คำสองคำนี้ดูเหมือนจะอยู่คู่กับนักธุรกิจ ตั้งแต่รายเล็กไปสู่รายใหญ่ บางคนอาจจะ
เริ่มด้วย "Lucky" ก่อน "Money" ก็ต่างกันไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอยู่ที่ความอดทน
และซื่อสัตย์เป็นสำคัญด้วย
อเมริกาเป็นดินแดนที่หลายคนฝากฝันไว้ ตั้งแต่นักเรียนนักศึกษาที่หวังมา
กอบโกยวิชาความรู้ ทั้งนักขุดทอง โรบินฮู้ดที่โดดร่มหวังกอบโกยเงินทองกลับบ้าน
หรือปักหลักใช้ชีวิตอยู่ในประเทศนี้ หลายคนก็ประสบความสำเร็จ หลายคนก็ล้มแล้วลุก...ลุกแล้วล้มอยู่หลายครั้ง
บางคนคิดว่าประเทศนี้เงินทองหาง่ายก็ใช้ง่ายจนล่มจม โดยเฉพาะ "การพนัน"
เป็นตัวการหนึ่งในสังคมคนไทยในอเมริกา บาง คนทำงานเก็บเงินเก็บทองจนสามารถเปิดร้านอาหารเป็นของตัวเองได้
แต่ผีพนันเข้าสิงเปิดร้านได้ทุนคืนไม่กี่ปีก็ต้องปิด แล้วย้ายแหล่งหาที่เปิดร้านใหม่เพราะหนีเจ้าหนี้
หรือไม่ก็สู้ค่าเช่าต่อไปไม่ไหว... แต่กระนั้นยังมีอีกหลายคนที่ประสบความสำเร็จในการประกอบธุรกิจร้านอาหารไทยในอเมริกา
ความสำเร็จของ 2 ร้านอาหารไทยที่ตั้งอยู่ในเมืองเล็กๆ รอบนอกของนครชิคาโก
ร้านแรก "Bangkok" เปิดบริการมาร่วมสิบปี...ร้านที่สอง "Le
Siam" ปีนี้ย่างเข้าปีที่ 3...ทั้งสองร้านยังคงดำเนินการต่อไป...
B a n g k o k
เปิดดำเนินการมาร่วมสิบปี ตั้งอยู่ ณ เมือง Geneva มลรัฐอิลลินอยส์ ดำเนินธุรกิจในลักษณะธุรกิจครอบครัว
โดยมีวีณา-ณรงค์ ไชยบุตร สองสามีภรรยา เป็นผู้ก่อตั้ง และปราณี ไชยบุตร (ศรีเจริญ)
พี่สะใภ้รับหน้าที่เป็นแม่ครัวเอก
20 ปีที่แล้ว วีณาละทิ้งตำแหน่งพนักงานบัญชีที่ทำอยู่นับสิบปี จากสห-ธนาคาร
รุ่นบรรเจิด ชลวิจารณ์ และชำนาญ เพ็ญชาติ ที่เวลานี้ธนาคารแห่งนี้กลายเป็นตำนานไปแล้ว...ส่วนณรงค์เป็นผู้จัดการฝ่ายขายในบริษัทขายโฟมในเมือง
ไทยชื่อบริษัท เฟอร์โกอุตสาหกรรม จำกัด
"ตอนทำงานอยู่ที่เมืองไทย เห็นใครๆ ก็อยากมาอเมริกา น้องชายน้องสาว
ก็มากันหมดแล้ว ก็เลยมาบ้าง พอมาถึงก็รู้สึกว่า ดีกว่าอยู่เมืองไทย ไม่ต้องแข่งขัน
อะไรมากมาย เป็นตัวของเราเอง" วีณาเล่า
วีณาเริ่มงานแรกในอเมริกาด้วยการเป็นพนักงานในโรงงานสิ่งทอแคนนอน หลังจากที่ทำได้
3 วันเธอก็ขอลาออก จากนั้นก็เริ่มงานที่ร้านอาหารของพี่สะใภ้ที่เปิดมานานตั้งแต่ปี
พ.ศ.2528 เป็นร้านอาหารไทย-จีน ชื่อ "แบงกอก เฮาส์ แอนด์ เซี่ยงไฮ้"
ขณะเดียวกัน ณรงค์ก็ได้งานที่บริษัท Bell Tone เป็นโรงงานผลิตเครื่องฟังเสียงสำหรับคนพิการหูหนวก
หลังจากที่ทำอยู่หลายปี สะสมเงินได้ก้อนหนึ่ง ประกอบกับครูพักลักจำการดำเนินธุรกิจร้านอาหารของพี่สะใภ้
วีณากับณรงค์ จึงตัดสินใจดำเนินธุรกิจของตัวเอง โดยมาเปิดกิจการ "Bangkok"
ที่เมือง Geneva แห่งนี้ โดยเริ่มจากเงินลงทุนก้อนแรกจำนวน 30,000 เหรียญ
สมัยนั้นคิดเป็นเงินไทยไม่ถึง 1 ล้านบาท ก็สามารถเปิดร้านอาหารไทยในอเมริกาได้แล้ว
หากเป็นปัจจุบัน...คูณเข้าไป 45 บาท...
"โชคดีที่ร้านนี้เดิมเป็นร้านขาย Hot Dog มาก่อน จึง ไม่ต้องลงทุนมาก
เพราะเขามีครัวอยู่แล้ว ทุกอย่างสร้างตาม กฎระเบียบ และเราก็เริ่มจากเล็กๆ
แค่ 10 โต๊ะ มี 40 ที่นั่ง เราเริ่มขายดีตั้งแต่วันแรกจนวันนี้ลูกค้าก็ยังเป็นหน้าเดิม
เป็น ลูกค้าประจำที่พอเห็นหน้าเราก็รู้ว่าเขาจะสั่งอะไร" วีณาเล่า ความเป็นมาของร้านที่ยืนหยัดอยู่ได้เพราะลูกค้าประจำที่ต่างชื่นชอบในรสชาติอาหารไทยแท้ๆ
"ร้านเราเน้นที่รสชาติไทยแท้ มีความเผ็ด 3 ระดับ เผ็ดมาก เผ็ดปานกลาง
และไม่เผ็ดเลย ในขณะที่บางร้านพยายามเอาใจลูกค้าฝรั่งโดยเปลี่ยนแปลงรสชาติให้ถูกใจ
ฝรั่ง ที่ส่วนใหญ่จะไม่คุ้นเคยกับอาหารรสจัด แต่ร้านเราคงเอกลักษณ์ของอาหารไทย
สำหรับผู้ที่ชื่นชอบอาหารไทยจริงๆ" วีณากล่าว
เมนู "Bangkok" มีอาหารทั้งหมดประมาณ 55 รายการ ซึ่งอาหารจานนิยมเป็นพวกก๋วยเตี๋ยว
ได้แก่ ผัดไทย ผัดซีอิ๊ว ผัดขี้เมา ส่วนอาหารจานเดียวที่ต้องรับประทานกับข้าว
ได้แก่ ผัดกระเพรา กุ้งอบวุ้นเส้น และต้มยำกุ้ง รวมทั้งมีอาหารเรียกน้ำย่อยพวกทอดมันปลา
ปอเปี๊ยะสด ปอเปี๊ยะทอด ไก่สะเต๊ะ และเกี๊ยวกุ้งทอดกรอบ เป็นต้น "ผัดไทยของเราเป็นผัดไทยแท้ๆ
เราใช้น้ำมะขามคั้นเองสดๆ ในการปรุงรส ซึ่งบางแห่งใช้น้ำมะขามสำเร็จรูป รสชาติ
ก็จะแตกต่างกันไป" วีณากล่าวเสริม
นอกจากนั้นเธอยังกล่าวอีกว่า "การเปิดร้านอาหารไทยที่นี่นั้นไม่ยาก
ถ้าสามารถหาร้านที่เคยเป็นร้านอาหารเดิมมาก่อน และต้องอยู่ในทำเลที่ดี ที่สำคัญคนทำต้องมีความอดทน
สูง เพราะงานร้านอาหารเป็นงานบริการ ลูกค้าบางรายก็ดี บางรายก็จู้จี้ หากเขาไม่พอใจเขาก็หาเรื่องไม่จ่ายได้
ฉะนั้นเราต้องรักษามาตรฐานของเราให้ดีคงที่ตลอดเวลา อีกประการ การทำร้านอาหารเป็นงานที่เหนื่อยมากและไม่มีเวลาละทิ้งร้านไปไหนนานๆ
ได้ แต่เราก็มีโอกาสหยุดพิเศษปีละครั้งช่วงก่อนคริสต์มาส"
...ถึงจะเหนื่อยแค่ไหน แต่วีณาและครอบครัวไม่เคยท้อ เธอยืนยันที่จะทำร้านอาหารนี้ต่อไปจนทำไม่ไหว
สำหรับเมื่อไรนั้นเธอไม่ได้ให้คำตอบ บอกแต่เพียงว่าอยากจะกลับไปใช้ชีวิตในเมืองไทย...
"L e S i a m "
อาหารไทยสไตล์ฝรั่งเศส
สู้ไม่ไหวกลับมาตายรัง...
"ตอนแรกที่เราเปิด เราตกแต่งร้านอย่างหรูมาก ลงทุนไปเยอะ โดยจะใช้คอนเซ็ปต์อาหารไทยสไตล์ฝรั่งเศส
แต่ว่าไปไม่รอด เพราะคนในเมืองนี้ไม่คุ้นเคยกับสไตล์ฝรั่งเศส ประกอบกับราคาแพง
เพราะเราวาดหวังสูง เลยเปลี่ยนมาเป็นอาหารไทยสไตล์ ไทยตามปกติแทน" โกเมธ
บุญฤทธิ์ เจ้าของร้าน Le Siam ณ เมือง Naperville มลรัฐ Illinois เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อ
3 ปีที่แล้วที่เขาลงทุนเปิดร้าน Le Siam ด้วยเงินลงทุนส่วนตัวไม่ต่ำกว่า
100,000 เหรียญสหรัฐ ตรงกับช่วงที่เศรษฐกิจบ้านเราดิ่งเหวพอดี แต่โชคยังเข้าข้างโกเมธ
เพราะเขาสะสมเงินดอลลาร์ไว้มากโข ขณะที่อยู่ในอเมริกามานานร่วม 12 ปี เขาจึงไม่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่ผันผวนในขณะนั้น
โกเมธ มีพื้นเพเป็นคนจังหวัดนครศรีธรรมราช จบการศึกษาปริญญาตรีวิทยาศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วิทยาเขตปัตตานี เมื่อปี 1984 จากนั้นก็เข้าทำงานในตำแหน่งโปรแกรมเมอร์ที่ธนาคารกสิกรไทยสำนักงานใหญ่
พหลโยธิน หลังจากที่ทำงานอยู่ได้ 5 ปีก็ขอลามาเรียนต่อปริญญาโทด้านคอมพิวเตอร์ที่
DePaul University ในชิคาโก
"ผมทำงานกับกสิกรช่วงนั้น 5 ปีแต่ละวันก็เห็นเด็กใหม่ที่เข้ามาแต่ละคนจบปริญญาโทมาทั้งนั้นและแซงหน้าเราไปหมด
มองไม่เห็นว่าชีวิตเราเมื่อไรจะก้าวหน้า ก็เลย ตัดสินใจมาเรียนต่อ โดยทางธนาคารก็ช่วยค้ำประกันให้ในช่วงเริ่มต้นทำให้สามารถมาเรียนต่อไป"
โกเมธเล่าแต่ก่อนที่เขาจะเข้าเรียนปริญญาโทได้เขาต้องเรียนคอร์สภาษาอังกฤษก่อน
"มหาวิทยาลัยที่นี่หาเงินจากนักเรียนต่างชาติด้วยคอร์สภาษาอังกฤษ ผมต้อง
เรียนนานถึง 2 ปี เริ่มตั้งแต่ชั้นเริ่มต้น เงินที่เก็บสะสมมาก็หายไปกับการเรียนภาษาหมด"
ในระหว่างนั้นเขาต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย เพราะเงินที่สะสมมาก็ไม่พอค่าเรียน
เริ่มตั้งแต่เป็นพนักงานเสิร์ฟ พนักงานเก็บโต๊ะ เก็บจานอยู่ในร้านอาหารไทยในชิคาโก
จนถึงเป็นพนักงานส่งพิซซ่าในช่วงฤดูหนาวที่หิมะตก เขาเล่าว่า เงินดีมาก แต่อันตราย
เพราะไม่มีคนออกนอกบ้าน การจี้ปล้นระหว่างทางเยอะมาก และเขาเองก็เคยโดนจี้ครั้งหนึ่ง
ต้องยอมเสียทุกอย่างเพื่อรักษาชีวิต
"ผมนอนร้องไห้ทุกคืน คิดว่า ทำงานอยู่สบายดีๆ หาเรื่องดิ้นรนมาเองและคนที่นี่เขาไม่แคร์ว่าคุณจะทำอะไรมาก่อน
จะทำงานธนาคารมาก่อนตำแหน่งสูงส่งอย่างไร เขาไม่สนใจ ทุกคนต้องทำงานเหมือนกันหมด
เก็บจาน ล้างจาน เสิร์ฟอาหาร เช็ดโต๊ะ" โกเมธ ระบายความรู้สึกในขณะนั้น
ตอนนั้นคิดว่าเรียนจบแล้วจะกลับเมืองไทย แต่ชีวิตเขาเริ่มเปลี่ยนเมื่อพบรักกับสาวไทยที่เติบโตในอเมริกาและบังเอิญเป็นคนบ้านเดียวกันจากจังหวัดนครศรีธรรมราช
ขณะนี้มีลูกชาย 1 คน หลังจากจบปริญญาโท เขาจึงเริ่มออกหางาน ซึ่งหายากมาก
ถึงแม้ว่าเขาจะจบในสายอาชีพที่ตลาดอเมริกาต้องการ แต่ด้วยความที่เป็นคนเอเชียยากที่อเมริกันจะยอมรับ
ระหว่างที่รองาน โกเมธตัดสินใจเรียนต่อปริญญา เอกด้านคอมพิวเตอร์ที่สถาบัน
(IIT) Illinois Institute of Technology ในชิคาโก ขณะนี้พักการเรียนไว้ชั่วคราว
ระหว่างนั้นเขาก็ได้งานที่ Argonne National Laboratory เป็นสถาบันวิจัยของรัฐบาลอเมริกา
โดยเขาทำหน้าที่เป็นโปรแกรมเมอร์ในสถาบันนั้น จากนั้นเขาก็ได้รับการทาบทามให้ไปทำงานกับบริษัท
Unisys ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์
และได้รับสัมปทานทำโครงการ รายการสินค้าของรัฐบาลที่ซื้อขายส่งกับเอกชนรายใหญ่และรายย่อยต่างๆ
"ทำอยู่สักพัก เริ่มคิดอยากเปิดร้านของตนเอง เพราะน่าจะเป็น ธุรกิจที่หาเงินได้มากกว่าเป็นลูกจ้างเขาอย่างเดียว
ประกอบกับแม่ยาย ก็เปิดร้านอาหารไทยอยู่แล้ว ก็น่าจะช่วยได้ และแฟนจะได้มีอะไรทำด้วย"
โกเมธเล่าถึงที่มาของการเปิดร้าน Le Siam
จากนั้นเขาก็เริ่มขับรถหาทำเลที่ตั้งของร้าน จนในที่สุดมาพบป้ายบอกให้เช่าอาคารพาณิชย์ในศูนย์การค้าแห่งหนึ่งในเมือง
Naperville ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากชิคาโกนัก อาคารแห่งนี้เคยเป็นร้านอาหารจีนมาก่อน
ฉะนั้นโกเมธจึงไม่ต้องกังวลเรื่องการลงทุนสร้างครัวใหม่ เงินลงทุนของ เขาจึงมุ่งเน้นไปที่การตกแต่งร้านอย่างเลิศหรูพร้อมวาดฝันจะยกระดับ
อาหารไทย หลังจากที่เขาได้เพื่อนนักศึกษาคนไทยที่เรียนสถาปัตยกรรม อยู่ที่สถาบัน
IIT เช่นเดียวกับเขามาช่วยออกแบบตกแต่งร้านให้เป็นเสมือน แกลอรี่ภาพถ่ายขาวดำของวัดไทยในมุมต่างๆ
พร้อมทั้งมีการนำผ้าไหม ยกดอกลายไทยมาตกแต่งหน้าต่างร้านอย่างสวยสะดุดตา
แต่เหตุการณ์ไม่ง่ายอย่างที่คิด เขาลืมนึกไปว่า วิถีชีวิตของคนอเมริกันในเมืองใหญ่กับคนอเมริกันในชานเมืองรอบนอกของเมืองใหญ่นั้นแตกต่างกันสิ้นเชิง
คอนเซ็ปต์ร้านของเขาหากตั้งอยู่ในตัวเมืองชิคาโก คงไม่มีปัญหาอะไร แต่
นี่อยู่ห่างออกมา ยากที่จะมีคนยอมจ่ายแพงเพื่อลิ้มลองอาหารไทย เมื่อเปรียบ
เทียบกับร้านอื่นๆ ในทำเลเดียวกัน
"ผมจำได้ 2-3 เดือนแรกที่เปิดร้าน ผมออกมานั่งรอคอยลูกค้าว่าเมื่อไร
จะมีคนเข้าร้านสักที ในอเมริกาการทำร้านอาหาร ถ้าไม่มีคนรู้จัก หนังสือพิมพ์
ไม่ลงก็ไม่มีใครกล้ามาลอง" โกเมธเล่า แต่เขายังไม่ท้อ และในที่สุดมีหนังสือพิมพ์
ท้องถิ่นเขียนสกู๊ปข่าวเกี่ยวกับร้าน จากนั้นก็เริ่มมีคนเข้ามามากขึ้น และโกเมธก็ปรับเปลี่ยนสไตล์กลับมาใช้สไตล์ไทยล้วนๆ
โดยราคาก็ขยับลงมาสมเหตุสมผล
แต่ยังคงมีอาหารจำพวกสลัด 2-3 รายการ ที่ยังคงจัดจานอย่างวิจิตร สำหรับลักษณะการทำอาหารของ
Le Siam นั้นไม่ยาก โกเมธชี้แจงว่า แม่ครัวเอก ซึ่งได้แก่ แม่ยายและป้าของเขา
จะเป็นผู้ทำสูตรอาหารทั้งหมด จากนั้นคนปรุงซึ่งเป็นลูกจ้างชาวเม็กซิกันจะเป็นคนปรุงตามสูตรนั้นอีกที
ส่วนน้ำแกงก็เช่นเดียวกัน ทุกๆ วัน แม่ครัวจะมาเอาแกงสำเร็จแช่แข็งไว้ในตู้เย็นเป็นวันๆ
ไป จากนั้นคนปรุงจะใส่เนื้อสัตว์ตามที่ลูกค้าต้องการ
บทเรียนในช่วงแรกทำเอาโกเมธและครอบครัวใจหายใจคว่ำอยู่หลายเดือนแต่จากนั้นประมาณ
2 ปีครึ่ง เขาก็สามารถเอาทุนคืนได้อย่างชนิดที่ตอนนี้เป็นรายได้ ที่หักค่าใช้จ่าย
ค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ แล้วเป็นกำไรล้วนๆ
"รายได้ของร้านเราเฉลี่ยวันละ 1,000 เหรียญ หาก ศุกร์-เสาร์-อาทิตย์
เราจะได้สูงถึง 2,000 เหรียญ เราเคยทำได้สูงสุดถึง 2,700 เหรียญ ภายใน 1
วันเท่านั้น ตอนนี้ เราคืนทุนหมดแล้วก็เริ่มดีขึ้น และจะต่อสัญญาเช่าอีก
3 ปี โดยเริ่มในปีหน้า และเราจะมีการปรับปรุงเมนูใหม่ด้วย" โกเมธเล่าถึงรายได้ที่
เขามีเฉลี่ยเดือนละ 28,000 เหรียญ ซึ่งยังไม่รวมรายได้จากงานประจำที่ Unisys
ได้เฉลี่ยอีกประมาณเดือนละ 6,000 เหรียญ (ยังไม่หักภาษีและค่าประกันสุขภาพ)
ขณะเดียวกันเขาแจงเรื่องค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน แบ่งเป็นค่าเช่าร้านประมาณ
5,000 เหรียญ และค่าลูกจ้างที่มีทั้งหมด 4 คน เป็นคนเม็กซิกัน 3 คน และแม่ครัวเป็นคนไทย
1 คน และค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าวัตถุดิบอาหาร นอกจากนั้นยังมีภาษีธุรกิจที่ต้องเสียอีกประมาณ
6.25% ของรายได้รวมเป็นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นประมาณ 20% ของรายได้จากร้านอาหาร
"ทำร้านอาหารไทยนั้นดีกว่าทำธุรกิจอื่น ผมทำร้านอาหารไทย
ผมได้มากกว่าผมเป็นลูกจ้างเขาอีก แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ที่จังหวะ และทำเล
ระเบียบของศูนย์การค้านี้ดีอย่าง เขาจะไม่อนุญาตให้เปิดร้านในธุรกิจ เดียวกัน
ฉะนั้นจะมีร้านอาหารไทยเพียงร้านเดียวเท่านั้น" โกเมธเล่า พร้อมกับแนะนำว่า
การทำธุรกิจอาหารไทยที่นี่ต้องมีเงินทุน เพราะเป็น ธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง
ถ้าร้านขายไม่ได้ในช่วงแรก เงินก็จะจม ต้องใช้เวลากว่าคนจะเริ่มรู้จักและต้องคอยปรับเปลี่ยนไปตามรสนิยมของลูกค้า
จนในที่สุดก็จะอยู่ตัวและเป็นธุรกิจที่มีอนาคตไกลไม่น้อย...