ร้านขายสบู่ร้านหนึ่ง เมื่อครั้งงาน Bangkok International Gift & Houseware
Octoberที่จัดขึ้นโดยกรมส่งเสริมการส่งออก เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมาดึงดูดสายตาผู้คนที่ผ่านไปมาได้มากทีเดียว
สบู่หลายชนิด หลากสี หลายรูปทรง ส่วนหนึ่งใส่ไว้ในขวดโหลยาจีนเรียงรายบนตู้ไม้
อีกส่วนหนึ่ง ห่อด้วย กระดาษรีไซเคิล จัดวางไว้ในตะกร้าไม้ไผ่สาน ตะกร้าใบลาน
หรือกล่องไม้อย่างสวยงาม
ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดมีส่วนผสมจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติคือ สมุนไพร เครื่องเทศ
ผลไม้ต่างๆ โดยมี น้ำมันรำข้าวที่อุดมไปด้วยวิตามินอีเป็นส่วนผสมที่สำคัญ
วุฒิชัย หาญพานิช หนุ่มใหญ่เจ้าของบริษัท Harn Products เจ้าของผลิตภัณฑ์สบู่ฟอง
(Fong) ที่ยืนอธิบายลูกค้าต่างชาติอย่างแคล่วคล่องนั้น จบการศึกษาระดับปริญญาโท
คณะสถาปัตยกรรมจากกรุงวอชิงตัน ประเทศ สหรัฐอเมริกา เริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการทำธุรกิจทำ
ของตกแต่งบ้านเพื่อการส่งออก แต่ต่อมาเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เขาเริ่มหาช่องทางใหม่ในการทำธุรกิจ
และได้สนใจงานสบู่ เพราะมองว่าเป็นธุรกิจที่ลงทุนไม่สูงนัก และมีขั้นตอน
ที่ไม่ซับซ้อน สามารถทำด้วยมือไม่ต้องมีเครื่องจักร และ ใช้วัตถุดิบในประเทศ
ก่อนที่จะลงมือทำจริงจังเป็นธุรกิจ วุฒิชัยได้ลงมือ ศึกษาในเรื่องสมุนไพรไทย
สมุนไพรจีน จากแพทย์แผนโบราณ รวมทั้งหาความรู้เกี่ยวกับเครื่องเทศ วิตามินในผลไม้ต่างๆ
จนมั่นใจว่า มันน่าจะทำเป็นคอลเลกชั่นของ ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติได้ จึงเริ่มหานักวิชาการเข้ามาเป็นที่ปรึกษาช่วยกันคิด
เริ่มทดลองสินค้า และวิธีการควบคุมในเรื่องมาตรฐาน
น้ำมันรำข้าว (Rice bran oil) ซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญในสบู่ทุกก้อน และเป็นจุดเด่นที่ต่าง
จากสบู่ทั่วไปนั้น เขาได้แนวความคิดมาจากเจ้าหน้าที่ขององค์การเภสัชกรรมที่มีผลวิเคราะห์
แสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติพิเศษของน้ำมันรำข้าวที่อุดมไปด้วยวิตามินอี มีผลทำให้ผิวนุ่ม
กลาย เป็นจุดขายที่ฝรั่งสนใจมากเพราะยังไม่มีใครเอามาใช้ และในต่างประเทศก็ไม่มีรำข้าวด้วย
Rice bran oil Collection มีเพียง 15 ชนิด ในช่วงแรกๆ ของการทำตลาด แต่ตอนนี้
ได้พัฒนาไปถึง 40 ชนิด 40 กลิ่น ส่วนผสมจะแตกต่างกันเช่น กลุ่มของเครื่องเทศ
สมุนไพร กลุ่มที่เป็นพวกข้าว พวกงา กาแฟ ชา กลุ่มของผลไม้ และดอกไม้ โดยมีคุณสมบัติแตกต่าง
กัน มีทั้งรูปร่างและสีสันใหม่ๆ การมีพื้นฐานของการเรียนด้านออกแบบ เป็นจุดได้เปรียบที่
ทำให้วุฒิชัยมีความคิดใหม่ๆ ในการดีไซน์สินค้าออกมาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากสบู่แล้ว ยังได้พัฒนาสมุนไพรบางตัว เช่น ชาผสมน้ำอาบ จากน้ำมันรำข้าวที่เป็นส่วนผสมในสบู่
ก็ทำเป็นน้ำมันนวดผิวด้วย ซึ่งเมื่อเพิ่มส่วนผสมของขมิ้นเข้าไปก็เป็น สีเหลือง
เมื่อผสมใบหม่อน ก็จะเป็นสีเขียวให้ลูกค้าได้เลือกใช้
"สมุนไพรต่างๆ ที่เอามาใช้ ผมก็ค่อนข้างคัดเลือก ไม่ได้ซื้อจาก ที่วางขายทั่วไป
แต่จะซื้อจากร้านที่ขายยาจีน ร้านขายยาไทย เพราะ เราจะได้มั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าคงไม่เจือปนยาฆ่าแมลง
หรือสารพิษ อะไรแน่นอน เพราะเขาเอามาใช้ทำยา เขาต้องสกรีนพวกนี้มาแล้วระดับหนึ่ง
กระทรวงเองเขาก็ควบคุมมาตรฐานไว้แล้วระดับหนึ่ง เหมือนกัน เรายอมจ่ายแพงเพิ่มขึ้น
แต่ได้ความมั่นใจ" วุฒิชัยกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
"ฟอง" เปิดตัวจริงในงาน Big Gift เมื่อปี 2542 โดยมุ่งตลาดส่งออกเป็นหลัก
เพราะราคาที่วางไว้ค่อนข้างสูง ลูกค้าจะมาจากยุโรป และอเมริกา เอเชีย เช่น
เกาหลี ไต้หวัน
"ในเมืองไทยเราจะวางขายที่เซ็นทรัลชิดลม เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ในห้างดิเอ็มโพเรียม
และมีร้านที่จตุจักร ซึ่งจะเป็นที่ระบายของออกมาขายในราคาที่ถูก มีโชว์รูมรับลูกค้าขายส่งในซอยพัฒนเวศม์
2 ถนนสุขุมวิท 71 พร้อมๆ กับเริ่มมองหาตลาดใหม่ๆ เช่น โรงแรม หรือรีสอร์ตในกรุงเทพฯ
และต่างจังหวัด"
ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติซึ่งเป็นสินค้าที่อยู่ในความสนใจของกระแสโลก เมื่อประกอบกับการให้ความ
สำคัญในการออกแบบแพ็กเกจจิ้งอย่างสวยงามจากวัตถุดิบพื้นเมือง "ฟอง"
จึงกลายเป็นงานอนุรักษ์อีกชิ้นหนึ่งที่โดนใจลูกค้า และประสบความสำเร็จ
"สบู่ ขั้นตอนของมันไม่ยาก แต่ทำให้เป็นธุรกิจที่เป็นเรื่องเป็นราวค่อนข้างยาก
เพราะเราไม่ได้ทำทีเป็น 100, 200 ก้อน แต่เราทำทีเป็นหมื่นก้อน การคุมมาตรฐาน
การรักษาความสะอาด มันต้องดูแลใกล้ชิด" วุฒิชัยอธิบาย
ปัจจุบันวุฒิชัยมีคนงานประมาณ 20 คน แม้ว่ายอดขายที่ตั้งเป้าไว้ในปีนี้ประมาณ
10 ล้านบาท อาจ จะทำได้ยากขึ้น เพราะสถานการณ์บ้านเมืองที่เปลี่ยนไป แต่นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ไม่เลวเลยทีเดียว