หากจะกล่าวถึงเชื้อพระวงศ์กัมพูชาที่มีบทบาทในวงการเมืองของกัมพุชประเทศแล้ว
แน่นอนว่าชื่อ (หรือพระนาม) แรกที่ทุกคนจะนึกถึงย่อมไม่พ้นการกล่าวถึง สมเด็จเจ้านโรดม
สีหนุ กษัตริย์ที่ทรงปรีชาสามารถในการดำเนินกุศโลบาย ทั้งในทางการเมืองในประเทศและการเมืองระดับประเทศ
แต่จะมีใครสักกี่มากน้อยที่รู้จัก และจดจำบทบาทของเจ้านโรดม รณฤทธิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่หนึ่ง
ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาของกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่เกิดเหตุการณ์นองเลือดในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม
2540 อันเป็นผลทำให้นโรดม รณฤทธิ์ มีสภาพเป็นเพียงนายกรัฐมนตรีพลัดถิ่น
กล่าวได้ว่าวิบากกรรมที่ทำให้ นโรดม รณฤทธิ์ สามารถแสดงบทบาททางการเมืองระหว่างประเทศ
ด้วยการเรียกร้องให้นานาประเทศกล่าวประณามการกระทำของฮุน เซน ซึ่งในทัศนะของ
พระองค์เห็นว่าเป็นการก่อรัฐประหารในครั้งนั้น เป็นปฐมเหตุที่ทำให้เกิดหนังสือ
Warrior Prince เล่มนี้ขึ้นมา
แม้ว่า Warrior Prince : Norodom Ranariddh, Son of King Sihanouk of Cambodia
ซึ่งเขียนและเรียบเรียงโดย Harish Chandra Mehta จะดำเนินไปท่าม กลางความพยายามที่จะส่งเสริมพระเกียรติ
นโรดม รณฤทธิ์ ในฐานะที่เป็นเจ้าชายที่พยายามต่อสู้บนเส้นทางทางการเมืองกัมพูชา
แต่ด้วยเหตุที่อาศัยข้อมูลจากการสนทนาในช่วงหลังเกิดเหตุการณ์ ทำให้ข้อความในหนังสือเล่มนี้จำนวนไม่น้อยเต็มไปด้วยกลิ่นอายของความรู้สึกชิงชัง
และกล่าวโทษการกระทำของ ฮุน เซน ซึ่งในขณะนั้นมีฐานะเป็นศัตรูต่อกันอย่างชัดแจ้ง
ความสดใหม่ของข้อมูลที่ผู้เขียนได้รับในห้วงเวลานับเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี
1997 ต่อเนื่องถึงกลางปี 1998 ส่งผลให้ข้อความใน หนังสือเล่มนี้ส่วนใหญ่ดำเนินไปภายใต้ความ
รู้สึกทั้งฮึกเหิมและท้าทายความชอบธรรม ของรัฐบาลกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแม้จะ
เป็นการท้าทายจากที่หลบซ่อนอันแสน สบาย ทั้งในบ้านเช่าซอยสวนพลูในกรุงเทพฯ
หรือบ้านพักใน Aix-en-Provence ในประเทศฝรั่งเศส แต่ก็เพียงพอ ที่จะทำให้
Harish Chandra Mehta นิยาม ความหาญกล้าดังกล่าว ไปสู่การตั้งชื่อหนังสือว่า
Warrior Prince
Harish Chandra Mehta ที่เคยฝากผลงานเกี่ยวกับกัมพูชามาแล้วอย่างน้อยสองเล่ม
คือ Cambodia Silenced เรื่องราวการต่อสู้ของสื่อสารมวลชนท่ามกลางบรรยากาศอึมครึมทางการเมือง
และ Hun Sen : Strongman of Cambodia งานเขียนในแนวชีวประวัติที่สะท้อนเรื่อง
ราวและแง่มุมของ ฮุน เซน ที่ได้ชื่อว่าเป็น ผู้ทรงอำนาจและอิทธิพลทางการเมืองของกัมพูชาอย่างแท้จริงตลอดหลายปีที่ผ่านมา
จากภูมิหลังที่คร่ำหวอดในสนามข่าวกัมพูชามาเนิ่นนาน ย่อมทำให้ Harish Chandra
Mehta ไม่ใช่มือใหม่ในเรื่องกัมพูชา แต่เขาอาจจะยังไม่รู้จักหรือเข้าใจ ครอบครัวนโรดมนี้ดีพอ
ความข้อนี้ดูจะเห็นได้อย่างชัดเจน ยิ่งขึ้น โดยในการเปิดตัวหนังสือซึ่งจัดขึ้น
ในประเทศไทย เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา แม้จะมีกำหนดการและนัดหมายเป็นมั่นเหมาะ
ด้วยการเชิญเจ้านโรดม รณฤทธิ์ มาเป็นเกียรติในการแถลงข่าว แต่ครั้นเมื่อถึงเวลาที่นัดหมาย
กลับปรากฏมีรายการไม่มาตามนัด ภาย ใต้เหตุผลที่ไม่แน่ชัดนัก
บรรยากาศที่ได้รับการเตรียมไว้สำหรับการยอพระเกียรติ เจ้าชายนักรบผู้กล้าหาญจึงกลายเป็นเพียงการวิเคราะห์
ปมอดีตในวัยเยาว์ ของเจ้าชายซึ่งโหยหา ความรักความเอาใจใส่จากเจ้านโรดม สีหนุผู้เป็นพระราชบิดา
ไปเสียสิ้น
ความพยายามที่จะนำเสนอเรื่องราวของเจ้านโรดม รณฤทธิ์ อย่างรอบด้านใน Warrior
Prince กลับแสดงให้เห็น ถึงเงาร่างที่ชัดเจนของเจ้านโรดม สีหนุ ซึ่ง เจ้านโรดม
รณฤทธิ์ ไม่อาจสลัดหลุด อีก ทั้งเรื่องราวของสีหนุ ยังมีแง่มุมให้ศึกษาทำความเข้าใจอย่างหลากหลายกว่ามาก
Harish Chandra Mehta พยายามแสวง หาเหตุผลมาอธิบายถึงการปฏิเสธการเข้าร่วมงานเปิดตัวหนังสือของเจ้านโรดม
รณฤทธิ์ ในลักษณะที่เขาเองไม่ได้รู้สึกแปลกใจ เพราะข้อความในหนังสืออาจ "จริงเกินไป"
โดยระบุว่า เรื่องราวต่างๆ ที่เขาได้นำเสนอนั้น too true story ซึ่งอาจระคายเคืองต่อความสัมพันธ์ในรัฐบาลกัมพูชา
ความพยายามที่จะรักษาหน้าของตัวเองของ Harish Chandra Mehta ดังกล่าว กลับส่งผลในทางลบต่อหนังสือที่เขาเขียนอย่างช่วยไม่ได้
เพราะเขาเองก็ตระหนักดีว่าเรื่องราวมากมายที่พร่างพรูออกจากการบอก เล่าของ
นโรดม รณฤทธิ์ เป็นเพียงความจริง ที่แสนจะลวง และพฤติกรรมของเจ้ารณฤทธิ์
ในหลายช่วงหลายตอนในบทต่างๆ ในหนังสือเล่มนี้ ก็ได้ชี้ชัดถึงความกลวงแบบเจ้า
ไว้หมดสิ้น
ไม่ว่าจะเป็นอาการพร่ำบ่นถึงความสูญเสียทางทรัพย์สินที่เจ้ารณฤทธิ์ได้รับหรือ
การแสดงอาการไม่พึงพอใจจากปฏิกิริยาสนองตอบของประชาคมนานาชาติ ที่ไม่ค่อย
ให้ความสนใจไยดีต่อข้อเรียกร้องในช่วงหลัง วิกฤติ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นไปในลักษณะที่แสดงให้เห็นถึงความด้อยวุฒิภาวะ
ซึ่งถูกระบุว่า childish อีกด้วย
ความไม่สามารถที่จะรับผิดชอบต่อท่าทีและการกระทำเมื่อครั้งอดีต จนเป็นเหตุต้องระงับการเข้าร่วมงานเปิดตัว
หนังสือดังกล่าว เพราะเกรงจะกระทบ กระเทือนต่อความรู้สึกของฮุน เซน ส่งผล
ให้สถานะของเจ้านโรดม รณฤทธิ์ ลดต่ำ ลงจากการเป็นเจ้าผู้อาจหาญ (Warrior
Prince) เหลือเพียงการเป็นเจ้าผู้เต็มไปด้วยความกังวล (worried prince) เท่านั้น
กระนั้นก็ดี Warrior Prince : Norodom Ranariddh, Son of King Sihanouk
of Cambodia ยังเป็นหนังสือที่ผู้สนใจเรื่องราวความเป็นไปในกัมพูชาควรจะได้
อ่าน เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจถึงมูลเหตุแห่งความเสื่อมถอยของเชื้อพระวงศ์ในกัมพูชา
ซึ่งย่อมเป็นกรณีศึกษาที่มีค่าไม่น้อยในอนาคต