กลางปีหน้า ผู้บริโภคชาวไทย จะได้มีทางเลือกในการจับจ่าย ใช้สอย โดยเฉพาะกับร้านค้าย่อยประเภทคอนวีเนียน
สโตร์ รวมถึง การจับจ่ายที่มีวงเงินไม่สูงมาก เช่น ซื้อตั๋วหนัง ขึ้นรถไฟฟ้า
ทางด่วน ตลอดจนการโทรศัพท์ ฯลฯ เพิ่มมากขึ้น เมื่อบริการ Digital Purse เริ่มเปิดให้บริการ
บริการดังกล่าว เป็นการร่วมทุนกันของ 7 พันธมิตร ได้แก่ บริษัท ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น,
ธนาคารกรุงเทพ, บริษัทบัตรกรุงไทย, ธนาคารออมสิน, เทเลคอม เอเซีย, วีซ่า
อินเตอร์เนชั่นแนล และ Network for Electronic Transfers Pte.Ltd (NETS)
จากประเทศสิงคโปร์
รูปแบบการให้บริการของ Digital Purse จะเป็นบัตรสมาร์ท การ์ด ซึ่งฝังชิปไว้บนบัตร
บัตรดังกล่าวมีคุณสมบัติคล้ายเดบิตการ์ด และเอทีเอ็ม แต่สามารถนำไปใช้ในการจับจ่ายซื้อของตามร้านค้าขนาดย่อย
ด้วยวงเงินที่ไม่สูงมากนัก โดยผู้ถือบัตรสามารถเติมวงเงิน เข้าไปในบัตรได้ตามจำนวนที่ต้องการ
การมีบริการดังกล่าวออกมา เนื่องจากพันธมิตรทั้ง 7 ราย มองเห็นถึงความจำเป็นในการสร้างระบบ
Micro Payment ให้เกิดขึ้นในภาคธุรกิจ โดยพันธมิตรที่มาจากภาคสถาบันการเงินนั้น
แต่ ละรายมีความคิดที่ตรงกันมานาน จนในที่สุดเมื่อได้มีการแลกเปลี่ยน แนวคิดซึ่งกันและกัน
จึงมีความเห็นตรงกันว่าควรต้องมีการร่วมทุน กันเพื่อสร้างระบบดังกล่าวขึ้นมาให้เป็นผลสำเร็จ
แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป
ส่วนพันธมิตร ในส่วนภาคร้านค้า ซึ่งนำโดยซี.พี.เซเว่นอีเลฟ เว่น ที่เป็นโตโผใหญ่ในการชักชวนแต่ละรายให้เข้ามาร่วมทุนกันในครั้งนี้
ได้มองเห็นถึงปัญหาต้นทุนในการดูแลเงินสด จึงจำเป็นต้อง หาหนทางนำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าว
"ปัจจุบันร้านเซเว่นอีเลฟเว่นทั่วประเทศ มีถึงกว่า 1,700 สาขา มีเงินสดหมุนเวียนในแต่ละวันประมาณ
80 ล้านบาท ทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลเงินสดประมาณ 1%-3% ของวงเงิน"
ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น กล่าว
เขาบอกอีกว่านอกจากการลดต้นทุนดังกล่าวแล้ว การนำบริการนี้เข้ามาใช้ ยังจะช่วยแก้ปัญหาการเตรียมเงินทอนให้กับลูกค้า
เพราะบัตร Digital Purse นั้นสามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายลงไปได้ละเอียดถึงขั้นเศษสตางค์
และที่สำคัญที่สุด คือการช่วยป้องกันการจี้ปล้น เพราะที่ผ่าน มาร้านเซเว่นอีเลฟเว่น
กลายเป็นเป้าหมายหลักของอาชญากร ซึ่งเหตุผลนี้ ว่ากันว่าเป็นแรงจูงใจสำคัญที่กระตุ้นให้ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น
ต้องเร่งกำเนิดโครงการนี้ขึ้นมา เพราะในระยะหลังเหตุการณ์จี้ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นเริ่มปรากฏบ่อยขึ้น
"จากระบบนี้ ทำให้ต่อไปก็ไม่ต้องกลัว เพราะแต่ละวันจะมีการเก็บเงินสดไว้ในร้านน้อยลงมาก"
รายละเอียดของการร่วมทุน พันธมิตรทั้ง 7 รายจะจัดตั้งบริษัทไทย สมาร์ท
การ์ด โดยทั้ง 7 รายร่วมถือหุ้น โดยในขั้นต้นจะมีการลงทุนประมาณ 15 ล้านบาท
เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการ ซึ่งจะเป็นผู้ทำแผนธุรกิจและการตลาด
และเมื่อแผน ดังกล่าวผ่านความเห็นชอบ ก็จะเป็นขั้นตอนของการลงทุนติดตั้งระบบ
รวมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งด้านฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ ซึ่งได้แก่ เครื่องอ่านบัตร
และเครื่องเติมเงิน
สำหรับเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้มาจาก NICS ซึ่งเป็นบริษัท ผู้ให้บริการด้านการออกบัตรสมาร์ทการ์ด
รายใหญ่ของสิงคโปร์
ขั้นตอนทั้งหมด คาดว่าจะสามารถเริ่มให้บริการได้ประมาณ กลางปี 2545 และหลังจากนั้น
ไทย สมาร์ท การ์ด ก็จะขยายเครือข่ายพันธมิตรในการดำเนินธุรกิจออกไป ซึ่งมีเป้าหมายใน
3 กลุ่มหลักคือ กลุ่มอี-คอมเมิร์ซ ร้านค้าปลีก และร้านเชนสโตร์
หากบริการนี้ประสบความสำเร็จ ต่อไปในอนาคตความจำเป็นในการพกพาเงินสดเวลาเดินทางออกนอกบ้านของคนไทยจะเริ่มน้อยลงไปทุกที