Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2544








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2544
Kitchen of the World             
โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
 

   
related stories

โรงเรียนและสถาบันฝึกอบรมการประกอบอาหารไทย
วิทยาลัยดุสิตธานี

   
www resources

โฮมเพจ กรมส่งเสริมการส่งออก

   
search resources

กรมส่งเสริมการส่งออก
Restaurant




ภูมิปัญญาไทยในเรื่องอาหารอันอุดมไปด้วยสมุนไพรที่มีคุณค่าทางโภชนาการนั้น กำลังถูกสร้างมูลค่าเพิ่มและกลายเป็นช่องทางยุทธศาสตร์ใหม่ ในการสร้างรายได้เข้าประเทศที่เป็นรูปธรรมชัดเจนมากที่สุด ด้วยวิธีการที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

อาหารไทยไปเปิดตัวในต่างประเทศมานานกว่า 2 ทศวรรษ รูปแบบของการเกิดขึ้นในยุคแรกๆ นั้นเป็นเพราะคนไทยที่ไปเรียนหนังสือหรือไปตั้งรกราก หวังจะมีกิจการเล็กๆ เป็นของตนเอง โดยไม่ได้มองถึงเรื่องการขยายสาขาหรือทำเป็นธุรกิจใหญ่โต แต่ในยุคนี้ ร้านอาหารไทยในต่างประเทศกำลังกลายเป็นเค้กก้อนใหญ่ที่นักลงทุน ทั้งรายเล็กและรายใหญ่กำลังวางยุทธวิธีในการเข้าไปทำธุรกิจอย่างมืออาชีพมากขึ้น

ปัจจุบันตัวเลขจากกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าร้านอาหารไทยทั่วโลกมีประมาณ 5,500 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา ยุโรป และยุโรปตะวันออก เกือบครึ่งหนึ่ง ที่เหลือจะอยู่ในญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เอเชีย ตะวันออก กลาง และแอฟริกา และมีแนวโน้มที่จะเกิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามกระแสความนิยม

นั่นก็หมายถึงโอกาสทองของร้านอาหารไทยที่มีชื่อเสียงและมีความพร้อมอยู่แล้ว ในประเทศเองจะเข้ามาใช้โอกาสนี้เพิ่มจำนวนสาขาไปทั่วโลก

กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ ผู้บุกเบิกการ เกษตรจนขยายเครือข่ายไปทั่วโลก ขณะนี้ได้สำรวจที่จะบุกตลาดในทวีปต่างๆ ด้วยการ เปิดร้านอาหารไทยขึ้นมาพร้อมๆ กัน โดยจะใช้ชื่อว่า "ร้านบัวบาน" โดยจะค่อยๆ เปิด ตัวในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ก่อนเป็นอันดับแรกโดยมีการประทับตราซีพี เป็นเครื่องหมายการค้าสำคัญ

บริษัทเอสแอนด์พีซินดิเคท จำกัด (มหาชน) เปิดร้านอาหารไทยชื่อ "ภัทรา" ใน ต่างประเทศมาเกือบ 10 ปี และปีนี้กำลังเตรียมบุกตลาดอาหารแช่แข็งและร้านขายอาหารในอเมริกาอีกหลายร้าน ส่วนทางด้านบริษัทโคคา โฮลดิ้ง นั้น มีเป้าหมายชัดเจนว่ารายได้หลักของบริษัทไม่หวังยอดขายในเมืองไทย แต่จะเป็นรายได้จากการขายในตลาดต่างประเทศ เป็นหลัก แผนการบุกตลาดโลกด้วยระบบการขายแฟรนไชส์ พร้อมๆ กับเปิดตัวแบรนด์ ใหม่ของร้านอาหารไทยในเครืออีก 2 แบรนด์ คือ "Mango Tree" และ "Mango Chilli" และเปิดสาขาแรกของ Mango Tree ในกรุงลอนดอนไปเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2544 ที่ผ่านมา

และ "Blue Elephant" เป็นร้านอาหารไทยระดับ luxury อีกร้าน ที่ไปเปิดขายในต่างประเทศมานานกว่า 20 ปีแล้ว กำลังวางแผนขายแฟรนไชส์ในปีนี้เช่นกัน

เช่นเดียวกับกลุ่มบริษัทผู้ผลิตกระทิงแดงที่หาช่องทางการเปิดร้านอาหารไทยในต่างประเทศ โดยหวังจะให้ประสบความสำเร็จเช่นเครื่องดื่มชูกำลังที่กำลังโด่งดังทั่วโลก

เอกชนหลายรายกำลังเดินหน้าที่จะร่วมกันส่งเสริมภูมิปัญญาไทยออกขายไปทั่วโลก ขณะเดียวกันก็มีผู้ประกอบการอื่นๆ ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติฉวยช่วงจังหวะนี้เปิดร้านอาหารไทยขึ้นอย่างมากมาย กรมส่งเสริมการส่งออกกระทรวงพาณิชย์ ก็เลยมีแผนการหนึ่งที่น่าสนใจ มากๆ คือการจัดทำโครงการส่งเสริมภัตตาคารและร้านอาหารไทยทั่วโลก เพื่อให้คงมาตรฐานความเป็นอาหารไทย โดยเป้าหมายของโครงการ คือขยายจำนวนร้านจากเดิมที่มีอยู่แล้ว 5,000 แห่ง ให้เพิ่มขึ้นอีก 3,000 แห่ง เป็น 8,000 แห่งทั่วโลก ภายในปี 2548 โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะใช้ภัตตาคารและร้านอาหารไทยทั่วโลกนี้ เป็นช่องทาง ในการส่งออกสินค้าอาหาร และสินค้าในธุรกิจเชื่อมโยงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เฟอร์นิเจอร์ สินค้าหัตถกรรม เป็นต้น ซึ่งจะทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าโดยรวม เพิ่มขึ้น

นโยบายในเรื่องดังกล่าว มีมติเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีไปแล้วตั้งแต่ปี 2542 และกรมส่งเสริมการส่งออกก็ได้มีแนวทางเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้นแล้วเช่นกัน

"ทุกวันนี้ถ้าเห็นร้านอาหารไทยในต่างประเทศ ประสบความสำเร็จมีหลายสาขาในรัฐเดียวกัน พบว่าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศทั้งสิ้น เพราะเขาชำนาญในการทำงานเป็นระบบแบบธุรกิจ ในขณะที่คนไทยอาจจะเปิดร้านขายอาหาร โดยไม่ตั้งใจให้เป็นธุรกิจ เพียงแต่ อาจจะไปเรียนหรือไปทำงานอยู่ที่นั่น การขยายสาขาก็อาจจะเป็นเครือญาติมากกว่า"

ธนิฎฐา เศวตศิลา มณีโชติ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมธุรกิจ กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" และ อธิบายเพิ่มเติมว่า การเพิ่มจำนวนร้านอาหาร อย่างรวดเร็วนั้น จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ด้านการตลาดอย่างมีระบบและแบบแผน แนวความคิดในการใช้ระบบแฟรนไชส์ จึงน่าจะมีความเป็นไปได้สูง และเป็นแนวความคิดที่ร้านอาหารชั้นนำทั่วโลกใช้กันแพร่หลาย สำหรับต้นแบบของร้านอาหารไทยในระบบแฟรนไชส์ ที่กรมส่งเสริมการส่งออก ได้ศึกษาไว้ มี 3 รูปแบบ คือ

1. Golden Leaf เป็นภัตตาคารที่ตกแต่งหรูหราด้วยหัตถกรรมฝาผนังแบบ Thai Art และคงรสชาติอาหารแบบไทยแท้ ใช้พื้นที่ดำเนินการประมาณ 450-500 ตารางเมตร สามารถจัดโต๊ะบริการได้ 160 ที่นั่ง คิดเป็นเงินลงทุน 45 ล้านบาท โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอยู่ในระดับบน ค่าอาหารเฉลี่ยต่อหัวที่ 25-30 เหรียญสหรัฐ ตั้งอยู่ในทำเลย่านธุรกิจ สำนักงาน โรงแรม หรือศูนย์การค้า

2. Cool Basil เป็นภัตตาคารร่วมสมัย (Contemporary Thai Restaurant) รูปแบบ ของร้านจะเรียบง่ายแฝงด้วยสไตล์ไทย รายการอาหารจะเป็นอาหารไทยยอดนิยม ปรับรสชาติตามตลาดท้องถิ่น ต้องใช้พื้นที่ขนาด 250 ตารางเมตร จัดโต๊ะได้ประมาณ 50 ที่นั่ง งบประมาณในการลงทุนประมาณ 24 ล้านบาท ทำเลจะเป็นย่านชุมชนทั่วไป รวมทั้งอาคารสำนักงาน และศูนย์การค้า เจาะกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-บน ราคาอาหารเฉลี่ยต่อหัว 15-20 เหรียญสหรัฐ

3. Elephant Jump เป็นร้านอาหารไทยจานด่วน (Thai Fast Food) เน้นการตกแต่งร้านเป็นแบบสมัยใหม่ แต่ยังคงเอกลักษณ์แบบไทย มีรายการอาหารจานเดียว และสามารถสั่งกลับบ้านได้ ขนาดพื้นที่บริการเพียง 70 ตร.ม. จัดที่นั่งได้ประมาณ 16 ที่นั่ง ใช้งบลงทุนประมาณ 7 ล้านบาท ตั้งอยู่ในแหล่งชุมชน ที่พักอาศัย โรงเรียน มหาวิทยาลัย สำนักงาน หรือศูนย์การค้า ค่าอาหารเฉลี่ยต่อหัวประมาณ 5-10 เหรียญสหรัฐ ร้านค้าต้นแบบทั้ง 3 รูปแบบนี้ กรมส่งเสริมฯ ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้เป็น ที่เรียบร้อยแล้วในประเทศเป้าหมายหลัก 7 ประเทศคือ สหรัฐฯ อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และเซาท์แอฟริกา

ขั้นตอนที่ต้องทำต่อไปก็คือ กรมส่งเสริมฯ จะต้องจัดตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อบริหารโครงการ นี้อย่างครบวงจร โดยเฉพาะการให้บริการ ได้แก่ การจัดหาบุคลากร พ่อครัว การจัดหาเครื่องปรุง วัตถุดิบในการปรุงอาหาร การวิจัย การหาทำเล ทั้งนี้จะต้องดำเนินการในรูปแบบ ของบริษัทเอกชนเพื่อความคล่องตัวในการทำงาน โดยจะใช้ขื่อว่า Global Thai Restaurant (GTR) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์

กรมส่งเสริมฯ กำลังเตรียมประชุมร่วมกับภาคเอกชนที่สนใจเข้าร่วมลงทุน ซึ่งได้กำหนดทุนจดทะเบียนระยะแรกไว้ประมาณ 400 ล้านบาท โดยเอกชนอาจจะเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด หลังจากนั้นก็เตรียมจัดตั้งคณะกรรมการบริษัท และคัดเลือกทีม บริหารเพื่อวางมาตรฐานและกำหนดรายละเอียดต่างๆ ในการดำเนินการต่อไป ในขณะที่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกำลังติดตามความคืบหน้าของโครงการนี้ที่เริ่มมา ตั้งแต่สมัยรัฐบาลก่อนจนถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน แต่ผลของการประชุมร่วมกับเอกชนนั้นยังไม่ได้ข้อสรุปที่น่าพอใจนัก เพราะยังมีความเห็นที่ขัดแย้งกันในหลายเรื่อง

GTR จะประสบความสำเร็จหรือเดินหน้าได้หรือไม่ รัฐบาลเองก็ต้องมีโครงการ อื่นเพื่อส่งเสริมร้านอาหารไทยอย่างต่อเนื่อง และที่กำลังทำอยู่ในขณะนี้เช่นการจัด ทำ Certificate คือ "ตราสัญลักษณ์ Thailand's Brand" ให้กับร้านอาหารไทยที่ได้มาตรฐาน โดยผ่านการคัดเลือกของคณะทำงานที่ตั้งขึ้นในแต่ละประเทศ ปัจจุบันเครื่องหมายนี้ได้มอบให้ไปแล้วประมาณ 700 ร้าน จากจำนวนร้านอาหารไทยในต่างประเทศประมาณ 5,500 ร้าน

โดยมีวิธีในการดำเนินการคือ ทางกรมส่งเสริมฯ ได้ขอความร่วมมือจากสำนัก งานส่งเสริมการค้า และสถานเอกอัครราชทูตไทย ในต่างประเทศ คัดเลือกร้านอาหาร ในแต่ละประเทศที่ได้มาตรฐาน โดยให้อำนาจในการจัดตั้งคณะกรรมการคัดเลือกขึ้นมาเป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพอาหาร และหลังจากได้รับแล้วคณะกรรมการจะทำการสุ่ม ตรวจมาตรฐานเป็นระยะๆ

การอนุญาตให้ใช้ตรา "Thailand's Brand จะมีอายุ 3 ปีหลังจากนั้นก็ต้องต่ออายุกันใหม่ และจะต่อได้อีกหรือไม่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่คณะกรรมการวางไว้

"เครื่องหมายนี้ไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนไทยเท่านั้น ชาวต่างชาติเราก็ให้ หากเขาทำอาหารไทยอร่อย เพราะส่วนใหญ่แล้วถึงแม้จะเป็นการลงทุนของชาวต่างชาติ แต่ก็จะจ้างคนครัว คนเสิร์ฟ เป็นคนไทย และซื้อหาข้าวของประดับร้านจากเมืองไทยทั้งสิ้น"

การผลักดันให้เอกชนจัดตั้ง Thai Cooking School เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่กรมส่งเสริมฯ จะส่งเสริมให้เกิดขึ้น เพื่อให้อาหาร ไทยได้มาตรฐาน โรงเรียนนี้จะตั้งได้ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งผู้อำนวยการฯ ได้เล่าว่ามีนักธุรกิจบางคนในหลายประเทศ เช่น เยอรมนี และเบลเยียม แสดงความจำนงเรื่องนี้มาแล้ว ในประเทศไทยเองก็มีผู้สนใจที่จะเปิด โรงเรียนผลิตพ่อครัวแม่ครัวไทย เพื่อส่งออกไปทำงานในต่างประเทศหลายราย เช่น บริษัทเอสแอนด์พี บริษัทโคคาโฮลดิ้ง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันราชภัฏสวน ดุสิต โรงแรมโอเรียนเต็ล และวิทยาลัยดุสิตธานี

ล่าสุดร้านดัง Blue Elephant ก็ได้ซื้ออาคารเก่าที่สวยงามและเป็นตึกที่กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนไว้คือ "หอการค้าไทยจีน" บนถนนสาทร เพื่อเปิดเป็นโรงเรียนสอนการทำอาหารไทยและร้านอาหารไทย ซึ่งคาดว่าจะเปิดได้ประมาณปลายปีนี้

นอกจากนั้นกรมส่งเสริมฯ ยังมีการจัดทำฐานข้อมูล เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบ การที่สนใจใช้เป็นแนวทางศึกษาในเรื่องต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการเปิดร้านอาหาร เช่น การรวบรวมกฎระเบียบการเปิดภัตตาคาร ร้านอาหารไทย ในประเทศต่างๆ กฎระเบียบสำคัญในการนำเข้าพ่อครัวของแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งที่สร้างปัญหาให้กับผู้ประกอบ การไม่สามารถขยายร้านได้รวดเร็ว

ต้องการดูรายละเอียดของการตั้งร้านอาหาร และภัตตาคารในแต่ประเทศคลิกเข้าเว็บไซต์ของกรมส่งเสริมฯ ได้ที่ www.depthai.go.th/services

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us