อดีต deal maker ของกลุ่มสามารถที่ผันตัวเองมาเป็นผู้บุกเบิกให้กับนอร์เทล
เน็ทเวิร์คส์ก่อนหน้านี้ คนส่วนใหญ่รู้จักเขาในฐานะมืออาชีพของกลุ่มสามารถ
แต่วันนี้ ทอมเปลี่ยนมาสวมหมวกใบใหม่ ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทนอร์เทล
เน็ทเวิร์คส์ ประเทศไทยรับผิดชอบสาขาในไทย กัมพูชา พม่า เวียดนาม
ผู้บริหารวัย 35 ปีผู้นี้ ใช้ชีวิตในสหรัฐ อเมริกามาตั้งแต่วัยเด็กกับครอบครัวที่ย้ายไป
ตั้งรกรากที่นั่น ทอมใช้ภาษาอังกฤษได้ดีพอกับภาษาไทย
ทอมจบการศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรัฐแคลิฟอร์เนีย เคยได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการการพัฒนาทรัพยากร
และจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัย UCLA ปัจจุบันกำลังศึกษาระดับปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ
จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หลังเรียนจบทอมบินกลับมาใช้ชีวิตในไทยเริ่มงานกับกลุ่มสามารถในยุคของชาญชัย
จารุวัสตร์ อดีตผู้บริหารไอบีเอ็ม
ประสบการณ์ตลอดเวลา 5 ปี ของทอมจะมุ่งไปที่การเป็นนักต่อรองมากกว่าการบริหารงานประจำวัน
และเป็นเหตุให้เขาได้เข้าไปมีบทบาทในการทำดีลสำคัญๆ ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มสามารถ
อยู่หลายครั้ง
เริ่มตั้งแต่การเจรจาเช่าช่วงคลื่นความ ถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ จากบริษัทแทค
เพื่อมาใช้ในกิจการโทรศัพท์มือถือ ทำให้กลุ่มสามารถได้เป็น 1 ใน 2 เอกชนที่สามารถเดิน
เข้าสู่ธุรกิจโทรศัพท์มือถือ
จากนั้นทอมยังเป็นผู้ที่ติดต่อดึงเอาเทเลคอมมาเลเซียเข้ามาเป็นพันธมิตร
ลงทุน ในโครงการโทรศัพท์มือถือดีพีซี จนเมื่อกลุ่มสามารถไม่สามารถประคับประคองธุรกิจโทรศัพท์มือถือได้ตลอดรอดฝั่ง
ทอมยังเป็นผู้มีส่วนร่วมในการขายกิจการดีพีซีไปให้กับกลุ่มชินคอร์ปอเรชั่น
เขายังเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเจรจาประนอมหนี้ให้กับกลุ่มสามารถ แม้ว่าจะเป็นเพียงการยืดเวลาชำระหนี้
ทอมพูดถึงจุดเด่นของตัวเองว่า เขาเป็นนักแก้ปัญหาและไม่ปล่อยให้ปัญหายืดเยื้อ
"ผมชอบปิดดีลโดยเร็ว"
การเป็นคนไทยที่ได้รับรู้ทั้งวัฒนธรรมตะวันตกและตะวันออกเป็นคุณสมบัติอีกด้านหนึ่ง
ของการถูกเลือกทำงานในบริษัทข้ามชาติอย่างนอร์เทล ที่ต้องเข้าถึงความต้อง
การของลูกค้าที่เป็นท้องถิ่น
นอร์เทลจัดเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายรายใหญ่ ของสหรัฐอเมริกา เข้ามาตั้งสำนักงานในไทยเมื่อ
4 ปีที่แล้ว สินค้าหลัก ของนอร์เทล ครอบคลุมตั้งแต่อุปกรณ์เครือข่ายด้านอินเทอร์เน็ต
เครือข่ายด้านข้อมูล เสียง ระบบ LAN ระบบ WAN อุปกรณ์สวิตชิ่ง ตู้โทรศัพท์สาขา
คู่แข่งของนอร์เทลจึงแตกต่างไปจากประเภทของสินค้า
ลูกค้าเป้าหมายของนอร์เทล เป็นบริษัทโทรคมนาคม เช่น เทเลคอมเอเซีย ทีทีแอนด์ที
องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย การสื่อสารแห่งประเทศไทย
แม้ว่าสินค้าจะไม่เป็นรองใคร แต่สำหรับตลาดในไทยดูเหมือนว่านอร์เทลยังไม่สามารถสร้างชื่อให้เป็นที่รู้จักได้ดีพอ
"ที่แล้วมาคนส่วนใหญ่เข้าใจว่า นอร์เทล เป็นชื่อของโรงแรมโนโวเทล"
ทอมเล่า เขาเชื่อว่า จุดอ่อนของนอร์เทล อยู่ที่การตลาดและสายสัมพันธ์ ซึ่งเป็นเงื่อนไขของ
การทำตลาดในไทยแต่เป็นสองสิ่งที่นอร์เทลยังไม่มี
โจทย์แรกของทอมจึงต้องเริ่มสร้างการเรียนรู้ให้กับตลาด เพื่อสร้างความเข้าใจ
เทคโนโลยีและความเชื่อมั่นให้กับตัวของสินค้า
รวมทั้งการสร้างกลยุทธ์การตลาดที่ต้องมีสีสันกว่านี้
การทำหน้าที่ในการหาจุดลงตัวระหว่างความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะในเรื่องของราคาสินค้าของนอร์เทลที่ยังเป็นอุปสรรคเป็นอีกภารกิจหนึ่งของทอม
สิ่งที่ทำให้ทอมเชื่อมั่นมากๆ ก็คือ สภาพตลาดของอุปกรณ์เครือข่ายอุปกรณ์สื่อสาร
ที่จะขยายตัวมากขึ้น จากการเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคม การเกิดโครงการสื่อสาร
ใหม่ๆ และการปรับตัวของผู้ให้บริการรายเดิม จะต้องมีการลงทุนปรับปรุงอุปกรณ์
เครือข่ายให้มีเทคโนโลยีที่ดีขึ้น เพื่อรับมือกับ การแข่งขัน
ทีมงาน 40 คนของนอร์เทล ที่อยู่ในวัยที่ไม่มาก ทำให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน
รวมทั้งรูปแบบการทำงานของนอร์เทล ที่จะใช้ประโยชน์จากเครือข่ายของทรัพยากร
ด้านเทคนิคร่วมกัน
"ถึงเวลาที่นอร์เทลต้องยิ่งใหญ่กว่าในอดีต" คำกล่าวของทอม ที่เปรียบเสมือนเป็นคำมั่นสัญญาของเขาที่มีต่อบริษัทผู้ผลิตแห่งนี้
"ไม่มีเหตุผลอะไรที่ผมจะไม่มั่นใจ"
สำหรับทอมแล้ว เป้าหมายของเขานอกเหนือจากยอดขายที่ต้องเพิ่มขึ้นแล้ว "เมื่อถึงเวลาที่นอร์เทล
เน็ทเวิร์ค ประเทศไทย ครบรอบ 100 ปีแล้ว ทุกคนจำว่า ทอมเป็นคนที่ทำให้นอร์เทลเกิด"