Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2544








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2544
ไต้หวัน connection             
โดย ไพเราะ เลิศวิราม
 

   
related stories

แจ็ค มินทร์ อิงค์ธเนศ The outsider
DUN & Bradstreet
TransUnion จากธุรกิจเช่ารถรางสู่ธุรกิจข้อมูล
แผนฟื้นฟูของเอสวีโอเอ
ตำนานสิ่งพิมพ์ไอที

   
search resources

แจ็ค มินทร์ อิงค์ธเนศ




แจ็ค มินทร์ อิงค์ธเนศ หรือ "มิน ชุน ฮู" หรือ Jack M.C.Hu ชื่อในเวลานั้น ถือกำเนิดในเมืองเกาชง เมืองท่าตอนใต้ของไต้หวัน จากนั้นถูกส่งมาอยู่กับปู่ ซึ่งเป็นอดีตวิศวกรชาวไต้หวันที่เกษียณอายุแล้ว ตั้งแต่อายุ 2 ขวบ

เขาใช้ชีวิตวัยเด็กจนกระทั่งเรียนจบระดับปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัย Fu Hsing Institute of Technology ไต้หวัน ซึ่งแแจ็คไม่เคยได้ประกอบอาชีพนี้เลย

หลังเรียนจบในปี 2518 แจ็คตัดสินใจบินไปแสวงโชคในสหรัฐอเมริกาทันที เพราะเวลานั้นไต้หวันอยู่ระหว่างสงคราม และใช้ชีวิตที่นั่น 3 ปีเต็ม ถือเป็นช่วงที่เรียนรู้มากที่สุดของเขา จากที่เขาต้องทำงานระดับพื้นฐานทุกอย่างที่นั่น

แม้จะเรียนจบเป็นถึงสถาปนิก แต่โอกาสก็มีให้เลือกไม่มากนัก เขาเหมือนกับชาวเอเชียจำนวนมากที่ต้องเริ่มต้นชีวิตการทำงานใช้แรงงาน แจ็คเริ่มงานแรกในอเมริกาด้วยการเป็นพ่อค้าขายของตามตลาดนัดสุดสัปดาห์ หรือ sunday market ของอเมริกา ที่ต้องย้ายไปขายตามรัฐต่างๆ

"เมืองนี้ขายวันพุธ อีกเมืองขายวันเสาร์ เวียนไปเรื่อยๆ ถือว่าเป็นงานพื้นฐานที่สุดแล้ว" แจ็คเล่า

จากนั้นจึงขยับไปทำธุรกิจนำเข้าสินค้าจากประเทศต่างๆ ในเอเชีย ด้วยการนำเข้าและขายออร์เดอร์ตามร้านขายสินค้า และอาหารที่มีเจ้าของเป็นชาวเอเชีย

"ตอนนั้นก็ถือว่าเรียนรู้เยอะ ไปเจอคนหลายชาติ ทำให้รู้จักวิธีการดีลกับคนชาติต่างๆ อินเดีย เกาหลี ฟิลิปปินส์ แต่ละคนนิสัยไม่เหมือนกัน ดีลธุรกิจก็ต่างกัน"

จากนั้นจึงเปลี่ยนอาชีพมาเป็นผู้จัดการภัตตาคารอาหารจีน แม้จะมีหุ้นส่วนเล็กน้อยในร้านอาหารจีน เจ้าของเป็นนักลงทุนชาวไต้หวัน ซึ่งก็ทำให้เขาเรียนรู้งานขั้นพื้นฐาน เพราะต้องทำตั้งแต่เป็นบ๋อย ล้างจาน เข้าครัวเป็นกุ๊กทำอาหาร

เป็น 3 ปี ของการแสวงหาประสบการณ์ เรียนรู้ ความอดทน การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า จากการใช้ชีวิต เป็นทั้งลูกจ้าง และกึ่งเจ้าของกิจการ

"คุณรู้ไหม ผมได้เป็น distributor ด้วยวิธีไหน คนอื่นอย่างเก่งก็พาผู้บริหารให้กับเจ้าของผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ต่างประเทศรายหนึ่ง แต่ผมไม่ใช่ผมพาไปบ้านทำอาหารให้กิน" แจ็คย้อนอดีต

และก็เป็นวิธีที่ทำให้เขาสามารถชนะใจบริษัทค้าคอมพิวเตอร์ที่เป็นคู่แข่งมีพนักงานเป็นพันคน "เขาเห็นว่าผมไม่เหมือนใคร เขาก็คิดว่าน่าจะทำตลาดให้เขาได้" แจ็คบอกเหตุผลที่ทำให้สหวิริยาโอเอได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนจำหน่าย

แต่สิ่งหนึ่งที่แจ็คได้รับบทเรียนจากธุรกิจภัตตาคารในเวลานั้น ก็คือ "การทำอะไรเร็วเกินไปก็อาจจะไม่สำเร็จ ความคิดของการเปิดภัตตาคารจีนของแจ็คในเวลานั้น ก็คือ การทำเป็นแฟรนไชส์ประเภทฟาสต์ฟู้ด ให้ลูกค้าหิ้วไปกินที่บ้าน แต่ยังเร็วเกินไปสำหรับอาหารจีนในเวลานั้น ที่ยังคุ้นชินอยู่กับการกินอาหารในภัตตาคารแบบไม่รีบร้อน

เมื่อมาเมืองไทย แจ็คก็ได้นำคอนเซ็ปต์ของแฟรนไชส์มาใช้กับสหวิริยา และครั้งหนึ่งเคยประสบความสำเร็จมาแล้ว แต่ก็ต้องล้มไปในที่สุด

3 ปีในสหรัฐอเมริกา เป็นช่วงที่เขาได้เรียนรู้ชีวิตช่วงหนึ่ง ทั้งความอดทน จากชีวิตการงานที่ต่ำที่สุดของเขา แต่ก็เป็นพื้นฐานของการใฝ่รู้ และแสวงหาโอกาสใหม่ๆ

หลังจากใช้ชีวิตขั้นพื้นฐานในอเมริกา 3 ปีเต็ม แจ็คตัดสินใจหิ้วกระเป๋าบินมาแสวงหาโชคในเมืองไทย เริ่มงานครั้งแรกในโรงงานผลิตเหล็กสยามสตีล ในตำแหน่งผู้จัดการโรงงาน ตามแบบอย่างของพ่ออุดม อิงค์ธเนศ ที่บินมาเริ่มต้นชีวิตในโรงงานผลิตเหล็ก

อุดม อิงค์ธเนศ พ่อของแจ็ค เป็นชาวไต้หวัน อพยพมายึดอาชีพวิศวกร อยู่ในโรงงานผลิตเหล็กในไทยมาตั้งแต่ปี 2501 จนได้มาร่วมงานกับวิทย์ และประภา สองพี่น้องตระกูลวิริยะประไพกิจ ไต่เต้าจนเป็นวิศวกรใหญ่ประจำโรงงานของสหวิริยา และเป็นสายสัมพันธ์ที่ผูกพันถึงตัวแจ็ค ที่ไปชักชวนให้วิทย์ และประภา วิริยะประไพกิจ มาเป็นนายทุนลงขันทำธุรกิจค้าคอมพิวเตอร์

การเข้ามาตั้งรกรากในเมืองไทยของแจ็ค แตกต่างไปจากชาวไต้หวันส่วนใหญ่ที่เข้ามาทำมาหากินในเมืองไทยก่อนหน้านี้ และหลังจากนั้น เป็นแรงขับดันที่ทำให้แจ็คมีชีวิตที่แตกต่างไป จากเพื่อนร่วมชาติคนอื่นๆ

ชาวไต้หวันยุคแรกที่เข้ามาในไทยเริ่มขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เวลานั้นไต้หวันยังอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น เมื่อญี่ปุ่นเข้าร่วมรบในสงครามโลก จึงได้มีการเกณฑ์ชาวไต้หวัน มาร่วมรบ ชาวไต้หวันจึงต้องอพยพย้ายถิ่นฐานไปตั้งต้นชีวิตใหม่ตามประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย

ชาวไต้หวันในยุคนั้น ที่เข้ามาบุกเบิกและก่อร่างสร้างเนื้อสร้างตัวจนประสบความสำเร็จในไทย คือ ประพัฒน์ โพธิวรกุล เจ้าของบริษัทกันยงวัฒนา ปัจจุบันเป็นรองประธานอุตสาหกรรม และบริษัทไทยฟินด์ ผู้ผลิตเครื่องสำอางที่ค้าขายกับญี่ปุ่น

ยุคที่สองของชาวไต้หวัน เรียกได้ว่าเป็นยุคบุกเบิกของชาวไต้หวันที่ได้เข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมของไทย เริ่มต้นขึ้นในยุคสมัยของรัฐบาลพลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มีนโยบายเร่งพัฒนาระบบเศรษฐกิจ ีการขยายระบบสาธารณูปโภค สร้างถนนหนทาง ไฟฟ้า น้ำประปา เพื่อรองรับกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ มีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

พัฒนาการของประเทศที่เป็นไปอย่างรวดเร็วนี้เอง ทำให้ เกิดขาดแแคลนแรงงาน จำเป็นต้องว่าจ้างแรงงานจากต่างประเทศ และแรงงานส่วนใหญ่ที่เข้ามาเมืองไทยเวลานั้น ก็คือ ชาวไต้หวัน ซึ่งผ่านประสบการณ์ทำโรงงานอุตสาหกรรมการผลิต ที่ญี่ปุ่นเข้ามาว่าจ้างมาพักใหญ่ และค่าแรงชาวไต้หวัน ก็ถูกกว่าชาวญี่ปุ่น

อุดม พ่อของแจ็ค ก็เข้ามาเมืองไทยในยุคนั้น แต่ชาวไต้หวันที่ประสบความสำเร็จ และมีบทบาทในสังคมไทยในยุคนั้น ก็คือ เชาว์ เชาว์ขวัญยืน ผู้ร่วมก่อตั้งไทยออยล์ หรือเจซี ฮวง

รุ่นที่สามของชาวไต้หวัน ที่เข้ามามีบทบาทและสามารถเป็นเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตของเมืองไทยเริ่มขึ้น อีกครั้งในยุคสมัยของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ที่มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมการลงทุนระหว่างประเทศ ที่ให้สิทธิพิเศษในรูปแบบต่างๆ ในการลงทุน

ไต้หวันเวลานั้นอยู่ในช่วงของการขยายอุตสาหกรรมภายในประเทศ เริ่มสร้าง knowhow อุตสาหกรรมผลิตสินค้าที่เป็นของตัวเอง จึงมีการขยายออกมาตั้งโรงงานในเมืองไทย ชาวไต้หวัน ที่เข้ามาบุกเบิกในยุคนั้น และต่อมาก็ได้กลายเป็นเจ้าของโรงงานที่ประสบความสำเร็จในเวลานี้ ก็คือ บริษัท เดลต้า อิเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่บริหารโดย ชาวไต้หวัน เป็นเครือข่ายธุรกิจของเดลต้า อิเล็กทรอนิกส์ อิงค์ ที่เข้ามาลงทุนในไทยตั้งแต่ปี 2531

การเข้ามาของชาวไต้หวันในยุคนั้น ส่วนใหญ่มักไม่ได้เข้ามาลำพัง แต่จะรวมกลุ่มกันเข้ามาลงทุน จึงทำให้เกิดเป็นสังคมของชาวไต้หวันในเมืองไทยอย่างเหนียวแน่น มีการร่วมกลุ่มคบหาสมาคม ทำธุรกิจช่วยเหลือเกื้อกูลกันในกลุ่ม ไม่แตกต่างไปจากชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาทำมาหากินในเมืองไทย

ทว่า แจ็คไม่ได้อยู่ในกลุ่มของชาวไต้หวันทั้งรุ่นสอง หรือรุ่นสาม การเข้ามาโดยลำพัง ทำให้เขามีเส้นทางและ วิถีชีวิตที่แปลกแยกและแตกต่างไปจากคนอื่น

ในขณะที่ชาวไต้หวันส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม แต่เส้นทางของแจ็คคือการขายเครื่องคอมพิวเตอร์ให้กับคนไทย ด้วยแรงบีบคั้นที่มากกว่าคนอื่นๆ ทำให้เขาจำเป็นต้องเรียนรู้การอยู่ร่วมกับสังคมไทย เพื่อที่จะเรียนรู้ผู้บริโภคชาวไทย ด้วยการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ สังคมไทย แทนที่จะไปรวมกลุ่มอยู่กับชาวไต้หวันด้วยกัน

"ถ้าผมไม่เป็นส่วนหนึ่งของคนไทย ถ้าผมไม่ได้พูดภาษาเขา เรียนรู้การใช้ชีวิตกับเขา ผมจะค้าขายกับเขาได้ ยังไง เพราะสิ่งที่ผมค้าขายด้วย คือคนไทย 60 ล้านคน ไม่ใช่กลุ่มคนไต้หวันด้วยกัน"

ในฐานะ "คนนอก" อย่างแจ็ค ความจำเป็นต้องติดต่อทำมาค้าขายกับคนไทย ทำให้แจ็คจำเป็นต้องเรียนรู้ และเข้าไปมีส่วนร่วมในสังคมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แจ็คไม่มีเพื่อนชาวไต้หวัน ตั้งแต่ต้นจนถึงวันนี้เขาก็ไม่ได้ เข้าสมาคม หรือชมรมของชาวไต้หวัน แม้แต่สมาคมเดียว

"เขามาเชิญผมเป็นกรรมการ เป็นประธานสมาคม ผมก็ไม่เอาเลย เพราะผมมีเพื่อนคนไทยเยอะแล้ว ทำให้ผม ไม่ว่างพออยู่แล้ว ผมคิดเสมอว่าถ้าผมอยากจะประสบความสำเร็จในไทย ผมไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของคนไทยผมก็ไม่มีทาง"

ทุกวันนี้ ไม่เพียงแต่แจ็คจะเข้าไปอยู่ในสังคมของ คนไทย คบหาแต่เพื่อนคนไทย แจ็คได้เปลี่ยนเป็นสัญชาติไทยโดยสมบูรณ์ และเปลี่ยนชื่อมาเป็น แจ็ค มินทร์ อิงค์ธเนศ หลังจากใช้ชีวิตในเมืองไทยมาได้ 15 ปี

แม้กระทั่งในช่วงเริ่มต้นชีวิตการทำงานครั้งแรกในเมืองไทย ด้วยการทำงานเป็นผู้จัดการอยู่ในโรงงานเหล็กสยามสตีล ที่พระประแดง

"ตอนมาเมืองไทยใหม่ๆ ผมทำอะไรอย่างอื่นไม่เป็น มีพนักงาน 200 คน อยู่ในโรงงาน วันๆ ก็ไปคลุกคลีกับเขา เขาก็พูดภาษาอีสาน เราก็เรียนจากเขา"

ความพยายามในการคลุกคลีอยู่กับคนงาน 200 คน ในโรงงานของแจ็ค ไม่ได้เพียงเพื่อเรียนรู้ภาษาไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นการเริ่มต้นเรียนรู้พฤติกรรมของลูกค้าในอนาคต

"สิ่งที่ผมเรียนไม่ใช่ภาษา แต่ผมเรียนความคิด ความเชื่อ พฤติกรรมของเขา นี่ต่างหากคือต้นทุนที่สำคัญ" แจ็คเชื่อว่า "เพราะนั่นหมายถึงการที่คุณสามารถใช้วิธีของเขามาดีลกับเขา"

ความสำเร็จของสหวิริยาโอเอ จึงมาจากประสบการณ์ ความเป็นพ่อค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง และการเรียนรู้ในสังคมไทยที่เป็นไปอย่างเข้มข้น และการผ่านการศึกษาที่ดีมาในระดับหนึ่ง และประสบการณ์ที่ได้ดีลทางธุรกิจที่มีอย่างต่อเนื่อง ทำให้แจ็คเข้าใจสังคมไทยได้ไม่ยากนัก

การขยายฐานลูกค้าของเอสวีโอเอจากผู้บริโภคทั่วไป ไปยังลูกค้าระดับองค์กร เช่น สถาบันการเงิน รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานราชการ เป็นสิ่งที่สะท้อนการเรียนรู้ของเขาที่มี อย่างต่อเนื่อง

การทำตลาดลูกค้าในระดับองค์กร เงื่อนไข และ สาระสำคัญของการดีลทางธุรกิจที่แตกต่างกัน ไม่ใช่เรื่องเทคโนโลยีฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ หรือการติดตั้งเท่านั้น แต่ยังต้องรวมไปถึงสายสัมพันธ์กับผู้บริหารระดับสูง ซึ่งแจ็คสามารถทำเรื่องเหล่านี้ได้ดี และสิ่งเหล่านี้ก็สร้างโอกาสให้เขาในเวลานี้มาก

เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากสังคมไทยในวงกว้าง แจ็คไม่ได้ทำตัวเป็นแค่ "นักขายมืออาชีพ" เท่านั้น แต่เขา ยังพยายามเป็น "ผู้รู้" ในแวดวงไอที ที่มีวาทศิลป์ผ่านไปยังคอลัมน์บนหน้าหนังสือพิมพ์ แม้จะอ่านและเขียนภาษาไทย ไม่ได้ แต่แจ็คก็มีคอลัมน์ประจำอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และบิสิเนสไทย ที่เขาเป็นเจ้าของ

"ความรู้ของผมได้มาจากการสนทนาเป็นส่วนใหญ่" แจ็คบอกถึงที่มาของการสะสมความรู้ ที่ได้จากการที่เขาต้องใช้เวลาในแต่ละวันไปกับการพบปะ ทั้งเจ้าของสินค้า ลูกค้า ตัวแทนจำหน่าย

การสะสมความรู้ในภาพระดับกว้างของเขา ส่วนหนึ่งมาจากเป็นตัวแทนขายสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยี เปิดโอกาสให้แจ็คได้มีโอกาสที่จะเรียนรู้ความเป็นไปของเทคโนโลยีจากผู้ผลิตเหล่านี้ และสามารถเชื่อมโยงถ่ายทอดมาเป็นความคิดของเขา

ในยุคเฟื่องฟู แจ็คเป็นเจ้าของห้องทำงานหรูหราราวกับห้องทำงานของผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงิน ตั้งอยู่บนอาคารเอสวีโอเอ ริมถนนพระราม 3 แม้ว่าในวันนี้เขาจะเปลี่ยนจากเจ้าของมาอยู่ในฐานะของผู้เช่าแล้วก็ตาม แต่ห้องทำงานแห่งนี้ยังคงความหรูหรา ทั้งขนาดใหญ่ และการตกแต่ง ห้องปูด้วยพรมอย่างดี ลายเส้นบนพรมถักทอขึ้นตามไอเดียของผู้เป็นเจ้าของ เป็นเรื่องราวของแม่น้ำ ถนนหนทาง พาดผ่านไปตามพื้นห้อง

"ผมเป็นคนคิดไอเดียตกแต่งเอง" แจ็คบอก "อย่าลืมว่า ผมเป็นสถาปนิก หากเป็นไปได้ผมจะมีส่วน"

ภายในห้องถูกประดับประดาด้วยงาช้างขนาดใหญ่ บางกิ่ง มีอายุ 150 ปี หนัก 60 กิโลกรัม กลางห้องทำงานมี ชุดหมากรุกฝรั่งอย่างดี

แม้ว่าในวันนี้เขาจะรู้ถึงความไม่จีรัง มีสำเร็จแล้วก็ต้องมีล้มเหลว "อนาคตถ้าให้ผมสร้างใหม่ ผมจะไม่สร้าง แบบนี้"

ทุกวันนี้ แจ็คต้องกลับมาทำงานหนักอีกครั้ง หลัง ห่างหายจากภารกิจหนักๆ กับการมีนัดถึง 8 รายในวันเดียว

"บางวัน ดินเนอร์ตอนเย็นผมต้องนัดทีเดียว 2 ราย วิ่งสลับไปมาระหว่างสองห้อง"

แม้ว่าเขาจะผ่านทั้งจุดสำเร็จ และล้มเหลวมาแล้ว บุคลิกของแจ็คเหล่านี้ ก็ยังเป็นที่ยอมรับของสังคมไทยได้อย่างต่อเนื่อง และนี่คือ การกลับมาอีกครั้งของเขา

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us