คุณเคยนัดทานข้าวกับเพื่อนฝูงที่เกรย์ฮาว คาเฟ่ ดิเอ็มโพเรี่ยม หรือ ซิ๊กเซ้น
เซ็นทรัลหรือ เดอะคัพ...คัพฟ้า ...คอฟฟี่บีนส์...เดอะพิคเคิ้ล แฟคตอรี่...หรืออะแมทเทอร์
ออฟเทสต์...(เฮ้อ! เหนื่อย) บ้างไหม นี่ยังไม่ได้เฉียดไปใกล้ดอนเมืองเลยนะ
ชื่อร้านภาษาไทยเก๋ๆ หายไปไหนหมด?
ใครจะไปคาดเดาได้ว่าสะเก็ดภาษาอังกฤษจะมีพลังดึงดูดปากท้องได้ถึงปานนี้
สะกิดคุณๆ ให้ได้หยุดคิดแป๊บนึง ก่อนจะบอกข่าวดีว่า ไทยเราไม่ใช่ชาติเดียวภาษาเดียวที่ใช้พลังคำอังกฤษเชิญชวนให้ผู้บริโภคอุดหนุนสินค้า
แต่ข่าวน่าจะร้ายมากกว่าดีก็คือ ชาติอื่นภาษาอื่นเขาทำกันเยอะมาก มากซะจนเจ้าของภาษาอังกฤษเขาเอาไปเขียนหนังสือได้เป็นเล่มๆ
เรียกหัวเราะได้ไม่จบ เว้นแต่จากคนนั้นชาตินั้นที่พลาดท่า ไม่ตั้งใจตลกนั่นเอง
สะเก็ดอังกฤษกระจายทุกมุมโลก
ยกตัวอย่างในญี่ปุ่น สินค้าประดามีที่มุ่งขายเฉพาะ ตลาดคนญี่ปุ่นกลับใช้ภาษาอังกฤษทั้งเป็นชื่อยี่ห้อ
และบรรยายสรรพคุณ เช่น บนยางลบยี่ห้อหนึ่งมีสรรพคุณ ระบุว่า "Mr.Friendly
Quality Eraser. Mr.Friendly Arrived!!! He always stay near you, and steals
in your mind to lead you a good situation."* ส่วนกระป๋องโค้กเขียนว่า
"I FEEL COKE & SOUND SPECIAL"*
ญี่ปุ่นยังมีเพื่อนอีก ในฮ่องกงมีร้านชื่อ Plastic Bacon Factory ส่วนในเมืองเนเปิ้ลประเทศอิตาลี
มีร้านกีฬาชื่อ Snoopys Dribbling ในกรุงปารีส สมัยหนึ่งสาวๆ สามารถซื้อกิ๊บติดผมและแชมพูสระผมได้ที่
Le Drugstore
ทำไมคำอังกฤษมีพลังดึงลูกค้า
คำตอบไม่ได้อยู่ที่ว่าในโลกนี้มีเจ้าของภาษาอังกฤษ อยู่ประมาณ 330 ล้านคนหรือเมื่อรวมกับคนที่ใช้พูดเป็นภาษาที่สอง
หรือภาษาที่สามจะมีถึง 750 ล้านคน แต่ประเด็นอยู่ที่ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการ
ในประมาณ 44 ประเทศ ซึ่งมีประชากรรวมทั้งหมด 1,600 ล้านคน หรือ ราวหนึ่งในสามของประเทศโลก
เจ้าของภาษาอังกฤษเองก็ชอบเก็บสถิติที่บ่งบอกความสำคัญของภาษาแม่ของตน เช่น
สองในสามของรายงานวิทยาศาสตร์ในโลกตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ และประมาณครึ่งหนึ่งของการติดต่อธุรกิจในยุโรปใช้ภาษาอังกฤษ
ศัพท์เยอะและยืดหยุ่น
อีกเหตุผลหนึ่งที่คนนิยมใช้ภาษาอังกฤษ อาจเป็นเพราะภาษานี้มีศัพท์เป็นจำนวนมากและหลากหลายที่สุด
คือมีราว 500,000 คำ เทียบกับภาษาเยอรมันที่มีประมาณ 185,000 คำ และฝรั่งเศสราว
100,000 คำ ศัพท์จำนวนมหาศาลนี้ทำให้เจ้าของภาษาเอง มีความจำเป็นต้องมีและ
ใช้หนังสือสำหรับหาคำเหมือนหรือคำคล้ายกัน โดยเฉพาะ หนังสือดังว่าที่มีชื่อเสียงเป็นพิเศษและขาดไม่ได้
ในการเขียนรายงานเรียงความสารพัดบทเขียน คือ Rogets Thesaurus ตัวอย่างคำเหมือนเช่นคำว่า
เรือ ในภาษาอังกฤษมีกว่า 200 คำ และแยกแยะตามประเภทและลักษณะของเรือ
อันที่จริง นี่อาจจะไม่ใช่การยกตัวอย่างที่ดีที่สุด เพราะชาวอังกฤษเองพยายามให้เหตุผลของการมีศัพท์จำนวนมาก
ว่าเป็นเพราะประเทศตนเป็นเกาะ จึงมีชนต่าง ชาติต่างภาษามากมายเหลือเกินบุกรุกแผ่นดินและภาษาแม่
จนในที่สุดก็รับคำต่างๆ หลากภาษาเข้ามาไว้ในภาษาประจำวัน
คำสากล
ราว 15 ปีมาแล้ว วารสารดิอีโคโนมิสต์ของอังกฤษได้ประมวลศัพท์ภาษาอังกฤษที่มีการใช้แพร่หลายทั่วทุกมุม
โลก จนกลายเป็นภาษาสากลไปแล้ว ในบรรดากลุ่มดังว่า มีคำที่เราใช้กันติดปาก
ได้แก่ โฮเต็ล บาร์ โซดา สปอร์ต กอล์ฟ เทนนิส โอเค ยีนส์ พาสปอร์ต และโนพลอบเบล็ม
วารสารเดอะอีโคโนมิสต์ยังหยิกแกมหยอกอีกด้วยว่าคำสากลเหล่านี้มักจะข้องเกี่ยวกับการเดินทาง
สินค้าและ กีฬา ซึ่งผู้ส่งออกที่แท้จริงนั้น ไม่ใช่ประเทศอังกฤษ แต่ เป็นสหรัฐอเมริกา
ยืมมา... เหมือนกัน
ใช่ว่าชาติอื่นจะยืมศัพท์อังกฤษมามากแต่เพียงฝ่ายเดียว ชาวอังกฤษเองก็รับคำศัพท์จากชาติอื่นภาษา
อื่นมามากเช่นกัน อีกทั้งทำมานานแล้วด้วย ในขณะที่ปัจจุบันเจ้าของภาษาอังกฤษ
ซึ่งยังมีทั้งอเมริกัน ออสซี่ ชาวแคนาดา ชาวนิวซีแลนด์ ฯลฯ ต่างก็ยังคงหยิบยืม
อยู่ต่อไปเช่นกัน ยิ่งประเทศเหล่านี้มีนโยบายเปิดรับผู้อพยพจากทั่วโลก โอกาสรับคำศัพท์จากภาษาต่างๆยิ่งมีมากขึ้นกว่าในอดีต
ลองมาดูตัวอย่างที่มาของคำศัพท์ที่คาดไม่ถึง กันบ้าง
แชมพู และบังกะโล มาจากประเทศอินเดีย
แค็ทชัพ (ซอสมะเขือเทศ) มาจากจีน
โซฟา มาจากซาอุดีอาระเบีย
โพเทโท่ และคานู มาจากหมู่เกาะไฮอิติ
เมย์เดย์ มาจากฝรั่งเศส
ช็อกโกแลตมาจาก เม็กซิโก
ออร์เคสตรา มาจากกรีก
แจ๊ซ มาจากฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกา
เปียโน มาจากอิตาลี
โยเกิร์ต และกาแฟ มาจากตุรกี
ใครจะไปรู้ ยิ่งโลกเราเล็กลงและเมนูอาหารอ้วนขึ้น ไม่ช้านาน Tum Yam Gung
อาหารไทยจานโปรดของฝรั่งและไม่ฝรั่งทั้งหลาย อาจมีที่อยู่ใหม่ในพจนานุกรมอังกฤษ-อังกฤษก็ได้
* จากหนังสือ Mother Tongue โดย Bill Bryson