เขาเป็นชาวไต้หวัน ที่เข้ามาสร้างชื่อและเติบโตอยู่ในธุรกิจค้าคอมพิวเตอร์ผ่านทั้งจุดสูงสุดและ
ต่ำสุดของธุรกิจมาแล้ว วันนี้เขากลับมาอีกครั้ง กับความฝันที่จะเข้าไปมีส่วนในโลกธุรกิจของ
content แต่ยังหมายถึงการเข้าไปอยู่ร่วมในอาณาจักรธุรกิจ "สื่อ"
อันทรงอิทธิพล ของสังคมไทย เป็นความฝันที่ไม่ง่ายเลย สำหรับเขา เป็นเรื่องที่น่าติดตามว่า
แจ็คจะผ่านจุดเหล่านี้ไปได้อย่างไร
แจ็คเงียบหายไปจากสังคมธุรกิจไทยถึง 4 ปีเต็ม หลังจากที่เอสวีโอเอ เป็นหนึ่งในผลพวงจากยุคฟองสบู่
ต้องตกอยู่ในภาวะล้มละลายจากปัญหาหนี้สินที่เกิดขึ้นหลังจากเศรษฐกิจตกต่ำ
จนต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูธุรกิจ
วันนี้เขาเดินกลับมาอีกครั้ง และไม่เพียงแต่ในฐานะเจ้าของเอสวีโอเออย่างเต็มตัว
เท่านั้น แต่เขามาพร้อมกับความฝันครั้งใหม่ กับการเป็นเจ้าของอาณาจักร content
ที่มาคู่กับการเป็นเจ้าของสื่อสิ่งพิมพ์
หากจะพูดถึงตัวแจ็คแล้ว ตำนานความสำเร็จและความมั่งคั่งในอดีตของเอสวีโอเอ
คือ สิ่งที่บ่งบอกความเป็นตัวตนของแจ็คได้เป็นอย่างดี
แจ็คเป็นชาวไต้หวันจำนวนไม่มากที่สามารถพาตัวเองเข้าไปอยู่ในธุรกิจคอมพิวเตอร์
ที่ได้ชื่อว่า เติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กับเศรษฐกิจ และมีสีสัน และในฐาะนะ "คนนอก"
แจ็คเรียนรู้ ในการพาตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมในสังคมธุรกิจของไทยและเป็นที่รู้จักในระดับกว้าง
แจ็คเดินทางเข้าสู่เมืองไทย เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ด้วยวัย 27 แจ็คเริ่มต้นตำนานของการเข้าสู่ธุรกิจค้าคอมพิวเตอร์ในปี
2525 ด้วยการชักชวนวิทย์ และประภา สองพี่น้องตระกูลวิริยะประไพกิจ ซึ่งอุดมผู้เป็นพ่อไปทำงานอยู่ด้วย
เข้ามาร่วมหุ้นในกิจการ กลายเป็นผู้ถือหุ้น 3 ฝ่าย
แม้แจ็คจะได้ชื่อว่าเป็นแกนนำหลักคนสำคัญในการสร้างความสำเร็จให้กับธุรกิจ
แต่ต้องยอมรับว่า ชื่อเสียงและเครือข่ายของ สหวิริยา มีส่วนไม่น้อยต่อการบุกเบิกธุรกิจให้กับสหวิริยาโอเอในช่วงแรก
การเข้าสู่ตลาดคอมพิวเตอร์ของสหวิริยาโอเอในช่วงนั้น เป็นช่วงที่ตลาดส่วนใหญ่
ถูกครอบครองด้วยผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นไอบีเอ็ม ฟิลิปส์
ดิจิตอลอีควิปเมนท์ และผู้ผลิตเหล่านี้ก็ใช้วิธีการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่าย
ที่มักจะเป็นองค์กรธุรกิจเก่าแก่ ที่แยกแผนกออกมาขายคอมพิว เตอร์
ช่วงแรกสหวิริยาโอเอ เริ่มต้นธุรกิจด้วยการเป็นตัวแทนจำหน่ายให้กับไอบีเอ็ม
แต่ไม่ราบรื่นเท่าที่ควร จนต้องแยกทางเดินกับไอบีเอ็ม ทำให้แจ็คจำเป็นต้องสร้างเส้นทางเดินที่เป็นของตัวเองให้กับสหวิริยาโอเอ
แจ็คใช้วิธีศึกษาจุดอ่อนและหาช่องว่างของคู่แข่งมาสร้างความเป็นต่อให้ตัวเอง
เขารู้ว่าผู้ผลิตรายใหญ่เหล่านั้นมักจะมุ่งเน้น ไปที่ลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่
เครื่องที่จำหน่าย ก็เป็นเครื่องระดับเมนเฟรม หรือมินิคอมพิว เตอร์ ทำให้เกิดช่องว่างในกลุ่มลูกค้าองค์กรขนาดเล็ก
และลูกค้าทั่วไป
เขามุ่งไปที่เครื่องคอมพิวเตอร์ในระดับพีซี และระดมติดต่อนำคอมพิวเตอร์
และอุปกรณ์ต่อพ่วงยี่ห้อใหม่ๆ จากแหล่งผลิต ในย่านเอเชียเข้ามาเปิดตลาดในเมืองไทย
ไม่ว่าจะเป็นโอกิ แมคอินทอช เอปซอน เอเซอร์ ไซโก้ ซอฟต์แวร์ ออโตเดกส์ เพื่อมุ่งไปยังตลาดในระดับลูกค้าทั่วไป
สภาวะตลาดในเวลานั้นก็เอื้ออำนวย เนื่องจากเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่บรรดาเจ้าของ
ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก็ต้องการขยายตลาดออกนอกประเทศ ประกอบกับเป็นช่วงเศรษฐกิจที่เติบโตทำให้ไทยเป็นหนึ่งในตลาดเป้าหมายในภูมิภาค
หลังจากผลักดันยอดขายให้ไปได้ด้วยดี แจ็คเริ่มขยายบทบาทของการเป็นคู่ค้า
ด้วยการผลักดันให้ผู้ผลิตเหล่านี้ แต่งตั้งเอสวีโอเอให้เป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว
หรือ sole distributor ในประเทศ และบางครั้งก็ขยายบทบาทไปถึงภูมิภาคนี้
การได้เป็นตัวแทนขายในลักษณะนี้ ก็เพื่อสร้างหลักประกันให้กับเอสวีโอเอทำธุรกิจ
ซื้อมาขายไปที่มีความไม่แน่นอนสูง อาจถูกบอกเลิกเป็นตัวแทน หรือแต่งตั้งตัวแทนรายใหม่
แต่ ด้วยข้อสัญญาทางธุรกิจที่ผูกมัดให้สหวิริยาโอเอเป็นตัวแทนจำหน่ายหลักเพียงรายเดียวในประเทศ
จึงเท่ากับเป็นการสร้างหลักประกันให้กับสหวิริยาโอเอได้ในระดับหนึ่ง
"เวลานั้นไม่มีประเทศไหน ไม่ว่าฮ่องกง สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย
ที่ได้เป็น sole distributor ยกเว้นผมคนเดียว" แจ็คเล่าถึงสหวิริยาโอเอในช่วงนั้นด้วยความภูมิใจในการสร้างจุดแข็งให้กับสหวิริยาโอเอ
ที่เขาพยายามขยายผลไปถึงการร่วมทุนกับเจ้าของผลิตภัณฑ์ เหล่านี้ และทำสำเร็จในเอเซอร์
และเอปซอน
ขณะเดียวกันก็เป็นแรงผลักดันทำให้เขาต้องมีการสร้างเครือข่ายช่องทางจัดจำหน่าย
ขึ้นมารองรับ ไม่ใช่แค่ตัวแทนจำหน่ายรายย่อยเท่านั้น แต่แจ็คยังสร้างเครือข่ายช่องทาง
จำหน่ายเป็นของตัวเอง ในรูปของแฟรนไชส์ เพื่อเป็นทั้งช่องทางขายและให้บริการหลังการขาย
มีการขยายไปยังทั่วประเทศ ซึ่งเป็น จุดอ่อนอีกอย่างหนึ่งของคู่แข่ง มาใช้เป็นจุดขาย
และสร้างชื่อให้กับสหวิริยาให้เป็นที่รู้จัก และยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ
ขณะเดียวกัน มองเห็นจุดอ่อนของ คอมพิวเตอร์ข้ามชาติไม่ได้ให้ความสำคัญ
แต่เป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับเมืองไทยที่ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก พัฒนาระบบภาษาไทยออกมาใช้งาน
การเป็นผู้บริหารที่เป็น "คนนอก" นี้เอง จึงเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เขาต้องพยายามมากกว่าปกติ
และต้องทุ่มเทให้กับการทำงานอย่างหนัก เพราะวิธีที่จะได้รับการยอมรับจากสังคมไทย
ก็คือ การสร้างภาพความยิ่งใหญ่ให้เกิดกับองค์กรแห่งนี้
ประกอบกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ที่เอื้ออำนวยตลอดช่วงเวลาของการเข้าสู่ตลาดคอมพิวเตอร์
นับเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐ กิจไทยกำลังเติบโต อุตสาหกรรมในภาคธุรกิจต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย
ทำให้เกิดความ ต้องการใช้ไอทีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ความกระตือรือร้น ที่จะสร้างความสำเร็จ และการเรียนรู้สังคมไทยอย่างต่อ
เนื่อง ทำให้แจ็คสามารถเรียนรู้การสร้างความสัมพันธ์ในระดับกว้างกับผู้บริหารระดับ
สูงในองค์กรธุรกิจ และหน่วยงานราชการ และมากพอที่จะทำให้แจ็คได้รับการยอม
รับจากสังคมไทย ที่มีความประนีประนอม และยอมรับผู้ที่ได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จทางธุรกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วได้ไม่ยากนัก
"คุณแจ็คเขาเป็นผู้บริหารสูงสุด การ ตัดสินใจอะไรเขาทำได้ทันที ไม่เหมือนบริษัท
ข้ามชาติกว่าจะอนุมัติได้ต้องรอไปนาน" วิชิต ญาณอมร รองผู้จัดการใหญ่
ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าว
สหวิริยาโอเอ ในเวลานั้นแตกขยายธุรกิจออกไปมากมาย ครอบคลุมธุรกิจค้าคอมพิว
เตอร์ ทั้งที่เป็นฮาร์ดแวร์ อุปกรณ์ต่อพ่วง ดูแลระบบ และยังเป็นบริษัทค้าคอมพิวเตอร์ไม่กี่รายที่สามารถเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ความสำเร็จของสหวิริยาโอเอ ย่อมหมายถึง ความสำเร็จของแจ็ค นักธุรกิจโนเนมชาว
ไต้หวัน ที่ได้รับการยอมรับมากขึ้นๆ แจ็คเองก็พอใจที่เป็นเช่นนั้น เขาจะไม่ใช่นักธุรกิจที่ชอบเก็บตัวแล้ว
แต่ชอบที่จะแสดงความคิดเห็น เพื่อสร้างชื่อ และทำให้ตัวเองเป็นที่รู้จักแก่คนทั่วไป
แรงขับดันของความต้องการสร้างความยิ่งใหญ่ บวกกับภาวะเศรษฐกิจขาขึ้น ที่เอื้อต่อ
เงินทุนทั้งในและต่างประเทศที่หามาได้ง่ายๆ และผลกำไรทำให้แจ็คพยายามขยายจากธุรกิจ
ค้าคอมพิวเตอร์ เข้าไปแสวงหาโอกาสการลงทุนในพื้นที่ธุรกิจใหม่ๆ ที่มีแนวโน้มว่าจะดี
ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสัมปทานสื่อสารโทรคมนาคม เข้าถือหุ้นในไอทีวี ทำธุรกิจโทรทัศน์
หรือแม้กระทั่งเคยขยายไปต่างประเทศ ทำสัมปทานรถไฟในประเทศลาว
"ก่อนหน้าวิกฤติเศรษฐกิจ ใครทำล้มก็แย่แล้ว คนไม่เอาไหนที่สุดก็ยังสำเร็จ
น้ำมันเชี่ยว กระแสมันมา เวลานั้นธนาคารก็เชื่อเรา ใครก็เชื่อเรา ใช้เงินเกินตัวโดยไม่รู้ตัว"
แจ็คเล่า แต่หลังจากนั้นไม่มีธุรกิจตัวไหนที่ทำเงินแม้แต่ธุรกิจเดียว
ปี 2539 นับได้ว่าเป็นปีที่รุ่งโรจน์มากที่สุดของเอสวีโอเอ สามารถทำยอดขายถึง
6,800 ล้านบาท จากธุรกิจขายส่งคอมพิวเตอร์ ธุรกิจให้บริการแก่หน่วยงานองค์กรใหญ่
โดยเฉพาะ อย่างยิ่งสถาบันการเงิน ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม
ในเวลานั้นแจ็คเองก็พยายามแยกภาพของสหวิริยาโอเอ ออกมาจากกลุ่มสหวิริยา
ซึ่งที่ผ่านมา ทั้งวิทย์ และประภา วิริยะประไพกิจ ก็ไม่ได้มายุ่งเกี่ยวในการบริหาร
ยกเว้นกนกวิภา วิริยะประไพกิจ ที่เข้ามาทำงานกับสหวิริยาโอเอตั้งแต่เรียนจบ
ซึ่งเป็นที่มาของการ เรียกชื่อบริษัทว่า เอสวีโอเอ
แต่ทันทีที่วิกฤติเศรษฐกิจมาเยือน เอสวีโอเอต้องได้รับผลกระทบอย่างหนัก
เป็นผลมาจากการลงทุนเกินตัว เงินกู้จากสถาบันการเงินที่ได้มาอย่างง่ายดาย
บวกกับการได้รับความไว้วางใจจากผู้ผลิตสินค้าที่ให้เครดิตเป็นระยะเวลานาน
สหวิริยาโอเอก็เป็นเหมือนกับหลายธุรกิจในเวลานั้นที่ใช้เงินเกินตัว หลังจากค่าเงินบาทลอยตัว
ภาระหนี้สินของสหวิริยาโอเอเพิ่มขึ้นเป็นเงิน 6,000 ล้านบาท
แจ็คยอมรับว่า การเติบโตของเอสวีโอเอ เติบโตขึ้นจากฐานที่ไม่มั่นคงนัก
"การเติบโต ตรงนั้นมันโตจากการที่เราหมุนมันขึ้นมา ให้มันใหญ่ขึ้นมา
ดังนั้นเมื่อเราโดนตีทีเดียวเราก็แตกกระจาย"
นอกจากภาระหนี้สินภายใต้ภาวะล่มสลายของระบบเศรษฐกิจ เอสวีโอเอต้องประสบ
กับปัญหาสินค้าขายได้แต่เก็บเงินไม่ได้
"ผมขายเครื่องให้กับบริษัทสื่อสารยักษ์ใหญ่รายหนึ่งเป็นเงินพันล้านบาท
ผมเก็บเงินเขาไม่ได้มา 3 ปี ชื่อเขาดีแต่เขามีปัญหา มันกลายเป็นปัญหาลูกโซ่
ที่กระทบทั้งบนและล่าง มันไม่ได้เกิดขึ้นจากผมคนเดียว"
แจ็คมองว่าวิกฤติการณ์จากระบบธุรกิจที่ถูกปิด ธนาคารไม่ปล่อยกู้ ไม่มีเงินซื้อสินค้า
มาขายลูกค้าไม่มีปัญญาชำระหนี้ "มันเป็นปัญหาที่เกินกว่าเราจะคาดการณ์ได้
พายุมาทีเดียว 10 เมตร แล้วบอกว่าเป็นปัญหาที่เรือ ก็ไม่ถูก"
แจ็คต้องใช้เวลาตลอด 4 ปีที่ผ่านมาในการ "ดับไฟ" ในสหวิริยา
เริ่มด้วยการปรับโครงสร้างธุรกิจ ด้วยการยุบหน่วยปฏิบัติการธุรกิจขององค์กรให้เหลือ
13 บริษัท จาก 20 บริษัท หยุดดำเนินการ 7 บริษัท มุ่งโฟกัสเฉพาะธุรกิจที่ทำรายได้
และกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน จากนั้นก็ลดพนักงานจาก 1,400 คน ลง 850 คน
(เวลานี้เหลือประมาณ 600 คน) ลดจำนวน ผลิตภัณฑ์ที่ขายอยู่ 50 ชนิด ก็เหลืออยู่
33 ชนิด
"เมื่อพายุกำลังมา เราก็ต้องหดตัวให้เล็กที่สุด ไม่อย่างนั้นแล้วพายุพัดทีเดียวก็พัง
ถ้าเรารู้ว่าพายุมา เรายังทำตัวแข็งแกร่ง พัดทีเดียวก็พัง" แจ็คเปรียบเปรยถึงการเงียบหายของเขาในช่วง
4 ปี ในเวลานั้นไม่มีใครคาดเดาได้ว่า เขาจะกลับมาโลดแล่นอีกครั้งในเวทีใหม่
ที่อาจใหญ่กว่าเดิม
แนวทางในการแก้ปัญหาทางการเงินของแจ็คเวลานั้น ก็คือ การดึงต่างชาติเข้ามา
ร่วมทุนเพื่อหาเงินมาอัดฉีด เพราะธนาคารเองไม่ปล่อยกู้ และนี่ก็คือ ที่มาของบริษัทจาร์ดีน
ออฟฟิศ ซิสเท็ม เทคโนโลยี กรุ๊ป แต่จาร์ดีนต้องการแยกซื้อเฉพาะส่วนไอที เทอร์มินัล
ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของเอสวีโอเอ เวลานั้นแจ็คเองก็ไม่มีทางเลือกมากนัก ต้องยอมตกลง
แต่ในที่สุดจาร์ดีนกลับเป็นฝ่ายเงียบหายไป
"จากนั้นก็ต้องอกหักซ้ำสอง เมื่อพันธมิตรคือ เอเซอร์ คอมพิวเตอร์
ไต้หวัน และเอปสัน อิเล็กทรอนิกส์ ประเทศสิงคโปร์ ต่างไม่ตกลงเพิ่มทุนกับเอสวีโอเอ
แถมท้ายเอเซอร์ยังแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายรายใหม่ให้ ทำตลาดสินค้าทุกตัว เช่นเดียวกับเอสวีโอเออีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น สินค้าตัวอื่นๆ อีกหลาย ยี่ห้อไม่ให้สิทธิเอสวีโอเอเป็นตัวแทนจำหน่าย
แถมบางยี่ห้อยังไม่ขายสินค้าให้กับเอสวีโอเออีกด้วย" ส่วนหนึ่งของข้อความที่อยู่ในหนังสือ
"ล้มแล้วรุก" ของแจ็ค มินทร์ อิงค์ธเนศ ที่กำลังจะออกวางจำหน่าย
หลังจากการเจรจากับพันธมิตรร่วมทุนไม่สำเร็จ อีกทั้งสภาพแวดล้อมของธุรกิจไม่เอื้ออำนวย
แจ็คต้องกลับมาแก้ไขที่ปัญหา หนี้สิน 6,000 ล้านบาท กับเจ้าหนี้ที่เป็นธนาคารไทย
และต่างประเทศ 60 แห่ง ด้วยการเลือก ที่จะเข้าสู่กระบวนการของศาลล้มละลาย
เพื่อขอฟื้นฟูกิจการ แทนการยืดเวลาการชำระหนี้ และได้รับอนุมัติแผนฟื้นฟูกิจการจากเจ้าหนี้เมื่อวันที่
23 ธันวาคม 2542
ทางเลือกของแจ็คเวลานั้น มีเพียงแค่สองทาง ทางแรก ยืดชำระหนี้เป็น 5 ปี
หรือ 10 ปี วิธีที่สอง คือ การปรับโครงสร้างหนี้ด้วยการเสนอแผนฟื้นฟูกิจการ
แต่วิธีนี้ต้องให้เจ้าหนี้เห็น ชอบด้วย
แจ็คเลือกวิธีที่สอง "ผมเป็น case แรกที่เข้าสู่ศาลล้มละลาย ทั้งๆ
ที่ไม่มีใครกล้า และไม่รู้ว่าเข้าไปแล้วจะเจออะไร ถ้าไม่กล้าเผชิญความจริง
ถามว่า เราจะมีอายุ 18 ปีได้กี่ครั้ง"
ความหมายของแจ็ค ก็คือ โอกาสที่เอสวีโอเอ จะสร้างโอกาสทำรายได้ ในภาวะที่ยังมีหนี้สินบีบรัดอยู่ถึง
6,000 ล้านบาท ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย
วิธีการของแจ็คคือ การทำให้เจ้าหนี้มองเห็นถึงศักยภาพธุรกิจซื้อมาขายไปของเอสวี
โอเอที่ยังคงสร้างรายได้ แต่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ "ในวันที่สหวิริยาเข้าศาลล้มละลาย
เป็นวันที่ออร์เดอร์ที่ใหญ่ที่สุด คือ โครงการของทบวงมหาวิทยาลัยกว่า 400
ล้านที่จะส่งเครื่องคอมพิวเตอร์เข้าสู่มหาวิทยาลัยของรัฐทุกแห่ง"
อย่างไรก็ตาม แจ็คจำเป็นต้องใช้ความพยายามในการจัดทำแผนปรับโครงสร้างหนี้
เพื่อฟื้นฟูกิจการ
"แผนปรับโครงสร้างหนี้มีการเลื่อนส่งแผนเป็นระยะๆ ความชัดเจนปรากฏขึ้นเมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามามีบทบาทช่วยอีกแรง
ในการเป็นเจ้าภาพในการไกล่เกลี่ยโครงสร้างหนี้ และจัดประชุมเจ้าหนี้ เพื่อลงคะแนนเสียงอนุมัติสรุปข้อตกลงเบื้องต้นของแผน
การปรับโครงสร้างหนี้" ข้อความส่วนหนึ่งในหนังสือ "ล้มแล้วรุก"
เดือนมิถุนายน 2542 เอสวีโอเอ และธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น
ได้ร่วมกันยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการกับศาลล้มละลายกลาง ในวันที่ 21 มิถุนายน
2542 และ วันที่ 19 กรกฎาคม ศาลล้มละลายได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ และแต่งตั้งให้บริษัทเอสวีโอเอ
แพลนเนอร์ เป็นผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ
ในที่สุด แผนฟื้นฟูสหวิริยาโอเอก็สามารถลงเอย ด้วยข้อสรุปหลักๆ คือ เจ้าหนี้ยอมตัดทิ้งหนี้
5,000 ล้าน บาท หรือ 70% ของมูลหนี้ที่มีอยู่ทั้งหมด 7,000 ล้านบาท
เพื่อกำจัดผลขาดทุนทั้งหมด จึงให้มีการลดทุนจดทะเบียนลงจาก 2,000 ล้านบาท
เหลือ 500 ล้านบาท
จากนั้นหนี้ที่เหลือ 2,000 ล้านบาท เจ้าหนี้แปลงเป็นทุน ผู้ถือหุ้นใหญ่
4 อันดับแรก คือ บริษัทพีรีกรีน จำกัด แบงก์ ออฟ อเมริกา ธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนครธน
และธนาคารฮ่องกง และเซี่ยงไฮ้ เท่ากับเป็นการปิดฉากผู้ถือหุ้นเดิม คือ ตระกูลวิริยะประไพกิจเหลือสัดส่วน
การถือหุ้นไม่ถึง 1%
กลับมาอีกครั้ง
"เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ผมยังพูดภาษาไทย ไม่เป็น มีเพียงกระเป๋าใบเดียว
ข้างในไม่มีขุมทรัพย์ ผมมาที่นี่ด้วยสติปัญญา และหัวใจ และมีไฟ นักขายฝันอย่างผมถึงแม้จะทำผิดพลาดไปแล้ว
แต่ถ้าไม่ผิดพลาดก็จะไม่มีวันนี้" แจ็คให้สัมภาษณ์กับ "ผู้จัดการ"
ถึงการ กลับมาโลดแล่นในธุรกิจอีกครั้ง ที่เปรียบเสมือนเป็นการล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่อีกครั้ง
หลังจากเงียบไป 4 ปีเต็ม กับการแก้ปัญหาหนี้สินของเอสวีโอเอ
เป็นการให้สัมภาษณ์หลังจากที่แจ็คซื้อหุ้นจำนวน 13 ล้านหุ้น กลับคืนจากผู้ถือหุ้นเดิมของเอสวีโอเอ
ในราคาหุ้นละ 7.20 บาท และดึงผู้ร่วมลงทุนใหม่ บริษัท แอป ซิลอน เวนเจอร์
พีทีอี ของกลุ่มบริษัท Kappel จากสิงคโปร์เข้ามาซื้อหุ้นของเอสวีโอเอ ด้วย
การออกหุ้นเพิ่มทุนให้ 240 ล้านบาท
โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ของเอสวีโอเอ ถูกเปลี่ยนมาเป็นแอปซิลอนได้เข้ามาเป็น
ผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุด 33.5% ส่วนแจ็คถือหุ้น 18.3% และผู้ถือหุ้นอื่นรวมกัน
48.2% และได้ทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นจาก 550 ล้านบาท เป็น 950 ล้านบาท
แม้ว่าเอสวีโอเอจะได้รับอนุมัติให้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ แต่ก็ยังขาดเงินที่จะมาใช้ในการลงทุนในธุรกิจ
การได้ keppel มา ลงทุน เท่ากับเป็นการช่วยกอบกู้สถานการณ์ของเอสวีโอเอให้กลับพลิกฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง
และยังทำให้แจ็คเปลี่ยนสภาพจาก ผู้บริหารกลายเป็นเจ้าของเอสวีโอเออีกครั้ง
แม้ว่าจะถือหุ้นเป็นอันดับสอง แต่ได้อำนาจและสิทธิในการบริหารงานอย่างเต็มที่
บทเรียนจากอดีต ทำให้แจ็คหันกลับ มาโฟกัสธุรกิจที่เป็นความชำนาญของเอสวีโอ
เอ ธุรกิจหลักประกอบไปด้วย
กลุ่มแรก ธุรกิจช่องทางการจำหน่าย ซึ่งเป็นธุรกิจซื้อมาขายไป เป็นการจำหน่ายสินค้าคอมพิวเตอร์
ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์ แวร์ ที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น เอปซอน เอเซอร์
เอชพี แอปเปิ้ล นอกจากนี้ยังหันมาที่ตลาดเครื่องพีซีประกอบเอง
ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมา เอสวีโอเอถูกบอกเลิกการเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ไอทีไปหลายยี่ห้อ
การกลับมาอีกครั้งของเอสวีโอเอ แจ็คจึงต้องทุ่มเวลาไปกับการติดต่อเจ้าของผลิตภัณฑ์
เพื่อสร้างความหลากหลายในการนำเสนอให้กับลูกค้า
กลุ่มที่สอง กลุ่มธุรกิจที่ปรึกษาและวางระบบคอมพิวเตอร์ หรือ SISBU เป็นธุรกิจในการนำเสนอโซลูชั่นไอทีครบวงจร
ตั้งแต่ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ การติดตั้ง บริการจะครอบคลุม ในเรื่องการออกแบบ
วางระบบติดตั้ง พัฒนา และให้คำปรึกษาในการนำระบบคอมพิวเตอร์ ให้กับลูกค้าที่เป็นกลุ่มการเงินการธนาคาร
กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม บริษัทข้ามชาติ
ธุรกิจกลุ่มที่ 3 เป็นธุรกิจบริการที่ใกล้เคียงกับกลุ่มที่สอง คือ การนำเสนอขายเป็นโครงการแบบเบ็ดเสร็จ
ควบคุมทั้งการติดตั้ง และครอบคลุมไปถึงในเรื่องของบริการหลังการ ขายตลอดระยะเวลาการใช้งานตามสัญญา
ลูกค้าจะเป็นหน่วยงานราชการ และเอกชน
ธุรกิจกลุ่มที่ 4 ธุรกิจศูนย์ค้าปลีกผลิตภัณฑ์ไอที ภายใต้ชื่อ ไอทีซิตี้
สาขาแรกตั้งอยู่ที่ห้างพันธุ์ทิพย์ ธุรกิจนี้นับว่าเป็นความชำนาญเดิมของเอสวีโอเอเช่นกัน
และเป็นธุรกิจซื้อมาขายไปที่ยังคงทำรายได้ให้กับเอสวีโอเอ
ธุรกิจที่ปรึกษาและวางระบบ เป็นธุรกิจที่ถือเป็นความชำนาญของเอสวีโอเอ
และแจ็ค ที่ใช้เวลาในช่วงหลายปีมานี้ ขยับจากกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคทั่วไป
เข้าไปยังกลุ่มลูกค้าองค์กร ซึ่งมีมูลค่าโครงการ และกำไรมากกว่า แม้ว่าตัวเลขรายได้จะไม่เท่ากับลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคทั่วไปก็ตาม
เงินทุน และเครือข่ายธุรกิจของ keppel T&T ที่ทำธุรกิจด้านสื่อสารโทรคมนาคม
ศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ตดาต้าเซ็นเตอร์ ในสิงคโปร์และภูมิภาคเอเชีย เป็นสิ่งที่ทำให้แจ็คเชื่อมั่นว่า
จะสามารถเกื้อกูลให้กับเอสวีโอเอ แจ็คเองก็ประกาศในวันแถลงข่าวการร่วมทุนว่า
"เขาจะทำให้เอสวีโอเอ กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง"
ว่าไปแล้ว การได้กลุ่ม keppel T&T มาต่อลมหายใจให้กับเอสวีโอเอ เป็นผลพวงที่ต่อเนื่องมาจากที่แจ็คได้
keppel เข้าไปลงทุนในกลุ่มเออาร์ ธุรกิจที่เขาเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง
การกลับมาของแจ็คในครั้งนี้ จึงไม่ได้มาในฐานะ ของพ่อค้าคอมพิวเตอร์เท่านั้น
แต่ยังอยู่ในฐานะของเจ้าของธุรกิจ "เนื้อหา" และในฐานะเป็นเจ้าของ
"สื่อ" สิ่งพิมพ์ ที่จะทำให้บทบาทของแจ็คไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
แม้ว่าแจ็คจะต้องใช้เวลาในการสร้างเครือข่ายธุรกิจตามที่เขา "ฝัน"
ไว้อีกพักใหญ่ก็ตาม
ในช่วงที่เอสวีโอเอถูกตีกระหน่ำจากวิกฤติเศรษฐกิจ แต่ในอีกด้านหนึ่งของธุรกิจให้บริการข้อมูลของกลุ่มเออาร์
ที่แจ็คสร้างขึ้นโดยลำพังเมื่อ 13 ปีที่แล้ว ก็กลับเพิ่มบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ
แจ็คก่อตั้งบริษัทเออาร์ขึ้นมาในปี 2532 เพื่อรับจ้างทำงานวิจัยในเชิงวิชาการออกวารสารด้านคอมพิวเตอร์
โดยร่วมกับนักวิชาการวงการคอมพิวเตอร์ในยุคนั้น อาทิ ดร.ครรชิต มาลัยวงศ์
ผลิตภัณฑ์เล่มแรก คือ หนังสือ Thailand company information หรือ TCI เป็นไดเรคเทอรีส์ที่รวบรวมรายชื่อ
และงบการเงินของบริษัทชั้นนำ 2,000 บริษัท ให้กับกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเวลานั้นมีเอกชน
2 รายที่ได้รับอนุมัติ แต่เวลานี้เหลือเออาร์เพียงเจ้าเดียวที่ยังผลิตอยู่
จากนั้นจึงได้เริ่มขยายไปทำนิตยสารคอมพิวเตอร์ ออกนิตยสารคอมพิวเตอร์ BCM
วางตลาดเป็นเล่มแรก "เวลานั้นคุณแจ็คมองว่า การตัดสินใจซื้อไม่ได้อยู่ที่เอาไปใช้ประโยชน์
แต่เพื่อหน้าตา มันน่าเสียดาย การมีหนังสือก็เท่ากับเป็นประโยชน์ทางอ้อมให้กับคนไทย"
วิโรจน์ อัศวรังสี ผู้จัดการทั่วไป บริษัทเออาร์ อินฟอร์เมชั่น แอนด์ พับลิเคชั่น
จำกัด เล่า
แจ็คเองก็ต้องระมัดระวังกับความไม่เป็นกลาง เนื่องจากทำธุรกิจคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว
เนื้อหาของหนังสือเกื้อกูลกับเอสวีโอเอที่ค้าคอมพิวเตอร์ การดำเนินงานของบริษัทเออาร์
ถูกแยกออกจากเอสวีโอเอ และแจ็คเองก็ไม่ได้ให้เวลาเออาร์มากนัก จะใช้เวลาว่างแวะเวียนเข้ามาดูแลกิจการบ้างตามโอกาสจะอำนวย
เพราะงานหลักของแจ็คยังอยู่ที่เอสวีโอเอ ที่มีขนาดของธุรกิจใหญ่กว่ามาก
6 ปีแรกของเออาร์ เป็นการบริหารงานโดยกลุ่มนักวิชาการ ธุรกิจของเออาร์เวลานั้น
ก็อยู่ในวงจำกัด มีธุรกิจสิ่งพิมพ์ทางด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งเวลานั้นยังเป็นธุรกิจเล็กๆ
เนื่อง จากการใช้คอมพิวเตอร์ยังอยู่ในวงจำกัด นอกนั้นก็เป็นหน่วยงานวิจัยข้อมูลที่ทำควบคู่กันมา
บริษัท IDC บริษัทวิจัยข้อมูลเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ก็เป็นลูกค้าหลัก และมีแผนกรับทำ
บัญชี
"คนใช้คอมพิวเตอร์ในยุคแรก จะเป็น แผนก human resource และแผนกบัญชี
ยัง ไม่ขยายตัวไปในระดับกว้างเหมือนในปัจจุบัน "เนื้อหาที่นำเสนอเวลานั้น
จึงเป็นในเชิงวิชาการมากกว่าจะเป็นนิตยสาร"
เออาร์เข้ามาในตลาดสิ่งพิมพ์ทางด้าน ไอที เป็นช่วงที่กลุ่มแมนกรุ๊ป และกลุ่มซีเอ็ด
ครองตลาดนิตยสารทางด้านไอทีอยู่ก่อนหน้า นี้แล้ว ซีเอ็ดมีหนังสือไมโครคอมพิวเตอร์เป็น
หัวหอก ในขณะที่แมนกรุ๊ปมีนิตยสารและชอปปิ้งคอมพิวเตอร์ เป็นฐานที่มั่น ทั้งสองรายจึงมีสถานภาพที่แข็งแกร่งและเป็นที่รู้จัก
ของผู้อ่านมากกว่ากลุ่มเออาร์ สถานการณ์ ภายในช่วงนั้นไม่สู้ดีนัก ประสบปัญหามาตลอด
"ช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีการผลัดเปลี่ยนคนตลอด สถานการณ์ไม่ดีขึ้น เจ๊งตลอด
คน ก็ไม่เชื่อมั่นกับองค์กร "วิโรจน์ย้อนอดีต "เวลา นั้นขอคอมพิวเตอร์ทำอาร์ทเวิร์คยังไม่ได้เลย
เลเซอร์พรินเตอร์ เครื่องพีซี อย่าหวังจะให้ซื้อ ไม่มีงบประมาณให้ ไม่มีอะไรเลย
พนักงานดีๆ ก็ทยอยลาออก"
7 ปีแรกของธุรกิจสิ่งพิมพ์ของเออาร์ต้องตกอยู่ในภาวะขาดทุนมาตลอด ถึงกับมีแผนจะปิดบริษัทในช่วงปี
1992-1993
แต่เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ไม่ซับซ้อน และขนาดของธุรกิจไม่ใหญ่ ไม่ต้องลงทุนมาก
นัก หลังจากแก้ปัญหาภายในให้คลี่คลายไป ได้ จึงมีการประคับประคองธุรกิจ และยังคง
มีการออกนิตยสารคอมพิวเตอร์ใหม่ๆ เพื่อขยายไปยังผู้อ่านกลุ่มใหม่ๆ มากขึ้น
ซึ่งการ ลงทุนออกหนังสือเล่มใหม่เหล่านี้ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินมากนัก
การดำเนินงานของเออาร์จึงเป็นไปอย่างเงียบๆ และต่อเนื่อง และเริ่มมีการขยายไปที่ธุรกิจฝึกอบรมเกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์
ธุรกิจ ที่ปรึกษา
8 ปีแรกของเออาร์ เป็นยุคที่เออาร์จำกัดตัวเองอยู่ภายใต้กรอบของธุรกิจที่ดำเนินไปอย่างเรียบง่าย
ไม่หวือหวา
จนกระทั่งในปี 2539 นับเป็นปีที่มีความหมายต่อการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกช่วงหนึ่งนั่นคือ
การรุกเข้าสู่ธุรกิจบริการข้อมูลออนไลน์
"ช่วงนั้นเรามองว่า ข้อมูลเป็น offline มันไม่ใช่อนาคต แม้จะยังไม่มีอินทอร์เน็ต
แต่ คนก็เริ่มส่งข้อมูลออนไลน์ผ่านบูเลทินบอร์ด ระหว่างโมเด็มกับโมเด็ม"
พัชรา เกียรตินันทวิมล กรรมการผู้จัดการ บริษัทกลุ่มเออาร์รีเสิร์ช จำกัด
เล่า
หลังจากประเมินแล้วว่า นี่คือ ช่องทางใหม่ที่มีอนาคต แจ็คจึงไปชักชวนธนาคาร
กรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทย เข้ามาลงขันถือหุ้นในบริษัท ANEW ที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาสำหรับธุรกิจนี้โดยเฉพาะ
เมื่อแจ็คตัดสินใจขยายบทบาทของเออาร์ไปสู่ธุรกิจบริการข้อมูลออนไลน์ ในลักษณะของการรับสัมปทานบริการข้อมูลบริษัทจดทะเบียน
จากกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้บริการข้อมูลบริษัทจดทะเบียนออนไลน์ให้แก่ประชาชนทั่วไป
ถึงแม้ก่อนหน้านี้เออาร์จะทดลองให้บริการข้อมูลผ่านระบบ BBS ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการส่งข้อมูลในยุคเก่า
แต่เป็นการทำภายใต้ข้อจำกัดของผู้ใช้ และเป็นลักษณะของการทดลอง ตลาด ไม่เหมือนกับในครั้งนี้
จากนั้น ANEW ก็ได้แตกบริษัทลูก คือ บิสิเนสออนไลน์ หรือบีโอแอลขึ้นใหม่
เพื่อรับสัมปทานให้บริการข้อมูลบริษัทจดทะเบียน จากกรมการค้ากระทรวงพาณิชย์โดยเฉพาะ
ในเวลานั้นนอกจากบีโอแอล กรมการค้ายังอนุมัติให้เอกชนอีกรายที่ได้รับสัมปทานภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้
เอกชนทั้งสองรายที่ได้รับสัมปทาน จะต้องนำข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนคีย์เข้าเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อแปลงเป็นไฟล์ดิจิตอล
เพื่อขายผ่านบริการออนไลน์ ให้กับลูกค้าอีกต่อหนึ่ง รายได้ที่จัดเก็บได้
จะต้องแบ่งจ่ายให้กับกรมทะเบียน
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน เออาร์ได้ยื่นขอสัมปทานธุรกิจการเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต
(ไอเอสพี) จากการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) และได้จัดตั้งเป็นบริษัท ANET
เพราะมองว่าธุรกิจทั้งสองจะเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เครือข่ายของบริการอินเทอร์เน็ตของบริษัท
ANET จะเป็นเสมือน "ถนน" ทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้ใช้บริการข้อมูลออนไลน์ข้อมูลบีโอแอลเข้าถึงข้อมูล
ในเวลาเดียวกัน บริการข้อมูลของบีโอแอล จะสามารถเกื้อกูลบริการไอเอสพีของ
ANET ซึ่งนอกจากเออาร์ถือหุ้นแล้ว แจ็คยังได้ไปดึงเอามหาวิทยาลัย 5 แห่งเข้ามาร่วมถือหุ้นด้วย
เนื่องจากเวลานั้นตัวแจ็ค และเอสวีโอเอ มีความใกล้ชิดกับผู้บริหาร
ทว่า การถือกำเนิดของบีโอแอลในช่วงแรกไม่ราบรื่น เนื่องจากเป็นธุรกิจใหม่ลูกค้ายังไม่เข้าใจ
และต้องใช้เงินทุน และระยะเวลาในการแปลงข้อมูลให้อยู่ในรูปของไฟล์ข้อมูล
จำเป็นต้องจ้างคนจำนวนมากมาคีย์ข้อมูล
"ตอนบีโอแอลเกิด ขลุกขลักมาก หนังสือเราขาย 1,200 บาท ลูกค้ายังไม่อยากซื้อเลย
หาลูกค้ายากมาก จะตั้งราคาแพงไปก็ไม่ได้ ถูกไปก็ไม่ได้ ต้องเพิ่มทุน 3 รอบ
กว่าจะคีย์เสร็จใช้เวลาเป็นปี ข้อมูลก็ล้าสมัยแล้ว" พัชรา เกียรตินันทวิมล
บอกกับ "ผู้จัดการ"
บีโอแอลขาดทุนอยู่ถึง 4 ปี จนกระทั่งหลังวิกฤติเศรษฐกิจ ความต้องการข้อมูลเริ่มมากขึ้น
แม้การเติบโตของบีโอแอลจะไม่หวือหวา เพราะราคายังสูงอยู่ แต่ก็นับได้ว่าเป็นสัญญาณเริ่มต้นที่ดี
ก้าวที่ถือว่ามีความหมาย และมีผลต่อการขยายตัวของเออาร์อีกลำดับหนึ่งก็คือ
การที่บีโอแอลได้บริษัท Dun & Bradstreet บริษัทขายข้อมูลออนไลน์ข้ามชาติ
จากสหรัฐ อเมริกาเข้ามาร่วมลงทุน ถือหุ้น 19%
ทั้งเงินทุนที่ได้รับประสบการณ์และความรู้ของ D&B ที่อยู่ในธุรกิจค้าข้อมูลมา
160 ปี มีฐานข้อมูล 58 ล้านบริษัทใน 210 ประเทศทั่วโลก คือ สิ่งที่จะช่วยขยายเพื่อน
"เขาช่วยเราได้เยอะ เขามี knowhow ชื่อเสียงที่ดี ถ้าอยู่ในวงการด้านการเงินเรื่องเครดิต
ทุกคนจะรู้จักดัน แอนด์ บรัดสตรีท" พัชราบอก
การร่วมมือของทั้งสอง เริ่มตั้งแต่การ เพิ่มบริการข้อมูลให้กับลูกค้า ที่จะสามารถตรวจสอบบริษัทที่ดำเนินการอยู่ต่างประเทศ
ผ่านเครือข่ายของ Dun&Bradstreet ที่มีอยู่ทั่วโลก ขณะเดียวกัน Dun&Bradstreet
ก็จะใช้ฐานข้อมูลของบีโอแอลในการให้บริการแก่ ลูกค้าที่ต้องการข้อมูลในไทย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเริ่มต้น ข้อมูลเริ่มเป็นที่ต้องการและทวีความสำคัญ
ฐานข้อมูลของบีโอแอล ก็เริ่มเสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้บริการ แต่การขยายตัวในเวลานั้นยังทำได้ในขีดจำกัด
เพราะขาดแหล่งเงินลงทุน และสภาพเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย
จนกระทั่งในปี 2542 หลังจากที่เออาร์ก็ได้บริษัทพรอสเพอร์โก้ Venture Capital
ที่มีเครือข่ายธุรกิจธนาคารและไฟแนนซ์จากสวิตเซอร์แลนด์ เข้ามาลงทุนในบริษัท
ANEW
พรอสเพอร์โก้ถือหุ้นอยู่ใน ANEW ไม่นาน ก็เริ่มทยอยขายหุ้นให้กับ keppel
Tele- communication & Transportation หรือ Keppel T&T ที่เข้ามาถือหุ้นแทน
เป็นผลมาจากการชักจูงของ ดัน แอนด์ บรัดสตรีท พันธมิตรสำคัญของเออาร์ที่ใช้เครือข่ายที่มีอยู่ทั่วโลก
ที่ได้เป็นผู้ชักชวน Keppel T&T เข้ามาลงทุนใน ANEW แทน เพราะมองเห็นถึงศักยภาพของ
Keppel T&T ที่จะเอื้อประโยชน์ ประโยชน์ที่เออาร์จะได้รับจากกลุ่มนี้มากกว่าพรอสเพอร์โก้
ที่เป็นแค่นักลงทุนที่เอาเงินมาลงเพียงอย่างเดียว
"ช่วงหลังเราค่อยๆ ดึงเอา Keppel เข้ามาทยอยซื้อหุ้นจาก 20% จนครบ
40% ที่ พรอสเพอร์โก้ถือหุ้นอยู่"
เวลานั้น Keppel T&T เองก็มีเป้าหมายในการขยายเครือข่ายธุรกิจศูนย์ข้อมูลดาต้าเซ็นเตอร์
(Internet data center หรือ IDC) ที่เป็นการลงทุนโดยบริษัทดาต้าวัน บริษัทลูกของ
Keppel T&T ที่ต้องการสร้างเครือข่ายการบริการไปทั่วภูมิภาคเอเชีย และไทยก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายดังกล่าว
หลังร่วมทุนกับกลุ่มเออาร์ ดาต้าวัน เอเซีย ประเทศไทยก็ถูกตั้งขึ้นอยู่บนอาคาร
เอสวีโอเอ ใช้เงินลงทุนเบื้องต้น 280 ล้านบาท
การเข้ามาลงทุนของ Keppel T&T เจ้าของเครือข่ายธุรกิจสื่อสาร และอินเทอร์เน็ตและ
ไอที จากสิงคโปร์ ถือเป็นก้าวที่มีความหมายและมีนัยสำคัญต่อเออาร์ จากการที่เออาร์จะอาศัยแหล่งเงินทุน
และฐานธุรกิจของ Keppel T&T ขยายธุรกิจออกไปทั้งแนวกว้าง และแนวลึก
"จริงๆ แล้วเออาร์เริ่มขยายมาตั้งแต่ ปี 2542 แต่มาขยายมากๆ ในช่วงต้นปี
2544 จากการที่เราได้ Keppel มาลงทุนทำให้เราไม่ต้องห่วงเรื่องเงินทุนอีกต่อไป"
ไม่เพียงแค่แจ็คจะผลักดันให้ Keppel T&T เข้ามาถือหุ้นใน ANEW แทนพรอสเพอร์โก้เท่านั้น
แต่ยังเปิดทางให้ Keppel T&T เข้ามาถือหุ้นในบริษัทเออาร์จี (เออาร์กรุ๊ป)
ในสัดส่วน 45% เพื่อ Keppel จะเข้าไปมีส่วนในธุรกิจอื่นๆ โดยผ่านเออาร์จี
ซึ่งเป็นโฮล-ดิ้งคอมปานี อีกที รวมถึงการเข้าไปถือหุ้นในเอสวีโอเอ
ผู้บริหารของ keppel บอกว่า keppel T&T ได้ใช้เงินลงทุนในเบื้องต้นในการลงทุนทำธุรกิจในไทย
ผ่านบริษัทเออาร์ และเอสวีโอเอ ประมาณ 20 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณ 1,000
ล้านบาท
แม้เม็ดเงินไม่มากนัก แต่ในช่วงวิกฤติ เศรษฐกิจ ที่หลายธุรกิจต้องล้มระเนระนาด
หลายคนยังไม่ฟื้นตัวดี แต่กลับกลายเป็นก้าว กระโดดที่สำคัญ จากภาพการลงทุนของเออาร์ที่ปรากฏขึ้นต่อเนื่องมาตลอดในช่วง
ปี 2544 เป็นต้นมา และเกิดขึ้นหลังจากกลุ่ม เออาร์ได้เม็ดเงินจาก Keppel
T&T เข้ามาอัดฉีด
"เมื่อพายุผ่านไปแล้ว ผมต้องขยายใหญ่ที่สุด" คำกล่าวถึงการกลับมาของแจ็ค
แม้ว่าเขาจะผ่านบทเรียนที่บอบช้ำมาแล้ว แต่ดูเหมือนว่าแจ็คยังไม่ทิ้งภาพความยิ่งใหญ่
ออกไปได้ และยังคงเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่แตกต่างไปจากเมื่อครั้งอดีตที่ผ่านมานัก
ปฏิบัติการเชิงรุกของเออาร์ เริ่มตั้งแต่ การเปิดร้าน AR4U ที่เป็นการขยายช่องทางจัดจำหน่ายหนังสือในโลกการค้าที่เป็นจริง
ไม่เพียงแต่จะรองรับกับธุรกิจสิ่งพิมพ์ของเออาร์กรุ๊ปเท่านั้น แต่ยังรองรับกับธุรกิจอินเทอร์เน็ต
บริการข้อมูลออนไลน์ ภายใต้คำจำกัดความของศูนย์ความรู้ ที่จะให้ทุกคนมาหาความรู้และบันเทิงด้วยคอมพิวเตอร์ไว้ให้บริการค้นหาข้อมูล
ธุรกิจนี้ได้ถูกคาดการณ์ว่าจะต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท เพื่อขยาย
สาขาไปทั่วประเทศในส่วนที่เป็นการลงทุนของเออาร์เอง และขายแฟรนไชส์ให้กับนักลงทุนอื่นๆ
มาลงทุน
ธุรกิจตัวถัดมา คือ การเปิดบริษัท ACERTS ทำธุรกิจวางโครงสร้างพื้นฐาน
ทำธุรกิจความปลอดภัยในการทำธุรกิจบนอินเทอร์เน็ต รูปแบบของการให้บริการจะครอบ
คลุมตั้งแต่บริการออกใบรับรองดิจิตอล หรือ Certification Authority (CA)
ให้แก่องค์กร หรือบุคคลที่ต้องการทำธุรกรรมบนอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย และเป็นตัวแทนรับจดทะเบียนใบรับรองดิจิตอลในไทย
ให้กับเอ็น ทรัสต์ ดอตเน็ต (Entrust.net)
ธุรกิจรักษาความปลอดภัยเป็นธุรกิจใหม่ เกิดขึ้นมาในยุคอินเทอร์เน็ต เป็นการขยายผลทางธุรกิจที่ต่อเนื่อง
มีเป้าหมายเพื่อ รองรับกับธุรกิจบริการข้อมูลของกลุ่มเออาร์ และลูกค้าภายนอก
จะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท ในการตั้งศูนย์นิรภัย มีการติดตั้งระบบซอฟต์แวร์
และฮาร์ดแวร์ และระบบรักษาความปลอดภัย
โครงการถัดมา ก็คือ การร่วมมือกับกรมการปกครองในการนำข้อมูลหมายเลขทะเบียนบัตรประชาชน
และข้อมูลสถานะส่วนบุคคลของกรมการปกครองไปให้บริการ กับสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้โครงการของเครดิตบูโร
บริการข่าวออนไลน์ หรือ News online เป็นบริการข้อมูลวงการข่าวออนไลน์ทางอินเทอร์เน็ต
รวบรวมจากหนังสือพิมพ์กว่า 15 ฉบับทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ มาตั้งแต่ปี
2533
บริการนี้แต่เดิมจะเชื่อมโยงกับฐานข้อมุลของบริการ bingo ของบีโอแอล ในลักษณะของการเป็นบริการเสริมเพิ่มเติมในการสืบค้นข่าวเกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียน
ให้สามารถสืบค้นข่าวย้อนหลังได้ 10 ปี
สิ่งที่เออาร์จะทำต่อไป ก็คือ การแยกบริการ News online ที่เคยเป็นบริการเสริม
ที่อยู่ภายใต้บริการบิงโก ให้แยกออกมาเปิดเป็นผลิตภัณฑ์ และนำออกขายแก่ลูกค้าทั่วไป
"เวลานี้เราอยากจะเปิด mass มากขึ้น แทนที่องค์กรจะต้องมาตัดข่าว
เรามีข่าวที่ย้อนหลังไปสิบกว่าปี จริงๆ แล้ว เป็นธุรกิจดั้งเดิม เพียงแต่เทคโนโลยีมันสุกงอมพอดี"
รวมทั้งจัดแคมเปญร่วมกับเอสวีโอเอ แจกพีซีคอมพิวเตอร์พร้อมพรินเตอร์ ให้กับผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตของเอเน็ต
จำนวน 100 ชั่วโมง และแคมเปญลุ้นเงินรางวัล 1 ล้านบาท นับเป็นการร่วมมือทางธุรกิจที่เป็นรูปธรรมที่ปรากฏต่อภายนอก
ว่าไปแล้ว การขยายตัวของเออาร์ เป็นสิ่งที่เกิดจากการเรียนรู้ และทำความ
เข้าใจในโลกธุรกิจของแจ็ค ที่ทำให้เขาให้ความสำคัญในการสร้างสัมพันธ์กับผู้บริหารในองค์กรขนาดใหญ่
ความสัมพันธ์ในระดับบุคคล ที่แจ็คมีต่อผู้บริหารในสถาบันการเงินหลาย แห่ง
รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ ที่เคยเป็นลูกค้า นับเป็นสิ่งที่เกื้อกูลให้กับแจ็คและกลุ่มเออาร์ของเขาได้ในเวลาต่อมา
นอกเหนือไปจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งใกล้ชิดกับตระกูลวิริยะประไพกิจ
มาตั้งแต่ต้น และเปิดโอกาสให้แจ็คได้มีโอกาสใกล้ชิดผู้บริหารระดับกลางหลายคนในนั้น
ซึ่งต่อมาผู้บริหารหลายคนในจำนวนนั้นก็ได้มีบทบาทสำคัญในสถาบัน การเงินหลายแห่งในเวลานี้
วิชิต ญาณอมร รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวถึงแจ็คไว้ว่า "ในแง่ของเอสวีโอเอ
ต้องนับว่าเป็นยุคใหม่ของเขา ในการที่จะกลับมาได้อีกครั้ง ส่วนเออาร์เองก็น่าจะเติบโตไปได้ดี
เพราะเขาจับไอทีเป็นหลัก ทำข้อมูลกรมทะเบียนการค้า แนวทางนี้มันเป็นอนาคต
เป็นสิ่งที่จะเติบโตต่อไป"
ธนาคารไทยพาณิชย์ จึงได้ชื่อว่า เป็นสถาบันการเงินอีกแห่งที่มีความใกล้ชิดกับแจ็ค
ก่อนหน้านี้เคยลงทุนร่วมกับเอสวีโอเอในธุรกิจบางประเภทมาแล้ว หนึ่งในนั้นก็คือ
การลงทุนในสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ที่เอสวีโอเอได้เข้าไปถือหุ้นแต่ได้ขายให้กับกลุ่มเนชั่นไปแล้ว
ล่าสุดก็คือการลงทุนร่วมกัน เพื่อเปิดบริษัท ACERTS ทำธุรกิจด้านความปลอดภัย
ในการทำธุรกรรมบนอินเทอร์เน็ต โดยจะมีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลนิรภัย ขึ้นที่อาคารเอสวีโอเอ
จะใช้เงินลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท ทุนจดทะเบียน 65 ล้านบาท เออาร์ถือหุ้น
90% ธนาคารไทยพาณิชย์ถือหุ้น 10%
การได้สถาบันการเงินเข้ามาร่วม เท่ากับเป็นการการันตี ในแง่ของความเชื่อถือให้กับ
ธุรกิจทางด้านรักษาความปลอดภัยบนอินเทอร์เน็ตได้อีกทางหนึ่ง นอกเหนือไปจากในเรื่อง
ของเทคโนโลยี
นอกเหนือจากโครงการดังกล่าวแล้ว ธนาคารไทยพาณิชย์ และเอสวีโอเอ ยังได้เตรียมลงขันเปิดศูนย์คอมพิวเตอร์
ในการปรับปรุงศูนย์คอมพิวเตอร์ของธนาคารพาณิชย์ เพื่อนำมาให้บริการศูนย์ข้อมูล
"Datacenter outsourcing" เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าองค์กรทั่วไป
ที่ไม่ ต้องการลงทุนจัดตั้งศูนย์คอมพิวเตอร์ของตัวเอง มาใช้ศูนย์คอมพิวเตอร์ดังกล่าว
ธนาคารไทยพาณิชย์จะต้องโอนศูนย์คอมพิวเตอร์ไปอยู่ในส่วนของบริษัทร่วมทุน
ที่จะมีผู้ถือหุ้น 3 ฝ่าย คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ เอสวีโอเอ และเจ้าของเทคโนโลยีจากต่างชาติ
จากนั้นคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณ 500 ล้านบาทสำหรับการลงทุนทั้งหมด ลูกค้าที่ใช้บริการ
จะเป็นองค์กรธุรกิจ เช่น ซีพีออเรนจ์ เป็นหนึ่งในลูกค้าที่จะมาใช้บริการ
"เหมาะสำหรับองค์กรที่ไม่ต้องการลงทุนตั้งศูนย์คอมพิวเตอร์เป็นของตัวเอง
ในแง่ของแบงก์เองก็ประหยัดต้นทุนที่ต้องใช้จ่ายดูแลศูนย์คอมพิวเตอร์ไปได้ปีละเป็น
100 ล้าน บาท" วิชิตเล่า
ความจำเป็นที่ธนาคารต้องหันมาโฟกัสที่ธุรกิจหลัก ที่เป็นเรื่องของธุรกรรมการให้บริการของธนาคาร
ตัดธุรกิจที่ไม่เกี่ยวเนื่อง หรือไม่จำเป็นออก เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินงานลงมากที่สุด
จึงเป็นโอกาสสำหรับเอกชน ที่ได้โอกาสเหล่านี้
"สุดท้ายแล้วแบงก์จะไม่ต้องการไอที ไม่ต้องการเกี่ยวข้องกับการค้าขาย
เขาต้องหาพาร์ตเนอร์ ใครทำงานชิ้นนี้ได้ดีกว่า ถูกกว่า เขาก็เลือกคนนั้น
เรื่องอะไรเราจะไปแข่ง เราก็จับเขามาเป็นพันธมิตรมาทำร่วมกัน นี่คือโอกาสที่เรามองเห็น"
แจ็คบอก
หากย้อนไปถึงการรุกเข้าสู่บริการข้อมูลออนไลน์ของเออาร์ ก็เริ่มต้นด้วยการจับมือกับธนาคาร
โดยแจ็คก็ได้ดึงเอาธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทย เข้ามาร่วมลงขันในธุรกิจให้บริการข้อมูลบริษัทจดทะเบียนออนไลน์
ที่ได้สัมปทานจากกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยได้ถอนหุ้นออกไป
ยังคงเหลือธนาคารกรุงเทพที่ถืออยู่ 8%
การดึงเอาธนาคารเข้ามาลงทุนร่วม ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากธนาคาร เป็นธุรกิจที่มีความจำเป็นต้องใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ
และจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และฐานข้อมูลที่สำคัญในอนาคต
กรณีของโครงการ Credit Bureau ซึ่งเป็นโครงการในการจัดทำข้อมูลให้กับสถาบันการเงิน
ที่จะใช้ตรวจสอบเกี่ยวกับเครดิตของบุคคล และองค์กรที่เป็นลูกค้าของสถาบันการเงินก็เช่นกัน
ผลจากการ ตื่นตัวของการใช้ข้อมูลในการตัดสินใจของเมืองไทย หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจเป็นต้นมา
ก็ได้เป็นโอกาสทำให้กลุ่มเออาร์ได้รับเลือกในการเข้าไปร่วมในโครงการศูนย์ข้อมูลเครดิต
การเข้าไปอยู่ในโครงการที่มีความสำคัญต่อกลไกของสถาบันการเงิน จึงนับได้
ว่าเป็นการ "ต่อยอด" ธุรกิจให้กับกลุ่มเออาร์
"หลังจากทำบีโอแอลได้พักใหญ่ แบงก์ชาติมีแนวคิดที่จะทำเครดิตบูโร
เพราะต้องการให้ใช้ข้อมูลในการตรวจสอบเกี่ยวกับบุคคล และองค์กร เพราะเป็นช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ
เลยมาติดต่อบีโอแอล" พัชราเล่า
ศูนย์ข้อมูลเครดิต ริเริ่มขึ้นโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ต้องการให้ธนาคารพาณิชย์
สร้างมาตรฐานในการแลกเปลี่ยน และใช้ฐานข้อมูลลูกค้าร่วมกันสำหรับ ใช้ในการตรวจสอบการอนุมัติเครดิตแก่ลูกค้าเดียวกัน
โดยจะมีธนาคารพาณิชย์ 13 แห่งที่อยู่ภายใต้สมาคมธนาคารไทยเป็นโครงการนำร่อง
ช่วงแรกธนาคารชาติ ทำเป็นโครงการ ทดลองเริ่มจากข้อมูลที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องส่งมาให้กับแบงก์ชาติก่อน
หรือเรียกว่า (อินเทอร์ริม เครดิตบูโร) โดยได้มอบหมายให้สมาคมธนาคารไปดำเนินการ
ซึ่งก็ได้เปิด ประมูลคัดเลือกเอกชนที่จะมาทำหน้าที่ประมวลข้อมูลดังกล่าว
"ตอนนั้นแบงก์ชาติมองว่า งานประมวลผลข้อมูลควรจะต้องหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามา
ส่วนบริษัทข้อมูลเครดิตกลาง ทำ แค่บริหารลูกค้า ให้ความสะดวกในการใช้ข้อมูล"
หลังจากทดลองระบบที่บีโอแอล ซึ่งได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ประมวลผลได้ทำการทดลอง
ไปได้พักใหญ่ แบงก์ชาติก็ได้มีการอนุมัติให้จัดตั้งเป็นบริษัทข้อมูลเครดิตกลาง
ซึ่งถือหุ้นโดยธนาคารพาณิชย์ 13 แห่ง ให้มาถือหุ้น 50% บีโอแอลถือหุ้น 25%
ที่เหลือ 25% ถือโดยบริษัท TransUnion
"เขาไม่อยากให้มาเก็บเงินอย่างเดียว อยากให้เรามีส่วนได้เสีย เพราะต้องลงทุนด้วย
เงินทุนจดทะเบียน 100 กว่าล้านบาท 25% ทำให้เรามีข้อผูกพัน จะสำเร็จหรือไม่
คุณมีส่วนด้วย" พัชราเล่า
บีโอแอล และบริษัท TransUinon จะอยู่ในส่วนของผู้ถือหุ้นด้านเทคนิค ซึ่งจะรับหน้าที่
ในการ set up ระบบ ที่ต้องเป็นมาตรฐานสากล โดยจะต้องสามารถเชื่อมโยงกับเครือข่ายทั่วโลก
การมีพันธมิตรที่เป็นบริษัทให้บริการข้อมูลข้ามชาติอย่าง Dun & Bradstreet
ช่วยได้มากสำหรับการทำโครงการเครดิตบูโร เพราะเป็นเรื่องที่ใหม่มากสำหรับเมืองไทย
จำเป็นต้อง อาศัยความรู้ และประสบการณ์ของบริษัทข้ามชาติที่มีประสบการณ์มาช่วย
เครือข่ายธุรกิจ และประสบการณ์ของ Dun & Bradstreet ช่วยได้มาก Dun
& Bradstreet ยังเป็นผู้ติดต่อดึงเอา TransUnion ซึ่งชำนาญผู้ให้บริการข้อมูลเครดิตส่วนบุคคลเข้ามาร่วมในโครงการ
เนื่องจาก Dun & Bradstreet ชำนาญข้อมูลของธุรกิจองค์กร ได้เคยร่วมมือกับ
TransUnion มาแล้วในหลายประเทศ
ความรู้และประสบการณ์ทั้งสอง นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการรับเป็นผู้ทำโครงการ
เครดิตบูโร ในแง่มุมของเออาร์เอง ทั้ง Dun & Bradstreet และบริษัท TransUnion
จะเป็นพันธมิตรสำคัญที่จะเกื้อกูลต่อธุรกิจบริการข้อมูล จากเครือข่ายธุรกิจของทั้งสองที่มีอยู่ทั่วโลก
"ในอนาคตเมื่อกฎหมายเปิด เราจะ link ข้อมูลทั่วโลกได้ และตรวจสอบบริษัทที่มีเครือข่ายในต่างประเทศ"
ที่มาของรายได้ในโครงการเครดิตบูโร จะมาจากการเก็บทรานแซกชั่นที่ธนาคารเรียก
ใช้บริการข้อมูล แต่โอกาสของเออาร์มีมากกว่านั้น
เมื่อสถาบันการเงินจำเป็นต้องใช้ข้อมูลในการใช้ตรวจสอบเครดิต และเห็นความจำเป็นในการใช้ข้อมูล
โอกาสที่เออาร์จะนำเสนอบริการข้อมูลออนไลน์ย่อมมีมากขึ้น
พัชรายอมรับว่า การเข้าร่วมโครงการเครดิตบูโร ทำให้เออาร์กรุ๊ป มีความน่าเชื่อถือในธุรกิจบริการข้อมูลทางด้านการเงิน
มากขึ้น และยังเป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้ กับธุรกิจ
"ช่วยให้บริษัทเกิดความน่าเชื่อถือใน การประมวลผลข้อมูล ทำให้ลูกค้ามองเห็นข้อมูลที่ถูกต้อง
เราได้ในแง่ของ "ชื่อ" ประสบ การณ์"
ธุรกิจที่ถูกขยายผลต่อเนื่องจากโครงการเครดิตบูโร ก็คือ การเป็นตัวกลางในการจัดวางเครือข่ายเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลให้
กับสถาบันการเงิน ในโครงการของเครดิตบูโรในการนำข้อมูลทะเบียนราษฎร ที่กรมการปกครองจัดเก็บด้วยคอมพิวเตอร์
ไปใช้ตรวจสอบข้อมูลของบุคคลของผู้ที่มาขอเครดิต
"สถาบันการเงินจะได้ตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคล หากมีอะไรผิดพลาดจะได้แก้ไขได้ก่อนที่ข้อมูลจะถูกส่งไปที่บริษัทข้อมูลเครดิตกลาง"
ปกติแล้ว ข้อมูลทะเบียนราษฎร จะให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป ในการตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคลออนไลน์ผ่านเว็บไซต์
โดยที่เจ้าของข้อมูลจะต้องเป็นผู้ตรวจสอบข้อมูลด้วยตัวเองเท่านั้น ซึ่งกรมการปกครอง
จะมีรหัสส่วนบุคคลให้กับประชาชนทุกราย ยกเว้นจะได้รับการยินยอมจากเจ้าตัว
บุคคล อื่นๆ จึงจะเข้าไปดูข้อมูล
ที่ผ่านมา กรมการปกครองได้มีการอนุญาตให้หน่วยงานราชการประมาณ 40 กว่าแห่งในการนำข้อมูลทะเบียนราษฎรไปใช้ประโยชน์ภายในหน่วยงาน
เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินงาน การอนุมัติให้ เออาร์ในครั้งนี้ จะเป็นเอกชนรายแรกที่ได้รับอนุมัติ
เงื่อนไขที่เออาร์ได้รับ ก็คือ จะต้องนำข้อมูลไปบริการแก่สถาบันการเงิน
ที่เป็นสมาชิกของโครงการเครดิตบูโรเท่านั้น เนื่อง จากการอนุมัติให้ข้อมูลแก่กลุ่มเออาร์ของกรมการปกครองในครั้งนี้
เป็นลักษณะของการให้ความร่วมมือแก่โครงการเครดิตบูโร
เออาร์จะอยู่ในฐานะของตัวกลางที่จะต้องเป็นผู้เชื่อมโยงเครือข่าย ในการ
link ข้อมูลทะเบียนราษฎรจากกรมการปกครอง ไปให้กับสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกของเครดิตบูโรในการตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคล
ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
"เราจะทำให้ธนาคารสามารถใช้ประโยชน์ในการตรวจสอบข้อมูลของลูกค้า บุคคล
เพื่อที่ว่าธนาคารจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง หากมีอะไรผิดพลาดก็จะแก้ไขตั้งแต่ต้นทาง
ไม่ต้องแก้ข้อมูลกลับไปมา"
รายได้ของเออาร์จะมาจากค่าบริการ ที่เก็บจากสถาบันการเงินในการเรียกดูข้อมูล
โดยที่เออาร์จะต้องพัฒนาโปรแกรมข้อมูลเพื่อให้ลูกค้าเรียกดูได้ง่ายๆ
"เราติดต่อกับแบงก์อยู่แล้ว ผ่านการให้บริการของบีโอแอล หรืออะไรก็แล้วแต่
ไม่มีปัญหาที่เราจะเพิ่ม link อีกจุดหนึ่งให้ เขาและสามารถตรวจสอบข้อมูลผ่านทางออนไลน์"
พัชราบอกถึงขั้นตอนหรือวิธีของการทำงาน
เออาร์ก็มีบริการอินเทอร์เน็ต และบริการรักษาความปลอดภัยในการทำธุรกรรม
บนอินเทอร์เน็ต ภายใต้บริษัท ACERTS ทั้งสองส่วนจะเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน
ที่จะทำให้ลูกค้าที่เป็นสถาบันการเงินเหล่านี้เรียกดูข้อมูลทะเบียนราษฎรในการตรวจสอบ
ได้แล้ว บริการข้อมูลจากบีโอแอล ก็จะถูกนำเสนอให้กับลูกค้าเหล่านั้น เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ข้อมูลอื่นๆ
ที่จะถูกขยายผลต่อไป นั่นคือ โอกาสที่เออาร์จะต้องแสวงหาต่อไป
การได้รับการเกื้อกูลจากธนาคารนับได้ว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับตัวแจ็คและ
เออาร์ นอกจากธนาคารจะเป็นลูกค้าหลักที่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ
นอกจากนี้ธนาคารเองยังเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญ และเป็นฐานในการต่อยอดทางธุรกิจ
ขบวนการทางความคิดในการดึงข้อมูลจากหน่วยงานราชการในภาคต่างๆ มาสร้างมูลค่าเพิ่มเหล่านี้
เกิดขึ้นจากจุดเริ่มต้นของธุรกิจข้อมูลของเมืองไทย ที่ยังขาดกฎเกณฑ์และกติกาที่แน่ชัด
การขอความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ เพื่อนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้อมูล
ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เออาร์ได้เคยทำมาแล้วกับข้อมูลของบุคคลล้มละลายและ ขายทอดตลาดผ่านทางอินเทอร์เน็ต
(court online) ทำมา 3-4 ปี โดยเป็นข้อมูลจากกรมบังคับ คดี กระทรวงยุติธรรม
มีอายุสัญญา 20 ปี
"ข้อมูลของกรมบังคับคดี เขาต้องการเปิดเผยอยู่แล้ว ใครบ้างเป็นคนล้มละลายและ
ทรัพย์สินต้องถูกขายทอดตลาด"
สิ่งที่เออาร์ทำก็คือ นำข้อมูลจากกรมบังคับคดี มาเป็นบริการเสริมด้วยการเชื่อมโยง
กับฐานข้อมูลของบริการ bingo ซึ่งเป็นบริการหลักของบีโอแอล
"เรามองว่ามันเสริมกันได้ เช่น เข้าไปใน bingo เพื่อตรวจสอบบริษัทแห่งหนึ่ง
และยังสามารถตรวจสอบต่อไปว่า บริษัทนี้ล้มละลายหรือเปล่า"
แม้ว่าการรุกขยายไปยังธุรกิจออนไลน์ของกลุ่มเออาร์จะดำเนินไปอย่างเข้มข้นแต่ใน
อีกด้านหนึ่ง แจ็คก็ได้ขยายธุรกิจในฝั่งของสิ่งพิมพ์ออกไปทั้งในแนวกว้างและแนวลึก
นับตั้งแต่ต้นปีนี้เป็นต้นมา บริษัท A.R.Information & Publication (ARip)
มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ และสร้างกิจกรรมในการจัดงานแสดงสินค้าอย่างต่อเนื่อง
(ดูตารางเส้นทางธุรกิจสิ่งพิมพ์)
ก้าวรุกที่สำคัญกว่านั้น ก็คือ การออกหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ภาษาไทย "บิสิเนสไทย"
ที่มุ่งเน้นไปที่เนื้อหาข่าวทางด้านการตลาด การจัดการธุรกิจเป็นหลัก แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่เออาร์จำเป็นต้องเรียนรู้ใหม่
"การทำนิตยสาร ไม่เหมือนกับการทำหนังสือพิมพ์ เราต้องเรียนรู้ใหม่หมดทุกอย่าง
ทำอย่างไรจึงจะอยู่รอดด้วยตัวเอง เป้าหมายของเราไม่ต้องการเป็นผู้หญิงที่สวยที่สุดในโลก
ขอเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น" วิโรจน์บอก
ทีมงานหลักของบิสิเนสไทย เป็นผู้สื่อข่าวที่มีประสบการณ์ในการทำหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจมาแล้วเป็นส่วนใหญ่
และเป็นทีมงานขนาดกะทัดรัด ด้วยงบประมาณการลงทุน 10 ล้านบาท ถือว่าน้อยมากสำหรับการทำหนังสือพิมพ์
แม้ว่าจะมีเป้าหมายอยู่ที่การวิ่งมาราธอน ก็ตาม
แจ็คย้ำเสมอว่า เขาไม่ต้องการเป็นศัตรูกับใคร เนื้อหาส่วนใหญ่ของบิสิเนสไทย
จะมุ่งไปที่เรื่องของการตลาด และมุ่งในเรื่องของการใช้ประโยชน์จาก "ข้อมูล"
เกี่ยวกับวิจัยต่างๆ โดยอาศัยฐานข้อมูลที่เออาร์ให้เป็นประโยชน์
"เรามองว่า ธุรกิจสิ่งพิมพ์ช่วงนี้น่าสนใจ เพราะราคากระดาษตกลงจาก
630 เหรียญต่อตัน เวลานี้เหลือแค่ 400 เหรียญ คู่แข่งรายสัปดาห์หายไป เรามาโฟกัสตรงนี้
เราเป็นมิตรกับทุกคนได้ ไม่ต้องแข่งกับใคร เรามีฐานข้อมูล ทำในมุมมองของเรา"
วิโรจน์ย้ำ
การไม่ได้วางตัวเป็น "คู่แข่ง" กับใคร ทำให้หนังสือพิมพ์บิสิเนสไทย
ไม่ต้องเป็นเป้าโจมตี หรือถูกตอบโต้จากกลุ่มธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่อยู่มาก่อน
ซึ่งมีประสบการณ์ และฐานกำลังที่มากกว่า แม้ว่าหลายแห่งจะลดความมั่งคั่งลงไปแล้วก็ตาม
และการวางตำแหน่งตัวเองในลักษณะนี้ ยังช่วยทำให้เออาร์สามารถอาศัยเครือข่ายช่องทางจำหน่าย
และทีมโฆษณาจากธุรกิจสิ่งพิมพ์เดิมเป็นฐานในการเข้าสู่ตลาด
แจ็คบอกว่า การทำแมกกาซีน หรือหนังสือพิมพ์ธุรกิจ นับเป็นส่วนหนึ่งของกระบวน
การสร้าง content ที่จะมุ่งไปที่ลูกค้าระดับ mass เป็นฐานลูกค้าในระดับกว้าง
เช่น กลุ่มนักธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (sme) ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงกลุ่มลูกค้าองค์กร
และสถาบัน การเงินเท่านั้น
และแจ็ครู้มากไปกว่านั้น ว่านี่คือ สิ่งที่น่าเกรงขามสำหรับสังคมไทย แม้ว่าในเวลานี้เขายังดูแปลกแยกอยู่ก็ตาม
เป้าหมายของแจ็ค ไม่ใช่อยู่ที่ธุรกิจบริการข้อมูลออนไลน์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
แต่ คือ การเป็นเจ้าของอาณาจักร "สื่อ" สิ่งพิมพ์ และนี่คือความพยายามของการเข้าสู่กระบวน
การเรียนสังคมไทยในเชิงลึก
ดังนั้นเป็นเรื่องจำเป็นที่แจ็คจะต้องเปิดตัวอีกครั้งในการกลับมาครั้งนี้
ด้วยภาพความ ยิ่งใหญ่ ทำให้อาณาจักรธุรกิจที่ถูกแตกขยายออกไปอย่างมากมายมีค่ามีราคาในสายตาของคนภายนอก
เพราะธุรกิจข้อมูลเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ยังจับต้องไม่ได้
ภายใต้ภาพอาณาจักรธุรกิจที่ครอบคลุมทั้งธุรกิจบริการข้อมูล ธุรกิจช่องทางจัดจำหน่าย
ธุรกิจสิ่งพิมพ์และการศึกษาฝึกอบรม ธุรกิจให้บริการที่ปรึกษา ที่ครอบคลุมกิจการมากมายเหล่านี้
แจ็คบอกว่า ในท้ายที่สุดแล้ว เขาจะมุ่งไปที่ธุรกิจ 2 ส่วน ส่วนที่เป็นเรื่องของเทคโนโลยี
หรือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางด้านไอทีให้กับสังคมและสร้างอุตสาหกรรม เป็นส่วนของเอสวีโอเอ
"เราเรียกส่วนนี้ว่า กระดูกสันหลัง"
ธุรกิจตัวที่สอง การสร้าง "หัวสมอง" ในความหมายของแจ็ค ก็คือ
การสร้าง "เนื้อหา" หรือ content ที่จะเกื้อกูลกับธุรกิจ การขายฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่อยู่ในฝั่งของเอสวีโอเอ
"ถ้ามีกระดูกสันหลังจะไม่มีความหมายเลย ถ้าขาดส่วนของสมอง" แจ็คบอก
นัยตามความหมายของแจ็คก็คือ จึงอยู่ที่การสร้าง content จะเป็นเป้าหมายหลักที่สำคัญมากกว่าการขายคอมพิวเตอร์
แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่จำเป็น ในแง่ของการสร้าง ตัวเลขรายได้
นั่นเพราะแจ็คเองก็รู้ดีว่า ธุรกิจค้าคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ หรือแม้แต่ซอฟต์แวร์
ไม่ใช่ธุรกิจที่จีรัง เพราะนับวันจะมีแต่กำไรจะลดลงเรื่อยๆ
"เมื่อก่อนขายพรินเตอร์ตัวเป็นแสนได้กำไร 20-30% ทุกวันนี้ขายพรินเตอร์ได้ตัวละ
2,500 บาท กำไรแค่ 5% แถมประสิทธิ ภาพยังดีกว่าด้วย"
แรงขับดันเหล่านี้ ยังเป็นผลมาจากตัวเลข รายได้ส่วนใหญ่ของธุรกิจในเวลานี้
แม้ว่าจะยังคงมาจากการขายเครื่องคอมพิว เตอร์เป็นหลักก็ตาม แต่ตัวเลขผลกำไรที่เพิ่มขึ้นกลับมาจากธุรกิจเนื้อหา
"ยอดขาย content เอาแค่พันล้านบาทก็พอแล้ว เพราะ กำไรคุณสูงกว่ากันเยอะ"
ทว่า ธุรกิจ content ในความหมายของแจ็ค ไม่ได้อยู่แค่การนำเอาข้อมูลมาแปร
สภาพให้อยู่ในรูปของไฟล์ดิจิตอล เพื่อให้ข้อมูลออนไลน์ได้เท่านั้น แต่ต้องแปรให้เป็น
information เพื่อที่ธุรกิจจะใช้ประโยชน์ได้จริง จากนั้นจะต้องเปลี่ยนให้เป็น
knowledge นั่น หมายถึง การแปรไปสู่กระบวนการของการขาย "ความรู้"
ที่จะเป็นสิ่งที่มีมูลค่าทางธุรกิจ ที่จะถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง
"เวลานี้คุณต้องจ้างใครก็ไม่รู้มาชี้นั่น ชี้นี่ ก็ต้องจ่าย 300 ล้านบาท
ธนาคารก็ต้องจ่ายอย่างนี้ เขาบอกเขาซื้อ knowledge ที่มองไม่เห็น เพราะเขาไม่มีประสบการณ์
จึง ต้องจ้างคนมาทำให้"
ความเคลื่อนไหวทั้งหมดของเขาตลอดช่วงที่ผ่านมา ก็คือ การสร้างเวทีของเนื้อหาที่จะโฟกัสไปที่เนื้อหา
3 ด้านหลักๆ คือ ทางด้านไอที ไฟแนนเชียลและ manage-ment and marketing ทั้งสามส่วนนี้คือ
ปริ-มณฑลของเนื้อหาที่จะเป็นเป้าหมายหลักของ เขาต่อไป
"สิ่งที่ผมทำคือ เนื้อหาที่เป็นท้องถิ่น และโฟกัสที่ 3 ส่วนนี้เท่านั้น
นอกเหนือจากนั้นผมไม่ทำ ถ้ามีคนอื่นเก่งกว่าทำให้คนทั่วโลกใช้ได้เขาก็ทำไป
แต่เมื่อไรต้องการเนื้อหา ท้องถิ่น คุณต้องมาหาผม"
แจ็คยอมรับว่า เมืองไทยเวลานี้อยู่แค่ในขั้นของการสร้าง data เท่านั้น
และสำหรับเออาร์ ก็อยู่ในขั้นของการแปรจาก content ให้มาเป็นข้อมูลในรูปของ
information ยังไม่ได้ไปถึงเป็นการสร้างภูมิปัญญา knowledge "คิดว่าอีก
2-3 ปี เราจะเข้าสู่ตัวสุดท้าย"
สิ่งที่แจ็คทำมาทั้งหมดนี้จะเหมือนกับภาพธุรกิจที่ดูยิ่งใหญ่ แต่ก็ยังเปรียบเสมือนเป็น
การจัดวาง "ของ" ที่ยังไม่เข้าที่เข้าทาง ยังไม่สามารถเชื่อมโยงทางความคิดที่เป็นแก่นแท้ของธุรกิจ
หรือได้รับการยอมรับของคนในวงการระดับกว้าง รวมถึงทีมงานส่วนใหญ่ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับเท่าที่ควร
การดำเนินงาน และ Knowhow ส่วนใหญ่ยังจำเป็นต้องพึ่งพาบริษัทข้ามชาติเป็นหลัก
รวมทั้งสัญญาสัมปทานข้อมูลที่ได้รับก็ยังมีความอ่อนไหวหรืออาจโดนโจมตีได้ง่าย
หรืออาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ภาพฝันเหล่านี้จึงอาจต้องใช้เวลามากในการพิสูจน์ความสำเร็จ
ที่สำคัญ แจ็คเองยังต้องเผชิญกับความเร้าใจในการทำธุรกิจที่เป็นเรื่องของการเรียนรู้ใหม
่ที่ไม่เหมือนกับประสบการณ์เกือบ 18 ปีที่ผ่านมาของเขา
ในฐานะของ "คนนอก" การข้ามพรมแดนไปสู่อิทธิพลของสังคมไทยในระดับลึก
เป็นเรื่องของการสร้างเนื้อหา (content) หรือซอฟต์แวร์ และเป็นเรื่องของธุรกิจ
"สื่อ" ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย หากเขาผ่านตรงนี้ไปได้โอกาสที่จะเดินต่อไปย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย
ต้องยอมรับว่าแจ็คยังไม่มีประสบการณ์ที่ลึกซึ้งมากพอที่จะบริหารธุรกิจที่มีความสลับ
ซับซ้อน ซึ่งไม่หมือนกับประสบการณ์ในเรื่องการขายของเหมือนในอดีต
สิ่งที่แจ็คทำ จึงเป็นความฝันที่ไม่ง่ายเลย แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามสำหรับคนคน
หนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็น "คนนอก" ที่สร้างตัวเองขึ้นมาจากศูนย์
กับคำถามที่เขาต้องเผชิญต่อจากนี้