หลังจากคอลัมน์นี้ตีพิมพ์ความเห็นของนักวิชาการหลายท่านที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ
"แผนฟื้นฟูระบบสถาบันการเงิน 14 สิงหาฯ" ปรากฎว่าในจังหวะเดียวกันความคืบหน้าในเรื่องนี้ก็มีขึ้นมาบ้า
งเมื่อธนาคารพาณิชย์หลายแห่งขยับตัวออกหุ้นกู้กันเป็นแถว เพื่อที่จะหาเงินมาเพิ่มในส่วนของกองทุนขั้นที่
2
ประเดิมด้วยธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์มาเป็นจำนวน 6,000
ล้านบาทแล้ว โดยออกมา 2 ล็อตและพบว่าขายดีมาก ถัดมาเป็นธนาคารกรุงศรีอยุธยามูลค่า
4,000 ล้านบาท และธนาคารทหารไทยมูลค่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งสองธนาคารหลังนี้ก็มีแผนที่จะออกเพิ่มอีกรายละ
1,000 ล้านบาท
ในการขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์เหล่านี้มีข้อสังเกตว่า แต่ละธนาคารเสนออัตราดอกเบี้ยที่จูงใจอย่างมากต่อผู้ลงทุน
โดยให้พรีเมียมสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำถึง 4% ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุนในตราสารเวลานี้
โดยมีข้อแม้ว่าหากระบบสถาบันการเงินไทยมีความมั่นคงมากจริง
นั่นเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามที่จะช่วยเหลือตัวเองของธนาคารพาณิชย์ แต่กระนั้น
หากยอมรับความจริงกันแล้ว ก็คงจะรู้ว่าธนาคารแต่ละแห่งนั้นต้องการเงินเพิ่มทุนในกองทุนชั้นที่
1 มากกว่านี้ (กระทรวงการคลังและแบงก์ชาติกำหนดวงเงิน ที่จะให้ความช่วยเหลือระบบสถาบันการเงินไว้เป็นจำนวน
300,000 ล้านบาท ซึ่งนักวิชาการหลายท่านก็เคยกล่าวว่า "ไม่น่าจะพอเพียง")
ธนาคารพาณิชย์บางแห่งก็มีความพยายามมากขึ้น ในการที่จะหากลวิธีออกแบบตราสารหรือกลไกในการระดมเงินในรูปแบบต่างๆ
เพื่อที่จะหาเงินมาเข้ากองทุนขั้นที่ 1 โดยไว เช่น ธนาคารกสิกรไทยและธนาคารกรุงเทพกำลังพิจารณาปรึกษาเรื่องการจัดตั้ง
SPV และ SLIP เป็นบริษัทต่างหากที่แบงก์ถือหุ้นและเอาไปออกตราสารการเงินระดมเงินจากต่างประเทศ
แต่เรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาแง่มุมทางกฎหมายว่าเปิดช่องให้ทำได้หรือไม่
ทั้งนี้แนวทางแผนฟื้นฟูระบบสถาบันการเงิน 14 สิงหาคมนั้นว่าไปแล้วก็เป็นกรอบกว้างๆ
ที่ต้องการรายละเอียดในการปฏิบัติดำเนินการอีกมาก ซึ่งธนาคารพาณิชย์เองก็ต้องสอบถามจากพนัส
สิมะเสถียร ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (กปส.)
และศิวะพร ทรรทรานนท์ กรรมการ กปส.
พนัสตั้งข้อสังเกตไว้ครั้งหนึ่งว่าโครงการช่วยเหลือเรื่องเงินกองทุนชั้นที่
1 นั้นมีกฎปฏิบัติที่เข้มงวดเกินไป แต่กปส.ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาตรการหรือหลักเกณฑ์ใดในแนวทางนั้น
ตอนนี้อยู่ในขั้นเชิญนายแบงก์มาทำความเข้าใจ
นอกจากนี้ ศิวะพรก็เริ่มให้คำอธิบายขึ้นมาบ้างว่าแนวทาง 14 สิงหาฯ นั้นเริ่มมีการตีความและทำรายละเอียดเสร็จไปแล้วกว่า
70%-80% ส่วนที่เหลือยังต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ดี เวลาที่ผ่านไป 3 เดือนแล้วยังไม่มีสิ่งใดคืบหน้านั้นเป็นเหตุให้
ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ผู้ว่าการแบงก์ชาติ เริ่มมีการเร่งรัดให้เกิดการเพิ่มทุนของธนาคารพาณิชย์โดยเร็ว
โดยมีการเรียกผู้บริหารธนาคารฯ มาหารือเมื่อปลายเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา แม้ว่าก่อนหน้านั้น
รองผู้ว่าฯ กิตติ พัฒนพงศ์พิบูลย์ ก็ดำเนินการในเรื่องนี้อยู่ทั้งคน
หนำซ้ำก่อนหน้านั้นเล็กน้อย รมต.ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ก็เริ่มส่งสัญญาณว่าต้องมีการดำเนินการในเรื่องนี้ให้รวดเร็วขึ้น
เหตุของเรื่องทั้งหมดก็เพราะการเพิ่มทุนของธนาคารฯทำได้ช้าจริงๆ เวลาที่ผ่านไป
3 เดือนมีความคืบหน้าน้อยมาก แม้จะมีการดำเนินการออกหุ้นกู้เพื่อเพิ่มทุนในกองทุนชั้นที่
2 แต่จุดสำคัญนั้นเป็นกองทุนชั้นที่ 1 ซึ่งต้องเป็นเงินสดเข้ามามากกว่า
เหตุอีกประการหนึ่งคือใน LOI ฉบับที่ 5 มีการกำหนดว่า ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งต้องมาลงนามในบันทึกความเข้าใจกับแบงก์ชาติ
เรื่องการเพิ่มทุนครั้งใหม่ภายใน 31 มกราคม 2542 เพราะรายละเอียดในการเพิ่มทุนของธนาคารพาณิชย์ต้องมีการกำหนดลงไปในการลงนาม
LOI 6 ด้วย
ผู้ว่าแบงก์ชาติยังประกาศออกมาอย่างชัดเจนว่า จุดยืนของแบงก์ชาติในเรื่องนี้คือธนาคารพาณิชย์ต้องมีทุนเพียงพอที่จะอยู่รอดต่อไปได้
ซึ่งถ้าธนาคารไม่เข้าโครงการช่วยเหลือเพิ่มเงินกองทุน แต่สามารถอยู่รอดต่อไปได้
หรือเข้าโครงการช่วยเหลือเพิ่มเงินกองทุนของทางการแล้วรอดได้ แบงก์ชาติก็ไม่ว่าและไม่ดำเนินการอะไร
แต่หากธนาคารพาณิชย์ที่มีปัญหา แล้วไม่ยอมเข้าโครงการช่วยเหลือเพิ่มเงินกองทุนของทางการ
แบงก์ชาติจะดำเนินการเข้าแทรกแซงกิจการ ซึ่งเท่ากับว่าต้องมีการลดทุน เปลี่ยนผู้บริหาร
และการดำเนินมาตรการอื่นๆ ตามที่ได้ประกาศออกไปแล้ว
การดำเนินมาตรการที่เคร่งครัดในครั้งนี้ไม่ทราบว่าจะมีความจริงจังมากน้อยเพียงใด
และแบงก์ชาติหรือกระทรวงคลังคงไม่รีรอให้เรื่องสุกงอมไปมากกว่านี้ สถานะที่เข้มแข็งมั่นคงของแบงก์ในตอนนี้ก็มีแต่เรื่องการเพิ่มทุนให้สำเร็จและการลดตัวเลข
NPL กับการตั้งสำรองหนี้สูญให้ได้ตามเกณฑ์แบงก์ชาติเท่านั้น ซึ่งทั้งสามประเด็นดูยังอึมครึม
ไม่มีการเปิดเผยชัดเจน
ผู้ว่าแบงก์ชาติกล่าวว่ามาตรการที่มีอยู่ในเวลานี้เพียงพอที่จะใช้ดำเนินการได้แล้ว
ฟังดูแล้วประหนึ่งจะบอกกับผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ ให้ทราบว่าจะไม่มีการต่อรองในเรื่องเงื่อนไขต่างๆ
ที่กำหนดไปแล้ว ตอนนี้จึงเท่ากับต้องรอดูว่าก่อนจะถึงสิ้นเดือนม.ค.ข้างหน้า
ใครจะขยับตัวและมีทางออกก่อนกันในหมู่แบงก์พาณิชย์