หากมองดูอย่างผิวเผิน ดูเหมือนในขณะนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
สามารถเข้าควบคุมการบริหารงานภายในของ บริษัทการบินไทย ได้แล้วอย่างเบ็ดเสร็จ
อย่างน้อยรายชื่อคณะกรรมการชุดใหม่ของการบินไทยที่ถูก แต่งตั้งขึ้นเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
ก็มีนัยบางประการ ที่บ่งบอก ไปถึงทิศทางเช่นนี้
โดยเฉพาะตำแหน่งประธานกรรมการ ซึ่งได้ ดร.วีรพงษ์ รา- มางกูร เข้ามารับตำแหน่ง
เพราะถ้านับกันอย่างเป็นทางการ ตัว ดร.วีรพงษ์ไม่มีตำแหน่ง ใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลชุดนี้แม้แต่น้อย
แต่กับบทบาทโดยส่วนตัวแล้ว เขากลับเป็นที่ปรึกษาที่นายกรัฐมนตรีให้ความเชื่อถือค่อนข้างมาก
ทั้งที่ไม่ได้รับการแต่งตั้ง
นอกจากนี้ในคณะกรรมการชุดนี้ ยังมีคนที่ พ.ต.ท.ทักษิณให้ความไว้วางใจอย่างยิ่ง
เข้ามานั่งร่วมอยู่ด้วยหลายคนด้วยกัน เช่น ดร.ทนง พิทยะ, ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย,
วิโรจน์ นวลแข หรือชาติศิริ โสภณพนิช
การบินไทย ดูเหมือนจะเป็นรัฐวิสาหกิจเพียงแห่งเดียวที่มีแต่ความวุ่นวายต่อเนื่องมาอย่างไม่รู้จบ
ตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามารับตำแหน่ง
มีทั้งเรื่องเครื่องบินระเบิดซึ่งยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แท้จริงได้
การชุมนุมประท้วงของพนักงานที่รุนแรงถึงขั้นทำลายรถยนต์ของประชา มาลีนนท์
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในช่วงที่เป็นผู้กำกับดูแลการบินไทย
การแตกแยกกันของพนักงานในส่วนที่เป็นนักบินกับฝ่ายของ สหภาพแรงงาน จนในที่สุดเกิดเป็นการประท้วงเงียบของกัปตันที่ไม่ยอมขึ้นบิน
และบานปลายไปถึงขั้นมีการโทรศัพท์และส่งแฟกซ์เข้ามาขู่วางระเบิดเครื่องบิน
ซึ่งเรื่องหลัง ถือเป็นจุดแตกหัก ที่ทำให้คณะกรรมการชุดเดิม ของการบินไทย
ที่มี ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช เป็นประธาน และเพิ่งเข้ารับตำแหน่งได้เพียง
4 เดือน จำเป็นต้องประกาศลาออกยกชุด
แม้ในช่วงที่เกิดความวุ่นวาย พ.ต.ท.ทักษิณได้ตัดสินใจเปลี่ยน ตัวรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจแห่งนี้
จากประชา มาลีนนท์ มาเป็น วัน มูฮัมหมัด นอร์ มะทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า โดยส่วนตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ให้ความสำคัญ และสนใจกับกิจการของการบินไทยเป็นอย่างยิ่ง
จนแทบอยากจะลงมา ดูด้วยตัวเอง
สิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังได้คณะกรรมการชุดใหม่ เห็นได้ชัดว่าคณะกรรมการชุดนี้สามารถตอบสนองนโยบายของ
พ.ต.ท.ทักษิณได้เป็นอย่างดี
โดยเฉพาะการยอมชะลอเรื่องการคัดเลือกตัวกรรมการผู้อำนวยการ (ดีดี) คนใหม่
ทั้งที่กระบวนการสรรหาได้ข้อสรุปแล้ว รวมถึงเลื่อนแผนแปรรูปการบินไทย ที่เดิมได้มีการเตรียมนำหุ้นเพิ่ม
ทุน และหุ้นในส่วนที่รัฐถืออยู่ออกมาขายในตลาดหลักทรัพย์ภายใน ปีนี้ เปลี่ยนเป็นการระดมทุนโดยการออกหุ้นกู้แทน
โดยภาพภายนอก สถานการณ์ภายในการบินไทยในช่วงแรก ที่เพิ่งได้คณะกรรมการชุดใหม่
ดูจะสงบราบเรียบลงชั่วคราวเพราะ การตัดสินใจสำคัญๆ ทุกอย่างในขณะนี้ ต้องขึ้นอยู่กับ
ดร.วีรพงษ์ ในฐานะประธานกรรมการ และรักษาการกรรมการผู้อำนวยการ
แต่ในความสงบราบเรียบนั้น สายตาของหลายฝ่ายก็กำลังจับจ้องอยู่ว่า ยังมีความพยายามที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบาง
สิ่งบางอย่างในการบินไทยออกมาอีกหรือไม่
ปัญหาสำคัญเรื่องการแตกแยกของพนักงานการบินไทยออก เป็นกลุ่มก้อน ซึ่งที่ผ่านมาถือได้ว่าเป็นตัวถ่วงสำคัญ
ที่ทำให้สายการบินแห่งนี้ไม่สามารถเจริญก้าวหน้าได้ตามที่หลายคนคาดหวัง จะมีแนวทางดำเนินการอย่างไร
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ใครที่จะเป็นผู้เข้ามาดำรงตำแหน่งดีดี ซึ่งถือเป็นหัวใจในการนำพากิจการของการบินไทยให้กลับมาเป็นสายการบินอันดับ
1 ของโลกอีกครั้ง
เรื่องราวที่จะเกิดขึ้นในการบินไทย ช่วงหลังจากนี้ น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง