แม้เขาจะเป็นคนที่ถือว่าเป็นผู้ว่าการ "คนนอก" มากที่สุดคนหนึ่ง ในประวัติธนาคารชาติของไทย
แต่เขาก็มีความใกล้ชิดในฐานะคนที่อยู่อาศัยบริเวณใกล้กับธนาคารแห่งนี้มา 21
ปีเต็ม ยิ่งไปกว่านั้นการกาวเข้ามาของเขา ได้สร้างมิติใหม่ของความสำคัญของธนาคารกลางแห่งนี้
อย่างที่ไม่มีใครทำได้มาก่อนหลังจากช่วงวิกฤติการณ์สังคมไทยเป็นต้นมา
"บ้านผมอยู่ติดกับรั้วนี้เลย ในวังเทวะเวศม์ นานๆ เข้าก็เลยมีโอกาสเข้ามา"
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่ง ประเทศไทยคนใหม่กล่าวพร้อมกับเปิดม่าน
จากห้องรับแขกที่อยู่ติดกับห้องทำงานของเขาในอาคารหลักของแบงก์ชาติ ชี้ลงไปยังบริเวณที่จอดรถ
ซึ่งเดิมเป็นตัวบ้านพักของเขาเอง ที่เพิ่งถูกรื้อออกไป บ้านหลังนี้เป็นบ้านบิดาของเขา
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวังเทวะ เวศม์ ที่ประทับของต้นราชสกุลเทวกุล ปัจจุบันตัวอาคารวังเก่าแก่ที่สร้างก่อนท่านผู้ว่าคนปัจจุบันจะเกิดได้ตกเป็นสมบัติของแบงก์ชาติไปแล้ว
นับไปแล้วเขาเป็นผู้ว่าการคนที่สองที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวเนื่องกับสถานที่แห่งนี้
ผู้ว่าคนก่อนก็คือคนที่ถูกให้ออกจากตำแหน่ง ก่อนหน้าเขานั่นเอง ม.ร.ว.จัตุมงคล
โสณกุล ผู้ว่าการคนนี้ มารดาของท่านมีชีวิตอยู่ที่วัง บางขุนพรหม ริมน้ำถัดจากวังเทวะเวศม์ไปทางทิศใต้
ซึ่งเป็นอาคารที่เชิดหน้าชูตาของธนาคาร ชาติในฐานะสำนักงานธนาคารแห่งนี้
มาตั้งแต่ก่อตั้งธนาคารกลางของประเทศไทย ตั้งแต่ ปี 2488
ครั้ง ม.ร.ว.จัตุมงคล เป็นผู้ว่าแบงก์ชาติก็มีดำริในการซื้ออาคารประวัติศาสตร์ที่ถือเป็น
อาคารหลักของวังเทวะเวศม์ รวมทั้งพื้นที่ของวังอีกส่วนหนึ่งเข้ามาเป็นสมบัติของธนาคารชาติ
"เรื่องนี้ต้องชมคุณเต่า เป็นคนที่เห็นค่าของอนุสรณสถานเก่าๆ และให้เห็นว่านี่คือสิ่งที่ได้อนุรักษ์ไว้
คุณเต่าสั่งไว้อย่างนี้เลย ผมมาทำตามต่อเท่านั้น คุณเต่าเข้าใจคุณค่าของอาคารเก่า
คุณค่าของประวัติศาสตร์ เพราะว่าทั้ง 2 องค์นั้นมีบทบาทในประวัติศาสตร์ไทย"
ผู้ว่าการคนปัจจุบันพูดถึงผู้ว่าการคนก่อน ที่มีความเชื่อมโยงกันอย่างบังเอิญในทางประวัติศาสตร์
และเป็นการกล่าวถึงเพียงครั้งเดียวในการสนทนากับ "ผู้จัดการ" ครั้งนี้
วังบางขุนพรหม เป็นวังของเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
พระ ราชโอรสในรัชกาลที่ 5 ซึ่งเดินทางไปศึกษาต่อด้านการทหารที่ประเทศเยอรมนี
วังแห่งนี้จึงออกแบบโดยสถาปนิกชาวเยอรมัน Karl Dohring งานสถาปัตยกรรมสะท้อนศิลปะตะวันตก
ที่มีอิทธิพลในประเทศไทยในเวลานั้น ก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงปลายรัชสมัยรัชกาลที่
5
ขณะที่วังเทวะเวศม์เป็นที่ประทับของกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ต้นราชสกุลเทวกุล
และเป็นปู่ของผู้ว่าการคนปัจจุบัน วังเทวะเวศม์ ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี
2461 โดยสถาปนิกชาวอิตาเลียนที่ชื่อ EG Gollo ผู้ดูแลการก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม
และมีบทบาท อย่างสำคัญในฐานะกรรมการก่อตั้งบริษัทปูนซิเมนต์ไทยด้วย ตัวอาคารหลักคือวังเทวะเวศม์
ที่ธนาคารชาติอนุรักษ์ไว้ ส่วนอาคารที่สร้างขึ้นภายหลังในราชสกุลเทวกุล ส่วนหนึ่งได้ขายไป
อีกส่วนหนึ่งที่เป็นของธนาคารชาติก็ถูกทุบไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้ โดยเฉพาะวังของบิดาของผู้ว่าการคนปัจจุบัน
เรือนจำลองวังของหม่อมเจ้าปรีดิเทพย์พงษ์ บิดา ของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล
ได้สร้างขึ้นใหม่ในบริเวณ บ้านสามญาณของบัณฑูร ล่ำซำ (อ่าน "ผู้จัด การ"
ฉบับสิงหาคม 2544) เพราะมารดาของบัณฑูร คือ ม.ร.ว.สำอางวรรณ เทวกุล เป็นพี่สาว
(ต่างมารดา) ของผู้ว่าการคนปัจจุบัน
ความเชื่อมโยงในภูมิหลังของผู้ว่า การคนก่อนและคนปัจจุบัน เป็นฐานของ
ความพยายามอรรถาธิบาย "ความต่อเนื่อง" อย่างหนึ่งของสังคมไทย บางคนวิเคราะห์ว่าภูมิหลังดังกล่าวของท่านผู้ว่า
การคนใหม่มีส่วนทำให้ปฏิกิริยาต่อต้านการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งสูงสุดของธนาคารกลางครั้งล่าสุด
ไม่รุนแรงอย่างที่คาดกันไว้แต่แรก อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าการทั้งสองมีความแตกต่างกันหลายมิติทีเดียว
ผู้ว่าการคนใหม่ เป็นผู้มีประสบการณ์ยาวนานในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ซึ่งนับเป็น
คนแรกเลยก็ว่าได้ ประสบการณ์นี้มีส่วนสำคัญในยุคปัจจุบัน ยุค "เชื่อมต่อ"
จากการ เปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญจาก "สังคมธนาคาร" เคยเป็นแกนกลางของระบบเศรษฐกิจและสังคมธุรกิจไทยที่รากฐานที่สุด
ไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ผ่านพ้นการอุ้มชูเจ้าของธนาคารไทยอย่างมากมาย พร้อมกับการปรับตัวครั้งใหญ่ของธนาคารพาณิชย์ที่มีการแข่งขันกับธนาคารต่างชาติมากขึ้น
ในเวลาเดียวกันธนาคารพาณิชย์ก็ถูกเรียกร้องอย่างสำคัญใน การสนับสนุนการปรับตัวของระบบเศรษฐกิจครั้งใหม่
"เขาเข้ามา ความเครียดหายไปเลย เข้ามาท่ามกลางความเครียดของนายทุนไทย ทั้งหมด"
ดร.วีรพงษ์ รามางกูร นักเศรษฐ ศาสตร์มหภาคคนสำคัญของประเทศไทย ในฐานะที่รู้จักคุ้นเคยกับผู้ว่าการคนปัจจุบัน
ให้ความเห็นถึงบทบาทสำคัญของเขาในอีกมิติหนึ่งที่สำคัญมาก
นักวิเคราะห์บางคนมองว่า เขาสามารถประสานบทบาทของนายทุนเก่าและใหม่ได้ดี
ตามปรัชญาของผู้นำเศรษฐกิจ และผู้นำรัฐบาลชุดนี้
ความจริงเรื่องนี้ปรากฏชัดเจนถึงแนวทางของธนาคารกลางยุค 2 ราชนิกุลที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
การเข้ามาของ ม.ร.ว.จัตุมงคล เกือบจะพร้อมๆ กับการแต่งตั้งผู้ช่วยผู้ว่าด้านกฎหมายเข้ามาจัดการกับ
"นักบริหาร" ธนาคารหรือไฟแนนซ์ที่มีปัญหาต่างๆ อย่างเข้มข้น แต่หลังจากผู้ว่าการคนใหม่เข้ามาไม่นาน
คดีความต่างๆ ลดแรงกดดันไปมาก จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม พร้อมๆ กับการโยกย้ายผู้ช่วยผู้ว่าการด้านกฎหมายไปดูแลงานด้านอื่น
ความกดดันและความหวาดระแวงที่ศูนย์กลางเกิด ขึ้นจากธนาคารแห่งประเทศ ไทย
เป็นภาพซ้อนที่ต่อเนื่อง เกิดมาพร้อมๆ วิกฤติการณ์ สังคมไทยตั้งแต่ปี 2540
เริ่มจากผู้ว่าการคนก่อนๆ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารชาติ ถูก สอบสวนในฐานะผู้กระทำความผิด
อันก่อให้เกิดวิกฤติการณ์มาจนถึงผู้บริหารธนาคารหรือ ไฟแนนซ์หลายคนที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนทำให้กิจการเหล่านั้นมีปัญหาหลายแห่งต้องปิดกิจการ
นักวิเคราะห์บอกว่าเป็นการดำเนินการที่ผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ของธนาคารชาติอย่างยิ่งใหญ่ช่วงปี
2540 เป็นต้นมา แทนที่จะดูแลระบบเศรษฐกิจให้เกิดความเชื่อมั่น ความเชื่อมั่นที่สำคัญมิได้มาจากต่างชาติหรือประชาชนในคำนิยามกว้าง
หากส่วนสำคัญต้องเกิดจากตัวระบบธนาคารเอง รวมทั้งผู้ประกอบการธุรกิจทั้งหลาย
ซึ่งภารกิจของธนาคารชาติในยุคนั้นต่อเนื่องมาไม่มีภาพที่ชัดเจนในเรื่องนี้เลย
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน มีบุคลิกภาพที่สอดคล้องกับยุคสมัยอย่างยิ่ง
อันเนื่องมาจากภูมิหลังของเขา
"คุณอุ๋ยเป็นคนมีเพื่อนมาก ตั้งแต่เรียนธรรมศาสตร์ จนถึงทำงานด้านสินเชื่อธนาคาร
ก็คบนักธุรกิจจำนวนมาก" ผู้บริหารคนหนึ่งในธนาคารกสิกรไทยซึ่งรู้จักเขาดีเล่าให้ฟัง
"อาจจะเป็นเพราะตั้งแต่เด็กๆ ผมเป็นคนทะลึ่งตึงตัง มีเรื่องโจ๊ก เรื่องสัปดนมาเล่ากันเรื่อย
แล้วตอนอยู่ในวังนั้น เด็กๆ เยอะเด็กหนุ่มๆ เล่นกันไปตามเรื่อง และอีกอย่างพ่อกับ
แม่และพี่สอนตลอดว่าความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ที่เรียกว่า human relation
นั้นสำคัญ มันได้มาตั้งแต่เด็ก ฉะนั้นผมจะรักษาความสัมพันธ์กับทุกคน จะเลวจะดี
ผมก็ถือเป็นเพื่อนหมด และมองเขาในแง่ดีไว้ก่อน ตอนผมเรียนธรรมศาสตร์ ผมมีเพื่อนชุดบันได
เป็นเพื่อนที่มี 108 ชนิดเลยก็ว่าได้ คุณจะเอาอะไร นักเลงก็มี นักเลงประเภทต่อยกัน
แทงกัน มีหมด แล้วก็เที่ยวกันหัวราน้ำ เรียนหนังสือเก่งก็มี แล้วก็มีบางคนที่ในที่สุดก็เรียนไม่จบ
อย่างนี้ผมก็คบเป็นเพื่อนหมด เพราะว่ามนุษย์มันเป็นเพื่อนได้หลายอย่าง" ผู้ว่าการสาธยายแนวคิดของเขาในเรื่องนี้สอดคล้องไว้อย่างชัดเจน
ภูมิหลังของเขาสามารถทำให้เขาเข้าอยู่ใน "สังคมวงใน" ได้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
ถือเป็นบุคคลที่แสวงหา "โอกาส" และ "เวที" ได้อย่างกว้างขวางที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับ
คนรุ่นเดียวกัน (อ่านคำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ของเขาเองในอีกแง่มุมหนึ่งในล้อมกรอบเรื่อง
"ผมว่าชีวิตผมก็แปลก มันเป็นไปตามดวง")
แม้ว่าบางคนที่รู้จักคุ้นเคยกับเขาอย่างดีที่ทำงานร่วมกันมาในธนาคารกสิกรไทยจะอรรถาธิบายว่าเขาเป็นคนที่คล่องและ
"เอาตัวรอด" ได้ทุกสถานการณ์ อันเนื่องมาจากความยืดหยุ่นและพลิกแพลง
ของเขาเอง ซึ่งทำให้บางคนไม่ค่อยจะแน่ใจนักว่า เขาจะเหมาะสมกับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่ภาพพจน์
มอง "หลัก การ" และคุมกติกาอย่างเข้มข้นหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ เขาสามารถเป็น
"นักการเมือง" ได้อย่างดีทีเดียว
พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีส่วนชักนำให้เขาเข้ามารับตำแหน่งที่เกี่ยวพันทางการ
เมืองครั้งสำคัญ 2 ครั้ง ที่เริ่มจากตำแหน่งโฆษกรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ และผู้ว่าการธนาคารชาติในตำแหน่งล่าสุด
ได้กล่าวถึงเขา ไว้ว่า "เขาเป็นนักแก้ปัญหามือหนึ่งทางการเงินการธนาคาร และเป็น
ประเภทมนุษย์พันธุ์พิเศษที่ไม่ได้แก้ปัญหาด้วยตัวเอง แต่สามารถอธิบายการแก้ปัญหา
เพื่อหว่านล้อมให้คนอื่นเห็นด้วยกับการแก้ปัญหานั้น"
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ตัดสินใจครั้งสำคัญในการลาออกจาก ตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย
ที่ทำงานมาตั้งแต่วันแรกที่เรียนจบถึงกว่า 19 ปี มาเป็นโฆษกรัฐบาลชาติชาย
ทำให้ ผู้คนในวงการงุนงงอย่างมากถึงการตัดสินใจใน 2 ด้านแรก
ไม่ว่าเขาจะบอกว่าไม่มีแรงกดดันใดๆ ภายในธนาคารกสิกรไทยในการตัดสินใจจากมา
"มีโอกาสให้รู้ของใหม่ ซึ่งไม่เคยนึก ไปลาคุณบัญชา บอกท่านว่าผมอยากไปสนุกบ้าง"
เป็นคำตอบ ล่าสุดของเขาในเรื่องนี้อีกครั้ง ทั้งๆ เหตุการณ์นั้นล่วงเลยมาแล้วถึง
10 ปีเต็มก็ตาม แต่คนในวงการธนาคารไม่มีใครเชื่อว่าไม่เกี่ยวกับการเข้ามาและเตรียมการให้บัณฑูร
ล่ำซำ เข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัด การ ซึ่งดูเหมือนเป็นเป้าหมายอีกขั้นเดียวของ
เขาด้วยเช่นกัน จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม
การตัดสินใจครั้งนี้คงไม่ได้คาดคิดว่า จากนั้นมาเขากับบัณฑูรจะมีความสัมพันธ์เช่นเดียวกับ
ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กับบัญชา ล่ำซำ ในเหตุการณ์เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ในฐานะที่น้าเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติ
ขณะที่หลานเป็นผู้จัดการใหญ่ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งประวัติ ศาสตร์ซ้ำรอยไม่มีความหมายอะไรก็ตาม
ผู้คนที่ใกล้ชิดทั้งสองคน บอกว่าทั้งปรีดิยาธร และบัณฑูร สนิทกันมาตั้งแต่เด็ก
"สมัยเรียนเมืองนอก ตอนปิดเทอมคุณปั้นยังมาพักกับน้าของเขาทุกครั้ง" ดร.วีรพงษ์
รามางกูร ยืนยันในฐานะเจ้าของที่พักที่อยู่ระหว่างกรุงนิวยอร์กและวอชิงตัน
ดี.ซี.
อีกด้านหนึ่งการเริ่มต้นในตำแหน่งทางการเมืองของเขา เมื่อปี 2533 ในช่วง
10 กว่าปี มานี้ พิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่ว่าการเมืองไทยจะเปลี่ยนแปลงเช่นไร
จะแบ่งขั้วออกเป็นกี่ขั้ว เขาก็สามารถดำรงอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญและมีความหมายเสมอมา
ไม่เพียงเขาไม่อยู่ในลิสต์ของ รสช. ที่โค่นอำนาจรัฐบาลชาติชาย ทั้งๆ ที่เขาเป็นโฆษก
รัฐบาลเท่านั้น เขายังมีโอกาสร่วมรัฐบาลของ รสช. ภายใต้การนำของอานันท์ ปันยารชุน
ใน ฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ด้วย ซึ่งถือเป็นกลุ่มการเมืองอีกขั้วจากเดิม
มากไปกว่านั้นเมื่อการเมืองไทยเริ่มมีการเลือกตั้งอีกครั้ง รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์
เข้ามามีอำนาจภายใต้การรณรงค์โจมตี รสช. ทำให้มีคะแนนนิยมอย่างมากมาย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร
เทวกุล ก็สามารถกลับเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์อีกครั้งหนึ่ง
ได้อย่างไม่เคอะเขิน และเท่าที่ทราบเป็นรัฐมนตรีคนเดียวที่มาจากรัฐบาล รสช.เลยทีเดียว
ดร.วีรพงษ์ รามางกูร เล่าให้ฟังว่า ในช่วงที่เขาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
ในรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน โดยมีวิจิตร สุพินิจ เป็นผู้ว่าแบงก์ชาตินั้น
พวกเขามี นโยบายจะตั้งธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออก (EXIM Bank) ทั้งนี้ได้มีการเตรียมบุคคล
ที่จะมาเป็นผู้จัดการใหญ่ไว้แล้ว คือ ม.ร.ว.ปรี ดิยาธร เทวกุล แต่เขาพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีคลังเสียก่อน
อย่างไรก็ตาม เมื่อธารินทร์ นิมมานเหมินท์ มาเป็นรัฐมนตรีคลังในรัฐบาลภายใต้
การนำของพรรคประชาธิปัตย์ แผนการตั้งเอ็กซิมแบงก์ก็เดินหน้าต่อ ในที่สุด
ม.ร.ว.ปรีดิ ยาธร เทวกุล ก็เข้ามารับตำแหน่งสำคัญนี้จนได้
หลายคนบอกว่าเพราะ "ความสัมพันธ์" ที่ดีของเขาในฝ่ายต่างๆ ทำให้โอกาสที่เขารอมาถึงในที่สุด
แนวคิดนี้ดูเป็นจริงขึ้นครั้งสำคัญเมื่อวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจเริ่มต้นขึ้นใน
ปี 2540
แม้จะลงเอยด้วยตำแหน่งประธานบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน ควบคู่ไปกับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกแห่งประเทศไทย
ในปี 2540 โดยสามารถใช้ประสบการณ์การบริหารสถาบันการเงินมายาวนาน ในช่วงที่ไม่มีสิ่งด่างพร้อย
มาชำระล้าง "สิ่งตกค้าง" ของระบบการเงินไทยที่มีปัญหา ซึ่งเป็นที่รู้กันในวงในว่าไม่มีใครเหมาะสมกับตำแหน่งนี้
ท่ามกลางความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ กำลังสร้างปัญหาระดับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย
แท้ที่จริงแล้ว ตอนนั้นเขาเกือบจะเป็นผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ในช่วงของความ
ขัดแย้ง และแรงกดดันอย่างมหาศาลที่โถมเข้ามาสู่ธนาคารกลางนี้ หลังจากวิกฤติการณ์เงินบาทเริ่มต้นขึ้น
ดร.วีรพงษ์ รามางกูร เปิดเผยว่าเขาเป็นคนหนึ่งที่ได้รับการขอร้องให้ช่วยเจรจาให้
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการแทน เริงชัย มะระกานนท์ ในกลางปี
2540 ในช่วงวิกฤติศรัทธาแบงก์ชาติครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์
"นายกรัฐมนตรีขณะนั้นขอให้ผมไปทาบทามหม่อมอุ๋ยมาเป็นผู้ว่าการ หม่อมอุ๋ย
ก็กระบิดกระบวนน่าดู เราก็เอาผู้หลักผู้ใหญ่ที่เขานับถือไปบีบจนสำเร็จ บังเอิญผมติดสงครามที่เขมร
แกเลยหลุด" วีรพงษ์เล่า อย่างเร้าใจถึงเหตุการณ์ที่มีการยึดอำนาจใน กัมพูชา
ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2540 ทำให้เขาต้องติดค้างที่นั่นหลายวัน เพราะเดินทาง
ไปในฐานะหัวหน้าเจรจาย้ายโรงงานทอผ้าไป เขมร ครั้นเมื่อกลับมา การติดต่อเริ่มอีกครั้ง
แต่การนัดหมายที่ผิดพลาดเล็กน้อยกับนายก รัฐมนตรีในขณะนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร
เลยไม่ได้เป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติตั้งแต่เมื่อ 4 ปีก่อน
วีรพงษ์ รามางกูร เป็นนักเศรษฐศาสตร์มหภาคที่ทรงอิทธิพล มีความสัมพันธ์
กับผู้ว่าการคนปัจจุบันตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือที่สหรัฐอเมริกา เมื่อราวปี
2512-2513 ในฐานะพักที่เดียวกัน เมื่อกลับเมืองไทยก็ยังติดต่อกันเสมอ
วีรพงษ์ รามางกูร ปัจจุบันแม้ไม่มีตำแหน่งทางการเมืองในรัฐบาลชุดนี้ แต่เขาก็อยู่ทีม
ที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการซึ่งมีความสัมพันธ์กับทีมที่ปรึกษาอย่างเป็นทางการมายาวนานตั้งแต่รัฐบาลชาติชาย
เพราะในช่วงนั้นพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ก็เป็นประธานที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก ม.ร.ว.ปรีดิยาธรมาเกี่ยวข้องกับที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลกในตอนนั้นเอง
"ไปช่วยพี่โกร่ง (ดร.วีรพงษ์ รามางกูร) เขาเป็นรัฐมนตรีคลัง แล้วเขาไม่สบาย
เราก็ไปเจรจากับไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ซึ่งเขาเป็นนักเรียนเซนต์คาเบรียลหลังผม
1 รุ่น แต่อายุเท่า กัน เพราะผมเรียนเร็ว ผมไปบอกไกรศักดิ์ว่า พี่โกร่งไม่สบาย
ให้แกออกมาเถอะ แล้วตอนนั้นกำลังจะปรับรัฐบาลพอดี" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรเล่าเบื้องหลังครั้งนั้นให้ฟัง
ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างเขากับวีรพงษ์ครั้งที่เป็นทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก
"เขาบอกผมว่า ต้องมีสิ่งแลกเปลี่ยน แล้วบังเอิญช่วงนั้นเขาคงอยากเปลี่ยนโฆษกรัฐบาลอยู่แล้ว
เขาก็บอกให้ผมมาเป็นโฆษกรัฐบาล" นั่นคือบทสรุปจากคำบอกเล่าของเขาที่ดูง่ายๆ
ถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของชีวิต
ผู้ว่าการคนปัจจุบันมีความสนิทกับทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีมากเป็นพิเศษ
ขณะเดียวกันก็ประสานกับรัฐมนตรีคลังได้อย่างดี "บางทีเขาอาจจะเป็นคนประสานระหว่างทีมที่ปรึกษา
กับรัฐมนตรีคลังเสียด้วยซ้ำ" บางคนวิเคราะห์
นอกจากนี้เขายังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย (วิโรจน์
นวลแข) ธนาคารหลักของรัฐบาลซึ่งกำลังมีบทบาทนำในระบบเศรษฐกิจอย่างมากจากนี้
ก็มีความสัมพันธ์ที่ติดต่อกันมายาวนาน
คงเป็นยุคหนึ่งของการเมืองที่ผู้มีบทบาทในการบริหารเศรษฐกิจในระดับบนทำงานเข้ากันอย่างมากที่สุดช่วงหนึ่ง
และนี่กระมังที่ทำให้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ตัด สินใจรับตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติง่ายกว่าทุกครั้ง
สำหรับองค์กรธนาคารแห่งประเทศไทยเองแล้ว การเข้ามาของผู้ว่าการคนใหม่นี้
จะก่อให้เกิดเปลี่ยนแปลงภายในไม่มากนักในเชิงโครงสร้าง แต่การทำงานที่ประสานจะมีมากขึ้น
"ท่านเป็นคนเชื่อมั่นในสตาฟฟ์ และปล่อยให้ทำงานอย่างเต็มที่ โดยมีโจทย์อย่างกว้างๆ"
ภควัต โกวิทวัฒนพงศ์ อดีตลูกน้อง คนหนึ่งของผู้ว่าการในช่วงที่ทำงานในธนาคารกสิกรไทย
แต่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่อง ล่าสุดก็คือการร่วมก่อตั้งบริษัทหลักทรัพย์ ทรินิตี้
โดยภควัตเป็นประธานกรรมการบริหาร ในขณะที่ผู้ว่าการฯ เคยเป็นประธาน กรรมการมาก่อน
กล่าวถึงเขาไว้อย่างสอด คล้องกับที่ผู้บริหารรุ่นก่อนของธนาคารกสิกร ไทยที่บอกว่า
ม.ร.ว.ปรีดิยาธรเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ที่ได้รับความนิยมและเป็นที่เชื่อถือ
ของพนักงานธนาคารในสมัยนั้นค่อนข้างมาก
แนวทางวิเคราะห์การมาของ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร จะทำให้ผู้บริหารแบงก์ชาติทำงาน
กันอย่างคึกคักมากขึ้น มีบทบาทมากขึ้น มองอย่างเล็งผลเลิศ บุคลากรในแบงก์จะเกิดการปรับตัวสมดุลมากขึ้น
จากภาวะการพลิกผันค่อนข้างมากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา
ว่าไปแล้วการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในองค์กรอย่างมากเกิดขึ้นตั้งแต่
"คนใน" แบงก์ชาติได้ขึ้นเป็นผู้ว่าการ นักสังเกตการณ์ที่รู้เรื่องแบงก์ชาติบอกว่านั่นคือจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งของ
ผู้บริหารระดับสูง อันทำให้องค์กร "เล่นการ เมือง" กันในองค์กรหลักของประเทศมากจน
เสียสมดุล อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผู้ว่าการ เกิดการ
"ผลัดแผ่น ดิน" ให้คนในขึ้นสู่ตำแหน่งผู้ว่าการอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โดยใช้เวลาเพียง
2 ปี (2538-2540) เปลี่ยนผู้ว่า "คนใน" ไปถึง 3 คน (วิจิตร สุนิพิจ, เริงชัย
มะระกานนท์ และชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์) การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งรองลงมา ที่ตามมามีมากพอสมควร
รวมทั้งปัญหากรณีสอบสวน "หาคนผิด" ในการโจม ตีเงินบาท ทำให้พนักงานแบงก์ชาติมีปัญหาในการทำงานมากทีเดียว
ครั้น ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เข้ามาเป็นผู้ว่าฯ ก็นำ "คนนอก" จำนวนหนึ่งเข้ามาเสริมทีม
ตั้งแต่ระดับผู้ช่วยผู้ว่าการ ผู้อำนวยการหลายตำแหน่ง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่สำคัญในการชักนำ
"คนนอก" เข้ามาในตำแหน่งระดับบริหารที่มิใช่ "ผู้ว่าการ" ย่อมจะก่อให้เกิดภาวะการปรับตัวของบุคลากรพอสมควร
ทั้งนี้ยังไม่รวมการปรับโครงสร้าง การจัดระบบใหม่ในธนาคารชาติ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างมากในช่วงเดียวกัน
ภายใต้การบริหารที่เข้มข้นและตัดสินใจค่อนข้างเด็ดขาดของผู้นำ
การเข้ามาของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร จึงนับว่าองค์กรแห่งนี้ได้ผ่านช่วงเลวร้ายไปแล้ว
และพร้อมจะปรับตัวกับผู้ว่าการคนใหม่ที่มีบุคลิกของผู้ประสาน และพลิกแพลง
ยืดหยุ่นในการทำงาน
ทั้งนี้ก็เชื่อกันว่า ณ เวลานี้องค์กรหลักทางเศรษฐกิจของประเทศก็เริ่มเข้าสู่ภาวะการทำงานได้เสียที
ภายใต้แนวทางการจัดการความสมดุลครั้งใหม่ของกลุ่มธุรกิจเก่า ใหม่และเปิดโอกาสใหม่ขึ้นอีก
ซึ่งถือเป็นการจัดการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่สำคัญครั้งแรกใน รอบ 25 ปี
ทีเดียว