ประโยคนี้ถ้าคนที่เป็นคอหนังสือกำลังภายในพบเข้า ก็คงไม่ต้องอธิบายความหมายกันยืดยาว
เป็นประโยคสั้นๆ แต่มีความหมายลึกซึ้งเชิงปรัชญา ส่วนใหญ่ที่เรามักจะอ่านพบกันในหนังสือกำลังภายใน
มักจะอยู่ในบทสนทนาก่อนการต่อสู้ระหว่างตัวเอกของเรื่องกับตัวร้าย เมื่อตัวร้าย(ในเรื่อง)ถามถึงอาวุธที่จะใช้ต่อสู้ในสภาพที่ตัวเอกมีแต่สองมือเปล่า
หรืออีกสถานการณ์ที่เราอาจพบได้ คือ คำสนทนาระหว่างอาจารย์กับศิษย์ถึงศัสตราวุธที่ใช้
บางครั้งประโยคลักษณะนี้ถูกใช้ไปในความหมายที่คล้ายๆ กัน เช่น กระบวนท่าสุดยอด
(ในการต่อสู้) คือ กระบวนท่าที่ไร้กระบวนท่า หรือ การใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว
หรือประเภทที่บรรยายถึงปรมาจารย์ หรือ ตัวเอกที่เก่งมากๆ ว่า สูงสุดคืนสู่สามัญ
คำกล่าวเหล่านี้เป็นที่ฮือฮาอยู่พักหนึ่งในช่วงเวลาสั้นๆ ถูกนำไปใช้ในการสนทนาในหมู่คนทั่วไป
ซึ่งมักจะเป็นการพูดเล่นสนุกๆ แต่ก็มีนักเขียนที่มีความพยายามในการรวบรวมถ้อยคำเหล่านี้มาพิมพ์เป็นหนังสือ
โดยอ้างถึงความเป็นปรัชญาในหนังสือกำลังภายใน
ประโยคในหนังสือเหล่านี้ดูเหมือนเป็นการใช้คำที่มีความขัดแย้งกันในตัวเอง
ดังจะเห็นได้จากการกล่าวถึงสิ่งที่ไม่ใช่อาวุธ (ใจ) ในการพูดถึงอาวุธ หรือ
การกล่าวถึง การเอาชนะศัตรูโดยปราศจากวิธีการ (ไร้กระบวนท่า หรือ ความสงบนิ่ง)
หรือ การกล่าวถึงความสามารถ โดยเปรียบเหมือนสามัญชน บางคนอาจคิดว่าเป็นการเล่นคำที่ไม่ได้มีความหมายอะไรจริงจังนัก
แต่ถ้าใคร่ ครวญดูแล้ว ผมคิดว่าเราจะพบความคิดในเชิงปรัชญาในแนวทางเต๋าและเซ็น
แฝงอยู่ในความคิดของผู้เขียน ที่เน้นในความเรียบง่าย การดำเนินวิถีชีวิตที่มีความกลมกลืน
และสอดคล้องกับธรรมชาติ
ผมเข้าใจว่าผู้เขียนตั้งใจจะบอกว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ก็คือ "ใจ"
ใจหรือความคิดเป็นส่วนที่มีบทบาทมากที่สุดตั้งแต่ส่วนรวม คือ ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
จนถึงส่วนที่เล็กที่สุดของสังคมคือ ปัจเจกชน
ความคิดของมนุษย์เป็นส่วนที่ทำให้มนุษย์หลุดพ้นจากความทุกข์ยากในอดีต จากความขาดแคลน
หรือ ความเจ็บป่วย เพื่อเผชิญกับด้านลบของสิ่งที่เกิดจากความคิด คือ ปัญหายาเสพย์ติด
และปัญหาโรคมะเร็ง หรือ อาชญากรรม ซึ่งถือกำเนิดบนความเจริญของสังคม
ความคิดสร้างศาสนาและความเชื่อ เพื่อทำให้มนุษย์ผู้โดดเดี่ยว มั่นใจที่จะดำเนินชีวิต
ในขณะเดียวกัน ความคิดนั้นก็ทำให้มนุษย์เราประหัตประหารกันเพียงเพราะสิ่งที่ตนเองคิด
และเชื่อแตกต่างจากคนอีกกลุ่มหนึ่ง
สำหรับปัจเจกชนแล้ว ความคิดมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของเขา
เราอาจเคยตั้งข้อสงสัยกับตัวเอง เวลาอ่านข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์แล้วพบว่า
มีข่าวคนฆ่าตัวตายไม่เว้นแต่ละวัน หลายคนอาจตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดเขาเหล่านั้นจึงฆ่าตัวตาย
ทำไมเขาจึงคิดสั้น หรืออับจนหนทางจนคิดหาทางออกไม่ได้แล้วหรือ
ทำไมหลายคนจึงดำเนินชีวิตไปในทิศทางที่ทำร้ายตัวเอง ทั้งๆ ที่น่าจะรู้
หรือคิดหาทางออกอื่นได้ เราอาจนึกแปลกใจในข่าวประเภท พ่อข่มขืนลูกในไส้ หรือแม่เลี้ยงทำร้ายลูก
ทำไมแม่หรือพ่อ จึงยอมให้คู่ครองของตนทำร้ายลูก
อาจจะมีคนค้านว่า ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องของความคิด แต่เป็นเรื่องของอารมณ์
ความรู้สึก ปัญหาหลายอย่างตั้งแต่ระดับปัจเจกชน ครอบครัว ไปจนถึงสังคม หรือระดับประเทศ
ล้วนเกิดจาก การใช้ความคิดน้อยกว่าอารมณ์ความรู้สึก พูดง่ายๆ ก็คือ ขาดการควบคุมความรู้สึกที่ดี
ปล่อยให้กิเลส และความต้องการชี้นำการดำเนินชีวิต
แต่สุดท้ายคำถามก็คงจะกลับมาว่า แล้วอะไรที่จะทำให้มนุษย์เราควบคุมความต้องการของตนให้อยู่ในกรอบที่สังคมยอมรับ
หรือหันเหความต้องการนั้นไปสู่สิ่งอื่นที่สังคมยอมรับได้มากกว่า ถ้าว่ากันตามความคิดในพุทธศาสนาก็คือ
การใช้ปัญญาในการใคร่ครวญ
ในทางจิตวิทยา หลายสำนักความคิด เชื่อว่า ความคิด หรือ ปัญญาเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์
แม้จิตวิเคราะห์ของสำนักฟรอยด์ อาจจะเน้นว่า ปัญหาหรือความเจ็บป่วยทางจิต
เกิดจากความขัดแย้งในจิตใจระหว่างแรงขับหรือความต้องการ กับกฎเกณฑ์ของสังคมหรือมโนธรรมสำนึกของบุคคลนั้น
แต่จิตวิเคราะห์สำนักฟรอยด์ก็ยืนยันว่าทั้งหมดนี้เกิดจากความไม่ตระหนักรู้ของคนผู้นั้น
และหนทางที่จะช่วยปลดปล่อยปัจเจกชนออกจากปัญหา ก็คือ การทำให้เกิดการตระหนักรู้ว่า
รากฐานของปัญหาเกิดมาจากคู่ความขัดแย้งนี้ และเมื่อเปลี่ยนสิ่งที่อยู่ในจิตใต้สำนึก
ให้กลายเป็นสิ่งที่รับรู้ได้ในจิตสำนึก ปัญหาเหล่านั้นก็จะถูกคลี่คลาย
ในจิตวิทยาสำนักอื่นก็ดูจะไม่แตกต่างกันนักสำหรับการอธิบายถึงปัญหา หรือความทุกข์ในชีวิต
จะแตกต่างกันก็คงจะเป็นในแง่ของศัพท์แสงที่ใช้ในการอธิบาย และวิธีการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความคิด
เช่น สำนัก TA (Transactional analysis) ที่เคยฮือฮาในบ้านเราอยู่พักใหญ่
มีการจัดสัมมนาพัฒนาองค์กรภายใต้แนวคิดนี้ โดยเปลี่ยนจากความขัดแย้งในจิตใจ
มาเป็นความขัดแย้ง หรือการทำงานที่ไม่เหมาะสมของจิตใจ แบบผู้ใหญ่ กับภาวะจิตใจแบบพ่อแม่
และภาวะจิตใจแบบเด็ก แต่ทางออกก็เป็นปัญหาเช่นกัน คือ การวิเคราะห์ให้เห็นสัดส่วนการทำงานของจิตใจ
และพยายามเสริมให้มีภาวะแบบผู้ใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นภาวะที่มีความเป็นเหตุเป็นผลมากที่สุด
จะมีก็แต่สำนักพฤติกรรมศาสตร์ที่เน้นถึงการเปลี่ยนแปลงมนุษย์ โดยพิจารณาจากพฤติกรรมเท่านั้น
ก็คือ การให้การเรียนรู้ซ้ำๆ แบบเดิม หรือ การได้แรงเสริม หรือแรงจูงใจมากก็จะทำให้เกิดพฤติกรรมนั้นบ่อย
จนกลายเป็นความเคยชิน แต่เราก็พบว่าสำนักความคิดนี้ถูกนำไปใช้ในการแก้ปัญหาได้เพียงบางกรณี
ถ้าหากเราเชื่อว่าที่สุดของการแก้ปัญหาอยู่ที่ใจ หรือ การตระหนักรู้ถึงต้นตอ
หรือสาเหตุของมัน การใช้ใจ หรือปัญญาในการแก้ปัญหาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ
เรามีความเชื่อนี้ ความเชื่อหรือศรัทธา เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยในกระบวนการนี้
ฟังดูแล้ว อาจจะดูเป็นเรื่องตลกที่พูดกันมายืดยาวถึงเรื่องของการใช้ปัญญาในการแก้ปัญหา
แต่สุดท้ายก็มาลงที่ความเชื่อ แต่ที่เราต้องเน้นที่ศรัทธา หรือ ความเชื่อก็เพราะหากไม่มีสิ่งนี้แล้ว
การปฏิบัติจะไม่มีวันเกิดขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คงจะเป็นเรื่องของชีวจิตที่กำลังเป็นที่สนใจกันอยู่
หากคุณไม่เชื่อว่าชีวจิตมีประโยชน์ คนคนนั้นก็ย่อมจะไม่ปฏิบัติ หรือเมื่อปฏิบัติแล้วไม่เกิดผลอย่างที่อยากให้เป็นก็จะเกิดความท้อ
และเลิกล้มลงกลางคัน และที่สำคัญที่สุด หากคุณไม่เชื่อ ต่อให้มีข้อพิสูจน์ว่าวิธีการนี้ได้ผลในการรักษาโรคมะเร็ง
คนก็ยังจะแย้งถึงความน่าเชื่อถือของผลที่ได้เหมือน อย่างที่บรรดาแพทย์ทั้งหลายตั้งคำถามอยู่ในปัจจุบัน
การใช้ปัญญาหรือกระบี่ใจในการขบคิดและใคร่ครวญการแก้ปัญหานั้น ทุกคนสามารถทำได้
แต่จะทำได้ดีมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับปัจจัยในส่วนของตัวเราเอง และปัจจัยในส่วนของตัวเนื้อแท้ของปัญหา
หากเป็นปัญหาที่มันแก้ไขไม่ได้จริง เช่น ค่าเงินบาทจะเปลี่ยนจาก "คุณชวลิต"
มาเป็น "คุณชวน" ปัญหาและทางออกก็ยังคงเหมือนเดิมคือ พึ่งไอเอ็มเอฟ
แต่วิธีการในเชิงปลีกย่อยอาจจะต่างกัน
ในส่วนของตัวเราเองนั้น ถ้าหากมีศรัทธาว่า ใจหรือความคิดเป็นเครื่องมือที่จะช่วยเราในการเผชิญกับปัญหา
คำถามที่อาจจะตามมาคือ แล้วคิดอย่างไรจึงจะหาทางออกได้ ผมเห็นว่าวิธีคิดที่จะช่วยเราเมื่อเผชิญกับปัญหาหรือความทุกข์
คือ :-
พยายามจับประเด็นให้ได้ว่า ปัญหาจริงๆ นั้นอยู่ที่ไหน เช่น ลูกรัฐมนตรีขับรถชนตำรวจแล้วถูกชาวบ้านประท้วง
ผู้เป็นพ่อต้องจับประเด็นให้ได้ว่า สิ่งที่คนเขาประท้วงนั้นไม่ใช่เพราะลูกชาย
ตนเป็น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล แต่ที่เขาประท้วงนั้นเป็นเรื่องความรู้สึกว่า สังคมบ้านเราไม่มีความเท่าเทียมกันแม้กระทั่งการบังคับใช้กฎหมาย
เมื่อจับประเด็นปัญหาได้ สิ่งที่จะต้องทำประการต่อมาคือ การรวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับปัญหา
หลังจากนั้นคือ ทำการวิเคราะห์หาสาเหตุ หรือ รูปแบบที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ของปัญหานั้น
เมื่อหาสาเหตุได้แล้ว ลองคิดพิจารณาหาความเป็นไปได้หลายๆ ทางในการแก้ปัญหา
ค่อยๆพิจารณาดูแต่ละวิธีการว่า หากใช้วิธีการดังกล่าวผลที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร
มีข้อเสียหรือผลข้างเคียงอะไรที่อาจจะเกิดตามมา
เปรียบเทียบแต่ละวิธีทั้งในเรื่องของข้อดี ข้อเสีย ความยากง่ายในการใช้
ความเป็นไปได้ที่จะกระทำ แล้วนำวิธีที่คิดว่ามีความเป็นไปได้มากที่สุดไปปฏิบัติ
หลังจากปฏิบัติแล้ว ผลที่เกิดขึ้น สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ล้วนเป็นข้อมูลเพิ่มเติมที่จะต้องนำมาใช้ในการคิดทบทวน
หรือเปลี่ยนแปลงให้ได้วิธีการที่ดีขึ้น
ผมหวังว่าในปีหน้า ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจที่รายล้อม และปัญหาที่นับวันจะมีมากขึ้น
คุณผู้อ่านทุกคนจะเตรียมพร้อมในการใช้กระบี่ใจที่ทุกคนมีอยู่ ลับให้คมที่จะตี/ขบปัญหาชีวิตให้แตก
บนพื้นฐานของความศรัทธาในกระบี่ของปัจเจกชน