บทเรียนเรื่องนี้ สามารถทำความเข้าใจในยุทธศาสตร์ต่างๆ ของประเทศได้อย่างดี
การเรียนรู้ที่เดินไปข้างหน้า หรือแสวงหาโมเดลการสร้าง ความมั่งคั่งของประเทศใหม่นั้น
มักจะลืมมองที่ "สาระ" และ "ตัวตน" ของเราเอง
แล้วมาวันหนึ่ง เราก็ต้องวิตกจริตกับประวัติศาสตร์หรือ มรดกที่เหลืออยู่
เช่น กรณีข้าวหอมมะลิ
นี่คือข้อเขียนชิ้นหนึ่งของผมเองที่เขียนขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2542
"ความฝันของคนไทยในการสร้างอุตสาหกรรมเกษตรเพื่อการส่งออกมีมานานแล้ว ความพยายามก็มีมานานเช่นเดียวกัน
ความเชื่อมั่นว่าไทยเป็นสังคมเกษตร มีความรู้การ เกษตรที่พร้อมจะก้าวสู่อุตสาหกรรมเกษตรสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเนื่อง
ก็มีมานานแล้ว ความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเกษตรนี่ล่ะ คือทางออกและจุดแข็งทางเศรษฐกิจของไทย
เมื่อเปรียบกับสังคมธุรกิจโลกมีมานานแล้ว และดูเหมือนจะมากขึ้นในยุคทบทวนตัวเองครั้งใหญ่ปัจจุบัน
ความเชื่อมั่นและความฝันจะมากขึ้นเพียงใดก็ตาม แต่ ความจริงก็คือ คนไทยหลายรายประสบความล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า
กับโครงการที่ว่านี้
กรณีล่าสุด สำราญ กัลยาณรุจ และ SAICO เป็นบทเรียนที่ควรจดจำอย่างยิ่ง
ยิ่งไปกว่านั้น ความล้มเหลวของ SAICO ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ อันทำลายความเชื่อมั่นดั้งเดิม
ของเราก็คือ ฝรั่งกำลังเข้ามามิเพียงเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานอุตสาหกรรมเกษตรเท่านั้น
พวกเขาจะเข้ามาสู่หัวใจของสังคมไทย ก็คือทำการเกษตร แข่งขันกับคนไทยด้วย
การศึกษาความล้มเหลวของเรา และพยายามเรียนรู้ "ความรู้" ของฝรั่ง ความรู้ที่พวกเขาปรับเข้ากับ
"ท้องถิ่น" ในโลกที่พวกเขาต้องการเข้าไปมีอิทธิพลได้เสมอๆ เป็นสิ่งที่ควรทำมากกว่า
SAICO เป็นชื่อย่อเรียกกันในตลาดหุ้น แต่ชื่อจริงให้ความหมายชัดเจนในธุรกิจและก็ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์เดิมชื่อ
บริษัทสยามอุตสาหกรรม-การเกษตร (สับปะรด) จำกัด ต่อมาเปลี่ยนเป็นบริษัท สยามอุตสาหกรรมการเกษตร
สับปะรด และอื่นๆ จำกัด เมื่อพยายามผลิตสินค้าอื่นๆ นอกจากสับปะรด กระป๋อง
SAICO ก่อตั้งในปี 2521 ภายใต้สถานการณ์ที่ผู้ก่อตั้งและเจ้าของแน่ใจในความเป็นไปได้ทางธุรกิจนี้พอสมควร
เมื่อเห็นความสำเร็จของอุตสาหกรรมชนิดเดียวกันในสังคมไทย มาแล้ว
สำราญ กัลยาณรุจ เป็นนักกฎหมายอาวุโส มีความเชี่ยวชาญในเรื่องกฎหมายธุรกิจมากที่สุดคนหนึ่ง
เขามีส่วนสำคัญในการบริหารธนาคารกสิกรไทยของตระกูลล่ำซำ ไปสู่ความสำเร็จ
ตั้งแต่ยุคก่อนบัญชา ล่ำซำ ต่อเนื่อง มา โดยเฉพาะเขาจะดูแลข้อกฎหมายในช่วงตระกูลล่ำซำ
และธนาคารกสิกรไทย พัฒนากิจการ ร่วมทุนอย่างมาก มายในช่วง 2503-2513 อันเป็นช่วงการส่งเสริมให้ต่างชาติ
เข้ามาลงทุนในประเทศไทย
ล่ำซำและกสิกรไทย "เอาการเอางาน" มากที่สุด รายหนึ่ง ในการร่วมทุนกับต่างประเทศ
โดยเฉพาะในโลกตะวันตก
ขณะเดียวกันสำราญในฐานะกรรมการธนาคารกสิกรไทยด้วย เขาก็เห็นการลงทุนส่วนตัวของกรรมการ
บางคน ในอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งธนาคารแห่งนี้ให้การส่งเสริมมากเป็นพิเศษในช่วงนั้น
ประสบความสำเร็จมาก่อนหน้านั้นแล้วอย่างดี
โดยเฉพาะ บรรยงค์ ล่ำซำ ร่วมทุนกับ DOLE แห่ง สหรัฐฯ ในการผลิตสับปะรดกระป๋องส่งออกเริ่มมาตั้งแต่ปี
2509
ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋องนั้น เริ่มรุ่งเรืองมาก่อนแล้ว เช่น
ความสำเร็จของพิพัฒน์ ตันติพิพัฒนพงศ์ ในการร่วมทุนกับ Mitsubishi มาก่อนตั้งแต่ปี
2505
สำราญ กัลยาณรุจ กว้านซื้อที่ดินในจังหวัดระยอง กว่า 3,000 ไร่ โดยได้รับความช่วยเหลือทางเทคนิคการผลิตจากไต้หวัน
โรงงานของเขาตั้งขึ้น ดูเหมือนจะไปได้ดีเพราะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีอย่างมากมายจากบีโอไอ
ความจริงก็คือ นักกฎหมายธุรกิจ อาจเป็นคน ละคนกับนักบริหารธุรกิจ แม้ว่าธุรกิจนั้นจะถูกปลูกฝังว่าเป็นสิ่งง่ายที่สุด
เพราะเป็นภูมิปัญญาของสังคมไทยก็ตาม
แล้วปัญหาก็เกิดขึ้นตั้งแต่วันแรก อันเนื่องมา จาก SAICO ไม่สามารถควบคุมกำลังการผลิต
คุณภาพ ที่มาจากชาวไร่ในเครือข่ายได้เลย กิจการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆ
ที่สินค้านี้มีความต้องการจากตลาดต่างประเทศค่อนข้างสูง ตลอดมาจากที่สำราญมีความสัมพันธ์ดีกับนักลงทุนต่างประเทศ
แต่ขณะเดียวกันก็มีปัญหา "หญ้าปากคอก" ก็คือไม่มีความสามารถในการจัดการการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ
ตั้งแต่การปลูก ควบคุมคุณภาพสับปะรด ปริมาณที่มากพอ
ปัญหาพื้นฐาน ล้วนเกิดจากโครงสร้างการผลิตทางการเกษตรของเราจริงๆ และต้องยอมรับว่า
ความล้มเหลวทำนองนี้ กรณี SAICO มิใช่กรณีแรก
ปัญหานี้ดำรงมาตั้งแต่วันแรก ที่ก่อตั้ง SAICO มาจนถึงนาทีสุดท้าย วันที่สำราญ
กัลญาณรุจ ตัดสินใจขายกิจการให้ต่างชาติไป
Del Monte Group เป็นบริษัทที่ผลิตผลไม้กระป๋องใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
ภายใต้ยี่ห้อ "Del Monte" โดยเน้นการผลิต สับปะรด และผลไม้ตามฤดูกาล บริษัทมีโรงงานผลิตทั้งที่ฟิลิป
ปินส์ และเคนยา
สินค้าชื่อ "Del Monte" เกิดขึ้นเมื่อ 100 กว่าปี และเมื่อ 100 ปีก่อน
กิจการนี้ก็รวมตัวกับโรงงานผลิตผลไม้กระป๋องในแคลิฟอร์เนีย 17 โรง กลายเป็นผู้ผลิตผลไม้กระป๋องรายใหญ่ที่สุดในโลก
ปี 2469 ขยายธุรกิจไปถึงฟิลิปปินส์ ความสำเร็จของฟิลิปปินส์กลายเป็นโมเดลของการขยายตัวสู่ตลาดนอกสหรัฐฯ
ตามแนวทางใหม่ในปัจจุบัน ทั้งๆ ที่กิจการมีปัญหามากมายในสหรัฐฯ
กิจการนี้ประสบวิกฤติจากความตกต่ำทางเศรษฐกิจทั่ว โลกในช่วงปี 2474 แต่กระเตื้องขึ้นสลับกันไปมา
ในช่วงสงคราม โลกครั้งที่สอง เนื่องจากเป็นสินค้าผลิตป้อนกองทัพ
จากนั้นก็ผ่านการเปลี่ยนมือเจ้าของ ด้วยการซื้อกิจการในเกมของการ M&A
ในสหรัฐฯ หลายครั้งหลายหนในยุคสมัย แต่สิ่งหนึ่งที่ยังอยู่ก็คือ Brandname
"Del Monte" ซึ่งกลายเป็นชื่อบริษัทมาตั้งแต่ปี 2510
ล่าสุดในปี 2540 ผู้ซื้อกิจการรายล่าสุดได้หา CEO คนใหม่ ซึ่งมีความรู้ความชำนาญในธุรกิจนี้อย่างดี
Richard Wolford, former president Dole Packaged Foods, ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ว่า
การมาของคนคนนี้ ธนาคารกสิกรไทย เจ้าหนี้รายใหญ่รายเดียว ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับ
DOLE มายาวนาน จึงสามารถจัดการปรับโครงสร้างหนี้สินของ SAICO ได้สำเร็จ พร้อมกับหาผู้ร่วมทุนมาใหม่
ทั้งๆ ก่อนหน้านั้น เหตุการณ์ยืดเยื้อมานานเหลือเกิน
SAICO ขาดทุนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันแรกจนมาถึงปี 2530-2531 ก็มีกำไรขึ้นอย่างประหลาด
ในช่วงก่อนเข้าตลาดหุ้นในปี 2532 จากนั้นมา SAICO ก็ขาดทุนต่อเนื่องอีกเป็นนิจศีล
แต่การเข้าตลาดหุ้นก็คงช่วยอะไรไม่ได้มาก
SAICO ผลิตสินค้าส่งออกภายใต้เครื่องหมายการค้าของ ผู้สั่งซื้อต่างประเทศทั้งสิ้น
สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้า "SAICO" ไม่มีความหมายแต่อย่างใด โรงงานก็เป็นเครื่องจักรค่อนข้างเก่า
ซึ่งไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร สิ่งที่มีค่าค่อนข้างมากของบริษัทนี้ก็คือที่ดิน
ที่ดินส่วนใหญ่หรือทั้งหมดมีประมาณ 3,300 ไร่ในจังหวัด ระยอง ปัจจุบันขายให้ธนาคารกสิกรไทยไปหมดแล้ว
ในราคาประมาณ 500 ล้านบาท (ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าพยายามเสนอขายรายอื่นๆ ในราคากว่า
1,000 ล้านบาท) เมื่อเดือนเมษายน 2542 เพื่อเป็นการหักลบกลบหนี้จำนวนหนึ่ง
ในกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้มีเงินต้น 1,015 ล้านบาท แล้วธนาคารกสิกรไทย
ก็ให้ SAICO เช่าที่ดินนี้ต่อ โดยกำหนดเงื่อนไขสามารถซื้อคืนได้ ภายใน 5
ปี
เมื่อ Del Monte เข้ามาถือหุ้นใหญ่ก็เข้าครอบครองพื้นที่ เช่ากว่า 3,000
ไร่ ในการทำการเกษตรเพื่อตอบสนองโรงงานผลิตผลไม้กระป๋องต่อไป
จากนี้ไปการเกษตรไทยจึงเริ่มศักราชใหม่ด้วย "ฝรั่ง" เข้ามาร่วมวงไพบูลย์ด้วย
ความรู้ในการจัดการการเกษตรสมัยใหม่ ภายใต้พื้นที่ของตนเอง และเครือข่ายการพัฒนาพันธุ์
การควบคุมการผลิตให้สม่ำเสมอ การจัดการ เพื่อต่อสู้กับธรรมชาติ ซึ่งครอบงำการผลิตเกษตรไทยตลอดมา
เหล่านี้คือ "ความรู้" ของ "ฝรั่ง" ที่น่าติดตามอย่างยิ่ง
ในแต่ละปี สังคมไทยบริโภคผลผลิตจากต่างประเทศไม่น้อยเลย น่าประหลาดอย่างยิ่งผลไม้
เหล่านั้น เคยราคาแพงลิ่วในอดีตแต่กลับถูกลงอย่าง มาก ถูกมากกว่าผลไม้ไทยหลายชนิดในปัจจุบัน
เป็นสินค้าที่มีขายตลอดปี คุณภาพสม่ำเสมอ การหีบห่อ จัดส่งอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ผลไม้ต่างประเทศเหล่านี้ ถูกวางตลาดในเมืองไทยอย่างทั่วถึง แม้แต่แผงตลาดสดเล็กๆ
ในต่างจังหวัด ในขณะที่ผลไม้ไทยบางชนิดไปไม่ถึง
ผลไม้ต่างประเทศเหล่านี้ ก็มีเครื่องหมาย การค้า "Del Monte" รวมอยู่ด้วยแล้ว
ก่อนที่พวกเขาจะเข้ามายึด SAICO เสียอีก
นี่คือปรากฏการณ์ใหม่ในรากฐานของสังคมเศรษฐกิจไทย