ค ว า ม เ ค ลื่ อ น ไ ห ว
เรียกร้องสิทธิ์ข้าวหอมมะลิ
4 ต.ค.
‘ องค์กรความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาไทย (ไบโอไทย) ได้เริ่มต้นเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องนี้
โดยได้เชิญนักวิชาการทางด้านชีวภาพ มาร่วมประชุม ซึ่งที่ประชุมได้ข้อสรุปว่าจะต้องหาข้อเท็จจริงว่านักวิจัยของสหรัฐฯ
นำเมล็ดพันธุ์ข้าวออกไปได้อย่างไร พร้อมเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรีนำเรื่องนี้ไปเจรจากับสหรัฐฯ ในโอกาสที่เดินทางไปเยือนในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้
นอกจากนี้รัฐบาลจะต้องต่อสู้ เพื่อให้มีการยกเลิกเครื่องหมายทางการค้า จัสมาติ'
ที่บริษัทไรซ์ เท็กซ์ ของสหรัฐฯ ได้จดทะเบียนไปแล้วก่อนหน้านี้
ในวันเดียวกัน พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ได้เตรียมเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ มาหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้
โดยอาจต้องถึงขั้นดำเนินการฟ้องร้องตามกฎหมาย ขณะที่อดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
แสดงความมั่นใจว่าการวิจัยเพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมมะลิของนักวิจัยสหรัฐฯ
จะไม่มีผลกระทบต่ออนาคตการส่งออกข้าวหอมมะลิของไทย
9 ต.ค.
‘ เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีจดหมายสอบถามไปยังคริส เดเรน ซึ่งเป็นผู้วิจัยพันธุ์ข้าวหอมมะลิ
ของสหรัฐฯ เกี่ยวกับการได้เมล็ดพันธุ์
เพื่อนำไปวิจัย ซึ่งคริสได้ตอบจดหมายกลับมาว่าได้พันธุ์ข้าวหอมมะลิไปจากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ
(อีรี่) ประเทศฟิลิปปินส์ ตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคม 2538
12 ต.ค.
‘ คริส เดเรน นักวิจัยคนเดิมได้ให้สัมภาษณ์ทอม ฮาร์โกรฟ บรรณาธิการ Planet
Rice อีกครั้ง โดยปฏิเสธว่าคณะวิจัยไม่ได้ทำผิดกฎหมายใดๆ เพราะ
คณะวิจัยได้พันธุ์ข้าวนี้ไปตั้งแต่ปี 2538 ขณะที่กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชของไทยเพิ่งประกาศใช้เมื่อปี
2542
16 ต.ค.
‘ ไบโอไทย ได้เคลื่อนไหวอีกครั้ง โดยอ้างถึงคำตอบของคริส เดเรนที่ให้กับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า
ได้สอบถามไปยังอีรี่แล้ว พบว่า
อีรี่ไม่เคยมีการให้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิแก่นักวิจัยของสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่เชื่อได้ว่านักวิจัยกลุ่มนี้เพิ่งจะได้รับเมล็ดพันธุ์ไปเมื่อเดือนมกราคมปีนี้
ซึ่งเป็นช่วงหลังจากกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชของไทยมีผลบังคับใช้แล้ว
นอกจากนี้ไบโอไทยยังได้ยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อให้รัฐบาลเร่งดำเนินการคือ
1. ต้องเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ยุติโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมมะลิไทย
โดยทันที 2. จัดตั้งคณะทำงานระดับชาติเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน และ
3. ให้รัฐร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จัดทำยุทธศาสตร์ระดับชาติว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ
ตัวแทนกลุ่มชาวนาที่ได้มาร่วมเคลื่อนไหวในวันเดียวกันนี้ ได้ยื่นเงื่อนไขให้รัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหานี้ให้ได้ภายใน
1 สัปดาห์ มิฉะนั้นชาวนาจากภาคอีสาน
9 กลุ่ม จะเดินทางเข้ามาประท้วงในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะที่หน้าสถานทูตสหรัฐฯ
ขณะที่นักกฎหมายบางคนได้ออกมาให้ความเห็นถึงเรื่องนี้ว่าเชื่อว่ารัฐบาลจะไม่สามารถดำเนินการทางกฎหมายได้
ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาจำเป็นต้องใช้วิธีการเจรจาทางการทูตแทน
18 ต.ค.
‘ อดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งกำลังร่วมประชุมเอเปคอยู่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน
ได้นำเรื่องนี้เข้าพูดคุยกับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) โดยยื่นเงื่อนไข 3
ข้อ คือ 1. ไทยคิดว่าการกระทำวิจัยที่เกิดขึ้นขณะนี้อาจไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
2. ถ้าสหรัฐฯ ยังคงดำเนินการต่อไปและสุดท้ายเป็นเรื่องการค้าจะกระทบกับชาวนาไทย
ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ 3. ขอให้รัฐบาลสหรัฐฯ พิจารณามาตรการหรือวิธีการระงับการวิจัย
หรือยุติการวิจัย
ภายหลังการพูดคุย ตัวแทน USTR ได้แจ้งว่ารับทราบปัญหานี้แล้ว แต่ไม่สามารถที่จะตัดสินใจใดๆ
ได้ เพราะไม่ใช่ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง โดยผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือ กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม USTR ได้แสดงท่าทีเข้าใจและเห็นใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และรับปากว่าจะช่วยติดตามเรื่องนี้ให้
ในวันเดียวกัน ซึ่งมีการประชุมสภา ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคประชาธิปัตย์
ได้ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี ถึงกรณีนี้ว่ารัฐบาลเตรียมการป้องกันไว้อย่างไร
โดยนที ขลิบทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่ชี้แจงแทนว่ากระทรวงเกษตรฯ
กำลังติดตามการวิจัยดังกล่าวอย่างใกล้ชิด พร้อมกันนี้รัฐบาลยังได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเร่งการจดสิทธิบัตรพันธุ์ข้าวของไทยแล้ว
และเตรียมข้อมูลคัดค้านหากทางผู้วิจัยจะทำการยื่น
จดสิทธิบัตรพันธุ์ข้าวดังกล่าวด้วย พร้อมกันนี้จะผลักดันเรื่องดังกล่าวเข้าสู่เวทีทางการค้าระดับโลก
เพื่อป้องกันและคุ้มครองสิทธิประเทศไทย
19 ต.ค.
‘ ตัวแทนกลุ่มชาวนาได้ออกมาย้ำอีกครั้งว่าในวันที่ 28 ต.ค.-2 พ.ย. เกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิใน
19 จังหวัด ภาคอีสาน นำโดย จ.ร้อยเอ็ด จะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเร่งรัฐบาลในการดำเนินการเจรจากับสหรัฐฯ
ให้ปัญหานี้ยุติโดยเร็วที่สุด ก่อนที่เหตุการณ์จะบานปลายไปมากกว่านี้