ปีย์มาลากุล ณ อยุธยา เข้ามาไอทีวีในช่วง หัวเลี้ยวหัวต่อ ที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลง
เพื่อจัดการความขัดแย้งของผู้ถือหุ้นระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์ กับเนชั่นกรุ๊ป
ในฐานะผู้บุกเบิกการทำข่าวยุคใหม่ของทีวีเมืองไทย เขาจึงกลายเป็น "จิ๊กซอว์"
สำคัญของไอทีวีในยามนี้ เขาบอกว่า ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
เป็นคนติดต่ออย่างเป็นทางการ ให้เขาเป็นกรรมการบริษัทไอทีวี
"แบงก์บอกว่าเอาผมเข้าไป เพราะผมพอจะเข้าใจแบงเกอร์
เข้าใจคนทำงานแบงก์ บอกว่าอีก 5 เดือน เราปิดนะ ถ้าเราไม่มีเงินจ่ายรัฐบาล
ทางข่าวเขาก็บอกว่า 5 เดือนก็เรื่องของบอร์ด แต่ตัวเองก็อยู่ในบอร์ด ร่วมทุนกับใครไม่ได้
5 เดือนทุกคนตกงานหมด เราก็ต้องไปหาคนที่พอร่วมได้ ก็ไปเจอบริษัทต่างชาติ
4-5 บริษัท แต่ถ้าเอาฝรั่งเข้ามามันก็ท่าจะยุ่ง มีเหลือคุณทักษิณ (ชินวัตร)
รายเดียวก็ตกลงว่าเอา แต่ก็คุยกันว่ามีการเมืองหรือเปล่า การเมืองเอามาใช้ไม่ได้นะ
เขาก็ตกลง หลังจากนั้น ก็ตั้ง ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เป็นประธานบอร์ด ท่านเป็นคนตรงเผงเลย
ถามซิว่า อย่างท่านใครจะกล้าเดินมาสั่ง ขอความเห็นใจไม่ได้เลย แบงก์ไม่เอาคนของเขา
เขาเอาคนอย่างนี้ล่ะมา"
ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เป็นเลขานุการโครงการหลวงของพระราชชนนี กลายเป็นบุคคลสำคัญของ
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของกิจการในเครือสำนักงานทรัพย์สิน ส่วนพระมหากษัตริย์ในช่วง
2 ปีมานี้ เขาเข้าไปเป็นคณะกรรมการในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อการเปลี่ยนแปลง โดยโละกรรมการรุ่นเก่าหลายคนในธนาคารไทยพาณิชย์
เมื่อเขาลาออก ชุมพล ณ ลำเลียง ก็เข้าไปเป็นประธานกรรมการ
ปีย์เล่าให้ฟังด้วยคำพูดมันๆ ตามสไตล์ของเขา ก่อน ที่จะย้อนถาม "ผู้จัดการ"
ว่า เสรีภาพของสื่อมวลชนอยู่ตรงไหน ถ้าบก.สั่งคุณให้ไปทำข่าวแล้วคุณไม่ไป
บก.จะทำอย่างไร เขามีความคิดว่าความเป็นอิสระ ในการทำข่าว มันควรจะมีกรอบเหมือนกัน
เพื่อ ที่จะให้ไปในทิศทางเดียวกัน เสรีภาพต้องอยู่ภายใต้กรอบอันนี้
คำว่า "เสรีภาพ" ของการทำข่าวนั้น เป็นประเด็น ที่ทางเนชั่น กรุ๊ป ใช้เป็นจุดโจมตีบอร์ดชุดนี้มาตลอด
และในที่สุดได้กลายเป็นชนวนสำคัญทำให้เทพชัย หย่อง พ้นจากผู้อำนวยการฝ่ายข่าวไปอยู่สำนักงานบริหารแทน
โดยมี ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ผู้ที่เคยเป็นขุนพลให้กับปีย์ ปฏิวัติรายการข่าวจนโด่งดังมาแล้วในแปซิฟิค
กรุ๊ป เมื่อ 10 ปีก่อนเข้ามารับผิดชอบงานทั้งหมดของฝ่ายข่าวทั้งหมดแทน
ปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา เห็นด้วยถ้าเนื้อหา (content) ของไอทีวี ซึ่งเป็นดิจิตอล
จะมีคุณค่าสำคัญสำหรับชินคอร์ปในยุคอินเทอร์เน็ต ซึ่งผู้ให้บริการด้านเครือข่ายกำลังกว้านหาเนื้อหากันขนานใหญ่ในยุคนี้
แม้ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล จะบอกว่าเข้ามาได้เพราะได้รับการทาบทามจากผู้บริหารของชินคอร์ปคือ
บุญคลี ปลั่งศิริ และนิวัฒน์ บุญทรง แต่หากมองอีกมุมหนึ่งจะพบว่า ทุกวันนี้
ปีย์ กับดร.สมเกียรติ นั้น ยังไม่เคยห่างกันเลย ผู้ใกล้ชิดปีย์จะรู้ดีว่ายังมีการโทรคุย
และอีเมลถึงกันตลอด และ ดร.สมเกียรติเองก็ยังคงเป็น ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งใน
จส.100 จนถึงปัจจุบัน
ปีย์กับดร.สมเกียรติ มีความผูกพัน มีความหลังให้จำ ซึ่งกันต่างๆ มากมาย กระต๊อบหลังเล็กๆ
บนยอดเขาแห่งหนึ่ง เคยเป็นที่ ที่ทั้ง 2 คนหลบไปนอนพัก หาหน่อไม้เล่นมาแล้ว
ในช่วง ที่ปีย์วางแผนการหายตัวไปของดร.สมเกียรติ หลังการเข้าพบผู้อำนวยการ
อ.ส.ม.ท (ประมุท บูรณศิริ) กระทั่งเป็นข่าวฮือฮา จนเรตติ้งข่าวของช่อง 9
เพิ่มขึ้นมากมาย
อะไรไม่ชัดเจนเท่าคำพูดของเขา ที่ว่า
"หากไอทีวี มีปัญหา ผมจะดึง ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล
กลับมาทำงานเมื่อไรก็ได้ ผมสร้างคนไว้เยอะแยะ ไม่มีใครแตกกับผม และเมื่ออาจารย์กลับมาก็ไม่มีใครพูดถึงผม
แล้วผมก็อยู่อย่างเป็นสุข ไม่มีใครกวนใจ"
เป็นคำพูดของปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา ก่อน ที่ดร.สมเกียรติ จะเข้ามาใช้ "เสรีภาพ"
ในการทำข่าวในไอทีวีประมาณ 2 อาทิตย์
แล้ววันนี้ ปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา ก็ก้าวจากมุมลงมาสู่เวทีใหม่ครั้งหนึ่ง
ในฐานะรองประธานไอทีวี ในยุคไม่มีเนชั่น นับเป็นครั้งแรกของคนทั้งคู่ ที่เข้ามาทำทีวีให้กับเอกชน
หลังจากมีบทเรียน และประสบการณ์มากมายกับสัมปทานทำข่าวให้กับทีวีของรัฐบาลมาแล้วหลายครั้ง
โอกาสใหม่ๆ ในเรื่องธุรกิจทีวีคราวนี้ คงมีมากขึ้นแน่นอน