Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2544








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2544
พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา จากนักอุตสาหกรรมสู่เส้นทางนักจัดการการศึกษา             
โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
 

   
related stories

ดรุณสิกขาลัย โรงเรียนเพื่อการเรียนรู้

   
search resources

พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา




"เด็กๆ ให้ความรู้ผม" เป็นถ้อยความที่ส่อแสดงเค้าโครงความนึกคิดเบื้องลึกที่ชายในวัย 74 ปี แต่ยังแจ่มใส และเปี่ยมด้วยพลังสร้างสรรค์ อย่าง พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา บอกเล่ากับ "ผู้จัดการ" ถึงบทบาทใหม่ในฐานะนักการศึกษา ที่กำลังเร่งระดมสรรพกำลังจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมผลักดันการปฏิรูปการศึกษาให้ปรากฏเป็นรูปธรรม

ตลอดระยะเวลากว่า 1-2 ทศวรรษที่ผ่านมา จนแม้กระทั่งในปัจจุบัน หากเอ่ยถึง พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา แน่นอนว่าผู้คนในแวดวงธุรกิจอุตสาหกรรมตลอดจนสังคมในวงกว้าง ย่อมต้องนึกถึงนักอุตสาหกรรม ที่ประสบความสำเร็จในระดับ ตำนานอีกบทหนึ่งของสังคมไทย ซึ่งดูเหมือนบทบาท และความสำเร็จในธุรกิจอุตสาหกรรมดังกล่าว ได้บดบังความสนใจด้านการศึกษา ที่ชายผู้นี้ได้ให้ความสำคัญมาตลอดเวลาเนิ่นนาน ตั้งแต่เมื่อครั้งที่เขาดำรงตำแหน่งผู้บริหารกิจการ ในเครือซิเมนต์ไทย

พารณ เกิดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2470 สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาจากวชิราวุธวิทยาลัย และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและวิศวกรรมเครื่องกล จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนที่ในปี 2497 จะสำเร็จปริญญาโทด้านวิศวกรรมเครื่องกล จาก MIT

เขาเป็นพนักงานไทยรุ่นแรกๆ ที่ได้ผ่านองค์กรระดับโลกอย่างเชลล์ โดยเข้าร่วมงานในฐานะวิศวกรประจำฝ่ายปฏิบัติการกับบริษัทน้ำมันแห่งนี้ตั้งแต่ปี 2500 และดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายจัดหาและขนส่ง ซึ่งเป็นตำแหน่งสุดท้ายในเชลล์ ก่อนที่ในปี 2512 เขาจะเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในเครือซิเมนต์ไทย พร้อมกับการแสดงบทบาทสำคัญและมีความหมายทางยุทธศาสตร์ขององค์กรในระยะเวลาต่อมา โดยในปี 2514 พารณดำรงตำแหน่งเลขานุการคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุง กิจการบริษัทในเครือซิเมนต์ไทย

ในปี 2518 เขาถูกยืมตัวไปเป็นผู้จัดการใหญ่ สยามคราฟท์ ก่อนที่เครือซิเมนต์ไทยจะเข้าครอบกิจการ ซึ่งนับเป็นตำนานอีกบทหนึ่ง ของทั้งเครือซิเมนต์ไทยและวงการธุรกิจอุตสาหกรรมของไทยไปแล้ว (วิรัตน์ แสงทองคำ, ยุทธศาสตร์ความใหญ่ เครือซิเมนต์ไทย 2543)

นอกจากนี้เขายังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการระบบวิธีการและตรวจสอบ ตลอดจนงานบุคคลกลาง ก่อนที่เขาจะก้าวสู่ตำแหน่งผู้จัดการใหญ่เครือซิเมนต์ไทย ในยุคที่นับว่าประสบความสำเร็จอย่างมากช่วงหนึ่งขององค์กรอุตสาหกรรมไทย ที่มีอายุเกือบ 90 ปีแห่งนี้

ช่วงเวลาที่พารณดำรงตำแหน่งผู้จัดการใหญ่เครือซิเมนต์ไทย นับเป็นช่วงเวลาที่องค์กรแห่งนี้ทุ่มเทงบประมาณในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล อย่างมีนัยสำคัญและเป็นไปด้วยความต่อเนื่อง

เขาเป็นคนไทยคนแรกๆ ที่ได้นำเอาระบบ Total Quality Management (TQM) เข้ามาเผยแพร่อย่างจริงจังในประเทศไทย โดยระบบการบริหารดังกล่าวได้ขยายผล ไม่เฉพาะในวงการธุรกิจอุตสาหกรรมเท่านั้น หากแต่ยังขยายไปสู่แวดวงราชการ โดย TQM ที่คนไทยได้รู้จักในปัจจุบันก็คือ ISO 9000 และ ISO 14000 รวมถึงระบบ ISO อื่นๆ ด้วย

ประสบการณ์ที่สั่งสมเนิ่นนาน ในวงการธุรกิจอุตสาหกรรมของพารณ เป็นประหนึ่งเบ้าหลอมทางความคิดที่ในวันนี้ ได้ตกผลึกเป็นกรอบโครงวิสัยทัศน์ ที่เขาพยายามนำเสนอเป็นแนวทางในการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ โดยมีการปฏิรูปการศึกษาเป็นปฐมบทในการเปลี่ยนแปลงนี้

"วิสัยทัศน์ของประเทศ อยู่ที่การเป็นชาติที่มีความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อเรากำหนดพันธกิจไว้ที่การเป็นชาติที่สามารถเรียนรู้" พารณ อธิบายเค้าโครงความคิดของเขา ที่มีต่อประเด็นว่าด้วยระบบการศึกษาของชาติ

แนวความคิดของพารณ มิได้หยุดอยู่เพียงการบอกเล่าถ่ายทอดทางคำพูด หากแต่เขาได้ร่างแผนปฏิบัติการ ที่ครอบคลุมตั้งแต่ชุมชนรากหญ้าในระดับหมู่บ้าน โรงเรียน มหาวิทยาลัย ตลอดจนภาคอุตสาหกรรม และเครือข่ายในระดับจังหวัด ซึ่งบางส่วนได้ลงมือดำเนินการไปแล้ว

ก่อนจะเริ่มโครงการโรงเรียนนำร่อง ดรุณสิกขาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนที่สร้างขึ้นนอกระบบการศึกษาแบบเดิมนั้น พารณได้ดำเนินการสร้างตัวแบบของโรงเรียนแนว Constructionism ในลักษณะของโครงการ "ทดลองห้องเดียว"
ขึ้นในระบบการศึกษาปกติ ที่โรงเรียนบ้านสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ โดยเริ่มจากชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/5 และขยายไปสู่การ "ทดลองต่อเนื่องห้องเดียวในทุกระดับ" ด้วยการยึดเอาห้องเรียน /5 ของประถมศึกษาปีที่ 1-4 เป็นแกนกลาง เพื่อประเมินความต่อเนื่อง

รูปแบบและวิถีที่ดำเนินไปของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นที่โรงเรียนบ้านสันกำแพง น่าจะเป็นบทพิสูจน์ถึงความต่อเนื่องในประสบการณ์การบริหารอุตสาหกรรมของพารณ ได้เป็นอย่างดี เพราะแม้ว่าเขาจะต้องการสร้าง product ใหม่ให้เกิดขึ้นในสายการผลิต แต่ก็มิได้มุ่งหมายจะยุบแผนกการผลิตในระบบเดิมลง หากแต่ทำควบคู่กันไป โดยให้น้ำหนักความสำคัญไว้ที่การลงทุนเพื่อขยายสายการผลิตใหม่ในอนาคต

ความแตกต่างระหว่างห้องเรียน /5 โรงเรียนบ้านสันกำแพง กับห้องเรียนอื่นๆ ที่เป็นประหนึ่งตัวควบคุมในกระบวนการทดลองทางวิทยาศาสตร์ นอกจากจะอยู่ที่ปรัชญาการศึกษาแบบ Constructionism ที่ทำให้รูปแบบการเรียนการสอนแตกต่างกันแล้ว ตัวแปรว่าด้วยจำนวนครูต่อนักเรียน ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างให้เกิดสภาพแวดล้อมที่แตกต่าง ออกไป โดยในโครงการดังกล่าวห้อง /5 จะมีครูเพิ่มขึ้นเป็น 4 คนต่อนักเรียน 40-50 คน หรือในสัดส่วน 1:12 ขณะที่ห้องเรียนปกติจะอยู่ในสัดส่วน 1:50

โครงการโรงเรียนบ้านสันกำแพง มิได้มีความสำคัญในฐานะ "โครงการทดลองก่อนหน้าโครงการจริง" สำหรับ ดรุณสิกขาลัยเท่านั้น หากแต่ยังเป็น "ห้องปฏิบัติการ" เพื่อยืนยันว่าแนวความคิดเช่นนี้สามารถทำได้จริง ในการปรับระบบการศึกษาแบบเดิมให้เข้าสู่รูปแบบใหม่ หากมีทรัพยากรทางการเงินมากพอ โดยไม่ต้องสร้างโรงเรียนแนวนี้ขึ้นใหม่ ความต่อเนื่องในฐานะนักอุตสาหกรรม ที่มีโอกาสก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดบริหารเครือซิเมนต์ไทย ซึ่งเป็นองค์กรขนาดใหญ่และกว้างขวางด้วยเครือข่ายทั่วประเทศ ประกอบกับสายสัมพันธ์ทั้งในระบบราชการและภาคเอกชนที่เขาสั่งสมมาตลอด 2 ทศวรรษเศษ ทำให้สิ่งที่เขา "คิดและทำ" ในช่วงเวลานี้ได้รับการสนับสนุนพอสมควร

แม้จะ "คิดและทำ" กิจกรรมด้านการศึกษามาเนิ่นนาน แต่เขามิได้ถือตัวว่าเป็น "นักการศึกษา" ที่คร่ำเคร่งกับทฤษฎีแต่อย่างใด หากนิยามที่ฉายภาพของ พารณ ได้ชัดเจนที่สุดน่าจะอยู่ที่การเป็น "นักจัดการการศึกษา" ซึ่งแม้จะไม่ราบเรียบแต่มีความแหลมคมมากที่สุดคนหนึ่งในวันนี้

กระนั้นก็ดีเค้าโครงความคิดต่างๆ ที่มีอยู่นั้น จะก่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างไรยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณาถึง พันธกิจซึ่งกำหนดไว้ที่การเป็นชาติ ที่สามารถเรียนรู้นั้น กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว เรากำลังเรียนรู้สิ่งใด ซึ่งนั่นอาจทำให้ต้องมีการปรับกระบวนทัศน์ครั้งใหญ่ อีกครั้งในอนาคต

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us