กนกวรรณ นั่งจิบกาแฟอยู่ที่ห้องค้าหลักทรัพย์ที่เธอเป็นสมาชิกอยู่ ขณะที่สายตาจ้องไปยังกระดานหุ้นซึ่งเต็มไปด้วยตัวเลขที่กำลังทำหน้าที่ของมันอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
วันนี้เธอตั้งเป้าไว้ว่าจะทำกำไรให้ได้อย่างน้อยไม่แพ้วันที่ผ่านมา เธอจึงเดินไปถาม
marketing ว่าวันนี้หุ้นตัวไหนน่าสนใจ พร้อมกับหยิบใบสั่งซื้อแล้วจดรายละเอียดแล้วยื่นให้กับพนักงาน
ไม่กี่ชั่วโมงถัดมาราคาหุ้นที่ลงทุนไปถีบตัวสูงขึ้นตามแรงตลาด จึงตัดสินใจขายทันที
วันนั้นเธอกลับไปบ้านพร้อมกับกำไรที่โชว์อยู่ในบัญชี
วันต่อมา กนกวรรณตั้งความ หวังไว้สูงกว่าวันก่อนๆ เพราะเห็นว่าช่วงนี้เป็นภาวะตลาดกระทิง
(bull market) จึงตัดสินใจลงทุนอย่างหนักชนิดซื้อขายชั่วโมงต่อชั่วโมง แต่แล้วสวรรค์ไม่เข้าข้างเธอเมื่อราคาหุ้นที่ลงทุนไปไม่กี่นาทีที่ผ่านมาลดลงแทบจะติดฟลอร์
เธอรำพึงกับตัวเองว่าเกิดอะไรขึ้นกับหุ้นที่ตัวเองลงทุนไป เมื่อเช้า marketing
ยังยืนยันว่าหุ้นตัวนี้มีโอกาสทำกำไรสูง แต่ก่อนที่จะเสียหายไปมากกว่านี้
กนกวรรณตัดสินใจขายทิ้งทันทีแม้จะขาดทุนก็ตาม พร้อมกับความฝันของเธอหายไปในพริบตา
ในที่สุดตัวเลขที่อยู่ในบัญชีเริ่มกลายเป็นตัวแดงขึ้นมา
นี่คือบทลงโทษของนักลงทุนที่เข้าไปลงทุนในลักษณะนี้ที่เรียกว่า "Net
Settlement" หรือการซื้อขายหลักทรัพย์ประเภทหักกลบค่าซื้อและค่าขายหลักทรัพย์ของลูกค้า
ที่มีการซื้อและการขายหลักทรัพย์เดียวกันในวันเดียวกัน การกระทำดังกล่าวตลาดหลักทรัพย์เปิดให้ทำการซื้อขายได้ตั้งแต่กลางเดือนมกราคม
2540 แต่ในช่วงนั้นความนิยมของนักลงทุนยังไม่ค่อยมี เนื่องจากการลงทุนแบบ
Net Settlement นิยมในช่วงตลาดกำลังขึ้น มีความคึกคักในการซื้อขาย เพราะเป็นช่วงที่นักลงทุนโดยเฉพาะรายย่อยที่เข้ามาตักตวงกำไรทำได้อย่างต่อเนื่อง
จึงทำการซื้อขายในวันเดียวหลายๆ รอบ แล้วรับส่วนต่างกำไรกลับไป สังเกตได้จากในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมามูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์มีสูงถึง
8,000-12,000 ล้านบาท โดยมีการซื้อขายจากนักลงทุนรายย่อยประมาณ 60-80% และมีการลงทุนแบบ
Net Settlement เกิน 50%
"นักลงทุนมองว่าการลงทุนลักษณะนี้ดีกว่าการถือยาว เมื่อมีกำไรเล็กน้อยจะขายออกทันที
โดยส่วนใหญ่แล้วการเล่นแบบ Net Settlement จะได้กำไรมากกว่าขาดทุน แต่ไม่แน่เสมอไปเพราะบางครั้งการเข้าออกผิดจังหวะของนักลงทุนยังมีให้เห็น
คือ ซื้อช่วงขาลง อีกทั้งสั่งซื้อจำนวนมากแต่ไม่ดูวงเงินตัวเอง เมื่อได้รับผลขาดทุนและถึงเวลาชำระเงินค่าหุ้นจะไม่มีเงินจ่าย
ดังนั้นมูลค่าซื้อขายที่พุ่งกระฉูดขึ้นมาจึงเป็นของปลอม" นักวิเคราะห์ กล่าว
ส่วนหลักทรัพย์ที่สามารถทำ Net Settlement ได้ มีเพียงกลุ่มแบงก์กับไฟแนนซ์
เพราะแต่ละวันหลักทรัพย์ 2 กลุ่มนี้มีราคาขึ้นลงเร็วมากจึงเป็นกลุ่มที่นิยมเล่นในลักษณะดังกล่าวนี้มาก
การเพิ่มสูงขึ้นของมูลค่าหักกลบค่าซื้อและค่าขายหลักทรัพย์ของลูกค้าของแต่ละบริษัทหลักทรัพย์
(บล.) จะส่งผลถึงมูลค่าหักกลบโดยรวมเพิ่มสูงขึ้นมากซึ่งอาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงสูงต่อระบบโดยรวมได้
เช่น การผิดนัดชำระราคา ซึ่งมีผลต่อไปยังฐานะการเงินของบริษัทหลักทรัพย์และระบบโดยรวม
ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อไปในอนาคตตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงได้มีหนังสือเวียนไปยังโบรกเกอร์ไม่ให้สัดส่วนการซื้อขายแบบ
Net Settlement สูงเกิน 20% ของมูลค่าการซื้อขายรวมของบริษัท
"นอกจากนักลงทุนจะได้รับผลกระทบแล้วโบรกเกอร์อาจจะเจ็บตัวได้ด้วยหากลูกค้าขายหุ้นไม่ทัน
ขณะที่วงเงินลงทุนมีต่ำกว่าในช่วงที่มีการซื้อหุ้น การซื้อขายหุ้นแบบ Net
Settlement ลูกค้าจะได้ส่วนต่างคืนมา ดังนั้นการป้องกันของโบรกเกอร์ คือ
อย่าให้ลูกค้าซื้อขายหุ้นเกินกว่าวงเงิน"
อย่างไรก็ตามในสภาวะที่ทุกคนต้องการหารายได้เข้ากระเป๋าตัวเองให้มากเท่าที่จะทำได้
โบรกเกอร์ก็เช่นเดียวกันเพราะค่าธรรมเนียม (commission) ที่ได้จากลูกค้า
จะได้รับจากคำสั่งซื้อ 0.5% และคำสั่งขาย 0.5% คือได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง เมื่อลูกค้าลงทุนแบบ
Net Settlement เข้ามาเป็นจำนวนมากย่อมเป็นผลดีต่อผลประกอบการของ marketing
เพราะนี่คืออนาคตของเขาแต่ละคนที่ต้องทำรายได้ให้บริษัทตามที่โบรกเกอร์ตั้งไว้
ถ้าหากไม่สามารถปฏิบัติได้โอกาสที่จะตกงานมีสูง
"แต่ก็มีความเสี่ยงถ้าเจอลูกค้าประเภทชอบเบี้ยวกรณีเกิดขาดทุนขึ้นมา
โอกาสที่โบรกเกอร์จะเจ็บตัวก็มีเหมือนกันเพราะต้องรับภาระแทนจากกรณีลูกค้าหนีไป
ถ้าสมมติว่าหนี้ที่เบี้ยวมีมูลค่าสูงจะมีผลกระทบต่อโบรกเกอร์ ที่ต้องนำเงินกองทุนมารองรับผลขาดทุนในส่วนของลูกค้า
และถ้าเงินกองทุนลดลงมากๆ จะกระเทือนไปถึงการคำนวณ การดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ
(net capital requirement : NCR) ของโบรกเกอร์ " นักวิเคราะห์ กล่าว
ความเสี่ยงอีกประการหนึ่งก็คือการเคลื่อนไหวของหลักทรัพย์จะไม่เป็นไปตามความเป็นจริง
เพราะโดยธรรมชาติของการซื้อขายหลักทรัพย์แบบ Net Settlement นักลงทุนจะไม่คำนึงถึงปัจจัยพื้นฐานของหลักทรัพย์
เมื่อเห็นว่าราคาหลักทรัพย์ลงมาจนถึงจุดน่าลงทุนแล้วก็เริ่มเข้ามาลงทุน แต่จะไม่สามารถปรับราคาขึ้นไปได้สูงตามที่ควรจะเป็น
เนื่องจากถูกแรงเทขายออกมาจากนักลงทุน ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อสภาพตลาดโดยรวมอย่างมาก
โดยเฉพาะการขาดความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างประเทศ เนื่องจากมองว่าการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
มีความเสี่ยงสูง อีกทั้งยังขาดเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงที่จะช่วยลดความเสี่ยงให้นักลงทุนเมื่อตลาดอยู่ในช่วงขาลง
เช่น option index หรือ short selling จึงสังเกตได้ว่าตั้งแต่ Net Settlement
เริ่มเป็นที่นิยม คำสั่งซื้อจากนักลงทุนต่างประเทศ ลดลงไปอยู่ที่ระดับ 10-20%
อย่างไรก็ตาม การลงทุนแบบ Net Settlement จะสามารถช่วยลดขั้นตอนการชำระราคาระหว่างลูกค้ากับบริษัทสมาชิกได้เป็นอย่างดี
ดังนั้นทางตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงยังคงระบบการลงทุนดังกล่าวไว้ต่อไป เพราะถ้าระงับในช่วงนี้บางทีมูลค่าการซื้อขายอาจจะกลับไปสู่สามัญอีกครั้งก็ได้
ดังนั้นเมื่อทางการยอมหลีกทางให้อย่างนี้แล้ว ต้องขึ้นอยู่กับนักลงทุนและโบรกเกอร์แล้วว่าจะมีจรรยาบรรณมากน้อยเพียงใด