จากการที่ดาวหาง Temple-Tuttle ซึ่งทำตัวไม่ต่างกับรถบรรทุกขนหินขนดิน ที่ปราศจากความรับผิดชอบ
(แน่นอนต้อง เกิน 30 ตัน) ปล่อยเศษหินเศษน้ำแข็งเรี่ยราดไปตามทางที่มันผ่านอย่างไม่เกรง
อกเกรงใจใคร เที่ยวแล้วเที่ยวเล่าทุกๆ 33 ปี มาเป็นเวลานานโขแล้ว และด้วยเหตุ
ประจวบเหมาะที่โลกของเราโคจรผ่านเส้นทางที่เจ้า Temple-Tuttle เคยแวะเวียน
มาในอดีต ก็เลยได้เจอเข้ากับเศษซากที่มันทิ้งไว้ (ดีที่เจอแค่เศษยังไม่เจอตัวจริงแบบจะจะ)
ทำให้บนพิภพโลกมีกิจกรรมพิเศษในคืนที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คือ หาที่เหมาะๆ
ยลโฉมหยาดฝนจากนอกพิภพ
หัวค่ำวันที่ 18 พฤศจิกายน เวลาประมาณ 19.00 น. ผมขับรถออกจากบ้าน มุ่งสู่จังหวัดสุพรรณบุรี
เป็นการขับรถเยือน จังหวัดสุพรรณบุรีครั้งแรกของผม ทิวทัศน์สองข้างทางยามค่ำไม่ค่อยเห็นอะไรมาก
มีแต่ถนน 3 เลนบ้าง 4 เลนบ้าง บางช่วง 5 เลนบ้าง และสิ่งก่อสร้างที่เป็นสถานที่
ทำการจังหวัด รู้สึกเป็นทึ่งนัก ถ้าจังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทยจะเจริญอย่างนี้บ้างจะดีไม่น้อย
แต่จะทำอย่างไรให้เป็นไปได้ อย่างเหมาะสมเป็นเรื่องน่าคิด ผมถึงที่หมายเวลาประมาณ
2 ทุ่มครึ่ง เป็นบ้าน ไร่นาสวนของผู้รู้จักและนัดหมายให้เป็นสถานที่เหมาะสำหรับชมฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต
(Leonid Meteors)
เที่ยวนี้ผมขนอุปกรณ์มาเพียบ กล้องดูดาวคู่ใจ กล้องสองตา 3 อัน ไว้แจกเพื่อนฝูง
กล้องถ่ายรูปพร้อมขาตั้งและ สายกดชัตเตอร์และฟิล์มขาวดำความไวแสง 3200 ASA
นิตยสาร Sky and Telescope ประจำเดือน พ.ย. หนังสือแผนที่ดาวฉบับกระเป๋า
A Field Guide to the Star & Planets โดย Donald Menzel กะว่าจะใช้โอกาสนี้ชมดาวและเทหวัตถุกลางฟากฟ้าด้วย
ได้เวลา หาของใส่ท้องและได้ชื่นชมกับบรรยากาศรอบข้างพักหนึ่ง ผมก็หาทำเลและติดตั้งอุปกรณ์ให้เป็นที่พอใจ
เสร็จสรรพก็เป็นเวลา ประมาณเกือบห้าทุ่ม โชคดีที่ท้องฟ้าปราศจากเมฆฝนแต่ยังไม่ดีถึงที่สุด
เพราะท้องฟ้า ยังไม่โปร่งใสร้อยเปอร์เซ็นต์ ยังมีชั้นของเมฆระยะสูงคลุมอยู่เป็นวงกว้าง
อย่างไรก็ตามทำเลนี้ก็ยังดีกว่าฟ้าเมืองหลวงที่เจิดจ้าด้วยแสงไฟแห่งความศิวิไลซ์
ที่คลุกเคล้ากับเมฆหมอกของมลพิษ
ระหว่างรอเวลาให้ฝนสาด เพื่อเป็นการอุ่นเครื่อง ผมก็เริ่มร่ายว่าตอนนี้มีอะไรน่าสนใจในท้องฟ้าบ้าง
ด้วยความ ที่ร้างวงการมานานก็ได้ปล่อยไก่ไปหลาย ตัวและกว่าจะหาดาวเหนือเจอก็ต้องคลำ
อยู่ครู่หนึ่ง ผมเริ่มต้นด้วยคำถามว่ามีดาวเคราะห์อยู่กลางฟ้าอยู่สองดวง
ให้ท่านทั้งหลายลองหาดูว่าเป็นดวงไหนและคือดาวอะไร ถ้าทบทวนความรู้ดารา ศาสตร์สมัยเป็นนักเรียนจะพบว่าดาวเคราะห์ที่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่ามีอยู่
ห้าดวงคือ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัส และดาวเสาร์ ดาวพุธ และดาวศุกร์ตัดทิ้งไปได้เพราะอยู่ในวงโคจรที่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าโลก
เพราะ ฉะนั้นจะเห็นดาวสองดวงนี้ ได้เฉพาะช่วงหัวค่ำหรือใกล้รุ่ง ความรู้อีกอย่างคือดาวเคราะห์จะมีตำแหน่งอยู่ไม่ห่างจากเส้น
Ecliptic หรือเส้นทางที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนผ่านกลุ่มดาวจักรราศีที่บอกถึงเดือนต่างๆ
กะคร่าวๆ คือแนวที่อยู่ประมาณกึ่งกลางท้องฟ้าจากทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก
ข้อสังเกตอีกอย่างคือ ดาวเคราะห์จะ แตกต่างจากดาวฤกษ์คือ ดาวเคราะห์จะไม่กะพริบหรือกะพริบน้อยมาก
ใน ขณะที่ดาวฤกษ์นั้นกะพริบ ชัดเจนโดยเฉพาะดาวที่สว่างมากๆ ที่เป็นเช่นนี้เพราะดาวเคราะห์ยังอยู่ใกล้โลกในลักษณะที่ยังมีขนาด
ขณะที่ดาวฤกษ์อยู่ไกลจากโลกมากจนเห็นเป็นเพียงจุด ซึ่ง จะกะพริบเพราะบรรยากาศมีการเคลื่อน
ไหว ไม่นานก็มีผู้สามารถระบุผู้ต้องสงสัย ไว้ได้ 2 ราย ดวงหนึ่งสว่างมากมีสีขาวอม
เหลืองอยู่กลางกลุ่มดาวคนคู่หรือ Gemini นั่นคือดาวพฤหัส และอีกดวงเป็นดาวสีขาวเหลืองซีดและสว่างน้อยกว่าอยู่บริเวณ
กลุ่มดาววัว Taurus คือดาวเสาร์ มีคนถาม ถึงดาวอังคาร เป็นที่รู้กันดาวอังคารมีสีออกขาวแดง
ซึ่งหาผู้ต้องสงสัยอยู่ในข่าย ไม่ได้ ความจริงคือดาวอังคารอยู่ลับขอบ ฟ้าทางทิศตะวันตกไปแล้วขณะนั้น
เพื่อเป็นการพิสูจน์ผมตั้งกล้องดูดาวไปยังดาวพฤหัส ในกล้องจะเห็นดาว ดวงกลมที่มีแถบคาด
2 แถบ ซึ่งเป็นเครื่อง หมายการค้าของดาวพฤหัส พร้อมดวงจันทร์บริวารที่เห็นเป็นจุดขาวเล็กๆ
เรียง อยู่ในแนวเดียวกันสี่ดวง จากนั้นก็หันกล้องไปดูดาวเสาร์ซึ่งจะเห็นมีวงแหวนชัดเจนและยังได้เห็นดวงจันทร์บริวารสอง
ดวง หลายคนรู้สึกตื่นเต้นเพราะได้ชมดาวสองดวงนี้ชัดๆ กับตาเป็นครั้งแรก จากนั้นผมก็พาทัวร์ชม
Nebula M42 ที่กลุ่มดาวนายพรานและ Andromeda Galaxy M31 ซึ่งแนะนำให้ดูด้วยกล้องสองตาจะเห็นได้สว่างกว่าเพราะบริเวณนั้นยังมีเมฆจางๆ
เห็น ได้ไม่สว่างนัก
ช่วงเที่ยงคืนครึ่งเริ่มสังเกตเห็นหยาด ฝนดาวตก ผู้คนเลยหันมาสนใจดูดาวตกกัน
มีคนเริ่มนับและมีการวางข้อตกลงในการบอก ทิศทางเพื่อบอกให้ผู้อื่นรู้จะได้ดูด้วย
บางคน เริ่มหันไปมองในทิศทางที่คนส่วนใหญ่ไม่มอง เพื่อเพิ่มพื้นที่ครอบคลุม
ประมาณตีหนึ่งกว่า จากฝนพรำก็กลายเป็นลงเม็ด ลีลาของหยาด ฝนก็มีสีสันเพิ่ม
ทั้งลากยาว มาเป็นคู่ มีการเอฟเฟกต์ระเบิดโชว์ ช่วงนี้ฝนดาวตกจะเกิดในลักษณะกระจัดกระจาย
แต่ส่วนใหญ่จะวิ่ง ออกจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เวลาผ่านไป 1 ชั่วโมงนับจำนวนดาวตกได้สองร้อยกว่า
ดวง ผมก็ชมไปถ่ายรูปไป ผมใช้เลนส์ขนาด 28 mm f 1:2.8 เปิดหน้ากล้องด้วยสาย
ชัตเตอร์ที่ล็อกได้ ถ่ายรูปหนึ่งผมเปิดหน้ากล้องนาน 2 ถึง 5 นาที เนื่องจากมุมของ
ภาพที่จับได้ยังแคบเมื่อเทียบกับท้องฟ้า เพราะฉะนั้นการจะได้ภาพดาวตกเข้ามาในกล้องได้สวยก็ต้องขึ้นกับโชคเป็นหลัก
เวลาผ่านไปสองชั่วโมง ทีมนับดาวเริ่มสลายตัว ผมไม่ได้สนใจการนับจำนวนแล้วแต่สนใจหามุมถ่ายภาพมากกว่า
ช่วงตีสองครึ่งผมให้ความสนใจไปยังทิศตะวันออกเฉียงเหนือเพราะกลุ่มดาวสิงโต
(Leo) โผล่ขึ้นจากขอบฟ้า ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าดาวตกส่วนใหญ่จะมีจุดเริ่มต้นจากใจกลางกลุ่มดาวสิงโตและ
กระจายไปรอบทิศ บริเวณกลุ่มดาวสิงโต จะสังเกตเป็นดาวตกขนาดเล็กพุ่งออกมาอย่างต่อเนื่อง
ส่วนดาวตกที่มีขนาดใหญ่ มีหางยาว หรือมีการระเบิดโชว์จะเกิดขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่า
จากการสังเกต ช่วงสูง สุดจะอยู่ระหว่างตี 1 ครึ่งถึงตี 3 ผมถ่ายรูปจนฟิล์มหมดประมาณตีสามกว่า
ขณะ นั้นผู้คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าดูจนอิ่มและสลาย ตัวไปนอนกันหมดแล้ว เหลือผมยังรู้สึกอยากคอยดูต่ออีกเผื่อจะเห็นอะไรแปลกใหม่ขึ้นมาบ้าง
ในที่สุดใกล้ตีสี่ผมก็ไม่สามารถเอาชนะความง่วงได้ แต่ก่อนนอน ผมก็ยังเห็นดาวตกมาเป็นระยะๆ
ไม่ขาด แม้จะไม่ถี่นัก
การได้มาชมหยาดฝนจากนอกพิภพในครั้งนี้ ทำให้เกิดความรู้สึกหวนระลึกถึงวัยเด็กที่เต็มไปด้วยจินตนาการและความฝัน
แม้ปรากฏการณ์นี้ก็เป็นเพียงส่วนเสี้ยวที่เล็กมากท่ามกลางวัฏจักร แห่งธรรมชาติ
แต่อย่างน้อยก็ยังเป็นสิ่งละอันที่ช่วยโปร่งและชดเชยชีวิตแห่งจินตนาการที่ขาดหายไป
และอย่างน้อยประโยชน์ในเชิงรูปธรรมก็คือมีเงินสะพัดจากการท่องเที่ยวและจับจ่ายสู่ชนบท
เท่าที่ทราบผู้เชี่ยวชาญว่าปีหน้าก็จะมีอีก ผมก็ไม่ขัดข้อง ก็คิดว่าจะหาโอกาสอีกเช่น
กัน แล้วมาว่ากันอีกที สวัสดีครับ