความสูง 9.00 เมตร และติดตั้งหลังคาที่ประทับมีขนาดความสูง 1.50 เมตร งานตกแต่งบริเวณหน้าที่ประทับและส่วนของที่นั่งประธาน
รวมทั้งงานทาสีภายในบางส่วน และงานสถาปัตยกรรม ทั้ง 3 ส่วนนี้เป็นเงินประมาณ
8 ล้านบาท
รวมงบทั้งสิ้นประมาณ 1,188 ล้านบาท
"ถ้าคิดเฉพาะในส่วนของการก่อสร้าง และความสวยงานทางด้านสถาปัตยกรรม
โครงการนี้ถูก และสวยมากๆ ด้วย แต่จุดที่ผิดพลาดตั้งแต่เริ่มแรกก็คือ มันไม่น่าไปอยู่ในสนามกีฬาหัวหมาก
ซึ่งเป็นจุดบอดที่สำคัญในจราจร
แหล่งข่าวคนหนึ่งในวงการกีฬากล่าว
สนามกีฬาเมืองทองธานี เป็นสนามที่ได้รับแรงลุ้นจากทุกๆ ฝ่าย ฝ่ายที่เกี่ยวข้องมากที่สุดในช่วงระยะเวลา
2 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้สร้างเสร็จได้ทันเวลา พร้อมๆ กับคำถามที่เกิดขึ้นมาว่า
งานนี้ อนันต์ กาญจนพาสน์ ได้อะไร และจะคุ้มกันหรือไม่
และในที่สุด อนันต์ก็ทำได้ โดยได้ส่งมอบเพื่อให้การกีฬาแห่งประเทศไทยไปใช้ในการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ไปเมื่อวันที่
15 ตุลาคม 2541
ศูนย์กีฬาในเมืองทองธานีนั้นประกอบไปด้วย สนามการแข่งขันกีฬาในร่มขนาดใหญ่
คือ Hall 1, 2, 3, 4 ใช้เป็นสนามการแข่งขันยิมนาสติก ซึ่งมีที่นั่ง 5,000
ที่นั่ง Hall 5 ใช้ในการแข่งขันกีฬาสนุกเกอร์ 500 ที่นั่ง ส่วนของ Arena
เพื่อใช้ในการแข่งขันมวยสมัครเล่น ประกอบไปด้วยที่นั่ง 10,000 ที่นั่ง
นอกจากนั้น ยังมีส่วนของ Indoor Stadium ซึ่งใช้ในการแข่งขันกีฬายกน้ำหนัก
ประมาณ 5,000 ที่นั่ง สนามเทนนิส มีที่นั่ง 3,000 ที่นั่ง สนามรักบี้ฟุตบอล
มีที่นั่ง 5,000 ที่นั่ง สระว่ายน้ำ 2 สระสำหรับฝึกซ้อม ศูนย์ Press Center
ที่จอดรถ และห้องอาหาร
ส่วนอาคารและสนาม ที่ทางบีแลนด์จะต้องมอบให้เป็นกรรมสิทธิ์ของการกีฬาแห่งประเทศไทยเอาไว้ใช้เลย
30 ปีก็คือ สนามรักบี้ โรงยิมพร้อมที่นั่งสำหรับผู้ชมและสระว่ายน้ำยาว 50
เมตร เพื่อใช้ในการฝึกซ้อม 1 สนาม
อนันต์ และทีมงานยืนยันว่า งบประมาณทั้งหมดที่วางไว้ตอนแรกเริ่มโครงการ
คาดกันว่าประมาณ 3,000 ล้านบาทนั้นบานปลายไปร่วม 4,000 ล้านบาท โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์
และธนาคารออมสินเป็นผู้สนับสนุนทางด้านเงินกู้ เป็นจำนวนประมาณ 2,800 ล้านบาท
ทำไม สนามกีฬาหลัก 1 ใน 3 แห่งนี้ ต้องเป็นในโครงการเมืองทองธานี ซึ่งเป็นโครงการของภาคเอกชน
สินธุ พูนศิริวงศ์ ประธานบริษัทสินธุพูนศิริวงศ์ คอนซัลแตนท์ส บริษัทวิศวกรที่ปรึกษาของบางกอกแลนด์
เล่าว่า
"มีผู้ใหญ่ทางรัฐบาลคนหนึ่งมาปรึกษาผมในเรื่องสนามกีฬานั้น ถ้าเราได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนก็ดี
เพราะงบประมาณการเงินของรัฐบาลกำลังแย่ ผมก็ได้นำมาปรึกษาคุณอนันต์ ซึ่งทางคุณอนันต์ก็ได้นำไปปรึกษาคุณพ่อ
เมื่อทางคุณมงคลบอกว่าให้ช่วยก็เลยตกลง
แน่นอน งานนี้นอกจากอนันต์จะได้ชื่อว่าเป็นการช่วยชาติแล้ว สิ่งหนึ่งที่เขาหวังก็คือ
ในส่วนสปอร์ตคอมเพล็กซ์นั้น เมื่อสิ้นสุดการแข่งขันจะสามารถแปรเปลี่ยนเป็นศูนย์แสดงสินค้าอเนกประสงค์ได้ในอนาคต
และมันจะทำให้ความเป็นโครงการเมืองทองธานีสมบูรณ์แบบขึ้น และที่สำคัญเมื่อมีโครงการทางด่วนสายปากเกร็ด-บางปะอิน
อนันต์ก็เลยบริจาคที่ดินในโครงการเมืองทองธานีให้ถนนเส้นนี้พาดผ่านความยาวประมาณ
2.8 กิโลเมตร หน้ากว้างของถนนประมาณ 4.5 เมตร พร้อมทั้งขอทำจุดขึ้นลงในโครงการ
ในช่วงแรกนั้นประมาณการกันว่าจะใช้งบเพียง 200 ล้านบาท ต่อมาจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น
300 ล้านบาท แล้วก็มาสรุปเพิ่มขึ้นเป็น 250 ล้านบาท ซึ่งอนันต์ก็ตัดใจควักกระเป๋าจ่ายไป
เขาหวังว่าในระยะยาวมันจะคุ้มแน่นอน
แนวความคิดข้างต้นถูกยืนยันด้วยการกระทำของอนันต์เอง สิ่งแรกที่เขาฉวยโอกาสคว้าจังหวะทำก่อนสิ่งอื่นเลยก็คือ
การขึ้นคัตเอาต์ขนาดยักษ์หลายจุด โฆษณาเมืองทองธานีว่าเป็นเมืองแห่งเอเชี่ยนเกมส์
ความหวังที่ว่าเอเชี่ยนเกมส์ จะเป็นตัวช่วยฉุดยอดขายของโครงการที่อยู่อาศัย
ที่เหลืออยู่อีกจำนวนมากในโครงการที่ถนนแจ้งวัฒนะ เฉกเช่นเดียวกับที่สนามกีฬาหัวหมากเคยปลุกทุ่งร้างแห่งนั้นให้กลายเป็นเมือง
เป็นเรื่องที่อนันต์คาดไว้ว่าจะเกิดขึ้น
แต่เมื่อการณ์กลับแปรเปลี่ยนเป็นว่า ทันทีที่ตัดสินใจทุ่มเงินสร้างสนามกีฬาเมืองทอง
เพื่อหวังผลประโยชน์ดังกล่าว ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำก็ได้ถั่งโถมเข้ามาหาอนันต์ระลอกแล้วระลอกเล่า
บางกอกแลนด์ขาดเงินสดหมุนเวียนอย่างหนัก ในขณะเดียวกันทุกอย่างในเวลานั้นต้องใช้เงินสดทั้งสิ้น
ใช้เครดิตไม่ได้ สนามกีฬาเมืองทองธานีได้เลื่อนกำหนดเปิดหลายครั้ง จนกระทั่งได้มีการพูดหนาหูว่า
อาจจะล้มเลิกการใช้สนามนี้
และเรื่องนี้เองที่ทำให้สินธุและอนันต์ถึงกับเต้นผาง
สินธุเล่าว่า เมื่อมีโอกาสเจอกับ พิชัย รัตตกุล ก็ได้เรียนว่า "ท่านครับ
ทางบีแลนด์เขายืนยันว่าทำทัน อย่าเพิ่มล้มเลิกนะครับ อีกอย่างเงินของบีแลนด์ทั้งนั้นนะครับที่ลงไปแล้ว
3-4 พันล้านบาท ไม่ใช้เงินของรัฐบาลนะครับ"
และด้วยศักดิ์ศรีจริงๆ ที่ทำให้อนันต์พยายามสร้างต่อจนเสร็จ แต่สปอร์ตคอมเพล็กซ์นั้นเปรียบเป็นเสมือนเผือกร้อนๆ
อยู่ในมือ เพราะจากที่เคยคาดหวังไว้ว่าจะเป็นศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ที่ทำรายได้ต่อเนื่อง
หลังการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์สิ้นสุดลง ก็ดูเหมือนว่าต้องคอยจังหวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น
ซึ่งก็คงต้องใช้เวลา
ด้านสนามธรรมศาสตร์ ว่าไปแล้ว จากการวิ่งเต้นกันสุดๆ ของผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รังสิต ทำให้สถาบันแห่งนี้ได้รับอานิสงส์จากการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่
13 มากกว่าสถาบันอื่นๆ เพราะรัฐบาลอนุมัติงบประมาณมาให้เพื่อสร้างศูนย์กีฬา
ซึ่งประกอบไปด้วยอาคารยิมเนเซียมทั้งหมด 7 อาคาร และโครงการหมู่บ้านนักกีฬา
ซึ่งเป็นตึกสูงอีก 5,000 ยูนิต รวมเป็นเงินทั้งหมดประมาณ 6,700 ล้านบาท
ในเนื้อที่กว่า 2,500 ไร่ ของศูนย์กีฬานั้นประกอบด้วยรายละเอียดดังนี้
ส่วนที่ 1. อาคารยิมเนเซียม Convention Hall และ Wresting โดยมีพื้นที่โครงการประมาณ
18,000 ตารางเมตร จุผู้ชมได้ประมาณ 13,000 ที่นั่ง มูลค่างานประมาณ 766 ล้านบาท
2. อาคารยิมเนเซียม (GA-1) หรือ Sport Training Center มีพื้นที่โครงการประมาณ
6,500 ตารางเมตร หรือ 5,000 ที่นั่ง มูลค่างานประมาณ 369 ล้านบาท
3. อาคารยิมเนเซียม (GA-2) มีพื้นที่โครงการประมาณ 6,500 ตารางเมตร ความจุ
3,000 ที่นั่ง
4. อาคารยิมเนเซียม (GA-3) มีพื้นที่โครงการประมาณ 6,500 ตารางเมตร ความจุ
3,000 ที่นั่ง
5. อาคารยิมเนเซียม (GA-4) หรือ Renovation เป็นการก่อสร้างจากยิมเนเซียมของเดิมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เพื่อใช้ในการแข่งขันกีฬา โดยมีพื้นที่โครงการประมาณ 9,000 ตารางเมตร จุที่นั่ง
3,000 ที่นั่ง มูลค่างาน 41 ล้านบาท
ส่วนที่ 2 คือ 1. อาคารยิมเนเซียม (GT-2) หรือ T.U. Auditorium เพื่อใช้ในการแข่งขันกีฬาแบดมินตัน
โดยมีพื้นที่โครงการประมาณ 9,000 ตารางเมตร หรือ 5,000 ที่นั่ง มูลค่างาน
286 ล้านบาท
3. อาคารยิมเนเซียม (GT-3) Resource Center โดยมีพื้นที่โครงการประมาณ 9,000
ตารางเมตร จุผู้ชมได้ 5,000 ที่นั่ง มูลค่างานประมาณ 156 ล้านบาท
เมื่อโครงการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์สิ้นสุดลง ธรรมศาสตร์ก็จะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีศูนย์กีฬาภายในสมบูรณ์ก่ามหาวิทลัยอื่นๆ
รวมทั้งมีหอพักสำหรับอาจารย์และนักศึกษาที่หรูหราที่สุด มีการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์อย่างต่อเนื่องจากศูนย์กีฬาและหมู่บ้านนักกีฬาที่ยิ่งใหญ่นั้น