เมื่อศาลสถิตยุติธรรมแห่งสวิตเซอร์ แลนด์สั่งให้ ISMM Group ล้มละลายเมื่อกลาง
เดือนพฤษภาคม 2544 ผลกระเทือนมิได้มีต่อ ธุรกิจการกีฬาเท่านั้น หากยังมีผลกระทบอย่าง
สำคัญต่อ FIFA องค์กรโลกบาลแห่งกีฬาฟุตบอล อีกด้วย
ISMM ซึ่งเป็นชื่อย่อของ International Sports Media and Marketing เป็นกลุ่มบริษัทที่ประกอบธุรกิจด้านสื่อ
การกีฬา (Sports Media) และการตลาดการกีฬา (Sports Marketing) ทั้งระดับโลกและระดับภูมิภาค
เจ้าของ ISMM Group คือ ISMM Invest- ments AG มีฐานที่มั่นอยู่ที่เมือง
Zug ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ISMM ยึดยุทธศาสตร์ Total Integration ด้วยการผสานธุรกิจ สื่อการกีฬา ธุรกิจการตลาดการกีฬา
และธุรกิจการออกใบอนุญาต ผนวก กับการวิจัยด้านการกีฬา และบริการเสริมอื่นๆ
ISMM แสดงความมุ่งมั่น ที่จะเป็น World Leader ในธุรกิจเหล่านี้
อาณาจักร ISMM Group ก่อเกิดและเติบโตด้วยผลงานของ ฮอร์สต์ แดสเลอร์ (Horst
Dassler, 1936-1987) ผู้ยิ่งใหญ่และผู้กว้างขวาง ในธุรกิจการตลาดกีฬา ข้อเท็จจริงปรากฏว่า
เกือบจะไม่มีองค์กร โลกบาล ด้านการกีฬาองค์กรใดที่แดสเลอร์มิได้มีความสัมพันธ์ด้วย
และเกือบจะ ไม่มีผู้บริหารองค์กรกีฬาโลกคนใดไม่รู้จักแดสเลอร์
Adidas ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมรองเท้านักกีฬาเป็นฐานธุรกิจ ดั้งเดิมของแดสเลอร์
ตระกูลแดสเลอร์ผลิตรองเท้า ณ เมือง Herzoge-naurach ประเทศเยอรมนีเป็นเวลาช้านาน
แต่แล้วเกิดแตกแยกด้าน ความคิดและผลประโยชน์ในชนรุ่นพ่อของฮอร์สต์ แดสเลอร์
ความขัดแย้ง ภายในครอบครัวดังกล่าวนี้ ยังผลให้ธุรกิจรองเท้าของครอบครัวแตกเป็น
สองส่วน รูดอล์ฟ แดสเลอร์ (Rudolf Dassler) ผู้เป็นลุงยึดครองยี่ห้อ Puma
อันเป็นเครื่องหมายการค้าดั้งเดิมของครอบครัวอดอล์ฟ แดสเลอร์ (Adolf Dassler)
ผู้เป็นพ่อแยกมาผลิตรองเท้ายี่ห้อAdidas ซึ่งมีฐานมาจากชื่อ ของพ่อนั่นเอง
เพราะใครๆ ก็เรียกชื่อเล่นผู้เป็นพ่อว่า Adi
ในตลาดรองเท้านักกีฬา Adias แข่งขันกับ Puma รวมทั้ง รองเท้ายี่ห้อระดับโลกอื่นๆ
แต่น้อยคนนักที่จะทราบว่าทั้งสองยี่ห้อ มีรากฐานมาจากครอบครัวเดียวกัน แม้ในภายหลัง
Adidas จะเติบ ใหญ่เป็นยี่ห้อระดับโลก แต่ยังคงสถานะเป็นธุรกิจในครอบครัว
โดย ตระกูลแดสเลอร์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จุดเปลี่ยนผันสำคัญเกิดขึ้นในทศวรรษ
2500 เมื่อฮอร์สต์ แดสเลอร์ ขยายกิจการของ Adidas ข้ามพรมแดน จากแคว้น Bavaria
ประเทศเยอรมนีไปสู่เมือง Landersheim ประเทศ ฝรั่งเศส
ตลอดระยะเวลาที่ Adidas เติบใหญ่นี้ ฮอร์สต์ แดสเลอร์ มิได้กุม บังเหียนการบริหาร
จวบจนบิดามารดาถึงแก่กรรมในปี 2528 เขาจึงยึด ตำแหน่งประธานบริษัท แต่อยู่ในตำแหน่งได้เพียงสองปีเศษก็ถึงแก่กรรม
ด้วยเหตุที่ Adidas โลดแล่นอยู่ในธุรกิจรองเท้าและอุปกรณ์กีฬา แดสเลอร์จำเป็นต้องสร้างสายสัมพันธ์กับองค์กรกีฬาและผู้บริหารองค์กร
กีฬาต่างๆ ทั้งนี้เพื่อผลประโยชน์ด้านธุรกิจ ในเวลาต่อมา แดสเลอร์กระโดด
ขึ้นสู่สังเวียนการเมืองขององค์กรกีฬาเหล่านั้นและถีบตัวขึ้น มาเป็น 'ผู้นำ
ทางการเมือง' ในองค์กรกีฬาหลายต่อหลายองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณะกรรมการโอลิมปิกสากลและ
FIFA แดสเลอร์มีส่วนช่วยเกื้อกูลให้ Jaoa Havelange ดำรงตำแหน่งประธาน FIFA
และ Juan Antonio Samaranch ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล
การฝังตัวอยู่ในวงการกีฬา ทำให้แดสเลอร์มองเห็นและเข้าใจ ลักษณะ 'ความเป็นสินค้า'
ของการกีฬา อีกทั้งมองเห็นช่องทางใน การแสวงหารายได้จากกระบวนการแปรการกีฬาให้เป็นสินค้า
ยิ่งเมื่อ เทคโนโลยีการถ่ายทอดโทรทัศน์รุดหน้ามากเพียงใด การแข่งขันกีฬา
ณ สถานที่หนึ่งสามารถถ่ายทอดสู่ปริมณฑลอื่นได้มากเพียงนั้น หาก กีฬาที่แข่งขันมีผู้ชมชื่นชอบจำนวนมาก
ความเป็นสากลของกีฬานั้น ย่อมเกื้อกูลการหาประโยชน์ทางธุรกิจ การจัดการแข่งขันกีฬาระดับสากล
แม้ต้องอาศัยเงินทุนจำนวนมาก แต่มิใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพราะ สามารถหารายได้จากสปอนเซอร์และจากการขายสิทธิการถ่ายทอด
โทรทัศน์โดยไม่ยากนัก
ในปี 2525 ฮอร์สต์ แดสเลอร์ ก่อตั้งบริษัท ISL Worldwide เพื่อประกอบธุรกิจการตลาดกีฬา
ISL เป็นคำย่อของ International Sports and Leisure ในระยะแรกเริ่มเน้นการประกอบธุรกิจการตลาดกีฬาเป็น
ด้านหลัก เรียงลำดับจากการแข่งขันกีฬาระดับสากล ระดับภูมิภาค และ ระดับประเทศ
ยุทธวิธีดังกล่าวนี้ให้ความสำคัญกับขนาดของตลาด ในขณะที่ การแข่งขันกีฬาระดับสากลมีโลกทั้งโลกเป็นตลาดการแข่งขันกีฬาระดับ
ภูมิภาคและระดับประเทศ ตลาดมีขนาดเล็กลงมา
ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลที่ฮอร์สต์ แดสเลอร์ มีกับ Jaoa Havelange และ Juan
Antonio Samaranch เกื้อกูลให้ ISL World-wide ยึด FIFA และโอลิมปิกสากลเป็นฐานธุรกิจสำคัญ
ISL Worldwide ประสบความสำเร็จในการยึดกุมธุรกิจการตลาดของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก
ถึง 5 สมัย และการแข่งขันฟุตบอลโลกของ FIFA 4 สมัย
ISL Worldwide มิได้พอใจแต่เพียงผลประโยชน์ที่ได้จากการ จัดการด้านการตลาดของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและการแข่งขันฟุตบอล
โลกเท่านั้น หากแต่ต้องการขยายฐานธุรกิจออกไปอย่างกว้างขวางด้วย การขยายธุรกิจเข้าไปจัดการด้านการตลาดของการแข่งขันกีฬาระดับโลก
อื่นๆ จึงเป็นยุทธศาสตร์ปฐมฐานของ ISL Worldwide การขยายธุรกิจ การตลาดกีฬาเป็นไปอย่างรวดเร็วในระหว่างปี
2540-2543 ครอบคลุมกีฬา หลากหลายประเภทนับตั้งแต่บาสเกตบอล วอลเลย์บอล ยิมนาสติก
กรีฑา การแข่งรถ ว่ายน้ำ รักบี้ และเทนนิส ในการนี้ ISL Worldwide ต้องสร้างสายสัมพันธ์กับผู้บริหารองค์กรโลกบาลด้านการกีฬา
มิจำเพาะ แต่ FIFA (Federation Internationale de Football Association)
หาก ยังรวมถึง FINA (Fedration Internationale de Natation Amateur) องค์กรโลกบาลของกีฬาว่ายน้ำ
FIG (Federation Internationale de Gymnastique) องค์กรโลกบาลของกีฬายิมนาสติก
FIBA (Federation International de Basketball Association) องค์กรโลกบาลของกีฬาบาส
เกตบอล IAAF (International Amateur Athletic Federation) องค์กร โลกบาลของกีฬากรีฑา
เป็นต้น ยุทธวิธีสำคัญในการเจาะองค์กรโลกบาล ด้านการกีฬาเหล่านี้ ซึ่งยึดถือปฏิบัติมาตั้งแต่ยุคสมัยที่ฮอร์สต์
แดสเลอร์ ยังมีชีวิตอยู่ก็คือ การช่วยเหลือเกื้อกูลและส่งเสริมให้บุคคลสำคัญในองค์กร
เหล่านี้สามารถยึดกุมตำแหน่งบริหารที่สำคัญต่อไปได้ นอกจากนี้ การจ่าย ค่าน้ำร้อนน้ำชาก็เป็นวัฒนธรรมปกติของ
ISL Worldwide ด้วย
ISL Worldwide เมื่อยึดกุมธุรกิจการตลาดของการแข่งขันกีฬา ระดับโลกได้แล้ว
ก็หันไปยึดกุมธุรกิจเดียวกันของการแข่งขันกีฬาระดับ ภูมิภาค ดังเช่นการแข่งขันฟุตบอลระหว่างชาติในยุโรป
Euro 2000 การ แข่งขันรักบี้ฟุตบอลยุโรป European Rugby Cup และการแข่งขัน
Asian Games เป็นต้น แล้วจึงรุกต่อไปในการยึดกุมธุรกิจการตลาดของการแข่งขัน
กีฬาระดับประเทศดังเช่นการแข่งขันฟุตบอลในสาธารณรัฐประชาชนจีน (CFA Chinese
Football Team) และฮ่องกง (Hong Kong Football League) การแข่งขัน Big Ten
US College Sports สำหรับอเมริกาใต้ ISL Worldwide เข้าไปหากินกับสโมสรฟุตบอลยักษ์ใหญ่
ดังเช่น สโมสร Flamengo และสโมสร Gremio
เมื่อพิจารณาการดำเนินธุรกิจของ ISL Worldwide จะเห็นได้ว่า ยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจเรียงลำดับจากการแข่งขันกีฬาระดับโลกไปสู่
ระดับภูมิภาคและระดับประเทศ ซึ่งเป็นการเรียงลำดับจากธุรกิจการตลาด ที่มีฐานผลประโยชน์กว้างใหญ่ไพศาลไปสู่ธุรกิจที่มีฐานผลประโยชน์แคบ
เมื่อ ISL Worldwide ขยายฐานธุรกิจด้านการตลาดกีฬาจนเกือบ อิ่มตัวแล้ว
ก็เริ่มขยายฐานไปสู่ธุรกิจประเภทอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้าน การสื่อสาร กระนั้นก็ตาม
การกระจายธุรกิจของ ISL Worldwide ยังคง สัมพันธ์กับธุรกิจแกน อันได้แก่
ธุรกิจการตลาดกีฬา (Related Diversi-fication) การขยายธุรกิจดังกล่าวนี้ยังผลให้
ISL Worldwide แปรโฉมเป็น ISMM Group โดยที่ ISL Worldwide ยังคงเป็นเรือธงของกลุ่ม
ก่อนการล้มละลายในเดือนพฤษภาคม 2544 ISMM Group มี สำนักงานนอกสวิตเซอร์แลนด์รวม
20 แห่ง กระจัดกระจายในประเทศ ต่างๆ รวม 14 ประเทศ แต่กระจุกอยู่ในยุโรปถึง
12 สำนักงาน (ไม่รวม สำนักงานใหญ่) โดยที่มีพนักงานรวมทั้งสิ้น 450 คน (ดูตารางที่
1)
ISMM Group ประกอบด้วยบริษัทลูกรวม 5 บริษัท ได้แก่
(1) ISL Worldwide
(2) CPG Copyright Promotions Group
(3) Sponsorship Research International (SRi)
(4) en-linea
(5) Orad Hi-Tec Systems Ltd.
ISL Worldwide ประกอบด้วยบริษัทลูก 5 บริษัท (ดูตาราง ที่ 2) ISL Marketing
ประกอบธุรกิจการตลาดกีฬา ISL Television ประกอบธุรกิจการจัดจำหน่ายสิทธิการถ่ายทอดโทรทัศน์
ISL Production ทำหน้าที่ผลิตรายการกีฬาทางโทรทัศน์ ISL Licensing รับจ้างจัดการ
ระบบการออกใบอนุญาตธุรกิจการตลาดกีฬา และ ISL Hospitality รับจ้างจัดระบบการบริการผู้ชมกีฬา
ดังเช่นบริการอาหารและเครื่องดื่ม ในสนามกีฬา บริการเต็นท์ที่พัก ฯลฯ
CPG Copyright Promotions Group ก่อตั้งในปี 2517 แต่ ถูก ISMM Group เข้าไปครอบในปี
2542 ประกอบด้วยบริษัทลูก 2 บริษัท (ดูตารางที่ 2) Leisureview Ltd. ประกอบธุรกิจบริการให้เช่า
VDO นับเป็นธุรกิจที่มีเครือข่ายมากที่สุดในสหราชอาณาจักรบริษัท หนึ่ง The
Copyright Promotion Licensing Group PLC ซึ่งเป็นฐาน ธุรกิจเดิมประกอบธุรกิจการออกใบอนุญาตให้ใช้สิทธิการใช้สัญลักษณ์
โลโก หรือตัวละครไปประกอบธุรกิจเชิงพาณิชย์
Sponsorship Research International (SRi) ให้บริการการ วิจัยการตลาดกีฬา
สำรวจการใช้จ่ายด้านสปอนเซอร์การกีฬาสำรวจ จำนวนผู้ชมการแข่งขันกีฬารายการสำคัญ
สำรวจความพอใจของ ผู้บริโภคที่มีต่อสินค้ากีฬาประเภทต่างๆ ฯลฯ SRi ทำให้
ISMM Group แตกต่างจากธุรกิจการตลาดกีฬาอื่นๆ เพราะบริษัทอื่นมิได้สนใจ ให้บริการด้านการวิจัย
en-linea Inc. ก่อตั้งในปี 2538 ภายหลังจากที่ประสบความ สำเร็จในการสร้างและจัดการ
International Information Sites ทาง Internet ให้แก่การแข่งขันฟุตบอลโลก
ปี 2537 en-linea Inc. ประกอบ ธุรกิจ 2 สาย (ดูตารางที่ 2) สายหนึ่ง ได้แก่
การพัฒนา Computer Software เพื่อขาย อีกสายหนึ่ง ได้แก่ บริการรับจ้างสร้างและพัฒนา
web sites รวมทั้งจัดระบบ Interactive Network Systems ให้แก่ องค์กรกีฬาต่างๆ
ดังเช่น FIFA On-Line, AFC Net (web site ของ Asian Football Confederation)
CONMEBOL On-Line (web site ของ South American Football Confedration) ฯลฯ
en-linea รับจ้างสร้าง web sites สำหรับการแข่งขันกีฬาเฉพาะรายการด้วย ดัง
เช่น 1996 European Football Championship, 1998 Central American Games,
1998 CONCACAF Gold Cup, 1999 Rugby World Cup เป็นต้น ISMM Group เพิ่งเข้าไปครอบ
en-linea ในปี 2541
Orad Hi-Tec Systems Ltd. ก่อตั้งในปี 2536 สำนักงานใหญ่ อยู่ในเมือง Kfar
Saba ประเทศอิสราเอล โดยที่มีสำนักงานในสหรัฐอเมริกา และเยอรมนีด้วย Orad
ประกอบธุรกิจด้าน Virtual Imaging Techno-logy และร่วมอยู่ในเครือข่ายพันธมิตร
Virtual Imaging Alliance (VIA) ซึ่งมีผู้ประกอบการรายสำคัญเพียง 5 ราย อันได้แก่
ISL, Orad, PVI (Princeton Video Imgae), Symah Vision และ Global Sportnet
Orad พัฒนาเครื่องมือสำหรับการถ่ายทอดโทรทัศน์ ดังเช่นCyberSport ซึ่งเกื้อกูลการถ่ายภาพย้อนกลับ
(Replay) ประกอบกับ ภาพกราฟิกอันช่วยให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่ผู้บรรยายการแข่งขันและผู้ชม
ภาพที่ CyberSport เสริมเข้าไปในจอทีวีเป็นภาพเสมือนจริงที่ทำให้ผู้ชม เข้าใจว่าเป็นภาพที่เกิดขึ้นในสนามแข่งขัน
Virtual Replay เป็นเครื่องมือ ที่ช่วยให้เห็นการแข่งขันในแง่มุมต่างๆ SporTrack
เป็นเครื่องมือที่ช่วย ให้เห็นตำแหน่งแห่งหนของผู้เล่นแต่ละคน Digital Replay
เป็นเครื่องมือ ที่เกื้อกูลการวิเคราะห์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ Horse
Track เป็น เครื่องมือที่เกื้อกูลการวิเคราะห์การแข่งม้า ฯลฯ
ดังนี้จะเห็นได้ว่า ISMM Group ประกอบธุรกิจอันหลากหลาย นับตั้งแต่ธุรกิจการตลาดกีฬา
การวิจัยตลาดกีฬาและสปอนเซอร์ไปจนถึง เทคโนโลยีการถ่ายทอดการแข่งขันกีฬา
การเติบใหญ่ของ ISMM Group ดูน่าเกรงขาม แต่แล้วศาลแห่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์
กลับสั่งให้ ISMM Group ล้มละลายเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2544 เนื่องจากหนี้สินมีมาก
กว่าทรัพย์สิน โดยที่มีมูลหนี้สูงประมาณ 1,000 ล้านฟรังก์สวิส (560 ล้าน
ดอลลาร์อเมริกัน)
คำถามที่ผุดขึ้นในใจผู้คนที่อยู่ในโลกกีฬา ก็คือเกิดอะไรขึ้นกับ ISMM Group
เหตุใด ISMM Group จึงล้มละลาย
ISMM Group เติบโตรวดเร็วจนเกินไปการกระจายประเภท ธุรกิจเพิ่งจะเกิดขึ้นหลังปี
2540 ทั้งการซื้อหุ้นเพื่อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ของ en-linea Inc. ในเดือนกรกฎาคม
2541 และการซื้อ Copyright Promotions Group PLC. ในเดือนมกราคม 2542 ซึ่งใช้เงินถึง
21.2 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง
การขยายตัวของธุรกิจการตลาดกีฬาอย่างฮวบฮาบนับเป็น อีกสาเหตุหนึ่งที่นำมาซึ่งการล่มสลายของอาณาจักร
ISMM Group การ เข้าไปประมูลเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการจัดการด้านการตลาดกีฬาของกีฬา
หลากหลายประเภท (ดูตารางที่ 3) ด้วยการให้หลักประกันรายได้ขั้นต่ำ (Minimum
Income Guarantee) โดยที่รายได้ขั้นต่ำดังกล่าวนี้สูงเกิน กว่าศักยภาพที่
ISMM Group จะหาได้ สร้างปัญหาทางการเงินแก่ ISMM Group ในขั้นรากฐาน ISMM
Group ต้องการทะลวงเข้าไปในกีฬา เทนนิส อันเป็นฐานผลประโยชน์ของ IMG คู่แข่งรายสำคัญ
จึงต้อง ทำตัวเป็น 'เจ้าบุญทุ่ม' เริ่มต้นด้วยการประมูลสิทธิการจัดการด้านการ
ตลาดของการแข่งขันเทนนิสทีมหญิงชิงถ้วย Federation Cup (สัญญา ระยะ 5 ปี)
จาก ITF (International Tennis Federation) ในเดือน เมษายน 2542 ตามมาด้วยการทำสัญญากับ
ATP (Association of Tennis Professionals) ในเดือนเดียวกัน สำหรับสิทธิการจัดการด้าน
การตลาดของการแข่งขัน ATP Tour และ Super 9 Tournament (สัญญาระยะเวลา 10
ปี) ISMM Group สัญญาที่จะจ่ายเงินให้ ATP สูงถึง 1,200 ล้านดอลลาร์อเมริกัน
แต่สัญญาดังกล่าวนี้มิได้ครอบคลุม สิทธิในการจัดการด้านการตลาดของการแข่งขัน
Grand Slam Tournament อันเป็นรายการการแข่งขันเทนนิสยอดนิยม
การเจาะตลาดฟุตบอลละตินอเมริกามิได้ให้ผลตอบแทนทาง ธุรกิจตามที่คาดหวัง
ISMM Group โดย ISL Worldwide ทุ่มเงินเพื่อ ให้ได้มาซึ่งการจัดการด้านการตลาดของสโมสรฟุตบอลยักษ์ใหญ่ของ
บราซิล 2 สโมสร อันได้แก่ Club de Regatas do Flamengo (ธันวา คม 2542) และ
Gremio Futebol Porto Alegrense (กันยายน 2543)
การจัดการด้านการตลาดของกีฬารถแข่งที่ ISL Worldwide ทำกับ CART (Championship
Auto Racing Teams) มิได้ให้ผล ตอบแทนตามที่คาดหวังเช่นกัน สัญญาระยะ 10
ปี ซึ่งลงนามในเดือน มิถุนายน 2541 (ดูตารางที่ 3) ถูกบอกเลิกในเดือนกุมภาพันธ์
2544 การบอกเลิกสัญญาของ ISMM Group ทำให้ CART เสียหาย จนมี การดำเนินคดีทางแพ่ง
ในขณะที่ ISMM Group ไม่ประสบความสำเร็จในการกัด เซาะฐานธุรกิจของ IMG
แต่ IMG กลับประสบความสำเร็จในการ แย่งชิงผลประโยชน์จาก ISMM Group ด้วยการได้สิทธิการถ่ายทอด
โทรทัศน์การแข่งขันโอลิมปิก Seoul 1988 และ Atlanta 1996 ทั้งนี้เนื่องจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากลไม่พอใจผลงานของ
ISMM Group เพราะไม่สามารถดึง McDonald's และ Coca Cola มาเป็น สปอนเซอร์ได้
แม้ ISMM Group จะเป็นยักษใหญ่ในธุรกิจการตลาดและ สื่อสารการกีฬา แต่ยังคงสภาพเป็นธุรกิจในครอบครัว
เมื่อฮอร์สต์ แดสเลอร์ ถึงแก่กรรมในปี 2530 ธุรกิจนี้ก็ตกอยู่ในมือลูกสาว
ISMM Group เคยคิดจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2543 (Financial Times,
March 30, 2001) แต่แล้วก็เลิกล้มความคิด นับตั้งแต่ปลายปี 2543 ISMM Group
เผชิญปัญหาสภาพคล่อง การเงินไม่ลื่นไหล การ บริหารติดขัดไปหมดทุกอย่าง จนท้ายที่สุด
ไฮนส์ เชอร์เต็นเบอร์เกอร์ (Heinz P.Schurtenberger) หัวหน้าพนักงานบริหาร
(CEO) ขอลาออก จากตำแหน่ง เนื่องจากมีความเห็นขัดแย้งกับเจ้าของบริษัทในประเด็น
ยุทธศาสตร์ของบริษัท ISMM Group ดิ้นรนจะออกพันธบัตร เพื่อระดม เงินมาแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่อง
ทั้งนี้โดยใช้รายได้จากการจัดการ ด้านการตลาดของการแข่งขันฟุตบอลโลกมาหนุนหลังพันธบัตรที่นำออก
ขาย แต่ เซ็ปป์ แบล็ตเตอร์ (Sepp Blatter) ประธาน FIFA ไม่ยอม เออออห่อหมกด้วย
ครั้นเมื่อ ISMM Group ล้มละลายแล้ว FIFA กลับงัดแผนการออกพันธบัตรมาใช้
เรื่องนี้ทำให้สมาชิกในตระกูล แดสเลอร์แค้นเคืองแบล็ตเลอร์เป็นอันมาก
ISMM Group พยายามร้องขอต่อศาลเพื่อประวิงกระบวน การล้มละลาย แต่เมื่อไม่สามารถดึง
Vivendi Group และ Bertelsmann มาช่วยยืดชีวิตบริษัทได้ ISMM Group ก็ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่
21 พฤษภาคม 2544 ตามคำสั่งศาลแห่งสวิตเซอร์แลนด์