Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2541








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2541
ลดค่าบริการมือถือ เกมเชือดทักษิณ             
 


   
search resources

แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส, บมจ.
ทักษิณ ชินวัตร




สุเทพ เทือกสุบรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็ออกมาผลักดันให้สองผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือลดค่าบริการรายเดือน ที่เก็บอยู่ 500 บาทลงเหลือ 400 บาท

ถึงกับประกาศจะให้ ทศท. และ กสท.ลงทุนเปิดให้บริการโทรศัพท์ มือถือระบบใหม่ ใช้คลื่นความถี่ 1500 และ 1900 เมกะเฮิรตซ์ มีอัตราค่าบริการรายเดือน 300 บาท เพื่อกดดันให้เอไอเอสและแทคต้องลดค่าบริการรายเดือนลงมา

ทางด้านบอร์ดทศท.ก็รับลูก ประกาศลดค่าบริการโทรศัพท์มือถือ ระบบเอ็นเอ็มที 470 ที่เก็บค่าบริการอยู่เดือนละ 450 บาท ลดลงมาเหลือ 300 บาท

และยังไปดึงเอาสมบัติ อุทัยสาง และดิเรก เจริญผล สองอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในยุคที่แล้ว มาเป็นทีมไปเจรจาลดค่าบริการรายเดือนกับเอกชน

ก่อนหน้านี้สุเทพก็เคยออกมาผลักดันเรื่องนี้ สมัยที่รับตำแหน่งรัฐมตรีว่าการใหม่ๆ แต่เรื่องก็เงียบหายไปเหมือนกับครั้งก่อนๆ

อันที่จริงแล้ว เรื่องลดค่าบริการโทรศัพท์มือถือไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีความพยายามมาแล้วหลายรัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเกือบทุกคนก็เคยพยายามมาแล้ว แต่ไม่มีใครทำสำเร็จสักราย

เพราะบริษัทแอ๊ดวานซ์อินโฟร์เซอร์วิส (เอไอเอส) ผู้ให้บริการระบบเซลลูลาร์ 900 และจีเอสเอ็ม ในเครือและโทเทิ่ล แอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น จำกัด (แทค) ผู้ให้บริการระบบแอมป์ 800 และพีซีเอ็น 1800 ต่างก็ยืนยันตลอดเวลา ว่าไม่สามารถลดค่าบริการรายเดือนลงได้อีก เพราะจะกระทบกับโครงสร้างทางการเงิน

ล่าสุดผู้บริหารของเอไอเอส สมประสงค์ บุญยะชัย กรรมการผู้อำนวยการกลุ่ม ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า หากลดลง 100 บาทจะทำให้รายได้บริษัทลดลงปีละประมาณ 1,200 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางการเงิน ความสามารถในการจ่ายหนี้ต่อเจ้าหนี้

ส่วนทางด้านแทค ซึ่งแต่เดิมยืนยันมาตลอดว่า ลดค่าบริการรายเดือนลงไม่ได้แล้ว เพราะต้องจ่ายค่าเชื่อมโยงวงจร (ACCESS CHARGE) ให้กับองค์การโทรศัพท์ 200 บาทต่อเลขหมาย ในขณะที่เอไอเอสไม่ต้องจ่าย และยังต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้จากค่าบริการนี้ให้กับการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) อีก แทคจะยอมลดหาก ทศท.จะยกเลิกการเก็บค่าเช่าวงจรจากแทคเพื่อให้เท่าเทียมกัน

แต่แทคมีข้อเสนอเพิ่มเติมว่า จะยอมนำคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่แทคได้อนุมัติจากกรมไปรษณีย์โทรเลขผ่านมาทาง กสท. บางส่วนส่งกลับคืนให้กรมไปรษณีย์เพื่อให้กรมไปรษณีย์นำไปให้ทศท.ใช้ประโยชน์ แต่มีข้อแม้ว่า ทศท.จะต้องยกเลิกการเก็บค่าเชื่อมโยงวงจรจากแทค 200 บาท

แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคมกล่าวว่า ข้อเสนอนี้เป็นไปได้ยาก เพราะเวลานี้ไม่มีเอกชนรายใดสนใจจะลงทุนทำโทรศัพท์มือถือ และแม้ว่าคลื่นความถี่ 1800 นี้ ทศท. จะเอาไปให้เอไอเอสใช้ประโยชน์แทนคลื่นความถี่ 900 ที่กำลังจะหมดลง ซึ่งสามารถใช้ทดแทนกันได้อยู่แล้ว แต่ในเวลานี้เอไอเอสก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ เพราะภาวะเศรษฐกิจเป็นเช่นนี้

อันที่จริงแล้ว สุเทพก็รู้อยู่เต็มอกว่า การลดค่าบริการรายเดือนไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ เพราะการเปลี่ยน แปลงใดๆ ในข้อสัญญาที่รัฐทำกับเอกชนนั้น จะต้องได้รับความยินยอมจาก 2 ฝ่าย คือ รัฐและเอกชน พูดง่ายๆ ก็คือ หากเอไอเอสและแทคไม่เห็นด้วย กระทรวงคมนาคม หรือแม้แต่รัฐบาลก็ไม่สามารถบีบบังคับให้ลดได้

ที่สำคัญ ทศท.และ กสท.ก็อยู่ระหว่างการแปรรูปกิจการ ซึ่งจะต้องมีการปรับปรุงอัตราค่าบริการสื่อสารโทรคมนาคมใหม่หมด ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์พื้นฐาน และโทรศัพท์มือถืออยู่แล้ว เรื่องเหล่านี้มีหรือที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะไม่รู้

หากพิจารณาให้ดี การผลักดันเรื่องการลดค่าบริการ โทรศัพท์มือถือครั้งนี้ เป้าหมายของสุเทพพุ่งไปที่เอไอเอสโดยตรง

หลายครั้งที่ สุเทพ ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนตลอดเวลาว่า จะเจรจากับ ดร.ทักษิณ ชินวัตร หลังจากคุยกับลูกน้องมาแล้ว แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ แต่ไม่เคยที่จะกล่าวถึงบุญชัยเท่าใดนัก

และช่วงเวลาที่สุเทพตีกระหน่ำเรื่องลดค่าบริการโทรศัพท์มือถือ เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีข่าวคราวของชินวัตร ปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เป็นระยะๆ ข่าวทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นทางลบทั้งสิ้น

กรณีที่บริษัทชินวัตรไดเร็คเทอรีส์ กำลังถูกโจมตีอย่างหนัก ในเรื่องการแปลงสัญญาสัมปทานสมุดโทรศัพท์ หรือไดเร็คเทอรีส์ โดยเอาสัญญามาตีแผ่ให้เห็นถึงความเอารัดเอาเปรียบของชินวัตร ที่มีต่อทศท.ทั้งในเรื่องของการลดค่าใช้จ่ายในการพิมพ์ ใช้วิธีแบ่งเขต และผลิตใส่แผ่นซีดีรอม แทน หรือแม้แต่จำนวนส่วนแบ่งรายได้ที่จ่ายให้กับทศท.ก็ลดลง

หรือแม้แต่ กรณีที่ชินวัตร โดนข้อหาไม่ได้ขอใบอนุญาตนำเข้าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ที่นำเข้ามาเพื่อใช้ติดตั้งในงานเอเชี่ยนเกมส์ ซึ่งชินวัตรเป็นผู้ชนะประมูลงานนี้จากการสื่อสารแห่งประเทศไทย แต่ตอนหลังก็ตกลงกันได้

รวมทั้งกรณีที่ เนวิลล์ ไมเยอร์ส รองประธานบริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัทยูไนเต็ด บรอดคาสติ้ง จำกัด ถูกตำรวจค้นใบอนุญาตทำงานในไทย ซึ่งยังไม่ได้แจ้งการ เปลี่ยนที่อยู่จากราชวัตร มาเป็นอาคารทิปโก้

เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนแต่มีที่มาที่ไป และเกี่ยวเนื่องกันทั้งสิ้น

เพราะในทางการเมือง คู่แข่งตัวฉกาจที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องจับตาเป็นพิเศษ ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น พรรคไทยรักไทย ของดร.ทักษิณ ชินวัตร คู่แค้นเก่า ซึ่งกำลังมาแรงกับนโยบาย SME ถึงขนาดที่โพลของศูนย์วิจัยธนาคารกรุงเทพสำรวจคนกรุงเทพออกมาว่า พรรคไทยรักไทยของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร มีคะแนนนิยมสูสีกับพรรคประชาธิปัตย์

นี่คือสิ่งที่ประชาธิปัตย์กำลังหวาดหวั่น

ที่สำคัญทักษิณ เป็นคู่แค้นที่พรรคประชาธิปัตย์เองไม่วันลืม จากการที่เคยดึงให้มาร่วมรัฐบาล ในสมัยที่ทักษิณได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และจู่ๆ ก็ถอนตัวจากพรรครัฐบาล

การออกมากดดันลดค่าบริการ โทรศัพท์มือถือของสุเทพ ผสมผสาน กับข่าวคราวทางด้านลบที่ออกมาเป็น ระลอก จึงเท่ากับเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว เพราะหากทำเป็นผลสำเร็จจริง สุเทพและพรรคประชาธิปัตย์ก็จะได้ทั้งคะแนนเสียงในเขตกรุงเทพฯ กลับคืนมา และยังเท่ากับเป็นการสกัดกั้นคู่แข่งสำคัญทางการเมืองได้อีกด้วย

ที่แน่ๆ เกมส์นี้เห็นทีจะไม่จบลงง่ายๆ

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us