ถึงแม้ว่าบริการข้อมูลทางโทรศัพท์มือถือในไทย
จะยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก แต่เมื่อมาถึงเทคโนโลยี GPRS แล้ว ทั้งผู้ให้บริการ
และผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ ก็เริ่มมองเห็นโอกาสทำเงินกับบริการอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือขึ้นมาบ้าง
การขับเคลื่อนเข้าสู่ระบบ GPRS ที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ทั้งเอไอเอสและ
ดีแทคที่จะเปิดให้บริการต้นเดือนตุลาคมนี้ ส่ง ผลให้เมืองไทยขยับไปอยู่อันดับต้นๆ
ของการ เป็นผู้ให้บริการที่อยู่กึ่งกลางระหว่างโทรศัพท์ มือถือ และอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่แบบเต็มรูปแบบ
ความโดดเด่นของเทคโนโลยี GPRS อยู่ที่วิธีการส่งข้อมูลเป็นแพ็กเกจสวิตช์
ซึ่งจะส่งผลให้อัตราความเร็วในการส่งข้อมูลเพิ่ม ขึ้นเป็น 4 เท่า จากที่เคยทำได้
9.6 กิโลไบต์ เพิ่มเป็น 56 กิโลบิตต่อวินาที ถึง 115 กิโลบิตต่อวินาที
ผลที่จะเกิดขึ้นก็คือ การสื่อข้อมูลในรูปแบบใหม่ๆ เช่น มัลติมีเดีย และแอพพลิเคชั่นที่
ต้องการแสดงข้อมูลมากๆ ที่เคยเป็นแค่แนวคิดจะเริ่มเป็นจริงเป็นจังขึ้น
ข้อดีของเทคโนโลยีแพ็ก เกจสวิตช์ การที่ผู้ใช้สามารถเชื่อมต่อเข้าสู่อินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา
"always on" ไม่ต้องหมุนเลขหมายทุกครั้งที่เรียกดูข้อมูล แต่การเชื่อมอยู่ตลอดเวลานี้ไม่ได้หมายความว่า
อัตราค่าบริการจะสูงขึ้น แต่ยังส่งผลให้ค่าบริการถูกลงจากเดิม เนื่อง จากการคิดค่าบริการตามปริมาณของข้อมูล
ไม่ได้คิดจากแอร์ไทม์เหมือนกับในอดีต
"เปรียบเสมือนการส่งจดหมาย เมื่อส่งจดหมายไป 1 ครั้งจะคิดเฉพาะจดหมายที่ส่งไปเท่านั้น"
สมประสงค์ บุญยะชัย ประธานกรรมการบริหารสายธุรกิจสื่อสารไร้สาย บอก
ด้วยคุณสมบัติระบบ GPRS จึงถูกคาดหมายว่า เทคโนโลยีจะช่วยอุดช่องว่างที่เป็นจุดอ่อนของระบบ
WAP ยังมีขั้นตอนที่สลับซับซ้อน และการส่งข้อมูลยังล่าช้าอยู่มาก ไม่ได้รับความนิยมจากผู้ใช้จะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น
งบประมาณ 100 กว่าล้านบาทของเอไอเอส ได้ถูกใช้ไปกับการลงทุนในการให้บริการ
GPRS ในระยะแรก จะครอบคลุมการ ให้บริการในเขตกรุงเทพฯ และพื้นที่ข้างเคียง
และจังหวัดใหญ่ๆ ของประเทศ เช่น เชียง ใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ ชลบุรี
ถึงแม้ว่า ในระยะแรกเอไอเอสจะไม่ได้ คาดหวังรายได้ที่จะเกิดจากระบบ GPRS
เพราะถือเป็นช่วงของการลงทุน และยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้บริโภคชาวไทย
แต่นี่คือ จุดเริ่มของการสร้างบริการใหม่ๆ ที่บริการใน อดีตไม่สามารถทำได้
โดยเฉพาะการรับ-ส่งข้อมูลในรูปแบบของ "มัลติมีเดีย" ที่จะเริ่มเห็นผลอย่างจริงจัง
ภาพของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่ใช้ระบบ GPRS ที่สามารถค้นหาตู้เอทีเอ็ม
ร้านอาหาร ปั๊มน้ำมัน หรือห้างสรรพสินค้า ในบริเวณใกล้เคียง จากหน้าจอโทรศัพท์มือถือจะเริ่มให้บริการ
หรือที่เรียกว่า Location Base Service ซึ่งเป็นหนึ่งในบริการ m Close2me
ที่เอไอเอสพัฒนาขึ้น มาเพื่อรองรับกับระบบ GPRS
การส่งอีเมลด้วยประโยคสั้นๆ จะพัฒนาไปสู่การส่งไฟล์ข้อมูลในลักษณะของการ
Attach mail รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับโปรโม ชั่น หรือรายการส่งเสริมการขาย
ที่จะส่งไป ยังผู้ใช้ในระหว่างการเคลื่อนที่ผ่านไปยังบริเวณร้านค้านั้นๆ
ตั้งอยู่ หรือ m Discount
ทั้งนี้ จะต้องขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือ ที่จะรองรับกับการรับข้อมูลที่เป็นรูปภาพ
หรือภาพกราฟิกได้มากน้อยเพียงใด
บริการที่เกิดจากระบบ GPRS เป็นบริการที่เอไอเอสพยายามสร้างขึ้น เพื่อให้ครอบคลุม
5 C ทั้งในเรื่อง content commu-nication commerce community รวมทั้งการใช้งานทางด้านขององค์กร
coperate ที่จะนำไปใช้งานลักษณะของ mobile office
อย่างไรก็ตาม เอไอเอส และผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ยังมีเรื่องท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า
เนื้อหา content ที่ต้องตรงใจผู้ใช้ คุณภาพของเนื้อหา ความยากง่ายในการใช้งาน
เพื่อที่จะทำให้การส่งข้อมูลผ่านเครือข่าย GPRS ไปยังอุปกรณ์ปลายทาง อย่างพีดีเอ
หรือโน้ตบุ้คให้สามารถใช้งานได้อย่างเห็นผล ยังเป็นเรื่องที่ต้องรอพิสูจน์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความเข้าใจให้กับผู้บริโภค
สิ่งที่เอไอเอสต้องพยายามมากกว่า นั้น ก็คือ การพัฒนาบริการให้เห็นขีดความสามารถของระบบ
GPRS เพื่อให้เห็นถึงข้อแตกต่างของบริการเนื้อหาในรูปแบบเดิมๆ และนี่ก็คือที่มาของการพัฒนาบริการ
"video streaming" ตามมาตรฐานของ MPEG 4 เป็น การร่วมมือระหว่างเอไอเอส
ไอทีวี สำนักงาน รอยเตอร์ และชินนี่ เพื่อนำเสนอภาพข่าว และเนื้อหาในแบบ
video ที่ให้ผู้ใช้อุปกรณ์ พ็อกเกตพีซี เรียกดูภาพข่าวที่เป็นวิดีโอ กำหนดของบริการนี้คือช่วงต้นปี
2545
สำหรับดีแทค ผู้ให้บริการรายนี้ได้อาศัยจังหวะของการขยายเครือข่ายให้ครอบ
คลุมการให้บริการทั่วประเทศ ลงทุนติดตั้งระบบ GPRS ไปในคราวเดียวกัน เป็นผลให้บริการ
GPRS ของดีแทค สามารถให้บริการได้ทั่วประเทศ แทนที่จะเป็นแค่จังหวัดใหญ่ๆ
เท่านั้น แต่ดูเหมือนว่าครั้งนี้ดีแทคยังไม่รีบร้อนมากนักสำหรับบริการ
อย่างไรก็ตาม ดีแทคเองมองเห็นถึงขีดความสามารถของระบบ GPRS ที่เปรียบ เสมือนเป็นอินเทอร์เน็ตบนอากาศ
ที่จะทำให้ นักท่องเว็บหันมาใช้ประโยชน์จากโทรศัพท์มือถือได้ แทนที่จะเป็นจากหน้าจอพีซีได้เพียง
อย่างเดียว
"ระบบ GPRS ทำให้โทรศัพท์มือถือ เป็นโมเด็มในตัวที่จะทำให้เครื่องปาล์ม
และโน้ตบุ๊ค เรียกเข้าอินเทอร์เน็ตได้ด้วยความ เร็วที่ใช้เหมือนกับโมเด็มปกติ"
ธนา เธียรอัจฉริยะ ผู้อำนวยการพัฒนาธุรกิจ Conver-gence Group บริษัทแทคบอก
แต่ดูเหมือนว่า ในช่วงแรกดีแทคยังไม่เห็นความจำเป็นต้องรีบร้อนกับการพัฒนา
เนื้อหาใหม่ๆ เพื่อให้เห็นความแตกต่างจากระบบ WAP การลงทุนระบบ GPRS จึงเป็น
การยกระดับในเรื่องของ "เนื้อหา" ที่จะไปถึง มือผู้ใช้ได้เร็วขึ้นและถูกลงมากกว่าจะเป็น
การสร้างเนื้อหาใหม่ๆ
บริการรูปแบบใหม่ๆ เช่น Location base ซึ่งเป็นบริการที่เพิ่มขึ้นจากขีดความสามารถของระบบ
GPRS ยังอยู่ระหว่างขั้นของการทดลอง
การแบ่งรายได้ระหว่างผู้พัฒนาเนื้อหา และผู้ให้บริการจะเกิดขึ้นได้จริงจากความเร็ว
และอัตราค่าบริการที่ถูกลง ซึ่งจะเป็นตัวช่วยผลักดันให้ผู้พัฒนาเนื้อหาหันมาให้ความสนใจที่จะพัฒนาเนื้อหามากขึ้น
บริการ GPRS จะเป็นทางเลือกหนึ่ง ที่นอกเหนือไปจากบริการ WAP และ SMS ที่จะให้บริการข้อมูลทางโทรศัพท์มือถือได้เช่นกัน
ในแง่มุมของธนาแล้ว ความสำเร็จของบริการข้อมูลทางโทรศัพท์มือถือ ไม่ได้ขึ้น
อยู่กับขีดความสามารถของเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะบางครั้งบริการส่งข้อความอย่าง
sms ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีมา 2 ปีแล้ว แต่กลับเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นและทำรายได้ให้กับผู้ให้บริการ
และเจ้าของ content อย่างเป็นจริงเป็นจัง
ดังเช่นกรณีของการให้บริการดาวน์โหลด ring tone หรือเสียงเพลงเรียกเข้าของโทรศัพท์มือถือ
ที่ดีแทคร่วมกับบริษัทแกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ ที่เก็บค่าบริการเพลงละ
10 บาท และเป็นการแบ่งรายได้ระหว่าง ดีแทคและแกรมมี่คนละครึ่ง
"บางทีมันก็ดูตื่นเต้น" ธนาบอก ในแง่มุมของธนาแล้ว ยังเร็วเกินไปที่จะคาดหวัง
รายได้จากเทคโนโลยีของ GPRS หากผู้ใช้ยังมีทางเลือกอื่นๆ