ลองย้อนไปในช่วงปลายปี 2539 เป็นช่วงที่ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ยุคแห่งความตกต่ำทางด้านเศรษฐกิจ
จนถึงปัจจุบันมรสุมลูกนี้ยังกระหน่ำอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ารัฐบาลพยายามแก้ปัญหาทุกวิถีทาง
อาทิ ลดค่าเงินบาท ปิดสถาบันการเงินที่เน่า หรือการออกมาตรการ 14 สิงหาคม
รวมทั้งขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แต่ถึงเวลานี้ประเทศไทยยังไม่สามารถฝ่าฟันอุปสรรคออกไปได้
เงื่อนไขประการหนึ่งที่ IMF เชื่อว่าประเทศไทยจะฟื้นตัวได้ คือ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อนำเงินที่ได้เข้ามาเสริมสภาพคล่องภายในประเทศ
โดยในหนังสือแสดงความจำนงฉบับที่ 3 บอกไว้ว่าปี 2541 รัฐวิสาหกิจที่ต้องโดนแปรรูปจะเป็นบริษัทมหาชน
ได้แก่ บมจ.การบินไทย (THAI), บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EG-COMP) และบมจ.บางจากปิโตรเลียม
(BPC) โดยการแปรรูปจะใช้วิธีขายหุ้นในส่วนที่รัฐถืออยู่ในรัฐวิสาหกิจและในบริษัทเอกชน
เพราะวิธีนี้สามารถดำเนินการได้รวดเร็ว ส่วนปี 2542 เป็นคิวของ การสื่อสารแห่งประเทศไทย
(กสท.) และองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.)
อย่างไรก็ตาม ทั้งการขายหุ้นที่รัฐบาลถืออยู่ในการบินไทยและบางจากปิโตรเลียม
ยังไม่สามารถเดินหน้าได้อย่างเต็มที่นัก เพราะปัญหาในการบินไทยติดอยู่ที่พนักงานยังไม่แน่ใจในเรื่องสวัสดิภาพของตัวเอง
หลังจากแปรรูปสำเร็จแล้ว ส่วนในบางจากปิโตรเลียมมีความขัดแย้งเรื่องการกระจายหุ้นระหว่างผู้บริหารกับทางการ
จึงมีเพียง บมจ. ผลิตไฟฟ้าเท่านั้นที่สามารถดำเนินการขายหุ้นให้กับเอกชนได้ตามความประสงค์ของทางการ
ในอดีตเมื่อปี 2535 กฟผ. จัดตั้งบริษัทผลิตไฟฟ้าขึ้นมาด้วยทุนจดทะเบียน
100 ล้านบาท เพื่อรับซื้อโครงการ ไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมระยองจาก กฟผ.
และนำไปดำเนินการต่อ ขณะนั้น กฟผ. ถือหุ้นอยู่ 99.99% ต่อมาปี 2537 เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
โดย กฟผ.ลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 48%
มาถึงวันนี้ด้วยเงื่อนไขของ IMF และนโยบายที่ต้องการเห็นอุตสาหกรรมพลังงานมีการทำงานเทียบเท่าระดับ
สากลประกอบกับความต้องการใช้เงินของ กฟผ. เพื่อการลงทุนในอนาคต จัดตั้งกองทุนบริหารทรัพยากรบุคคลและสำหรับโครงการการออกจากงาน
ทำให้ กฟผ. เสนอขายหุ้น ที่ถืออยู่ใน บมจ.ผลิตไฟฟ้า ออกไปอีกจำนวน 78 ล้านหุ้น
หรือ 14.92% ของหุ้นที่จำหน่ายไปแล้วให้กับ CLP Power International (CLP)
ของฮ่องกง เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดย กฟผ.ได้เงินเข้ามา 240.9 ล้านเหรียญสหรัฐ
ส่งผลให้โครงสร้างผู้ถือหุ้นของ บมจ.ผลิตไฟฟ้าในปัจจุบันเป็นของ กฟผ. 25.83%,
CLP 14.92%, ประชาชนทั่วไป 58.5% และบุคคลรายย่อย 0.77%
การเข้ามาถือหุ้นของ CLP ดูอย่างผิวเผินเหมือนกับว่ามีความราบรื่น แต่เมื่อดูไปลึกๆ
แล้วกลับมีปัญหาติดขัดจากสัญญาที่ บมจ.ผลิตไฟฟ้าทำไว้กับ CLP ข้อหนึ่ง คือ
การเปิดโอกาสให้สามารถเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทได้ตามสิทธิพึงได้อีกจำนวน
4.1% จากส่วนที่เพิ่มทุนของ บมจ. ผลิตไฟฟ้า หรือซื้อหุ้นโดยตรงจาก กฟผ. กรณีที่
กฟผ. ต้องการลดสัดส่วนการถือหุ้นลง โดยมีกำหนดระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน
12 เดือน
แม้ว่า บมจ.ผลิตไฟฟ้าและ กฟผ. จะเหลือเวลาตัดสินใจว่าใครจะเป็นผู้ขายหุ้นให้กับ
CLP แต่ขณะนี้ทั้งสองฝ่ายเริ่มขยับตัวออกมาในเชิงต้องการให้อีกฝ่ายเป็นผู้ขายหุ้นออกไป
โดยฝั่ง บมจ.ผลิตไฟฟ้า ประกาศออกมาแล้วว่าบริษัทยังไม่มีความต้องการใช้เงินในช่วงนี้
และบริษัทยังมีสภาพคล่องดีอยู่ โดยดูได้จาก ณ สิ้นปี 2540 มีเงินสดหมุนเวียนประมาณ
3,800 ล้านบาท จึงไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน ดังนั้นหน้าที่ดังกล่าวจึงน่าจะเป็นของ
กฟผ. มากกว่า
ด้าน กฟผ. แม้จะมีการคาด การณ์ว่าในปี 2542 จะเกิดภาวะขาดสภาพคล่องประมาณ
32,000 ล้านบาท โดยคำนวณที่อัตราแลกเปลี่ยน 40 บาทต่อดอลลาร์ แต่ดูเหมือนว่าความต้องการของ
กฟผ. จะแก้ปัญหาด้วยวิธีขายหุ้นให้กับ CLP โดยตรงนั้นยากพอสมควร เนื่อง จากต้องการเห็นตัวเองเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน
บมจ.ผลิตไฟฟ้าและบริษัทคนไทยอยู่ ที่สำคัญไม่อยากเห็นสัดส่วนการถือหุ้นของ
CLP ขึ้นมาอยู่ระดับใกล้เคียงกับตัวเอง เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น กฟผ. จะเหลือสัด
ส่วนถือหุ้นเพียง 21.53% และ CLP ขยับขึ้นมาถือหุ้นจำนวน 19.02% จะส่งผลถึงการมีสิทธิ์มีเสียงในการกำหนดนโยบาย
อีกทั้ง บมจ.ผลิตไฟฟ้า ยังสามารถสร้างรายได้ให้ในแต่ละปีมีจำนวนมหาศาล และทางออกในการแก้ปัญหาสภาพคล่องของ
กฟผ. ก็มีอยู่หลายทาง เช่น เพิ่มทุน หรือระดมทุนของโรงงานผลิตไฟฟ้าราชบุรี
1-3, เพิ่มทุนสำหรับสัดส่วนของ กฟผ., เพิ่มเพดานเงินกู้ค้ำประกันโดยกระทรวงการคลัง
หรือเพิ่มอัตราภาษีศุลกากร
อย่างไรก็ตาม จากภายในองค์กรของ บมจ.ผลิตไฟฟ้าดูมีแต่ความอึมครึม แต่สำหรับภายนอกแล้วโดยเฉพาะมุมมองของนักลงทุนกลับมองข้ามช็อตนี้ไป
โดยไปพิจารณาถึงศักยภาพของการเติบโตในอนาคตของบริษัทภายใต้ผู้ถือหุ้นใหญ่เบอร์
2 อย่าง CLP เป็นสำคัญ เพราะ CLP เป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่รายหนึ่งของเอเชีย
ที่มีฐานการผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนให้กับลูกค้าที่อาศัยอยู่ในเกาะฮ่องกง ล่าสุดปี
2540 มีรายได้จากการขายไฟฟ้าสูงถึง 21,602 ล้านเหรียญฮ่องกง ดังนั้นโอกาสที่
บมจ.ผลิตไฟฟ้าจะออกไปลงทุนต่างประเทศเริ่มสดใสขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากเงียบเหงาไปนานในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ
นอกจากนี้ผลประกอบการของ บมจ.ผลิตไฟฟ้า ในไตรมาส 3 ปี 2541 มีกำไรจากการดำเนินงานสุทธิ
519.24 ล้านบาท และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 893.05 ล้านบาท ส่วนงวด 9 เดือนปี
2541 มีกำไรสุทธิ 4,885.17 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปี 2540 ที่ขาดทุนสุทธิ
2,024.63 ล้านบาท ส่วนแผนการลงทุนที่อยู่ในมือตอนนี้มีเพียงโครงการเดียวเท่านั้น
คือ โครงการผลิตไฟฟ้าจากแกลบ 1 โครงการ และโครงการผลิตไฟฟ้าจากเศษไม้อีก
1 โครงการ ด้านโรงไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมเวียดนาม ที่เข้าไปร่วมลงทุนกับภาคเอกชนและรัฐบาลเวียดนามจะเริ่มเดินเครื่องได้ในต้นปี
2542