ตำนานของโคคาเมื่อปี 2500 เริ่มต้นที่นี่ จาก
ร้านอาหารสุกี้กวางตุ้งเล็กๆ เพียง 20 ที่นั่งในซอยเดโช
ถนนสุริวงศ์ ที่มีศรีชัยและปัทมา พันธุ์เพ็ญโสภณ สองสามีภรรยาเป็นเจ้าของดูแลร้านเพียง
2 คน ได้กลายเป็นภัตตาคารโคคาแห่งแรกของประเทศไทย ในซอยทางตะวัน แยกถนนสุริวงศ์
ที่กว้างขวางถึง 150 ที่นั่ง
"โคคา" มาจากภาษาจีนกลางที่ออกเสียงว่า "เคอโคว์"
ซึ่งมีความหมายว่า เอร็ดอร่อย
จากนั้นก็สร้างความมหัศจรรย์ให้เกิดขึ้นในวงการ
ร้านอาหารบ้านเรา เมื่อไปเปิดร้านโคคาบะหมี่แห่งที่ 2
ขึ้นที่ถนนอังรีดูนังต์ ซึ่งมีถึง 800 ที่นั่ง ในปี 2510 หลังการก่อสร้างสยามสแควร์
ศูนย์การค้าที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้นเพียง 4 ปี
ศรีชัย พันธ์เพ็ญโสภณ ผู้ก่อตั้งภัตตาคารโคคา
เป็นบุคคลแรกที่นำอาหารประเภทสุกี้กวางตุ้งมาให้ภรรยาที่รักการทำอาหารเป็นชีวิตจิตใจได้ลองทำ
ก่อนที่จะเปิดเป็นร้านอาหารให้คนไทยได้ลิ้มรส ศรีชัยประทับใจวิธีการปรุงอาหารแบบ
"ฮั่วกัว" ของชาวปักกิ่ง ซึ่งได้ไปพบเห็นมา "ฮั่วกัว"
แปลว่า "หม้อไฟ" หรือ "Flame" ในภาษาฝรั่งเศส ต้นกำเนิดของการปรุงอาหารแบบนี้เชื่อว่ามาจากประเทศมองโกเลียที่มีอากาศหนาวจัด
ดังนั้นการปรุงอาหารพร้อมๆ กับรับประทานอาหารไปด้วยรอบๆ เตาไฟ จึงก่อให้เกิดผลดี
2 ประการในเวลาเดียวกันคือ ทุกคนได้รับประทานอาหารร้อนๆ และยังได้รับความอบอุ่นจากเตาไฟ
ตรงที่ประกอบอาหารด้วย
จากอาหารเมืองหนาว กลายมาเป็นอาหารยอดนิยมของเมืองร้อนอย่างไม่น่าจะเป็นไปได้
เพียงแต่ได้เปลี่ยนวิธีการเสิร์ฟอาหารจากจานใหญ่จานเดียว มาแยกเป็นจานเล็กๆ
ให้ลูกค้าสามารถเลือกรับประทานอาหารที่ตนเองชอบได้หลายชนิด อาหารที่ปรุงแบบฮั่วกัวใหม่นี้
ศรีชัยให้ชื่อว่า "สุกี้" ด้วยเหตุผลที่ว่า ขณะนั้นเพลงสุกี้ยากี้
ของญี่ปุ่นกำลังเป็น
ที่นิยมไปทั่วโลก สุกี้จึงจำได้ง่าย และติดปากคนไทยมาจนถึงทุกวันนี้
ปัจจุบันโคคาโฮลดิ้ง มีพิทยา ลูกชายคนเดียวของ
ศรีชัยและปัทมา เป็นกรรมการผู้จัดการ พิทยาจบการศึกษามาจาก Simon Fraser
University (Economic) Vancouver Canada และเข้ามาเริ่มทำกิจการต่อของครอบครัวตั้งแต่ปี
พ.ศ.2526
ทุกวันนี้พิทยาใช้เวลาส่วนใหญ่เดินทางไปเยี่ยมลูกค้าแฟรนไชส์ในประเทศต่างๆ
เพื่อนำเอาข้อมูลกลับมาปรับปรุงแก้ไขระบบ วันเวลาที่อยู่ในเมืองไทยเขาก็จะกลายเป็นพ่อครัวใหญ่ที่จะคอยดูแลในเรื่องอาหาร
ตรวจงานในครัว คอยชิม และพัฒนารสชาติของอาหาร รวมทั้งคิดค้นเมนูใหม่ๆ อย
เป็นประจำที่สาขาสุริวงศ์จนเกือบจะได้เวลาปิดร้านทุกวัน
นิสัยของความชอบในเรื่องการทำอาหารเขาจะถูกถ่ายทอดมาจากพ่อและแม่ แต่จะว่าไปแล้วชีวิตของเขาก็คลุกคลีกับงานในครัวนี้มาตั้งแต่เกิดเลยทีเดียว
ความชอบอีกอย่างหนึ่งของพิทยาคือชอบถ่ายรูป ชอบในเรื่องการออกแบบ และงานทางด้านศิลปะต่างๆ
ในห้องรับแขกบนชั้นที่ 18 ของอาคารสินธร ทาวเวอร์ 3
ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ของโคคาโฮลดิ้งปัจจุบันนั้น จะมีภาพถ่ายการตกแต่งภายในร้านของภัตตาคารโคคาฝีมือพิทยาเต็มไปหมด
เขาเป็นผู้บริหารคนหนึ่งที่ให้ความสำคัญใน
การตกแต่งร้านอาหารอย่างมากๆ แต่ละร้านของโคคาสุกี้
ในเมืองไทยจะสวยงามและมีคอนเซ็ปต์ในการตกแต่งที่
แตกต่างกันออกไปเช่น ภัตตาคาร "โคคาที่สาขารามคำแหง" ที่เปิดขึ้นในปี
2529 นั้น จะมีความทันสมัย
ในสไตล์ฮ่องกง ตกแต่งผนังด้วยสีสันที่สดใส บนผนังมี
ดวงไฟสไตล์ อาร์ต-เดโค ให้ความสว่างเรือง โต๊ะ เก้าอี้
จะเป็นไม้สไตล์จีน ฮ่องกง การกั้นแบ่งส่วนในร้าน
ใช้กระจกฝ้าลายต้นไผ่
"โคคาสุกี้ สุขุมวิท 39" ออกแบบในสไตล์โรงน้ำชา ของจีนโบราณ
ตกแต่งบริเวณร้านทั่วๆ ไปด้วยภาพเขียน
และรูปปั้นศิลปะจีน
"โคคา ไทม์สแควร์" ที่เน้นการตกแต่งด้วยศิลปะของไทยร่วมสมัย
มีภาพเขียน ศิลปวัตถุ และเครื่องกระเบื้อง
แบบไทย ใช้เครื่องไม้ และสีเอิร์ธโทนทั้งหมด
ส่วน "โคคา พหลโยธิน" นั้นก็ตกแต่งด้วยพื้น
ไม้สัก พื้นปูเซรามิก กระเบื้องสีเขียวไพร และสีเอิร์ธโทน
แม้แต่ "Mango Tree" ร้านอาหารไทยแห่งแรกในเครือของโคคาก็ถูกดัดแปลงร้านมาจากบ้านเก่าหลังหนึ่งในสมัยรัชกาลที่
7 และตั้งใจที่จะคงลักษณะและบรรยากาศของบ้านไทยแบบเก่าไว้มากที่สุด ผนังห้องประดับด้วยภาพถ่ายของกรุงเทพฯ
ในอดีต มีการตั้งกล้องถ่ายรูปโบราณ และ
งานศิลปหัตถกรรมไทยอีกหลายชิ้น
น่าเสียดายที่ความหรูหราของสถานที่ต่างๆ เหล่านั้นถูกบดบังด้วยจำนวนที่นั่ง
และผู้คนมากมาย ที่ให้ความสำคัญของรสชาติอาหาร จนลืมชื่นชมงานศิลปะรอบตัวไป