เวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ ก่อสร้างโดยความคิดของสถาปนิก อเมริกัน-ญี่ปุ่น ชื่อ
มิโนรุ ยามาซากิ (เกิดที่ซีแอตเติล เมื่อ 1 กันยายน 1912 เสียชีวิตเมื่อ
7 กุมภาพันธ์ 1986) เขาเรียนสถาปนิกจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน และย้ายมาอยู่ที่นิวยอร์ก
ช่วงแรกๆ นั้นอยู่ในยุคเศรษฐกิจถดถอย (Depression) แต่ภายหลังได้มีงานมากขึ้น
ผลงานอาทิ สนามบินเซ็นต์หลุยส์ สนามบินธาราน ที่ซาอุดีอาระเบีย โรงแรมเซ็นจูรี่
พลาซ่า ที่ลอสแองเจลิส
การก่อสร้างเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ รับเหมาก่อสร้างโดยบริษัท อเมรี่ ร็อธ และบุตรชาย
โดยยามาซากิ ผ่านการคัดเลือกในกลุ่มสถาปนิก 12 คน และใช้เวลาถึง 8 ปี ตั้งแต่ปี
1970 ถึง 1977 ตึกระฟ้าแห่งนี้ได้เปลี่ยนโฉมภาพทาบท้องฟ้าของเกาะแมนฮัตตัน
ตัวเมืองนครนิวยอร์ก ด้วย 2 อาคารสูงเด่นถึง 110 ชั้น โดยงบประมาณรวมทั้งเจ็ดตึก
รวมถึงทางเชื่อมรถไฟใต้ดิน และทางเชื่อมถนนลอดอุโมงค์ใต้น้ำ เมื่อ 30 ปีก่อน
ใช้เงินทั้งหมดเพียง 500 ล้านดอลลาร์เท่านั้น
ท้ายสุดได้ตึกที่ดูทื่อตรง ทะแยงฟ้าสูงถึง 1,135 ฟุต ข้ามหน้าเอ็มไพร์
สเตทมาติดอันดับที่สูงที่สุดในโลก แต่ช่วงพริบตามีการสร้างตึกเซียร์ในชิคาโก
สูง 1,450 ฟุต ขึ้นมาในระยะติดกัน ตอนหลังมีตึกแฝดล่าสุดที่กัวลาลัมเปอร์
"ตึกเปโตรนาส" เมื่อปี 1998 โดยสูง 1,483 ฟุต แต่ตึกในมาเลเซียไม่ผ่านกติกาตรงยอดที่สูงขึ้นไปนั้น
ใช้งาน ไม่ได้ ตึกเซียร์มีพื้นที่ใช้งานได้จริงอยู่ในระดับสูงกว่าตึกเซียร์จึงยังครองตำแหน่งอยู่
ตึกเอ็มไพร์สเตทนั้นเคยถูกเครื่องบินรบรุ่น B-25 ของกองทัพสหรัฐฯ ชนเข้าไปที่ชั้น
79 มีผู้เสียชีวิต 14 ศพในปี 1945 การสร้างตึกเวิลด์เทรดนั้น ว่ากันว่า ออกแบบให้ทนการชนของเครื่องบินรุ่น
707 โบอิ้งล่าสุดในปีนั้น
ตึกเวิลด์เทรดก่อสร้างโดยใช้โครงเหล็กรอบตึกด้านนอก ตั้งตรงขึ้นไปเหยียดฟ้า
แนวละสามท่อน แต่ส่วนล่างของตึก ดัดด้านปลายเหล็กสามท่อน ให้มารวมเป็นแนวเดียวกันกับท่อนกลาง
ในทางสถาปนิกสามารถเข้าไปดูคำบรรยายการประกอบ
ตึกได้ใน www.greatbuilding.com/buildings/World_Trade.Center.html ส่วนคำบรรยายทางธุรกิจนั้น
สองตึกใหญ่นี้มีพื้นที่ให้เช่าประมาณ 10,000,000 ตารางฟุตหรือเฉลี่ยชั้นละ
43,200 ฟุตต่อชั้น
ผู้เป็นเจ้าของและดำเนินงานคือการท่าแห่งนครนิวยอร์กและนิวเจอร์ซี่ย์ โดยล่าสุด
เมื่อเดือนกรกฎาคมนี้เองได้ทำสัญญาให้บริหารตึกนาน 99 ปี มูลค่าสัญญา 3.2
พันล้าน แก่แลร์รี่ เอ. ซิลเวอร์สไตน์ นักพัฒนาที่ดิน ข้อมูลนี้ได้มาจากหนังสือพิมพ์
Boston Globe
น่าแปลกที่ข่าวทีวีซึ่งประโคมกันทุกช่อง ไม่มีใครเจาะข่าวไปถึงเรื่องนี้
บอสตัน โกลบ เขียนว่า นายซิลเวอร์สไตน์ ไม่ยอมเปิดเผยว่าได้ทำประกันไว้กับที่ใดบ้าง
และครอบคลุมแค่ไหน
โครงการเวิลด์เทรดมีทั้งหมด 7 ตึก ตัวสองตึกใหญ่ หันประตูหน้าด้านถนนเชิร์ช
มีบริษัทกลางและเล็กราว 200 แห่งเช่าในตึกแรก รวมถึงหน่วยราชการของไทย คือ
สำนักงานการค้าไทย และสำนักงานส่งเสริมการลงทุน ซึ่งอยู่ในชั้นที่ 3 และสำนักงานเก่าของธนาคารกสิกรไทย
ส่วนตึกสองนั้นเป็นบริษัทปานกลางค่อนข้างใหญ่ ราว 70 บริษัท รวมถึงบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ของไทยเรา
ผู้ทำงานอยู่ในตึก
มีประมาณ 50,000 คน แต่ตอนเกิดเหตุยังเช้าอยู่มาก คาดว่ามีคนไปถึงราว 15,000
คน และเสียชีวิตไปประมาณ
5,000 คน
ตึกเวิลด์เทรดมีชั้นชมวิว อยู่ที่ตึกสอง ชั้น 107 แต่เปิดให้ชมตั้งแต่เวลา
9.30 น. ช่วงที่เกิดเหตุจึงยังไม่มีนักท่องเที่ยวโดนลูกหลง ตึกทั้งสองมีลิฟต์โดยสารสามชุด
โดยในชั้นสูงขึ้นไป จะมีลิฟต์ด่วน ที่ไม่จอดแวะชั้นล่างๆ การจะขึ้นตึกทุกตึกนั้นต้องมีบัตรผ่าน
หรือหากไปเยือนธุรกิจในตึกยามรักษาการณ์จะขอตรวจบัตรประจำตัว และโทรศัพท์แจ้งคนในบริษัทนั้นๆ
เพื่อขออนุญาตก่อนที่จะพิมพ์สติกเกอร์ติดหน้าอก เพื่อแสดงให้ยามรักษาลิฟต์โดยสารดูด้วย
ชั้น 107 ของตึกหนึ่งมีภัตตาคารชั้นหรู ชื่อ Window of the World ได้รับคำบรรยายว่า
การแต่งกายต้องใส่สูท ผูกไท บรรยากาศ
โรแมนติก แบบทันสมัย ชนชั้นสูง เป็นทางการ มีดนตรีบรรเลงในตอนค่ำ และมีห้องรับประทานอาหารรวมหรือส่วนตัว
ผู้เข้ากะทำงานอาหารเช้าและผู้เข้ามารับประทานอาหารเช้าที่ภัตตาคารแห่งนี้ในวันนั้นคาดว่ามีประมาณ
200 คน เสียชีวิตทั้งหมด เพราะเป็นจุดแรก
ที่เครื่องบินชนเข้าพอดี
7 ชั้นใต้ดินของตึก เป็นพื้นที่ศูนย์การค้า และสถานีรถไฟใต้ดิน รวมถึงทางเชื่อมไปยังสถานีรถไฟใต้ดินอื่นๆ
ลานจอดรถ สถานีรถไฟลอดอุโมงค์ใต้แม่น้ำไปยังรัฐนิวเจอร์ซี่ย์ ที่คนทำงานในนิวยอร์กจำนวนมาก
เลือกอาศัย เพราะบ้านราคาถูกกว่าและมีขนาดพื้นที่มากกว่า รวมถึงเป็นลานจอดรถ
ต้นสัปดาห์ที่สองการขุดเจาะได้ลงไปถึงใต้ดินแล้ว แต่ไม่พบผู้รอดชีวิต
ตัวคอมเพล็กซ์เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์มีทั้งหมด 7 ตึก อีก 5 ตึกที่เหลือ บางตึกถล่มมาโดนหรืออยู่ในสภาพใช้งานไม่ได้
รวมถึงโรงแรมแมริออท ที่อยู่ใกล้ๆ
อย่างไรก็ตาม ตัวตึกเวิลด์เทรดเองนั้น เนื่องจากการเป็นอาคารสูงระฟ้า ที่ทำให้ไม่สะดวกนักสำหรับการมาแบ่งเช่าที่ของบริษัทยักษ์ใหญ่
ในแง่ของการสัญจรที่กินเวลาและมากผู้คนในตึก หรือในแง่พื้นที่ตึกที่ไม่อำนวยให้การทำงาน
รวมถึงการรักษาความปลอดภัย บริษัทในเวิลด์เทรด จึงเป็นบริษัทขนาดกลางแห่งเดียวที่มีพนักงานจำนวนมากที่สุด
คือ บริษัทเงินทุน มอร์แกน สแตนเลย์ มีพนักงาน 3,500 คน แต่สำนักงานอยู่ต่ำกว่าชั้น
74 มีพนักงานสูญหายไปเพียง 15 คน
ความสูญเสียชีวิตสูงสุดคือ ที่ตึกหนึ่งหรือตึกเหนือ ซึ่งถูกจู่โจมครั้งแรก
โดยชนเข้าที่ช่วงชั้น 96-103 ขณะที่ตึกสองนั้น แม้อยู่ในระดับสูงๆ บางคนก็หนีรอดมาได้
เพราะมีการประกาศอพยพคนออกจากทุกตึกทันทีที่มีการชนครั้งแรกแล้ว ตึกสองหรือตึกใต้
ซึ่งถล่มก่อนเพราะถูกชนในระดับต่ำกว่า เข้าช่วงกลางตึกที่ชั้น 87-93 (ข้อมูลระบุชั้นที่ชนจากนิวยอร์กไทม์)
บริษัทค้าหุ้นจากอังกฤษชื่อ แคนเทอร์ ฟิทเจอรัลด์ อยู่ชั้น 101-105 ของตึกแรก
มีพนักงาน 1,000 คน สูญหายไป 700 คน ที่รอดมาได้คือพวกไม่ได้เข้าสำนักงานในเช้าวันนั้นทั้งหมด
บริษัทกฎหมายซึ่งเพิ่งรวมกิจการระหว่างสองบริษัทเก่าแก่ของนิวยอร์กและชิคาโกเข้าด้วยกัน
ชื่อ ซิดเล่ย์ ออสติน บราวน์ แอนด์ วู้ด อยู่ชั้น 54-56 มีผู้สูญหายไป 591
คน เนื่องจากเช้าวันนั้น มีการจัดประชุมที่ชั้น 106 พอดี บริษัทค้าหุ้นชื่อ
มาร์ช แอนด์ แคคเคลนแนนอยู่ชั้น 93-100 สูญหายไป 400 คน
ส่วนที่ตึกสอง บริษัทขายประกันและค้าหุ้นชื่อ AON อยู่ชั้น 92 และ 98-105
มีผู้สูญหายไป 200 คน และข้าราชการของเมืองนิวยอร์ก อยู่ชั้น 82-87 สูญหายไป
120 คน ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของยอด 4,923 คน ในซากตึกเวิลด์เทรด ซึ่งรวมหน่วยดับเพลิง
350 คน และตำรวจการท่าอีก 50 คน ที่วิ่งขึ้นตึกไปดับเพลิงช่วงที่เพิ่งมีไฟไหม้และเสียชีวิตไปตอนตึกถล่ม