ไม่เพียงแต่ยักษ์ใหญ่อย่าง "ไทยรัฐ "เท่านั้น แต่น่าเชื่อว่าหนังสือพิมพ์หัวสีจากค่ายอื่น
อย่าง "เดลินิวส์" หรือ "ข่าวสด" ก็ต้องจับตาการเปิดตัวของหนังสือพิมพ์
หัวสีรายใหม่ "คม ชัด ลึก" ของเครือเนชั่น เมื่อเดือนก่อน
เพราะถือกำเนิดของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ถือเป็นการฉีกธรรมเนียมปฏิบัติที่หนังสือพิมพ์
หัวสีอื่นๆ เคยทำมา ด้วยการนำระบบสมาชิกเข้ามาใช้ ในขณะที่เจ้าตลาดรายเดิมไม่ค่อยให้ความสำคัญของเรื่องนี้
เพราะถือว่า เฉพาะตัวสื่อ หรือเนื้อหาที่นำเสนอ ก็สามารถขายได้ โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้อ่านทั่วไป
ตามนิสัยของคนที่มีความอยากรู้อยากเห็นเป็นพื้นฐานสำคัญ
"เราเตรียมความพร้อมเรื่องนี้มาเป็นอย่างดี" ธนาชัย ธีร-พัฒน์วงศ์
ประธานกรรมการ เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป บอก
ก่อนการเปิดตัว เนชั่นเตรียมจัดวางระบบสายส่งสำหรับการ บอกรับเป็นสมาชิกในกรุงเทพฯ
รวมทั้งเชิญเอเย่นต์ขายหนังสือพิมพ์ ทั่วประเทศมาประชุม เพื่อแนะนำสินค้า
และมอบหมายให้เป็นผู้วาง ระบบสมาชิก สำหรับในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งได้รับความสนใจจากเอเย่นต์จำนวนมากมาเข้าร่วมประชุมจนอาคารอิมแพค
เมืองทองธานี แน่นขนัด
"มีเอเย่นต์ถึงกว่า 2,000 คน มาร่วมประชุมในวันนั้น"
การวางระบบสมาชิกของ "คม ชัด ลึก" แม้ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะฐานของระบบที่มีอยู่แล้วสำหรับให้บริการกับสมาชิกหนังสืออื่นๆ
ในเครือ เช่น NATION และกรุงเทพธุรกิจ ได้ถูกวางไว้แล้วในระดับหนึ่ง แต่เนชั่นจำเป็นต้องกระจายเครือข่ายสายส่งออกไปให้มากขึ้น
เพราะหนังสือใหม่ต้องเน้นที่ยอดจำหน่ายที่กว้างขวาง ไม่เป็นหนังสือเฉพาะกลุ่มเหมือนกับของเดิม
นอกจากนี้ ในช่วงแรกของการเปิดตัว เนชั่นยังมีแคมเปญโฆษณาและส่งเสริมการขายออกมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งการโฆษณาด้วย การนำพรีเซ็นเตอร์วัย 9 ขวบเป็นตัวชูโรง รวมทั้งแผนส่งเสริมการ
ขายที่ร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรทั้งยูบีซี ซี-เอ็ด ดูเคชั่น เคเอฟซี เชลล์
ฯลฯ ให้บัตรเติมน้ำมันฟรี และรับประทานอาหารฟรีในร้านเคเอฟซีมูลค่า 300 บาท
สำหรับการสมัครเป็นสมาชิก ซึ่งก็ถือเป็น การฉีกแนวการทำตลาดที่แตกต่างจากหนังสือพิมพ์หัวสีอื่นๆ
"เราตั้งงบประมาณเฉพาะส่งเสริมการขายไว้ถึง 300 ล้าน บาท" ธนาชัยกล่าว
ซึ่งเมื่อรวมกับงบประมาณในการสร้างโรงพิมพ์แห่งใหม่ เพื่อใช้พิมพ์หนังสือ
"คม ชัด ลึก" โดยเฉพาะแล้ว งานนี้เครือเนชั่นได้ทุ่มทุนลงไปแล้วไม่ต่ำกว่า
1,200 ล้านบาท
ตามเป้าหมาย เครือเนชั่นคาดว่ายอดขายของ "คม ชัด ลึก" จะขึ้นไปถึงวันละ
6-8 แสนฉบับ ภายในระยะเวลา 6 เดือนหลังเปิด ตัว และคาดว่ารายได้จากหนังสือพิมพ์ฉบับนี้จะถึงจุดคุ้มทุนภายใน
1 ปี
"หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ เราออกมาไม่ได้เพื่อต้องการเข้ามาแย่ง ตลาดกับใคร
เราไม่ไปชนกับใคร เราถือว่าเราเป็นอาหารจานใหม่ที่มีรสชาติแปลกกว่าภัตตาคารที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน"
สุทธิชัย หยุ่น บรรณาธิการอำนวยการ เครือเนชั่น ยืนยันเจตนารมณ์
แต่ด้วยแผนการตลาดที่ฉีกแนวออกมาจากเดิมดังกล่าว เชื่อได้ว่าอีกไม่นานนี้
ภัตตาคารที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นไทยรัฐ เดลินิวส์ และข่าวสด คงต้องมีการขยับตัวอะไรบางอย่างออกมาเพื่อตั้งรับกับ
อาหารจานใหม่
ถึงเวลานั้น ผู้ที่น่าจะได้เปรียบมากที่สุด ก็คือ คนอ่าน