Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2544








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2544
Toughest Battle ของพรพรรณ             
โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
 

   
related stories

พรพรรณ ก่อนันทเกียรติ in the mist
ยูนิคอร์ดวันนี้




พรพรรณแต่งงานช้า เมื่ออายุ 35 แต่มีลูกชายหญิงกับดำริห์ ก่อนันทเกียรติ ถึง 4 คน คือ ด.ญ.ธันยพร (เมย์), ด.ช.ธยาน์ (แม็กซ์), ด.ญ.ธนาภา (มิ้นท์) และ ด.ช.ธฤต (แมน) ซึ่งไม่เคยได้เห็นหน้าพ่อเลย ชีวิตแม่ม่ายลูกสี่ที่ต้องแต่งชุดดำอีกครั้ง เมื่อพ่อของเธอ ถาวร พรประภาได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคชราเมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมา นับว่าเป็นการสูญเสียบุพการียิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

ฐานภาพของลูกสาวเจ้าสัวถาวร ที่มีบุคลิกของผู้หญิงทำงาน ที่มีสไตล์เรียบง่าย น่าอบอุ่นและเปิดเผย ทำให้ยิ้มของเธอดูจริงใจ ขณะที่เล่าถึงสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ของยูนิคอร์ดวันนี้ ที่ต่างกันลิบลับกับยุครุ่งเรืองในอดีตที่ดำริห์ได้ทำไว้

"วันนั้น ม่อนอยู่แค่ตรงนี้เอง (ชี้ไปหลังประตูห้องทำงาน) หลังจากกินข้าวเที่ยงกันเสร็จ ยังไม่ทัน...เสียงปืน ก็ดัง โอเค อาจจะเป็นทางเลือกของเขา เราไม่รู้ เพราะ ไม่ได้เข้ามาสัมผัสงานเขาเต็มที่ เมื่อมีปัญหา ทุกคนถอยหมด แต่ที่เสียใจคือ คนที่พูดถึงเขาไม่ดีกลับเป็นคนที่รู้จักและเคยมีบุญคุณกัน"

ไม่มีเวลาสำหรับความเสียใจ พรพรรณถูกฟ้อง ล้มละลายโดยธนาคารนครหลวงไทยด้วยมูลค่าหนี้ 16 ล้านบาท ซึ่งอาจฉุดยูนิคอร์ดล้มไปด้วย ถ้าไม่เข้าแผนฟื้นฟู สถานการณ์เลวร้ายหนัก บังคับให้เธอต้องแบกรับภาระหนัก ซึ่งมีปัญหาใหญ่ให้ต้องคิดและวิ่ง แก้ทุกเวลาหลังจากที่สิ้นดำริห์ อันดับแรกวิ่งเจรจากับเจ้าหนี้ธนาคาร โดยยอมจำนนทุกเงื่อนไข เธอวิ่งเข้าปรึกษากรรมาธิการและแบงก์ชาติกรณีฟื้นฟูยูนิคอร์ดแต่ล้มเหลว คำตอบคือ "ความเงียบ" ถึง 3 ปีจนทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิกถอน (delist) หุ้น UCT ในปี 2541

"เราทำทุกอย่างเท่าที่เขาอยากให้ทำ เริ่มแรกไปเจรจากับเขา ตอนนั้นเขาก็ไม่ตอบ ม่อนวิ่งหาเจ้าหนี้ตลอด เขาไม่เคยติดต่อโทรมาเลย เราร้อนใจมากกว่า กว่าจะนัด เจ้าหนี้แต่ละรายได้ใช้เวลา 3-4 อาทิตย์ เขาไม่เดือดร้อน ระหว่างนั้นดอกเบี้ยเดินไปเรื่อยๆ แต่เราไม่สามารถจ่ายได้ เพราะไม่มีตังค์จะจ่าย แค่เงินเดือนพนักงานยังไม่มีเลย ยิ่งโดนค่าปลาที่ต้องจ่ายทันที เราก็ขอเครดิตเขา และต้อง คิดว่าเงินจะกลับเข้ามาทันใช้คืนเขาไหม? ถ้าหมุนไม่ทัน ม่อนก็ค้ำประกันไปก่อน เพราะโรงงานหยุดผลิตสักอาทิตย์หนึ่ง เครื่องจักรขึ้นสนิมเขรอะเลย" นี่คือหนทางประคับประคองให้อยู่รอดถึงวันนี้

บนชั้น 5 ของอาคารยูนิคอร์ด ลูกทั้งสี่ของพรพรรณสร้างชีวิตชีวาให้แก่วันศุกร์ ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็น One fine day เพราะครั้งนี้เป็นโอกาสที่ลูกสาวคนโตวัยรุ่นอายุ 12 ที่ชื่อ น้องเมย์ หรือธันยพร กลับมาเยี่ยมครอบครัวในช่วงปิดเทอมของโรงเรียน "Cheam School" ที่อังกฤษ

Cheam School ตั้งอยู่ที่อยู่ที่เมืองเล็กๆ Headly ใกล้ Newbury ซึ่งอยู่ใต้กรุงลอนดอน อยู่ระหว่างรอยต่อ Hampshire/Berkshire border บนเนื้อที่ 64 เอเคอร์ ที่ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ โรงเรียนกินนอนแห่งนี้มีอายุเก่าแก่นับร้อยปี ที่ซึ่งเจ้าฟ้าชายฟิลิปและเจ้าฟ้าชายชาร์ลเคยเรียนที่นี่ ใครที่จบจากที่นี่มักไปต่อยังโรงเรียนผู้ดีเก่า อย่าง รร.อีตัน หรือ รร.วินเชสเตอร์ ปัจจุบันมีคนไทยเรียนอยู่ 2 คนเท่านั้น ในอดีตลูกสาวของวิเชษฐ์ บัณฑุวงศ์ก็เคยเป็นศิษย์เก่าที่นี่

"ม่อนโชคดีที่มีลูกน่ารักทั้งสี่ ไม่มีปัญหา ไม่ก่อกวน ทำให้มีความสุขและให้ความอบอุ่นกับเขาเต็มที่ คนเล็กก็เพิ่งจะหกขวบ ชื่อ น้องแมน ชื่อลูกทุกคน ม่อนตั้งเองหมด เคยมีคนถามว่า แต่งงานใหม่ไหม? ไม่ แค่นี้ก็ปวดหัวพอแล้ว กว่าลูกจะโตม่อนก็อายุ 60 แล้ว"

ทั้งพรพรรณและดำริห์ไม่ได้วางแผนจะมีลูกมาก หลังจากแต่งงานในปี 2531 โดยดำริห์มี วิเชษฐ์ บัณฑุวงศ์ เป็นพ่อสื่อให้

"ม่อนเจอคุณดำริห์ตอนอายุ 30 กว่าปีแล้ว คุยและปรึกษาเขาได้เรื่องงาน เขาเป็นคนสปอร์ต และไม่คาดหวังว่าเราจะเป็นแม่บ้านทำครัวให้ ไม่จู้จี้บงการแต่ให้อิสระ เพราะ รู้ว่าม่อนดูแลตัวเองและครอบครัวได้เอง"

ทั้งคู่ซื้อเรือนหอหลังแรกที่สุขุมวิท 11 เป็นทาวน์เฮาส์หรูใจกลางเมือง และได้ย้ายไปซื้อบ้านใหม่ที่สุขุมวิท 47 เพราะครอบครัวเริ่มขยายมีลูกชายหญิงถึง 3 คน ขณะนั้น ปัจจุบันเรือนหอหลังแรกเธอให้เช่า ล่าสุดครอบครัวของเธอ ได้ย้ายมาอยู่ปรนนิบัติใกล้ชิดกับพ่อที่ซอยทองหล่อ 2

วิธีการเลี้ยงดูลูก พรพรรณใช้หลักให้ความรักและอบอุ่นให้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็สอนให้รู้ค่าของเงิน โดยสอนให้ทำงานเล็กๆ น้อยๆ เพื่อค่าตอบแทนที่เธอจะให้ลูกเก็บสะสมไว้ แต่สำหรับลูกสาวคนโต "เมย์" ที่ใกล้ชิดและผูกพันกับพ่อที่สุด ได้นิสัยรักการอ่านหนังสือและหัวการค้าเหมือนพ่อ ดังที่พรพรรณเล่าให้ฟังว่า

"ความมีหัวการค้า มันอาจได้มาโดยยีนถ่ายทอด พันธุกรรมจากพ่อด้วย อย่างคนโตชอบซื้อของกลับไปขายที่โรงเรียนที่อังกฤษ เช่น กิ๊บ กระดาษเขียนจดหมาย หรือ สมุดน่ารักๆ เขาก็ไปหาซื้อจากสำเพ็ง กำไรดี ปีแรกโรงเรียนไม่ให้ขาย แต่ปีที่สองให้ขายได้ เพราะที่โน่นของแพง ขณะที่ลูกชายคนที่สอง แม็กซ์จะชอบเล่นคอมพิวเตอร์ ชอบสะสมโปเกมอนมาก เป็นตัวของตัวเองสูงและใช้เงินเก่ง ส่วนลูกสาวอีกคน "น้องมินท์" เก็บเงินลูกเดียว ไม่ใช้เงินเลย และ คนเล็กสุด น้องแมนชอบเล่นยิมนาสติกและรู้จักเอาตัวรอด"

สุขอื่นใดไม่เทียบกับความรักแม่ลูกที่พรพรรณทุ่มเทให้ โดยเฉพาะการศึกษาที่เป็นรากฐานแห่งชีวิตภายหน้า พรพรรณได้จ่ายเพื่อค่าเรียนลูกทั้งสี่ โดยแต่ละปีต้องเตรียมค่าใช้จ่ายของลูกสาวคนโตที่อังกฤษ และลูกทั้งสามเรียนที่โรงเรียนนานาชาติ ที่เซนต์แอนดรูส์ กรุงเทพฯ ทุกวันนี้พรพรรณต้องรับผิดชอบหนักในฐานะผู้บริหารแผนฟื้นฟู ได้รับเงินเดือน 3 แสนบาทต่อเดือน ซึ่งเธอยอมรับว่าไม่เพียงพอ

"ผู้หญิงคนนี้สู้ตาย เป็นคนที่ไม่เอาเปรียบใคร แต่ก็ไม่ยอมให้ใครมาเอาเปรียบได้เหมือนกัน" นี่คือสตรีเหล็กที่วิเชษฐ์ยอมยกนิ้วโป้งให้เธอในฐานะผู้นำยูนิคอร์ด ฝ่าวิกฤติ แถมยังสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ด้วย เพราะ ทุกครั้งที่ปัญหาเดือดร้อนคดีฟ้องร้องเกี่ยวกับยูนิคอร์ด มาถึงเขา เพียงเขายกหูโทรไปเล่าให้ฟัง พรพรรณจะไม่นิ่งดูดายแต่จะรีบจัดการปัญหาทางกฎหมายให้ทันที

เป็นเวลากว่า 6 ปีที่ผ่านมา ชีวิตประจำวันของเธอเริ่มต้นเช้าที่สำนักงานใหญ่ในเมือง หรือเข้าโรงงานสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง โดยไม่แคร์กับกลิ่นคาวปลาหรือพื้นที่เปียกนองจากกระบวนการขนส่งและการผลิต ภาพพรพรรณในชุดสวมเสื้อกราวน์สีขาวและสวมบูทสูงถึงหัวเข่ากับหมวก ดูไม่แตกต่างจากพนักงานทั่วไป เธอจะร่วมทานอาหารกลางวันกับคนงานนับพันคนที่โรงอาหาร

"คุณม่อนเป็นคนละเอียด ทุกอย่างต้องชัดเจนและละเอียด ต้องให้ loss น้อยที่สุด ปลาจากหัวถึงหางต้อง ใช้ได้ทั้งหมด ทำให้เรามี yield เพิ่มขึ้น" สันทัด ยิ่งยง รองผู้จัดการโรงงานเล่าให้ฟัง

พรพรรณเดินทางถูกทางแล้ว อุตสาหกรรมปลาทูน่ากระป๋องมีอนาคต และกราฟตัวเลขผลประกอบการดีขึ้นเป็นลำดับ ท่ามกลางกองปัญหาหนี้สินมหาศาล แต่เธอยังต้องทำงานหนักต่อไป และวาดหวังว่า ลูกของเธอคนใดคนหนึ่งจะได้เป็นเจ้าของโรงงานปลาทูน่ากระป๋องที่ยิ่งใหญ่และแข็งแกร่ง ยิ่งกว่ายุคของพ่อที่เคยทำไว้เสียอีก

โดยสรุป พรพรรณเป็นหนึ่งในคนที่น่าทึ่ง ที่มี วิถีสวนทางกับความคาดหมายของสังคม ที่จะเห็นแม่ม่าย ผู้บอบช้ำขมขื่นท้อแท้จากชะตากรรมที่เลวร้าย แต่กลับเป็นผู้หญิงเก่งที่ยังดำรงสติได้มั่นคง สามารถเป็นผู้นำชีวิตครอบครัว และธุรกิจบริษัทยูนิคอร์ดให้อยู่รอดท่ามกลางมรสุมที่รุมเร้ารอบทิศ

แต่เธอจะสามารถพานาวาแห่งชีวิตไปถึงฝั่งความหวังหรือไม่? ไม่มีใครรู้ เพียงแต่รู้ว่าธาตุทรหดของผู้หญิงคนนี้มีมากกว่าที่คิด และมีแบบฉบับของตัวเองในการจัดการปัญหาได้ดี แม้ว่า ชีวิตจะเต็มไปด้วยการเสี่ยงภัย ในสมรภูมิรบทางการค้าที่ห้ามพลาดเด็ดขาด!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us