Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2544








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2544
IN GOOD COMPANY             
 





ส รุ ป ส า ร ะ ส ำ คั ญ ข อ ง เ รื่ อ ง ย่ อ

คุณรู้หรือไม่ว่า บริษัทของคุณอาจมี "ทุนหรือทรัพยากรที่ซ่อนตัวอยู่" ซึ่งจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง หากว่าคุณไม่ตระหนักถึงการมีอยู่และพลังของมัน และไม่สามารถดึงมันมาใช้นำพาบริษัทของคุณให้เจริญรุดหน้าให้ดียิ่งขึ้นไปได้ คุณอาจจะคิดว่า เป็นไปได้อย่างไร ที่จะมีทุนที่คุณไม่รู้ว่ามีอยู่ในบริษัทของตัวเอง แต่ คุณรู้หรือไม่ว่า ก่อนที่ความรู้จะได้รับการยกย่องว่าเป็นทุนหรือทรัพยากรอันสูงค่าของบริษัทในยุคข้อมูลข่าวสาร ก็เคยเป็น "ทุนที่ซ่อนตัวอยู่" ในองค์กรมาอย่างยาวนานมาก่อน

ในเรื่องย่อหนังสือ "In Good Company" หรือ "บริษัทที่ดี ต้องมีสังคมที่ดี" ที่คุณกำลังจะได้อ่านต่อไปนี้ จะชี้ให้คุณได้เห็นถึงทุนหรือทรัพยากรอีกอย่างหนึ่ง ที่ซ่อนตัวอยู่ในบริษัท แต่กำลังแทรกตัวขึ้นมาโดดเด่น เหนือกระแสความคลั่งไคล้ในเทคโนโลยี ความตื่นเต้นกับโลกาภิวัตน์ และความเห่อใน "หน่วยอิสระ" และ "สถานที่ ทำงานเสมือนจริง" ทุนนั้นก็คือ "ทุนสังคมที่ดีในบริษัท" ในเรื่องย่อนี้ คุณจะได้เรียน รู้วิธีสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพนักงาน ซึ่งจะก่อให้เกิดความไว้วางใจกัน เครือข่าย สังคม และความรู้สึกเป็นชุมชนขึ้นภายในบริษัท และทั้งหมดนี้ก็จะประกอบขึ้นเป็น "ทุนสังคมที่ดีในบริษัท" ของคุณ คุณจะได้เรียนรู้ที่จะ :

- รู้จักว่าอะไรคือทุนสังคมที่ดีในบริษัทและอะไรไม่ใช่ คุณจะได้เห็นวิธีสร้าง ความรู้สึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม และความรู้สึกเป็นชุมชนให้เกิดขึ้นกับพนักงานของคุณ โดยการยอมให้พนักงานได้ทำกิจกรรมที่สามารถเชื่อมโยงพวกเขาเข้าด้วยกัน กิจกรรม เหล่านี้จะต้องเป็นกิจกรรมที่สามารถเปิดโอกาสให้พนักงานได้มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง และเอื้อให้พนักงานสามารถสร้างและสานสัมพันธ์ที่มั่นคงได้

- สร้างความไว้วางใจกันให้เกิดขึ้นในบริษัท พนักงานที่ไม่ไว้วางใจในกันและ กัน หรือไม่ไว้วางใจในบริษัท ย่อมไม่มีวันสร้างผลงานที่ดี หรือภักดีต่อบริษัท หรือร่วมมือกับบริษัทได้ แต่ความไว้วางใจจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีศรัทธาเสียก่อน คุณจะได้ เรียนรู้วิธีสร้างศรัทธาต่อบริษัท ให้เกิดขึ้นในหมู่พนักงาน และได้รับความไว้วางใจจาก พนักงานกลับคืนมาเป็นการตอบแทน

- ยอมให้เครือข่ายและชุมชนเกิดขึ้นภายในบริษัท คุณจะได้เห็นว่า ทำไมคุณจึงควรสนับสนุนเงิน สถานที่ และอนุญาตให้พนักงานสร้างเครือข่ายและชุมชน และเห็นถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่บริษัท

- กระตุ้นให้พนักงานพบปะพูดคุย และแบ่งปันประสบการณ์ผ่านการเล่าเรื่อง พนักงานจะเรียนรู้ได้มากกว่าจากการฟังเรื่อง เล่า ที่แสดงตัวอย่างของวิถีประพฤติปฏิบัติในบริษัท ซึ่งดีกว่าให้พนักงานเรียนรู้วัฒนธรรม องค์กรจากการอ่านคู่มือพนักงานเท่านั้น การ เล่าเรื่องจึงนับเป็นตัวเชื่อมสำคัญที่จะเชื่อมพนักงานกับคุณค่าและมาตรฐานพฤติกรรมที่บริษัทยึดถือ

- รับมือความท้าทายจาก "โลกเสมือนจริง" ที่กำลังรุกคืบเข้ามาเรื่อย ทุนสังคมที่ดีในบริษัทจะสามารถเจริญงอกงามได้ ก็ต่อเมื่อพนักงานมีโอกาสจะได้ติดต่อสื่อสาร กันแบบพบหน้า เทคโนโลยีสื่อสารไฮเทคไม่สามารถมาแทนที่การติดต่อโดยตรงได้ คุณจะ ได้เรียนรู้วิธีจัดสมดุลระหว่างความจำเป็นที่จะต้องคงการติดต่อสื่อสารแบบพบหน้าไว้กับ การนำเทคโนโลยีสื่อสารไฮเทคมาใช้อย่างเหมาะสม

ทำไม "ทุนสังคมที่ดีในบริษัท" จึงสำคัญต่อบริษัทของคุณ

"ทุนสังคมที่ดีในบริษัท" หมายถึง "การสะสมของความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานในบริษัท ซึ่งส่งผลออกมาในรูปความไว้วางใจกัน ความเข้าใจซึ่งกันและกัน การยึดถือคุณค่าและ บรรทัดฐานร่วมกัน ผลของความสัมพันธ์เหล่านี้ ได้ผูกพันพนักงานไว้กับเครือข่ายและชุมชน ในบริษัท และทำให้ความร่วมมือกันเกิดขึ้นได้" ทุนสังคมที่ดีในบริษัททำให้บริษัทเป็นมากกว่า การมารวมตัวกันของปัจเจก ซึ่งมุ่งเพียงบรรลุเป้าหมายส่วนตัวของแต่ละคน เพราะทุนสังคมที่ดี ในบริษัทย่อมเป็นเหมือนสะพานที่เชื่อมช่องว่างระหว่างบุคคล

แม้ว่าในช่วงหลังๆ จะมีการโหมประโคมความดีเด่นของการที่พนักงานทำตัวเป็น "หน่วยอิสระ" (เช่นทำงานอยู่ที่บ้านโดยใช้เทคโนโลยีสื่อไฮเทคเป็นตัวเชื่อมกับที่ทำงาน-ผู้แปล) แต่มนุษย์ยังคงต้องการที่จะสังกัดกลุ่มและมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มเพื่อพัฒนาการรู้จักตัวเอง ต้อง การความพอใจจากการได้รับการยอมรับจากกลุ่ม และจากการเป็นผู้ให้และผู้รับ ยังมีทฤษฎี การบริหารที่มีชื่อเสียงโด่งดังหลายทฤษฎีที่เน้นแต่ความสำคัญของกระบวนการทำงานและเทคโนโลยีทันสมัย โดยละเลยความสำคัญระหว่างบุคคล ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้เกิด ความร่วมมือขึ้นภายในบริษัท นี่อาจเป็นสาเหตุว่าทำไมบริษัทบางแห่งที่พร้อมพรั่งไปด้วยบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ กระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูง และเทคโนโลยีที่ดี ที่สุดเท่าที่เงินจะบันดาลได้ แต่ยังคงไม่อาจประสบความสำเร็จ เพราะถูกขัดขวางด้วยความหวาดระแวง ความชิงดีชิงเด่น และอัตราการลาออกของพนักงานสูง สิ่งที่ขาดหายไปในบริษัท เหล่านี้ก็คือ ความรู้ความเข้าใจในพลังของทุนสังคมที่ดีในบริษัท

เช่นเดียวกับการลงทุนในทุนที่จับต้องได้อื่นๆ การลงทุนในทุนสังคมที่ดีในบริษัท ก็จะนำผลตอบแทนมาสู่คุณและบริษัท ในแต่ละบริษัทต่างมีทุนสังคมที่ดีกันอยู่แล้ว แต่อาจจะ มากน้อยต่างกันไป ทุนสังคมที่ดีอาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง ถูกเพิกเฉย หรือได้รับการลงทุนก็ได้ แต่ถ้าคุณเลือกที่จะลงทุนในทุนสังคมที่ดี สิ่งที่คุณและบริษัทจะได้ตอบแทนกลับคืนมาคือ

- สร้างบรรยากาศของการแบ่งปันความรู้ เพราะพนักงานได้สร้างสัมพันธภาพกันบนพื้นฐานของความไว้วางใจ กรอบอ้างอิงและเป้าหมายร่วมกัน

- ลดค่าใช้จ่ายในการติดต่อธุรกิจ เพราะสมาชิกไว้ใจกันและมีจิตสำนึกของความร่วมมือ

- ลดอัตราการลาออกของพนักงาน ซึ่งจะลดค่าใช้จ่ายในการเลิกจ้าง การจ้างและฝึก อบรมพนักงานใหม่

- สร้างความสมัครสมานสามัคคี เพราะบริษัทมีเสถียรภาพ


ยุคของการพึ่งพาอาศัยกัน

เราได้ผ่านยุคสมัยที่คนคนหนึ่งจะต้องรู้เกือบทุกๆ อย่างมานานแล้ว แม้แต่การที่คนคน หนึ่งจะต้องรู้เรื่องทุกอย่างที่เกี่ยวกับการทำงานของเขาให้ได้ดีก็เป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้ว เพราะ เหตุนี้ การเป็นสมาชิกของเครือข่ายที่สามารถจะประสานและเพิ่มความรู้อันคับแคบของเราจึงกลายเป็นสิ่งที่จำเป็น ไม่ว่าจะอยู่ในวงการวิทยาศาสตร์และโลกธุรกิจ คนเก่งแบบข้ามาคนเดียวแทบจะหาได้ยากเต็มที เพราะเราได้อยู่ในยุคของการพึ่งพาอาศัยกันแล้ว

ในหลายๆ สถานการณ์ คุณจะพบว่า ความร่วมมือจากคนหลายคนจากหลายแห่งเป็นสิ่งจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นเป็นเพราะ ทุกวันนี้ คุณไม่ได้บริหารธุรกิจที่ผลิตสินค้าซ้ำๆ โดยมีมาตรฐานการทำงานเพียงแบบเดียว และลักษณะงานที่กำหนดไว้ตายตัวอีก ต่อไปแล้ว ตรงข้าม ธุรกิจทุกวันนี้แข่งขันกัน ด้วยบริการเป็นหลัก ซึ่งต้องใช้ความรู้เป็นรากฐาน การปฏิบัติต่อพนักงานเหมือนเขาเป็นเพียงฟันเฟืองตัวหนึ่งของเครื่องจักร จะได้ผลก็ต่อเมื่อคุณต้องการให้เขาทำงานเหมือนเครื่องจักรเท่านั้น แต่พนักงานแบบที่คุณต้องการทุกวันนี้ คือพนักงานที่มีการตอบ สนองว่องไว มีความคิดริเริ่ม และจิตสำนึกของความร่วมมือต่างหาก

บางทีเรื่องจริงที่จะเล่าต่อไปนี้จะแสดงให้คุณเห็นถึงพลังของทุนสังคมที่ดีในบริษัทได้อย่างดีที่สุด ในเดือนธันวาคม 1995 โรงงานผลิตผ้าขนแกะของบริษัทมอลเดน มิลส์ ในเมืองลอเรนซ์ มลรัฐแมสซาชูเสตต์ ถูกไฟไหม้หมด ทำให้คนงาน 3,000 คน ไม่มี ที่ทำงาน แอรอน เฟลอร์สเตน ซีอีโอประกาศ ว่า เขาจะยังคงจ้างคนงานทั้งหมดต่อไปด้วย เงินเดือนเต็มเดือนตามปกติ ในระหว่างที่กำลังก่อสร้างโรงงานขึ้นใหม่

ประชาชนทั่วไปและคนในวงการธุรกิจต่างรู้สึกช็อกกับการกระทำ ที่ดูเหมือนไม่ใช่การตัดสินใจทางธุรกิจที่ดีของเฟลอร์ สเตน แต่สำหรับผู้ที่เข้าใจถึงความสำคัญของ ทุนสังคมที่ดีในบริษัทแล้ว พวกเขาจะไม่ประหลาดใจเลย เฟลอร์สเตนกำลังแสดงให้ เห็นการไม่ทอดทิ้งพนักงาน ผู้ได้พิสูจน์ให้ บริษัทเห็นมาตลอดถึงการทำงานด้วยทักษะที่สูงและเชื่อถือได้ ด้วยการแสดงความ "ซื่อสัตย์" ต่อคนงานเช่นนี้ เฟลอร์สเตนเกือบ จะแน่ใจได้เลยว่า เขาจะได้รับการตอบแทน จากพนักงาน ซึ่งเกิดความรู้สึกว่าเป็นพันธะของตน ที่จะต้องพยายามทำงานให้ดียิ่งขึ้นไปกว่าเดิมอีก เมื่อโรงงานเปิดขึ้นใหม่อีกครั้ง ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญเลย ที่บริษัทมอลเดน มิลส์ สามารถรักษาพนักงานไว้ได้มากกว่า 95% และมีชื่อเสียงอย่างมากว่าเป็นโรงงานที่ผลิตผ้าขนแกะที่มีคุณภาพสูงเยี่ยม เฟลอร์สเตนได้ลงทุนในการสร้างทุนสังคมที่ดีในบริษัทของเขา และได้รับผลตอบแทนจาก การลงทุนดังกล่าวกลับคืนมาอย่างงดงาม

ความไว้วางใจ : จุดเริ่มต้นของ "ทุนสังคมที่ดีในบริษัท"

เกือบ 80% ของเพชรที่ค้ากันอยู่ในสหรัฐอเมริกา ต้องผ่านมือพ่อค้าเพชรทั้งหลายบนถนนสายที่ 47 ในแมนฮัตตัน แต่การ ซื้อขายสินค้าที่มีมูลค่ามหาศาลนี้ กลับใช้เอกสารน้อยมากอย่างไม่น่าเชื่อ การตกลงราคากระทำกันด้วยปากเปล่า การติดต่อธุรกิจจบลงด้วยการจับมือร่ำลาโดยปราศจาก สัญญาซื้อขาย การที่พ่อค้าเพชรไว้วางใจกันทำให้การทำธุรกิจดำเนินไปอย่างมีประสิทธิ ภาพ การ ที่ไม่ต้องใช้เอกสารสัญญาซื้อขายให้ รกรุงรัง ยังทำให้ไม่ต้องเสียเวลากับความยุ่งยากที่อาจจะตามมาภายหลังอีกมากมาย อันเนื่อง มาจากการใช้สิ่งที่เป็นลายลักษณ์อักษร

พ่อค้าเพชรจำนวนหลายร้อยคนเหล่านั้นเกือบทั้งหมดเป็นสมาชิกของชุมชนชาวยิวที่ เคร่งครัด ซึ่งสมาชิกชุมชนมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมาก ชีวิตงานและชีวิตส่วนตัวของพวก เขาผูกพันกันอย่างแยกไม่ออก การที่เป็นชุมชนที่มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดนี้เอง ทำให้บทลงโทษสำหรับผู้ที่ทรยศต่อความไว้วางใจกำหนดไว้รุนแรงมาก พ่อค้าเพชรผู้ไม่ซื่อสัตย์ ไม่เพียงแต่จะถูกขับออกจากวงการธุรกิจเท่านั้น แต่ยังถูกขับออกจากสังคมด้วย

ความไว้วางใจกันเป็นตัวหล่อลื่นกิจกรรมทางสังคมทุกอย่าง ทำให้ผู้คนสามารถทำงาน และอยู่ร่วมกันโดยปราศจากการทะเลาะเบาะแว้งไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยเหตุนี้ ความไว้วางใจกันจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เกิดทุนสังคมที่ดีขึ้นในบริษัท บริษัทที่มีระดับความไว้วางใจกันต่ำ จะมีลักษณะบังคับ ควบคุมสูง มีความลับและผู้ทำงานหนักกลับไม่ได้รับการตอบแทน ตรงข้าม บริษัทใดที่มีระดับความไว้วางใจสูง ผลที่จะเกิดตามมาเองโดยธรรมชาติ คือ วัฒนธรรม องค์กรที่เอื้อให้เกิดความริเริ่มสร้างสรรค์และความร่วมมือในหมู่พนักงาน

ทำความเข้าใจกับความไว้วางใจ

ความน่าไว้ใจไม่ใช่คุณสมบัติที่คงที่ประจำตัวบุคคล ไม่ใช่สิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้ ตรงข้าม การเป็นคนที่น่าไว้ใจเป็นคุณภาพที่เกิดขึ้นผันแปรตามสถานการณ์ เราจะมองเห็นความน่าไว้วางใจในตัวคนได้ โดยผ่านการสังเกตอย่างต่อเนื่องหรือผ่านเหตุการณ์พิสูจน์ความ น่าไว้ใจหลายๆ ครั้ง สิ่งที่สำคัญก็คือ คนที่เรามองว่าน่าไว้ใจ คือคนที่คำพูดตรงกับการกระทำ อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว ความไว้วางใจเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ตัวอย่างเช่น คนที่ได้รับการปฏิบัติที่ทำให้เขารู้สึกว่าเขากำลังได้รับความไว้วางใจ ก็มักจะทำตัวให้สมกับความไว้วางใจที่เขาได้รับจริงๆ ในขณะที่คนที่ถูกมองว่าเป็นคนไม่น่ามอบความไว้วางใจให้ ก็จะไม่สามารถทำตัวให้เป็นที่น่าไว้ใจได้จริงๆ เช่นกัน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะความไว้วางใจเป็นคุณภาพ ที่เกิดขึ้นจากการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างคน มากกว่าที่จะเป็นคุณสมบัติประจำตัวของบุคคล ที่คงที่ไม่เปลี่ยนแปลง เหมือนอย่างความซื่อสัตย์ หรือคุณสมบัติอื่นๆ

ความไว้วางใจเป็นสิ่งเปราะบาง

ความไว้วางใจเป็นสิ่งเปราะบางและเปลี่ยนแปลงง่าย บางครั้งเพียงแค่การกระทำเพียง การกระทำเดียว อาจสร้างความเสียหายหรือถึงขั้นทำลายความไว้วางใจที่เพียรพยายามสร้าง มานานปีให้พังลงได้ในพริบตา เหมือนกับชีวิตแต่งงานที่ยาวนานที่อาจพังทลายลงได้ด้วยการ นอกใจเพียงระยะเวลาสั้นๆ ฉะนั้น จงอย่าประมาทการกระทำที่ไม่ซื่อสัตย์เพียงเล็กๆ น้อยๆ ที่ดูเหมือนไม่สำคัญ เพราะอาจสร้างความเสียหายให้แก่ทุนสังคมที่ดีในบริษัทของคุณได้มาก บริษัทที่มีผู้บริหารที่เข้าใจอันตรายของการสูญเสียความไว้วางใจไป จะอาศัยแรงกดดันจากบรรทัดฐานพฤติกรรมขององค์กร กดดัน ให้พนักงานต้องทำตัวให้น่าไว้วางใจ เพราะ "ที่นี่ใครๆ ก็ทำตัวให้น่าไว้วางใจกันทั้งนั้น" พนักงานควรจะได้เห็นตัวอย่างของพฤติกรรมที่ดีอยู่เสมอ และเมื่อพนักงานเห็นว่าหากตนมีพฤติกรรมตามที่บริษัทพึงประสงค์แล้วจะได้รับรางวัลอย่างไร ก็จะเอาปฏิบัติตามอย่างบ้าง

เครือข่ายสังคมในบริษัท : จุดแข็งที่สุดของ "ทุนสังคมที่ดีในบริษัท"

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราจึงมีครอบครัว มีกลุ่ม มีชุมชน มีสังคม และมีประเทศ สังคม วิทยา จิตวิทยา และรัฐศาสตร์ ล้วนเป็นวิชาที่อุทิศแก่การศึกษากลุ่มสังคมและยอมรับมานาน แล้วว่า พฤติกรรมการรวมกลุ่มเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งที่มนุษย์ทำและรู้สึกเกี่ยวกับตนและโลก

ความต้องการสัมพันธ์กับคนอื่นของมนุษย์นี้เอง ทำให้เกิดเครือข่ายขึ้น และเครือข่าย สังคมก็สามารถทำให้เกิดทุนสังคมที่ดีเจริญเติบโตในบริษัทได้ เพราะเครือข่ายเป็นแหล่งที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้คนรู้สึกว่า เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม และต้องรับผิดชอบต่อกลุ่ม เครือข่ายยัง เป็นแหล่งรวมความรู้ของสมาชิกด้วย เครือข่ายสังคมที่เกิดขึ้นในองค์กรสามารถทำให้พนักงาน รู้สึกอบอุ่นใจเหมือนอยู่บ้านได้มากที่สุด และทำให้รู้สึกรับผิดชอบต่อคนอื่นได้มากที่สุดด้วย

เครือข่ายเกิดขึ้นเพราะคนต้องการความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายทั้งทางด้านวัตถุ จิตใจ และสังคมที่ทุกคนมีร่วมกัน การช่วยเหลือพึ่งพากันจึงเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในเครือข่ายที่ทำหน้าที่ของมันด้วยดี นอกจากนี้เครือข่ายยังช่วยทำให้คนรู้จักตัวเองและค้นพบตนเอง ดังนั้นคนจึงภักดีต่อเครือข่ายและชุมชนของตน

เครือข่ายสามารถทำให้พนักงานรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มและทำให้เกิดความไว้วาง ใจกันได้อย่างไร

- ด้วยการทำให้สมาชิกเห็นว่า อะไรคือคุณค่าที่กลุ่มยึดถือ หากในบริษัทของคุณมีช่อง ว่างระหว่างสิ่งที่เขียนอยู่ในคู่มือพนักงาน กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงอยู่สูง สิ่งที่พนักงานส่วนใหญ่ประพฤติปฏิบัติ ก็คือบรรทัดฐานร่วมกันของกลุ่ม

- ด้วยการกระจายข้อมูลข่าวสารไปยังสมาชิกของกลุ่ม คุณคงเคยมีประสบการณ์ที่สามารถรู้ข่าวสำคัญของบริษัทใหญ่มาจากสมาชิกในเครือข่ายของคุณ ก่อนที่ข่าวนั้นจะเปิดเผยมาแล้ว เครือข่ายสามารถกระจาย ข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็วด้วยปากต่อปาก เครือข่ายยังเป็นแหล่งรวมความรู้ของบริษัท และเป็นแหล่งที่พนักงานจะแลกเปลี่ยนความร่วมมือกันอย่างไม่เป็นทางการด้วย

ด้านมืดของเครือข่ายและชุมชนในบริษัท

เครือข่ายและชุมชนไม่ได้มีแต่ด้านที่เป็นสีชมพูเสมอไป เครือข่ายที่เคยทำให้สมาชิกมีเป้าหมาย มีความพึงพอใจ และได้รู้จักตัวเองเดียวกันนี้เอง ยังต้องรับผิดชอบต่อการก่อให้เกิดความเกลียดชัง และการกีดกันคนนอก เครือข่ายสามารถจะกีดกันคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกจากการได้งานทำ หรือ ไม่ต้อนรับคนนอกให้เข้าร่วมในสโมสรและชุมชน ในฐานะผู้บริหารคุณจะต้องป้องกันปัญหาที่สมาชิกในชุมชนของบริษัทอาจจะปิด ตัวเองมากเกินไป และทำสิ่งต่างๆ ไปตามอำเภอใจ โดยที่งานนั้นอาจจะไม่ได้มีประโยชน์อันใดกับบริษัท คุณต้องระวังการครอบงำความคิดของเครือข่ายต่อสมาชิก ซึ่ง ทำให้พนักงานซึ่งเป็นสมาชิกของเครือข่ายยึด ถือในสิ่งที่เป็นความเชื่อของเครือข่ายอย่างเหนียวแน่น แม้ว่าอาจจะเป็นความเชื่อที่ผิด

วิธีป้องกันปัญหาดังกล่าวคือ เครือข่ายต้องมีความยืดหยุ่นในการเปิดรับสมาชิก ใหม่ และข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ จากภายนอก เมื่อคุณจ้างพนักงานใหม่ จึงอาจเลือกคนที่มีความคิดที่แตกต่างไปจากบรรทัดฐานของเครือข่ายบ้าง เพื่อให้เป็นความท้าทายใหม่ๆ ของเครือข่าย

ลงทุนสร้างเครือข่าย

คุณสามารถกระตุ้นให้เครือข่ายพัฒนาไปในทางที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัทของคุณได้ ด้วยการ :

- ให้เงินสนับสนุน ให้มีการประชุมแบบพบหน้ากัน ซื้อเทคโนโลยีที่จำเป็น และ ยอมให้เข้าร่วมกิจกรรมที่เสริมสร้างเครือข่าย

- สนับสนุนสถานที่ เครือข่ายต้องใช้ สถานที่สำหรับเจริญเติบโต สานสัมพันธ์และ ขยายตัว สถานที่อาจเป็นสถานที่จริง เสมือนจริง หรือสถานที่ในเชิงสังคม

- ให้การยอมรับ แม้การแสดงความสนใจเพียงเล็กน้อยของคุณ ก็สามารถสร้างขวัญกำลังใจได้

ให้สถานที่และเวลาแก่พนักงานในการสร้างความสัมพันธ์

ในปี 1998 บริษัทอัลโคอาในพิตส์เบิร์ก ได้ย้ายสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ จากตึก 31 ชั้น มาอยู่ตึกที่สูงแค่ 6 ชั้น ซึ่งตั้งใจออกแบบเพื่อ เชื่อมโยงพนักงานของบริษัทเข้าด้วยกันโดยเฉพาะ สำนักงานแห่งใหม่เปิดโล่ง มีห้องประชุมที่ผนังเป็นกระจก มีห้องโถงที่สามารถ มองเห็นพนักงานได้ทั้ง 6 ชั้น ซึ่งต่างก็กำลังขะมักเขม้นทำงานของตน ผลปรากฏว่า พนักงานชอบที่จะใช้บันไดมากกว่าลิฟต์และ ห้องครัวที่ตกแต่งอย่างอบอุ่นกลายเป็นที่ที่พนักงานจะพบปะและพูดคุยกันได้

พอล โอนีล ซีอีโอของอัลโคอาเห็นว่า การออกแบบสำนักงานเช่นนี้คือสิ่งจำเป็น ต่อการบรรลุเป้าหมายของเขาและบริษัทในการเพิ่มความร่วมมือ ความเชื่อมโยงและการ พึ่งพากันของพนักงาน การออกแบบสำนักงานใหม่นี้ ยังช่วยลดช่องว่างระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง ทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถพบปะและพูดคุยกันได้ง่ายขึ้น สำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของอัลโคอานี้ก็คือ การลงทุนในด้านสถานที่ เพื่อเพิ่มทุนสังคมที่ดีในบริษัทนั่นเอง

การทำให้พนักงานเห็นการทำงานของคนอื่นๆ ก็ดี การมีสถานที่ให้พนักงานพบปะพูดคุยกันได้อย่างไม่เป็นทางการก็ดี และการลดช่องว่างระหว่างพนักงานทุกระดับก็ดี ได้ช่วย เพาะสร้างความไว้วางใจ ความรู้สึกเชื่อมโยงกัน และความรู้สึกว่าได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน ให้เกิดขึ้นในหมู่พนักงาน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการเพิ่มทุนสังคมที่ดีในบริษัทให้สูงขึ้นทั้งสิ้น ความสัมพันธ์ทางสังคมจะงอกงามในสถานที่เชิงสังคมเท่านั้น เป็นเวลาหลายพันปี มาแล้ว ที่ผู้คนไปรวมตัวกันที่จัตุรัสกลางเมือง สถานที่สาธารณะ ร้านกาแฟ ผับ ภัตตาคารและร้านขายของ สถานที่เชิงสังคมเหล่านี้ เป็นที่ซึ่งพวกเขาจะสร้างและสานความสัมพันธ์ หาก สถานที่เหล่านี้หายไป หรือผู้คนเลิกไปชุมนุมกันยังที่เหล่านั้น ชุมชนก็ยากจะเกิดขึ้นได้

เวลาที่คุณสามารถจะคิดถึงเรื่องการสร้างชุมชนในบริษัทได้อย่างดีที่สุด คือเวลาที่คุณ กำลังออกแบบสำนักงาน ยกตัวอย่างเช่น หากคุณคิดจะตัดห้องรับประทานอาหารกลางวันของพนักงานออกไป คุณอาจจะกำลังสูญเสียโอกาสที่ดีที่สุดโอกาสหนึ่ง ในการสร้างชุมชนขึ้น ในบริษัทไปอย่างน่าเสียดาย ที่แย่กว่าคือการคิดสร้างห้องทำงานให้แก่พนักงานที่ใช้เวลาส่วน ใหญ่อยู่บนถนนมากกว่าออฟฟิศ โดยยอมเสียเนื้อที่สำนักงานให้แก่พนักงานผู้ใช้มันเพียง 25% ของเวลาทำงานเท่านั้น อีกทั้งห้องทำงานที่จัดเป็นสัดเป็นส่วนอย่างนี้ ยังทำให้พนักงานต้องสูญเสียความสัมพันธ์กับชุมชนภายในบริษัทด้วย

ถ้าคุณต้องการจะสร้างชุมชนขึ้นในบริษัทจริงๆ แล้วล่ะก็ ลักษณะการออกแบบสำนัก งานจะสามารถสะท้อนความจริงใจของคุณให้พนักงานรับรู้ได้ หากคุณจัดสถานที่ให้พนักงาน พบปะพูดคุยอยู่สุดทางเดิน คุณกำลังบอกกับพนักงานว่า สถานที่นั้นและสิ่งที่จะเกิดขึ้นในที่นั้นไม่สำคัญต่อบริษัท แต่ถ้าคุณจัดสถานที่พบปะพูดคุยของพนักงานไว้ใกล้กับประตูทางเข้า หรือตรงพื้นที่ตรงกลางของบริษัท แสดงว่าคุณเห็นว่า ชุมชนและความร่วมมือกันเป็นสิ่งที่บริษัทเห็นค่า

สถานที่เสมือนจริงไม่อาจแทนที่สถานที่จริงได้

การสนทนาผ่านชุมชนออนไลน์อย่างแชตรูม ทีมรูม ฟอรัม บูลเลอตินบอร์ด และชุมชน เสมือนจริงต่างๆ ใช้ภาษาพูดเหมือนกับที่เราใช้พูดคุยกันจริงๆ ทำให้รู้สึกเหมือนว่าการพูดคุยกันในชุมชนบนโลกเสมือนจริงแห่งนี้ มีคุณภาพเทียบเท่ากับการได้พบปะสนทนากันจริงๆ แต่นั่นเป็นการทำให้คุณไขว้เขวต่างหาก เพราะจริงๆ แล้ว โลกเสมือนจริงไม่อาจแทนที่สถานที่ จริงๆ ได้อย่างน้อยเทคโนโลยีสื่อสารเท่าที่มีอยู่ก็ยังทำไม่ได้ เพราะการพบปะพูดคุยในโลกไซเบอร์สเปซนั้นยังมีข้อบกพร่องอีกหลายประการดังนี้

- ช่องทางการสื่อสารหลายช่องทางหายไป ซึ่งได้แก่สีหน้า ท่าทาง ความรู้สึก และน้ำเสียง

- ความรู้สึกมีส่วนร่วมของคนที่เข้าไปฟังแชตเฉยๆ โดยไม่คุยหายไป และคนพวกนี้จะหายหน้าไปจากห้องสนทนาออนไลน์อย่างรวดเร็ว ตรงข้ามกับวงสนทนาจริงๆ คนที่นั่งฟัง เฉยๆ ยังคงรู้สึกมีส่วนร่วม และไม่หายหน้าไปจากวงสนทนา

- โอกาสที่จะได้เจอเรื่องที่สะดุดความสนใจหายไป เพราะการพูดคุยถูกจำกัดแคบอยู่ที่หัวข้อสำคัญไม่กี่เรื่อง

การพบปะพูดคุยในโลกเสมือนจริง จะใช้ได้ดีที่สุด เมื่อใช้ประกอบกับการสื่อสารด้วย วิธีอื่น คนเราจำเป็นต้องรักษาความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ซึ่งอีเมลไม่มีความสามารถพอที่จะทำได้

เวลาที่ดีที่สุดในการสร้างชุมชน

การลงทุนในด้านเวลาที่สำคัญที่สุดในการสร้างชุมชนคือ ชั่วโมงแรกๆ วันแรกๆ หรือ สัปดาห์แรกๆ ที่พนักงานใหม่เริ่มเข้ามาทำงานในบริษัท โชคร้ายที่หลายๆ บริษัทมักจะให้พนักงานเข้าใหม่ "แตะพื้นแล้วออกวิ่งทันที" ซึ่งเท่ากับสูญเสียโอกาสที่มีเพียงครั้งเดียว ในการ ทำให้พนักงานเข้าใหม่นั้น ได้หลอมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของทุนสังคมที่ดีในบริษัท บริษัทที่ยอมลงทุนในการพัฒนาพนักงานเข้าใหม่ในช่วงแรกๆ ของการเข้ามาทำงาน ด้วยการจัดเตรียมให้มีการปฐมนิเทศที่มีรายละเอียดมากพอ และโปรแกรมการฝึกอบรมต่างๆ ที่หลากหลาย จะช่วยให้พนักงานใหม่ผู้นั้น สามารถสร้างเครือข่ายส่วนตัวและพัฒนาความไว้วางใจต่อชุมชน และบริษัท ในขณะที่กำลังเข้าร่วมการปฐมนิเทศหรือการฝึกอบรมต่างๆ

พลังของเวลาพักเที่ยง

สถานที่และเวลาที่ทำให้พนักงานสามารถพบปะและพูดคุยกันเปรียบเสมือนแสงแดด และน้ำที่หล่อเลี้ยงทุนสังคมที่ดีในบริษัท เพียงแค่คุณจัดเวลาและสถานที่ให้พนักงานได้พบ ปะพูดคุยกันบ้าง ก็สามารถจะทำให้ทุนสังคมที่ดีในบริษัทเจริญงอกงามได้
ถ้าหากคุณไม่สามารถออกแบบสำนักงานใหม่ในบริษัทของคุณได้ก็ไม่เป็นไร เพราะการสร้างเครือข่ายและชุมชนสามารถเกิดขึ้นได้ไม่จำกัดสถานที่ และบางครั้งก็เกิดขึ้นในสถานที่ ที่คาดไม่ถึง ลองดูตัวอย่างที่พนักงานขับรถของบริษัทไปรษณียภัณฑ์ยูพีเอสในสหรัฐฯ ที่พบปะ กันในเวลามื้อกลางวัน ในร้านอาหารภายในชุมชนที่พวกเขาออกไปทำงาน การมารับประทาน อาหารกลางวันร่วมกันของพนักงานขับรถเหล่านี้ได้ช่วยแก้ปัญหาการทำงานและเพิ่มประสิทธิ ภาพการทำงานได้มากมายอย่างไม่น่าเชื่อ พวกเขานำไปรษณียภัณฑ์ที่คัดแยกผิดมาแลกกัน พูดคุยกันถึงปัญหาที่เจอในการขนส่งไปรษณียภัณฑ์ เพียงแค่การพบปะและพูดคุยกันในเวลา อาหารกลางวัน พนักงานขับรถของยูพีเอสก็กำลังทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดย ที่บริษัทไม่ได้ลงทุนในเรื่องสถานที่แต่อย่างใดเลย

การพบปะพูดคุยและเล่าเรื่อง : วิธีสื่อสารเพื่อสร้าง "ทุนสังคมที่ดีในบริษัท"

การเล่าเรื่องและฟังเรื่องที่คนอื่นเล่า การพูดคุย หรือแม้แต่การซุบซิบนินทา ล้วนเป็น วิธีสำคัญที่ทำให้พนักงานสะสมความไว้วางใจและความเข้าใจซึ่งกันและกัน การพูดคุยยังเป็น วิธีแบ่งปันข้อมูลข่าวสารทางด้านเทคนิคด้วย เมื่อคนที่ทำงานในอาชีพเดียวกันได้มาพบปะกัน พวกเขาก็อดไม่ได้ที่จะคุยกันเรื่องงาน และได้รับความรู้ใหม่ๆ กลับไปจากการพูดคุยนั้น

การพูดคุยและการเล่าเรื่องเป็นวิธีสื่อสารเพื่อสร้างทุนสังคมที่ดีในบริษัท พวกเขาได้สื่อสารเกี่ยวกับค่านิยม พฤติกรรม ความเข้าใจ และเป้าหมายของบริษัท ซึ่งล้วนแต่เป็นวัฒนธรรมที่กลุ่มยึดถือร่วมกัน ซึ่งทำให้กลุ่มเป็นกลุ่มและทำให้ปัจเจกกลายเป็นสมาชิกของกลุ่ม

ศิลปะของการพูดคุย

การพูดคุยมีทั้งเนื้อหาที่เห็นได้ชัดเจน และเนื้อหาโดยนัย ถ้าคุณลองไปนั่งในร้านกาแฟ แถวบ้าน และมองดูผู้คนในนั้นกำลังพูดคุยกัน แม้ว่าคุณจะไม่ได้ยินว่าพวกเขาคุยอะไรกัน แต่คุณสามารถ "ดู" ได้ การพยักหน้า ทำหน้าบึ้ง หรือการยิ้ม ล้วนเป็นเป็นการบอกใบ้ให้คุณ เดาเนื้อหาที่พวกเขากำลังพูดคุยกันอยู่ได้โดยที่คุณไม่ได้ยินคำพูดของพวกเขา ในระหว่างที่เกิดการให้และการรับของคู่สนทนา กล่าวคือการผลัดเปลี่ยนกัน เป็นฝ่ายพูดหรือฝ่ายฟังเพื่อให้การพูดคุยดำเนินไปนี้เอง ที่ความเข้า ใจระหว่างบุคคลได้ก่อตัวขึ้น ดังนั้น การพูด คุยกันจึงไม่ได้มีความหมายเพียงแค่การแบ่ง ปันข้อมูลข่าวสารเท่านั้น

บริษัทที่สนับสนุนให้พนักงานพบปะพุดคุยกัน เป็นการลงทุนที่สำคัญในการเพิ่มทุนสังคมที่ดีในบริษัท เพื่อกระตุ้นให้เกิดการ พบปะพูดคุยกันของพนักงาน คุณควรจะ :

- จัดสถานที่ที่พนักงานจะพบปะพูดคุยกันได้ในเชิงสังคม

- ให้พนักงานมีเวลาพูดคุยกัน

- ส่งเสริมการพูดคุยกันแบบพบหน้า มากกว่าผ่านโทรศัพท์ แฟกซ์ และอีเมล

- การฟังเฉยๆ ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของ การพูดคุย

พลังของเรื่องเล่า

เรื่องเล่ามีพลังพิเศษในการสร้างและเพิ่มทุนสังคมที่ดีในบริษัท เพราะเรื่องเล่าเป็นการสื่อสารที่เกี่ยวกับบรรทัดฐาน ค่านิยม ทัศนคติ และพฤติกรรมที่กลุ่มยึดถือในเวลา ที่พวกเขาเล่าถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน พวกเขาจึงกำลังแสดงตัวอย่าง ที่เกิดขึ้นจริง คนจะเรียนรู้จากการเห็นตัวอย่างการกระทำได้ดีกว่าจากการฟังคำอธิบายในสิ่งที่เป็นนามธรรม ตัวอย่างคลาสสิกเรื่องหนึ่งของอเมริกันคือเรื่องของจอร์จ วอชิงตัน ที่ไม่ยอมโกหกเรื่องที่เขาโค่นต้นเชอร์รี อธิบายเรื่องความซื่อสัตย์ได้ดีกว่า การเพียรพยายามอธิบายคำนามธรรมอย่างคำว่าซื่อสัตย์

ที่สำคัญอีกอย่างก็คือ การแบ่งปันความรู้ด้วยการเล่าเรื่องดึงให้คนเข้าใกล้กัน ลดช่องว่างระหว่างบุคคล เพราะการเล่าและการฟังเรื่องเล่าโดยตัวมันเองก็เป็นกิจกรรมสังคมอย่างหนึ่ง ที่สามารถเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคน เหมือนๆ กับการรับประทานอาหารหรือดื่มในผับกับเพื่อน
การเล่าเรื่องเป็นทักษะที่สำคัญของผู้นำ

การเล่าเรื่องเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของผู้นำ

ผู้นำควรสามารถกระตุ้นคนอื่นให้เล่าเรื่อง ได้ด้วยการเริ่มเล่าก่อน แล้วเรื่องเล่า อื่นๆ ก็จะตามมาเอง คุณคงจะเคยอยู่ในวงสนทนา ที่เมื่อคนใดคนหนึ่งเล่าเรื่องขึ้นมาแล้ว ทันใดนั้น คนอื่นๆ ก็ดูเหมือนจะมีเรื่องเล่าของตัวเองขึ้นมาบ้างเหมือนกัน แล้วพวกเขา ก็จะรู้สึกว่าการสนทนาออกรสขึ้น

การเล่าเรื่องเป็นสิ่งที่มีพลัง ทั้งคุณยัง ไม่ต้องลงทุนเสียเงินจัดฝึกอบรมแต่อย่างใด การเล่าเรื่องที่ดีที่สุดเกิดขึ้นเมื่อไม่ได้มีการ เตรียมตัวมาก่อน สิ่งที่คุณต้องทำมีเพียงยอม ให้มีการเล่าเรื่องเกิดขึ้นเท่านั้นเอง

รับมือความท้าทายจากความผันผวนในโลกธุรกิจ

อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของสหรัฐฯเป็นตัวอย่างที่ดีของความผันผวน ที่เกิดกับองค์กรธุรกิจในทุกวันนี้ บริษัทในซิลิคอน วัลลีย์ต่างพากันแย่งชิงตัวบุคลากรกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ด้วยการเสนอเงินเดือนที่สูงและการมีสิทธิถือหุ้น ในขณะที่บางบริษัทขยายตัวอย่างรวดเร็ว เป็น 2 หรือ 3 เท่าภาย ในเวลาไม่กี่เดือน แล้วก็ถูกกลืนด้วยบริษัทไฮเทคยักษ์ใหญ่ บางบริษัทกลับใช้เงินทุนหมดแล้วก็หายหน้าไปจากวงการ

แต่มีบริษัทไฮเทคแห่งหนึ่งชื่อ เอสเอเอส ซึ่งเริ่มต้นจากบริษัทขายซอฟต์แวร์ทำสถิติเล็กๆ แต่บัดนี้กลายเป็นบริษัทที่ขายซอฟต์แวร์วิเคราะห์ข้อมูลให้แก่บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกหลายแห่ง บริษัทยังคงมีอัตรา การลาออกของพนักงานที่ต่ำมาก ซึ่งเป็นเรื่อง ที่น่ามหัศจรรย์สำหรับบริษัทที่อยู่ในโลกอุตสาหกรรมไฮเทคนี้ ซึ่งพนักงานเกือบไม่มีความซื่อสัตย์และผูกพันกับองค์กรเลย สาเหตุ ที่พนักงานเต็มใจที่จะทำงานให้แก่เอสเอเอส ในระยะยาว เป็นเพราะบริษัทให้ทุนสนับสนุน การวิจัยและการพัฒนา ให้ทรัพยากรการทำงานที่มากพอต่อพนักงานแต่ละคน และกระตุ้นให้พนักงานติดต่อสื่อสารกัน เอสเอเอสยังมีชื่อเสียงที่น่าภาคภูมิ ในการกำหนดเวลาการทำงานที่ "เป็นมิตรกับครอบครัว" พนักงาน ที่นี่ทำงานเพียง 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และยังจัดให้มีสถานที่รับเลี้ยงบุตรของพนักงาน รวมทั้งสถานที่พักผ่อนหย่อนใจให้แก่พนักงานด้วย เอสเอเอสทำงานหนักก็เพื่อป้องกันไม่ให้ความผันผวนในโลกธุรกิจและผลร้ายของมันส่งผลกระทบถึง "ทุนสังคมที่ดีในบริษัท" นั่นเอง

คุณและบริษัทของคุณก็สามารถเรียนรู้วิธีป้องกันผลกระทบจากความผันผวนอย่างบ้า คลั่งในโลกธุรกิจทุกวันนี้ได้ ก้าวแรกก็คือการสร้างพนักงานที่มีความผูกพันกับบริษัท ด้วยวิธี ปฏิบัติในการจ้างงาน ที่จะหลอมรวมพนักงานให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ด้วยการ :

- จ้างงานโดยต้องการรักษาพนักงานให้อยู่กับบริษัทในระยะยาว ค่อยๆ ทำความรู้จัก กับพนักงานนับตั้งแต่เมื่อเขาสมัครงาน เพื่อดูว่าทำอย่างไรจะทำให้เขาสามารถเข้าเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทได้ อย่าเร่งรีบ กระบวนการจ้างงาน ควรจะเป็นการเริ่มสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ ซึ่งจะช่วยผสมกลมกลืนพนักงานใหม่ให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทได้ ให้เขาเริ่มต้น ด้วยการมีพี่เลี้ยงที่ปรึกษา ซึ่งหมายความว่า เขากำลังเริ่มกระบวนการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร ตั้งแต่ยังไม่ได้รับการบรรจุอย่างเป็นทางการ

- ปฐมนิเทศและฝึกอบรม ในการปฐมนิเทศและฝึกอบรม คุณควรสอดแทรกเรื่องวัฒนธรรมองค์กรและบรรทัดฐานพฤติกรรม ไปพร้อมๆ และอย่างให้ความสำคัญเท่าๆ กับการสอนด้านเทคนิคและทักษะการทำงาน

- เน้นรางวัลจากการทำงานระยะยาว อย่าเสนอโบนัสพิเศษเพื่อจูงใจพนักงานใหม่ นอกจากจะเป็นการส่งสัญญาณผิดๆ ให้แก่พนักงานเก่าผู้ซื่อสัตย์กับบริษัทมายาวนานแล้ว ยังอาจดึงดูดใจผู้สมัครอย่างผิดๆ

- ตรวจดูอัตราการรักษาพนักงานของบริษัท โดยเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นในอุตสาห- กรรมเดียวกัน ใครสามารถรักษาพนักงานไว้ได้มากกว่า แสดงว่าพนักงานมีความพึงพอใจใน การทำงาน และรู้สึกผูกพันต่อบริษัทสูง และแสดงว่าคุณตระหนักถึงการสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการประกาศรับสมัครและการฝึกอบรมพนักงานใหม่

รักษา "สัญญาใจ"

คำสัญญาที่ให้กับพนักงาน ผลประโยชน์ที่พนักงานได้รับ และความคาดหวังของพนักงานถึงรางวัลที่จะได้รับ เมื่อมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ ถือเป็นประดุจสัญญาใจซึ่งบริษัท จะต้องรักษาการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่ส่งผลให้บริษัทไม่อาจรักษาสัญญาเหล่านี้ได้ ถือเป็นการ ผิดสัญญาใจ และอาจทำลายความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับพนักงาน ซึ่งเป็นการทำลายทุน สังคมที่ดีในบริษัทลงด้วย

การเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและความผันผวนของธุรกิจในทุกวันนี้ ทำให้โอกาสที่จะเกิดการผิดสัญญาใจเกิดขึ้นได้บ่อยมากขึ้น และโอกาสหนึ่งที่ทำให้บริษัทจำต้องละเมิดสัญญาใจต่อพนักงานที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดในยุคนี้ก็คือ ในเวลาที่องค์กรต้องทำการลด ขนาด ในเวลาเช่นนี้ บริษัทควรจะอธิบายให้พนักงานเข้าใจอย่างชัดเจนว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้โดยไม่ต้องเลิกกิจการ และ ทุกคนจะร่วมแบกรับความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นอย่างเท่าเทียมกัน ผู้บริหารที่ลอยแพพนักงานเพื่อลดค่าใช้จ่าย แต่กลับเพิ่มโบนัสก้อนโตให้ตัวเอง รังแต่จะก่อให้เกิดความขุ่นเคืองและเกลียด ชัง และทำลายทุนสังคมที่ดีในบริษัท แต่ทรัพยากรดังกล่าวจะไม่กระทบกระเทือน หากฝ่ายบริหารแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ได้ร่วมลำบากไปกับพนักงานด้วย

รับมือความท้าทายจากสังคมเสมือนจริง

สถานที่ทำงานเสมือนจริงหมายถึงการทำงานที่ผู้ทำงานอยู่ในอีกสถานที่หนึ่งที่ห่างไกล จากสถานที่ทำงานจริง โดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างอีเมล อินทราเน็ต การประชุมทางไกลแบบเห็นภาพ โทรศัพท์มือถือ และเทคโนโลยีไฮเทคทางการสื่อสารทั้งหลายเป็นตัวเชื่อม

บริษัททั้งหลายกำลังพยายามปรับตัว ให้สามารถใช้การสื่อสารเสมือนจริงนี้ ประสาน งานกับพนักงานเกิดเป็นสถานที่ทำงานเสมือนจริงขึ้น แต่สถานที่ทำงานเสมือนจริงจะสามารถ สร้างทุนสังคมที่ดีให้เกิดขึ้นในองค์กรได้ เท่าเทียมกับสถานที่ทำงานจริงได้ อย่างไรนั้น ยังเป็น เรื่องที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจน อย่างไรก็ตาม ปัญหาของโลกเสมือนจริงมีดังนี้คือ

- ไม่มีเทคโนโลยีสื่อสารทางไกลใดเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน ที่จะสามารถทดแทนช่องทาง การสื่อสารอันหลากหลาย ซึ่งมนุษย์ ใช้เป็นเครื่องมือสร้างความสัมพันธ์และความ เข้าใจระหว่างกัน อันเป็นพื้นฐานของทุนสังคมที่ดีในองค์กรได้

- การสื่อสารเสมือนจริงมักสั้นและไม่ต่อเนื่อง ในขณะที่การสื่อสารโดยตรงจะใช้เวลายาวนานและต่อเนื่อง

- การสื่อสารเสมือนจริงมักจะจำกัดหัวข้อสนทนา และต้องการความชัดเจน ในขณะที่การสื่อสารจริงไม่จำกัดหัวข้อ และสามารถเปลี่ยนหัวข้อเพื่อให้การสนทนาดำเนินต่อไปได้เรื่อยๆ

- การสื่อสารเสมือนจริงอย่างอีเมลอาจตัดขาดคนจากโลกรอบๆ ตัว ในเมื่อโลก เสมือนจริงยังไม่อาจเอื้อให้คนสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันได้ ก็จะทำให้คนคนนั้นสูญเสียโอกาสในการสร้างสัมพันธ์กับคนอื่นทั้งในโลกเสมือนจริงและโลกจริงไปพร้อมกัน

จะเห็นได้ว่า การสื่อสารเสมือนจริงยัง ขาดทั้งความสมบูรณ์ของสาร ความต่อเนื่อง และความยืดหยุ่น

อย่างไรก็ตาม ในยุคแห่งข้อมูลข่าวสารนี้ คุณคงหลีกเลี่ยงการสื่อสารทางไกลใน รูปใดรูปหนึ่งไปไม่พ้น แต่เมื่อใดที่คุณต้อง การจะสื่อสาร จงถามตัวเองเสมอว่า "ฉันมีวัตถุประสงค์อะไรในการสื่อสารครั้งนี้" อีเมล อาจเป็นวิธีการสื่อสารที่ดีที่สุด หากสารที่คุณ ต้องการสื่อในครั้งนั้นๆ ต้องการความเรียบง่าย ตรงไปตรงมา แต่ในขณะเดียวกัน อีเมล คงไม่ใช่ทางเลือกการสื่อสารที่เหมาะสมอย่าง แน่นอน หากวัตถุประสงค์ในการสื่อสารของคุณคือเพื่อสร้างความสัมพันธ์และความไว้วางใจ การเจรจาต่อรองที่ซับซ้อน และการตัดสินใจในระดับนโยบาย

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us