Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2544








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2544
ดรุณสิกขาลัย โรงเรียนเพื่อการเรียนรู้             
โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
 

   
related stories

พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา จากนักอุตสาหกรรมสู่เส้นทางนักจัดการการศึกษา

   
search resources

โรงเรียนดรุณสิกขาลัย
พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา
E-Learning




การปรากฏตัวขึ้นของ ดรุณสิกขาลัย ในฐานะโครงการนำร่องโรงเรียนเพื่อการเรียนรู้ ในห้วงเวลาที่สถาบันการศึกษาแต่ละแห่งกำลังอยู่ระหว่างการกำหนดทิศทางและรูปธรรม ที่ชัดเจนท่ามกลางกระแสการปฏิรูปการศึกษา มิได้มีนัยเป็นเพียงทางเลือกใหม่สำหรับผู้ปกครองเท่านั้น หากแต่ยังมีส่วนบ่งบอกแนวโน้มการศึกษาไทยในอนาคตอีกด้วย

ในขณะที่ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยกำลังให้ความสนใจในชื่อเสียง และประวัติความเป็นมาของสถาบันการศึกษา ในฐานะที่เป็นเงื่อนไขในการพิจารณา ส่งกุลบุตรกุลธิดา เข้าศึกษาเล่าเรียนนั้น โรงเรียนเกิดใหม่ที่เพิ่งผ่านพ้นการรับและฝึกอบรมบุคลากรทางการศึกษาไปเมื่อปลายปี 2543 และเริ่มต้นรับนักเรียนในปีการศึกษาแรกไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมาแห่งนี้ กำลังก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ท้าทายความคิดความเชื่อดั้งเดิมในบริบทการศึกษาของสังคมไทย

กล่าวได้ว่ามูลเหตุสำคัญที่ทำให้ดรุณ สิกขาลัย ถือกำเนิดขึ้นในฐานะที่เป็นประหนึ่ง นวัตกรรมทางการศึกษา อยู่ที่การประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ซึ่งเชื่อกันว่า เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจังครั้งใหม่ ในสังคมไทยหลังจากที่ในอดีตเคยมีการปฏิรูปการศึกษามาแล้ว ครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 หรือเมื่อกว่า 100 ปีมาแล้ว

ภายใต้ความร่วมมือระหว่างมูลนิธิศึกษาพัฒน์ มูลนิธิไทยคม The Media Lab of Massachusetts Institute of Technology (MIT) และมหาวิทยาลัย เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ. : KMUTT) ซึ่งมีส่วนร่วมในการก่อตั้งโรงเรียนเพื่อการเรียนรู้ (School for Learning) แห่งนี้ ได้กำหนดเป้าหมายไว้ที่การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนแนวใหม่ที่สอดคล้องตาม พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติดังกล่าว ซึ่งมุ่งที่จะให้ผู้เรียนสามารถพัฒนากระบวนการ เรียนรู้ทั้งในด้านวิชาการ ทักษะชีวิต และความ คล่องแคล่วในการใช้เทคโนโลยี

"ปรัชญาการศึกษาที่นำมาสู่การจัดตั้ง โรงเรียนดรุณสิกขาลัย ผูกพันอยู่กับทฤษฎี Constructionism หรือการเรียนรู้แบบคิดเองทำเอง ซึ่งเป็นแนวความคิดที่เชื่อว่าจะสามารถ เชื่อมโยงและปิดช่องว่างระหว่างวิชาการแขนง ต่างๆ ในระบบการศึกษาแบบเดิมให้น้อยลงได้" พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ซึ่งนอกจากจะดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยมจธ. (KMUTT) แล้ว เขายังดำรงตำแหน่งสำคัญในมูลนิธิศึกษาพัฒน์ และมูลนิธิไทยคม ที่มีส่วนเป็นผู้ผลักดันให้เกิดโรงเรียนแห่งนี้ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

รากฐานของแนวความคิด Construc-tionism ที่ได้กล่าวถึงนี้ มีจุดเริ่มต้นจากทฤษฎี Constructivism ที่นำเสนอโดย Jean Piaget นักจิตวิทยาชาวสวิตเซอร์แลนด์ และได้รับการ พัฒนาต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1960 โดย Seymour Papert ซึ่งนับเป็นแนวความคิดที่มีอิทธิพลต่อการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนในยุโรป และสหรัฐอเมริกาอย่างกว้างขวางในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา

ความสำคัญของแนวความคิดที่ Jean Piaget นำเสนอดังกล่าวอยู่ที่ความเชื่อที่ว่าในกระบวนการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กนั้น พวกเขาสามารถสร้างความรู้ขึ้นได้เอง โดยเด็กจะเป็นเสมือนนักทดลองรุ่นเยาว์ที่สร้างและทดสอบทฤษฎี ที่เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ อยู่ตลอดเวลา และเมื่อเด็กมีโอกาสได้สร้างความรู้นั้นด้วยตัวเอง เขาก็จะเข้าใจสิ่งต่างๆ อย่างลึกซึ้ง โดย สามารถจัดระบบโครงสร้างความรู้และมีความ สามารถในการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี

Seymour Papert ได้นำสิ่งที่ Jean Piaget เรียนรู้เกี่ยวกับเด็กๆ มาเป็นพื้นฐานในการคิดทบทวนเกี่ยวกับทฤษฎีทางการศึกษา พร้อมกับเสนอว่า สาเหตุที่แท้จริงของการไม่สามารถเรียนรู้ของเด็กในแต่ละช่วงวัย มิได้เกิดขึ้นจากระบบ แบบแผนหรือความซับซ้อนของเรื่องราวที่ยากเกินความเข้าใจ หากแต่อยู่ที่การขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ที่เหมาะสมในการ ส่งเสริมในฐานะที่เป็นสื่อสำหรับช่วยคิดและสร้างความรู้ในเรื่องราวเหล่านั้นต่างหาก

"สิ่งที่เรากำลังทำในดรุณสิกขาลัย ก็คือ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ โดยพยายามให้มีกิจกรรมมากมายและหลากหลายเพื่อการเรียนรู้ เป็นสภาพแวด ล้อมในการเรียนรู้โดยการรู้จักคิดรู้จักสร้าง ที่ยอมรับการเรียนรู้ทุกรูปแบบ และนักเรียนมีทางเลือกไปถึงจุดหมายได้หลากหลายวิธี"

รูปแบบการเรียนการสอนของดรุณสิกขาลัย จึงผิดแผกแตกต่างจากโรงเรียนอื่นๆ ที่มีอยู่ในระบบการศึกษาแบบเดิมในลักษณะที่เรียกได้ว่าเกือบจะในทุกกระบวนการ

ทั้งนี้ ด้วยเหตุที่แนวทางการก่อตั้งของ ดรุณสิกขาลัย เป็นผลมาจากการรับเอาแนวความคิดของ Seymour Papert มาเป็นหลักพื้นฐานตั้งแต่เริ่มแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวความคิดที่เชื่อว่า การศึกษาที่ดี คือการให้โอกาสเด็กได้เข้าร่วมกิจกรรมสร้างสรรค์เพราะ การเรียนรู้ที่ดีกว่า มิได้มาจากการค้นพบวิธี การ "สอน" ที่ดีกว่าของครู หากแต่เป็นการให้โอกาส "ในการสร้าง" ที่ดีกว่าแก่ผู้เรียน การดำเนินไปของดรุณสิกขาลัย จึงมีครูอยู่ในฐานะที่เป็นที่ปรึกษาของเด็ก มากกว่าที่จะเป็นผู้ชี้ถูกชี้ผิดใน กระบวนการเรียนรู้นี้ โดยได้กำหนดสัดส่วนครู 1 คนต่อ นักเรียน 4 คน เพื่อให้ครูแต่ละ คนสามารถทุ่มเทเวลาในการเฝ้าติดตามพัฒนาการทั้งด้าน พฤติกรรมและจิตใจของเด็กนักเรียนด้วย

กระบวนการในการคัดสรรบุคลากรทางการศึกษาของ ดรุณสิกขาลัย ในช่วงที่ผ่านมา จึงมิได้ผูกพันอยู่ที่การรับสมัคร ผู้ที่สำเร็จการศึกษาวิชาการ ด้านการเรียนการสอนในรูปแบบปกติมากนัก หากแต่กำหนดคุณสมบัติสำคัญไว้ที่ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ และเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะประกอบกันเข้าเป็นสื่อใน การเรียนรู้เป็นสำคัญ

"เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือคอมพิว เตอร์ที่เราจะใช้ในดรุณสิกขาลัย จะอยู่ในรูปของการเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ สำรวจและ สร้างสิ่งต่างๆ เพื่อนำไปสู่กระบวนการคิดที่ชัดเจน มากกว่าที่จะประพฤติกันในโรงเรียนรูปแบบเดิม ที่ในที่สุดได้กลืนเอาเทคโนโลยีเหล่านี้ ไปอยู่ในวัฒนธรรมการเรียนการสอนที่ยึดถือกันมา ในลักษณะของวิชาคอมพิวเตอร์ ที่กำหนดตายตัวในหลักสูตร"

นอกเหนือจากคอมพิวเตอร์ ที่จะเข้ามา มีบทบาทในฐานะสื่อการเรียนการสอนแล้ว ดรุณสิกขาลัย จะนำสื่อการสอนที่ได้พัฒนาขึ้นมาใหม่จากคณะผู้วิจัยของ The Media Lab of Massachusetts Institute of Technology (MIT) ที่ได้ร่วมกับบริษัท LEGO ผู้ผลิตเครื่องเล่นเสริม ทักษะของเด็ก ซึ่งได้รับการพัฒนาให้มีคุณ ลักษณะเหมาะสมสำหรับการเป็นสื่อการเรียนการสอนด้วย

บทบาทของ Media Lab ที่มีต่อแนว ทางในการดำเนินการศึกษาของดรุณสิกขาลัย มิได้จำกัดอยู่เฉพาะการสนับสนุนในส่วนของสื่อการเรียนการสอนเท่านั้น หากแต่งานศึกษา วิจัยของ The Future of Learning Group at the Media Lab ที่ดำเนินมากว่า 15 ปี เกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้และบทบาทของเทคโน โลยีที่นำมาใช้พัฒนาการศึกษา เป็นประหนึ่งพื้นฐานและเค้าโครงของดรุณสิกขาลัยเลยทีเดียว

โดยก่อนหน้านี้ มูลนิธิศึกษาพัฒน์และ มูลนิธิไทยคม ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนการก่อตั้ง ดรุณสิกขาลัย ได้นำแนวความคิดดังกล่าวมาผสานกับประสบการณ์และพัฒนาไปใช้กับ หน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยา ลัย ชาวบ้านในชนบท และบริษัทอุตสาหกรรม ขนาดใหญ่ในประเทศไทยมาเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งด้วยระยะเวลาดังกล่าว ย่อมไม่เพียงพอที่จะนำมาซึ่งผลสรุปที่จะบ่งชี้แนวโน้มหรือทิศ ทางการศึกษา ในรูปแบบนี้ได้ทั้งหมด หากแต่ เป็นการเติบโต ขยายไปพร้อมๆ กันระหว่างโรงเรียน ครู และนักเรียน

หลักคิดและวิธีการเรียนการสอนของ ดรุณสิกขาลัย ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือการศึกษาในรูปแบบของการบูรณาการ ที่มิได้จำกัดอยู่เฉพาะในขอบเขตของสื่อ เครื่องมือและความรู้เท่านั้น แต่ยังตั้งเป้าหมายที่จะบูรณาการชุมชนที่ประกอบด้วยนักเรียน ครู และผู้ปกครองเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างศูนย์รวมแห่งปัญญาในอนาคต

เป้าหมายดังกล่าวส่งผลให้ดรุณสิกขาลัย ซึ่งแม้จะได้รับเงินทุนและการสนับสนุน จากมูลนิธิศึกษาพัฒน์ และมูลนิธิไทยคม อย่าง เป็นด้านหลัก และใช้พื้นที่อาคารสัมมนาของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีธนบุรี เป็นที่ทำการ จำเป็นต้องกำหนดค่าเล่าเรียนสำหรับนักเรียน แต่ละรายไว้ในระดับ 130,000 ต่อปี และจะเพิ่มเป็น 180,000 ต่อปีในปีการศึกษาถัดไป

"ความพร้อมของผู้ปกครอง เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้กระบวนการเรียน รู้ที่เกิดขึ้นในดรุณสิกขาลัย มีความต่อเนื่องโดยไม่จำกัดว่าจะต้องเรียนรู้ที่โรงเรียนเท่า นั้น หากแต่เมื่ออยู่ที่บ้านก็สามารถเรียนรู้ได้" สหัทยา พลปัถพี นักวิจัยจากมูลนิธิศึกษาพัฒน์ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนสำคัญในระดับปฏิบัติการในการก่อตั้งโรงเรียน ตามทฤษฎี Constructionism แห่งนี้ อธิบายถึงปัจจัยค่าเล่าเรียน ก่อนที่จะระบุว่า "เป้าหมายของเราอยู่ที่การที่จะยืนอยู่ได้ โดยสามารถลดหรือไม่ต้องรับเงินจากมูลนิธิ ไปตลอด"

การเปิดรับนักเรียนในปีการศึกษาแรก ซึ่งผ่านพ้นภาคเรียนแรกไปแล้ว และกำลัง เคลื่อนเข้าสู่ภาคเรียนที่สองในปัจจุบัน เริ่มต้น ที่นักเรียนในระดับประถมศึกษา ที่มีช่วงอายุระหว่าง 5-8 ปี จำนวน 28 คน และในปีการศึกษาต่อไปตั้งเป้าหมายที่จะรับนักเรียนเพิ่ม อีก 20 คน แต่การเรียนการสอนมิได้จำแนกเด็กกลุ่มนี้ออกเป็นชั้นเรียนจากกลุ่มอายุที่เป็น เกณฑ์การแบ่งในระบบทั่วไป หากแต่พิจารณา จากความสามารถและความสนใจของเด็กเป็น สำคัญ

แม้ว่าในระยะปัจจุบัน ดรุณสิกขาลัย จะเริ่มต้นด้วยการรับนักเรียนในระดับประถม ศึกษา แต่ตามแผนงานที่กำหนดไว้ โครงการสถานศึกษาแบบ Constructionism มุ่งหมายที่จะขยายให้ครอบคลุมไปสู่ระดับมัธยมศึกษา และอุดมศึกษา ในลักษณะครบวงจร เพื่อผลิต บุคลากรสนองตอบต่อความต้องการของสังคม ที่มีแนวโน้มจะมีการแข่งขันมากขึ้น

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากสภาพของข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปรัชญาและรูปแบบการเรียน การสอนในโรงเรียนแห่งนี้ เปรียบเทียบกับโรงเรียนในระบบปกติแล้ว ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยากที่นักเรียนที่ผ่านกระบวนการของดรุณสิกขาลัย จะกลับเข้าสู่ระบบการเรียนการสอนในรูปแบบเดิมได้ ซึ่งแม้กรณีดังกล่าวจะเกิดขึ้นบ้าง ก็คงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายไม่น้อยกับความสิ้นเปลืองทรัพยากรที่ได้สูญเสียไป

"สิ่งที่เรามุ่งหมายจะพัฒนาดรุณสิกขาลัยในอนาคตก็คือ การสร้างให้เกิด Faculty of Learning ขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ซึ่งแตกต่างจากระบบของโรงเรียนสาธิต ในมหาวิทยาลัยแห่งอื่น" พารณ ในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัย มจธ. ย้ำถึงทิศทาง ของดรุณสิกขาลัย

ความมุ่งหมายดังกล่าว มิได้เกิดขึ้น อย่างเลื่อนลอย เมื่อข้อเท็จจริงที่สำคัญประการหนึ่งอยู่ที่ ปัจจุบัน มจธ. มีฐานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ ที่มิได้เป็นส่วนราชการอีกแล้ว มหาวิทยาลัย แห่งนี้จึงมีความเป็นอิสระในการกำหนด ทิศทางและพัฒนาหลักสูตรที่ไม่ผูกพันอยู่กับข้อจำกัดของกระทรวงหรือทบวงมากนัก

กระนั้นก็ดี ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยว กับอนาคตของดรุณสิกขาลัย ประการหนึ่ง อยู่ที่ภายใต้สถานการณ์ที่รูปธรรมของการจัดการด้านการศึกษา ในช่วงเวลาแห่งการปฏิรูป ซึ่งยังไม่ปรากฏบทสรุปที่ชัดเจนนี้ ดรุณสิกขาลัย ซึ่งไม่ได้มีความหมายเป็นเพียงโรงเรียนแห่งการเรียนรู้ แต่เพียงลำพัง หากแต่หมายรวมถึงครู นักเรียน และผู้ปกครอง ซึ่งกำลังก่อตัวเป็นชุมชนใหม่ จะ มีความสามารถในการเบียดแทรกและคง ทนต่อแรงเสียดทานในระบบการศึกษาที่เป็นอยู่นี้อย่างไร

แต่สำหรับ พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ซึ่งเป็นหัวแรงใหญ่ในการผลักดัน โรงเรียนในรูปแบบการศึกษาใหม่นี้ เขาเชื่อว่า "เมื่อถึงเวลานั้น หากระบบการศึกษาเดิมยังไม่มีการปรับเปลี่ยน ก็แย่แล้ว"

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us