Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2541








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2541
จุลจิตต์ บุณยเกตุ THE MAN BEHIND..มีชัย             
 


   
search resources

จุลจิตต์ บุณยเกตุ




หลายคนอาจประหลาดใจว่า ทำไมจุลจิตต์ บุณยเกตุหรือ เจ.เจ.จึงมานั่งตำแหน่ง ที่ปรึกษาประธานบอร์ดองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) ให้กับมีชัย วีระไวทยะ ทั้งๆ ที่ก็มีตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการไทยออยล์ และยังนั่งเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจทางด้านทีวีอีก 2 ตำแหน่ง

แถมพอมีชัยได้เป็นประธานบอร์ดแบงก์กรุงไทย จุลจิตต์ก็ยังเป็นกรรมการธนาคารกรุงไทยชุดล่าสุด

หากพลิกดูแฟ้มประวัติของทั้งสองแล้วก็อาจไม่แปลกใจนัก เพราะต่างก็ผ่านประสบการณ์ทำงานมาแล้วหลายครั้งหลายหน แม้จะต่างบทบาทกันไป แต่วิถีทางสังคมของทั้งสองก็ไม่ได้แตกต่างกันนัก เพื่อนฝูงคนที่ใกล้ชิดล้วนก็เป็นคนในระดับเดียวกัน

จุลจิตต์นั้นเติบโตขึ้นมาในองค์กรขนาดใหญ่อย่างไทยออยล์ เริ่มไต่เต้ามาตั้งแต่ระดับผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบุคคล ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ผู้จัดการสำนักงานฝ่ายการจัดการ จนกระทั่งมารับตำแหน่งใหญ่เป็นกรรมการอำนวยการไทยออลย์แทนเกษม จาติกวณิช เจ้าของฉายาซุปเปอร์เค

การเติบโตของจุลจิตต์ในแต่ละจังหวะเวลาย่อมไม่ธรรมดา ช่วงที่เป็นผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของไทยออยล์ เป็นช่วงที่จุลจิตต์มีโอกาสรู้จักสนิทสนมกับบรรดานักหนังสือพิมพ์ค่ายใหญ่ๆ ทั้งหลาย นอกจากจะทำให้ชื่อเสียงของเขาเป็นที่มักคุ้นในแวดวงธุรกิจและสังคม แนวคิดของเขาในเรื่องของ "สื่อ" ก็เริ่มขึ้นที่จุดนั้น

จุลจิตต์เองก็เป็นคนที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีคนหนึ่ง เขาสนิทสนมกับ ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นอย่างมาก และเป็นส่วนที่ผลักดันให้เขาก้าวไปสู่ตำแหน่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจหลายแห่งในเวลาต่อมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของ ดร.จิรายุ ในช่วงรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นช่วงที่ ดร.จิรายุได้เข้าไปนั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีมาแล้วหลายตำแหน่ง เคยเป็นทั้งรัฐมนตรีประจำสำนักนายก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

ในช่วงนั้นเอง จุลจิตต์ก็ได้เข้าไปนั่งในบอร์ดองค์การสื่อสารมวลชน (อ.ส.ม.ท.) ซึ่งได้กลายเป็นจุดเริ่มที่นำพาให้จุลจิตต์ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการที่เกี่ยวข้องกับ "สื่อ" ของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการนั่งในบอร์ดบริหารของสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 และช่อง 7 จนถึงปัจจุบัน

รวมถึงการริเริ่มโครงการโทรทัศน์เสรี ภายใต้การนำของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งจุลจิตต์เป็นหนึ่งในคณะกรรมการร่างทีโออาร์ และสำนักงานทรัพย์สินฯ ก็ร่วมกับพันธมิตรเข้าประมูลและก็คว้าชัยชนะมาได้ ซึ่งจุลจิตต์ปลีกเวลาจากไทยออยล์ มาเข้ารับตำแหน่งบริหารในบริษัทสยามทีวี แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น แต่ในที่สุดก็ลาออกและกลับไปทำงานที่ไทยออยล์ตามเดิม

ช่วงนั้นจุลจิตต์เดินเข้าออกในบอร์ด อ.ส.ม.ท.หลายครั้ง ตั้งแต่รัฐบาลพลเอกเปรมและยังทอดยาวมาถึงสมัยอดีตนายกอานันท์ ปันยารชุน ผ่านเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงในรัฐวิสาหกิจแห่งนี้มาหลายต่อหลายครั้ง เขาจึงเป็นคนหนึ่งที่รู้เรื่องราวความเป็นมาของเหล่าเอกชนที่เข้ามาทำธุรกิจ กับอ.ส.ม.ท.

และเป็นเวลาเดียวกับที่มีชัยเองมีตำแหน่งในทางการเมือง โดยเฉพาะในช่วงที่เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายก และโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี ทำให้ทั้งสองมีโอกาสต้องทำงานเกี่ยวข้องกันหลายครั้ง

มีชัยและจุลจิตต์ร่วมงานกันจริงๆ ในช่วงที่มีชัยเป็นผู้ว่าการประปา และจุลจิตต์ได้มาเป็นบอร์ดการประปาภูมิภาค ทั้งมีชัยและจุลจิตต์มีแนวคิดที่สอดประสานกัน ในเรื่องการนำเอาระบบการแปรรูปรัฐวิสาหกิจมาใช้ในการประปา อันเป็นที่มาของบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (อีสท์วอเตอร์) ที่จุลจิตต์และมีชัยต่างก็เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทนี้ขึ้น

ผลงานอีกชิ้นที่จุลจิตต์ยังภูมิใจจนถึงทุกวันนี้ คือ การเป็นคนคิดโปรเจ็กต์ร่วมลงทุน (JOINT VENTURE) โดยให้รัฐบาลมาถือหุ้นร่วมกับเอกชนในบริษัทไทยออยล์ ที่เขานั่งบริหารงานอยู่จนถึงเวลานี้

ในแง่ของบทบาททางสังคม จุลจิตต์ร่วมตั้งกลุ่มราชพฤกษ์ ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้สนใจการเมือง แต่ไม่ใช่กลุ่มการเมือง ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาสำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง น้ำมัน ข้าว ธนาคาร

กลุ่มราชพฤกษ์ในเวลานั้น มีดำรงค์ พุฒตาล, เกษม จาติกวณิช, สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์, มงคล สิมะโรจน์, ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ ผลัดกันเป็นประธานกลุ่ม

และนี่เอง คือ ความโดดเด่นของจุลจิตต์ในสายตาของมีชัย

หลังจากหมดยุคของอานันท์ ปันยารชุน มีชัยเองก็เงียบหายไปนาน หันไปมุ่งงานทางด้านสังคม และนั่งเป็นกรรมการอิสระในบริษัทเอกชนบางแห่ง

หากไม่เป็นเพราะสุเมธ ตันติเวชกุล ยื่นใบลาออกจากประธานบอร์ด ทศท. ทำให้สุเทพต้องเฟ้นหาคนที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความโดดเด่นในเรื่องภาพความโปร่งใสที่สุเทพต้องการเน้นเป็นพิเศษ

มีชัย คือ คำตอบของสุเทพ ด้วยภาพลักษณ์ของการเป็นนักสังคมสงเคราะห์ ที่โปร่งใสไม่มีนอกมีใน การดึงมีชัยมานั่งเก้าอี้บอร์ด ทศท. แทนสุเมธจึงลงตัวมากที่สุดในเวลานั้น

เงื่อนไขของมีชัยที่ให้ไว้คือ จะต้องมีความเป็นอิสระ เพราะในสายตาของมีชัย ทศท.คือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มหาศาล และมีปัญหามาตลอด สุเทพเองก็ยังมีบาดแผลมาจากกรณีของสปก.4-01

ความระแวดระวังของมีชัย จึงมุ่งไปที่เรื่องการรักษาภาพลักษณ์เป็นสำคัญ ซึ่งบางครั้งก็เป็นจุดอ่อนที่ไม่สอดคล้อง กับสภาพปัญหาที่แท้จริง เรียกง่ายๆ ว่า แก้ปัญหาไม่ตรงจุด

หลายครั้งที่มีชัยทำให้ที่ประชุมในบอร์ดทศท.เข้าใจว่า มีชัยไม่รับฟังความเห็นของใครยกเว้นแนวคิดนั้นจะมาจากจุลจิตต์ ซึ่งเป็นบุคคลเดียวที่มีชัย "รับฟัง" และยอมรับความคิดเห็นมากที่สุด

และทันทีที่มีชัยได้รับทาบทามจากคนในพรรคประชาธิปัตย์ ให้ไปนั่งเป็นประธานบอร์ดแบงก์กรุงไทย จุลจิตต์ก็เป็นหนึ่งในโผของบอร์ดธนาคารกรุงไทย ที่มีชัยวางตัวไว้ตั้งแต่ต้นทันทีที่รู้ว่าต้องมารับตำแหน่งใหญ่นี้

"คุณจุลจิตต์ เขาเป็นคนที่มีความรู้ในเรื่องการจัดการ" เหตุผลสั้นๆ ของมีชัย

แต่ตำแหน่งที่ปรึกษาประธานบอร์ด ทศท.นั้นไม่เหมือนกับการเป็นบอร์ดในแบงก์ กรุงไทย ซึ่งมีเงื่อนไขที่มากไปกว่านั้นเยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวพันกับระบบการเงินของรัฐบาลโดยตรง

การมานั่งในแบงก์กรุงไทยของตัวมีชัย ก็ใช่ว่าจะราบรื่น เพราะมีเสียงคัดค้านมาตั้งแต่ต้น และแม้การมาของจุลจิตต์จะไม่แปลกแยกเมื่อเทียบกับบอร์ดบริหารคนอื่นๆ ที่ก็ไม่ได้มาจาก "แบงเกอร์" เช่น ชาญชัย จารุวัสตร์

แต่บังเอิญว่าแนวคิดนี้เป็นของมีชัยคนเดียว ไม่ใช่ของธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ไม่ใช่ของชวน หลีกภัย และใครอีกหลายคนในพรรคประชาธิปัตย์

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us