คราวที่แล้วผมได้เสนอเรื่องราวของการ "ร้องรำทำเพลง" เพื่อให้เป็นกิจกรรมยามว่างที่สร้างสรรค์จรรโลงจิตร
คราวนี้ผมขอเล่าถึงการหัดเล่นเครื่องดนตรี บ้าง ได้ยินเขากล่าวโดยทั่วไปว่า
จะหัดดนตรีต้องเริ่มตั้งแต่เด็ก เพราะมือไม้ยังอ่อนและหัวสมองยังว่างและไว
สามารถพัฒนาได้รวดเร็ว ถ้าแก่ (ใช้คำที่สุภาพว่ามีอายุหรือไม่ใช่เด็ก) เป็นไม้ดัดยากแล้วหมดสิทธิหัด
เพราะมือไม้แข็ง หัวสมองไม่รับ ฯลฯ ถ้าท่านหลงเชื่อข้อคิดเห็นที่คับแคบแกมดูถูกนี้
และหยุดยั้งความอยากจะเป็นนักดนตรีตอนแก่ก็เป็นที่น่าเสียดายยิ่ง
เป็นไปได้อย่างยิ่งที่ใครๆ จะหัดเล่นดนตรีตอนที่ไม่ได้เป็นเด็กแล้ว ปัญหาสำคัญมิได้อยู่ที่มือไม้แข็งหรือสมองไม่รับ
แต่อยู่ที่จิตใจและกลยุทธ์ในการเริ่มต้นอย่างไรก็ตาม มิใช่ว่าทุกคนจะสามารถหัดเล่นดนตรีได้ผลสำเร็จ
ความสำเร็จขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและข้อปฏิบัติบางประการซึ่งได้แก่
‘ ท่านต้องเป็นผู้ที่รักในเสียงเพลงเสียงดนตรีมาก่อน ท่านอาจเป็นผู้ที่ชอบฟังเพลงหรือถ้าชอบร้องเพลงด้วยยิ่งดี
‘ ท่านจะต้องเชื่อมั่นในตัวเองว่าสามารถทำได้สำเร็จ
‘ ท่านจะต้องมีเวลาให้อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะขณะกำลังฝึกหัดใหม่ๆ แต่ละครั้งไม่ต้องมากแต่ต้องสม่ำเสมอ
และไม่ห่างกันจนเกินไป ข้อนี้ถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญ คือเรื่องของการบริหาร
เวลาซึ่งเป็นหัวใจของการงานใดๆ
‘ ท่านจะต้องไม่ใจร้อน (หัดดนตรีไม่เหมือนการตัดสินใจแบบ CEO ร่วมสมัย)
ดนตรีเป็นงานประณีตและต้องอาศัยความชำนาญ การฝึกจึงต้องใจเย็นๆ และใช้เวลา
‘ ท่านต้องกัดไม่ปล่อยระหว่าง การฝึกฝนท่านจะพบกับปัญหานานา ประการซึ่งล้วนเป็นปัญหาที่เกิดจากตัวท่านเอง
และมักจะเกิดในช่วงเริ่มต้นของการฝึกหัดทำให้เกิดอาการท้อก่อนกำหนด ท่านต้องมีใจมั่นคงเอาชนะอุปสรรคต่างๆ
เป็น ขั้นเป็นตอน แต่ขณะเดียวกันท่านต้องไม่คาดหวังหรือซีเรียส จนเกินไปเพราะท่านคงไม่คิดจะไปแข่งขันหรือประกวดกับใครที่ไหน
‘ ข้อสุดท้ายและเป็นกลยุทธ์สำคัญที่สุด คือให้กิจกรรมดนตรีสอดคล้องกลมกลืนกับชีวิตประจำวันของท่าน
ก็คล้ายๆ กับการเล่นกีฬาหรือ การออกกำลังกายที่ทำเป็นประจำ ข้อสำคัญคือจัดให้กิจกรรมดนตรีไม่ขัดแย้งกับกิจกรรมประจำวัน
อย่าลืมว่าการฝึกหัดดนตรีมีขั้นตอนและไม่ได้คงที่หรือซ้ำซากไปตลอด ท่านควรจัดกิจกรรมให้เหมาะสมเป็นระยะๆ
เครื่องดนตรีที่เลือก เล่นก็มีส่วนสำคัญ ถ้าท่านอยากเท่แบบ เวเนสสา เมย์
หัดสีไวโอลินให้ออกลวดลายตอนแก่ ท่านอาจพบอุปสรรคที่หนักหน่วง เพราะไวโอลินเป็นเครื่องดนตรีที่หัดยากมากที่สุดชิ้นหนึ่ง
ไม่ได้เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้แต่ต้องอาศัยความพยายามสูง ข้อแนะนำ คือเลือกเครื่องดนตรีที่เป็นพื้นฐานทั่วไปมาฝึกหัดก่อน
ถ้าท่านประสบผลสำเร็จในขั้นเบื้องต้น ท่านสามารถขยับขยายไปเล่นเครื่องดนตรีที่ยากขึ้นได้
เช่น ท่านอยากหัดเป่า Flute หรือ Saxophone ท่านควรเริ่มต้นจากขลุ่ย Recordern
ซึ่งหัดง่ายที่สุดและขลุ่ย Recorder ก็มีวิธีการใช้นิ้วที่ตรงกับเครื่องลมอื่นๆ
เช่น Flute, Saxophone, Clarinet ฯลฯ ซึ่งท่านสามารถพัฒนาไปหัดเล่นต่อได้
สำหรับท่านที่ยังไม่มีเครื่องดนตรีในฝัน และถือเป็นตัวอย่างในข้อเขียนนี้
ผมใคร่แนะนำให้ท่านฝึกหัดเล่นเครื่องดนตรีสองชนิด (ให้เลือก) ได้แก่ กีตาร์
และคีย์บอร์ด ที่เลือกเช่นนี้เพราะเป็นเครื่องดนตรีที่แพร่หลาย เล่นคนเดียวได้
เข้ากับแนวเพลงทั่วไปและ ที่สำคัญคือการฝึกหัดเพื่อเล่นไม่ยากจนเกินไป
ขอเริ่มต้นที่กีตาร์ก่อน กีตาร์ ที่ผมแนะนำให้หัดเล่นเป็นกีตาร์ชนิด Acoustic
คือเป็นกีตาร์ที่มีเสียงดังในตัวเองโดยไม่ต้องอาศัยเครื่องขยายเสียงไฟฟ้า
มี ให้เลือก 2 ชนิดคือ กีตาร์แบบ Classic และแบบ Folk ข้อแตกต่างที่สำคัญของทั้งสองชนิดอยู่ที่ขนาดความกว้างของคอกีตาร์
(Finger Board) และวัสดุของสายกีตาร์ กีตาร์แบบ Classic จะมีขนาดคอที่กว้างกว่าและใช้สายไนล่อน
ขณะที่กีตาร์แบบ Folk จะมีคอกีตาร์ที่แคบกว่าและใช้สายโลหะล้วน เสียงที่ออกมากีตาร์แบบ
Classic จะฟังนุ่มๆ ขณะที่กีตาร์แบบ Folk จะมีเสียงสดใสและแข็งกระด้างกว่า
แต่ที่แตกต่างสำคัญมิได้อยู่ที่เสียงหรือตัวเครื่องแต่อยู่ที่แนวดนตรีและเทคนิคการเล่น
กีตาร์แบบคลาสสิก จะใช้เล่นเพลงแนวดนตรี คลาสสิกหรือเพลงที่ถูกเรียบเรียงในแนวคลาสสิก
การ เล่นจะใช้นิ้วทั้ง 5 นิ้วดีดสายที่เรียกว่า Finger Picking การเล่นเพลงคลาสสิกจะใช้ตัวโน้ตสากล
5 เส้น (ตัว หัวดำบ้างขาวบ้างมีหางบ้าง อยู่บนเส้นแนวนอน 5 เส้น) การเริ่มต้นฝึกหัดกีตาร์แบบ
Classic จะต้องหัดเล่นตัวโน้ต เป็นตัวๆ ต้องใช้เวลาและความพยายามพอสมควรทั้งการฝึกอ่านโน้ตและเทคนิคการเล่น
ผมแนะนำให้ไปสมัครเรียนกันครูกีตาร์หรือหาครูพิเศษ มาสอนที่บ้านกรณีที่ท่านชอบดนตรีแนวคลาสสิกและอยากจะเล่นกีตาร์แนวนี้จริงๆ
และท่านต้องทำใจถือเป็นโครงการระยะยาวเหมือนหนองงูเห่า
ส่วนการฝึกหัดกีตาร์แบบ Folk นั้น ท่านอาจ เรียนรู้ด้วยตัวเองโดยอาศัยตำรับตำราที่หาซื้อได้ทั่วไป
การหัดเล่นกีตาร์แบบ Folk ด้วยตัวเองก็เหมือนมวยวัด คือมีรูปแบบในการฝึกหัดหลากหลาย
เริ่มต้นท่านไปหาซื้อ (หรือหายืม) กีตาร์พร้อมเครื่อง ตั้งเสียง และก่อนท่านจะเล่นกีตาร์เป็นเพลงท่านจะต้องตั้งสายให้เสียงถูกต้องก่อน
ซึ่งเป็นการดีที่ท่านจะตั้งสายด้วยตัวเองแต่แรก เพราะจะได้ไม่ต้อง พึ่งพาใครต่อใครหรือทนเล่นกีตาร์เสียงเพี้ยนๆ
ให้เสียนิสัย เดี๋ยวนี้มีอุปกรณ์ตั้งเสียงชนิดดิจิตอลราคา ไม่แพง ท่านสามารถตั้งสายได้โดยไม่ต้องอาศัยหูที่มีความรู้และเที่ยงตรงอุปกรณ์สำคัญอีกชิ้นคือ
Pick สำหรับ เล่นกีตาร์ การใช้ Pick จะทำให้ สามารถดีดสายได้สะดวกได้เสียงที่ชัดเจน
โดยไม่ต้องใช้เวลาหัดนาน ไม่เหมือนการใช้นิ้วมือดีดสายแบบกีตาร์ Classic
ซึ่งต้องการการฝึกฝนเพื่อให้ได้เสียงที่มีคุณภาพและชัดเจน
ถึงตรงนี้ผมจะเว้นวรรคให้ท่านไปจัดหาอุปกรณ์หรือรวบรวมความตั้งใจและคราว
หน้าผมจะมาเล่าต่อถึงการฝึกหัดกีตาร์และคีย์บอร์ดต่อ แล้วพบกัน ครับ