Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2544








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2544
S&P ผนึกกำลังสร้าง Brand             
โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
 

   
related stories

ภัทรา ศิลาอ่อน พี่ใหญ่แห่ง S&P
ข้อมูลบุคคล ภัทรา ศิลาอ่อน

   
www resources

โฮมเพจ ร้าน S&P

   
search resources

เอสแอนด์พี ซินดิเคท, บมจ.
ภัทรา ศิลาอ่อน
Restaurant




บริษัทเอสแอนด์พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) เป็นตัวอย่างหนึ่งของการทำธุรกิจร้านอาหารที่ประสบความสำเร็จมาตลอดระยะเวลา 28 ปี และกลายเป็นตัวแทนวัฒนธรรม ด้านอาหารไทยที่เดินทางขยายสาขา ไปต่างประเทศมานานนับ 10 ปี

วันที่ 13 ตุลาคม 2516 พี่น้องตระกูล "ไรวา" และ "ศิลาอ่อน" ได้ฤกษ์เปิดร้านขาย ไอศกรีมเล็กๆ ชื่อ "S&P" ขึ้นในซอยประสาน มิตร พรพิไล ไรวา ภรรยาของวรากร ไรวา กรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้จดบันทึกไว้ว่า "วันแรกนี้ร้านเราขายได้เงิน 300 บาท"

สิ้นปี 2543 ยอดขายรวมทั้งหมดของบริษัทเอสแอนด์พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) มีเงินทั้งสิ้น 1,955 ล้านบาท ซึ่งหมายถึงยอด ขายต่อวันไม่ต่ำกว่าวันละ 5 ล้านบาท ความ สำเร็จทั้งหมดของ S&P คือผลพวงของความ วิริยะอุตสาหะที่ผสมผสานกันอย่างลงตัวกับความสามารถ ในการบริหารงานอย่างมืออาชีพของบรรดาพี่น้องในตระกูลนี้ โดยมีภัทรา ศิลาอ่อน หรือพี่ใหญ่เป็นประธานกรรมการบริหาร

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2544 S&P ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทจากเดิม 300 ล้านบาทเป็น 525 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงาน เบเกอรี่แห่งใหม่บนเนื้อที่ 38 ไร่บนถนนบางนา-ตราด ให้แล้วเสร็จในต้นปี 2545 และ เตรียมซื้อเครื่องจักรในการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ทันสมัย เพื่อขยายการส่งออกขนมไหว้ พระจันทร์และอาหารแช่แข็ง รวมทั้งมีแผนที่ จะขยายธุรกิจร้านอาหารไทยในต่างประเทศ มากขึ้น ทั้งในภาคพื้นยุโรปและอเมริกา

กลยุทธ์การขยายตัวของ S&P ในต่าง ประเทศกำลังเปลี่ยนไปจากเดิม จากที่เคยขยายครั้งละสาขา จะสามารถทำได้รวดเร็ว ขึ้นโดยการวางยุทธวิธีบุกตลาดด้วยการสร้าง โรงงานอาหารแช่แข็งในอเมริกา เพื่อส่งตามร้านค้าทั่วไป และร้านอาหารของ S&P เอง เป็นการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งของผู้บริหาร S&P ที่สะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่น ในการที่จะเข้าไปเป็นผู้นำธุรกิจร้านอาหารไทย ในต่างประเทศ ที่มีมูลค่ามหาศาล

จุดพลิกผันครั้งสำคัญของกิจการในครอบครัวนี้ เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อตัดสินใจเข้าเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในปี 2532 ซึ่งในเวลานั้น S&P ได้ขยายสาขาไปยึดทำเลสำคัญๆ ในกรุงเทพฯ หลายแห่ง เช่นที่สยามสแควร์ และเซ็นทรัลลาดพร้าว รวมทั้งมีโรงงานผลิตเบเกอรี่ และขนมต่างๆ

สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นย่อมสร้างความภาคภูมิใจให้กับพี่น้องกลุ่มนี้อย่างมากๆ ที่สามารถทำให้ ร้านของตนเติบใหญ่ขึ้นมาได้และการเข้าไปเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ก็ไม่น่าจะเป็นประเด็นที่สำคัญนัก ดังนั้นสาเหตุสำคัญของการตัดสินใจในเรื่องนี้จึงอยู่ที่ทุกคนที่ร่วมก่อตั้งมีความเห็นตรงกันว่า ต้องการให้บริษัทนี้คงยืนหยัดต่อเนื่องยาวนาน โดยไม่จำเป็นว่าจะต้อง เป็นคนของไรวาหรือศิลาอ่อนเป็นผู้บริหารเท่านั้น เพราะด้วยวิธีนี้โครงสร้างในการทำงานจะเปิดโอกาสให้มืออาชีพอื่นๆ ได้เข้ามาร่วมบริหาร หากศิลาอ่อนหรือไรวารุ่นลูกรุ่นหลานไม่พร้อม จะเข้ามาทำธุรกิจนี้ ก็สามารถขายหุ้นให้ผู้ที่ต้องการ และสามารถเลือกผู้บริหารกลุ่มใหม่มาทำกิจการต่อไปได้

บริษัทเอสแอนด์พีฯ ไม่ได้ถูกวางให้เป็น "มรดก" ของคนในตระกูล ดังนั้นในรุ่นลูกหากใจไม่รักก็ไม่จำเป็นต้องเข้ามาบริหารงานในบริษัทนี้ ต่างคนต่างก็สามารถแยกย้ายไปทำงานอย่างที่ตนเองชอบได้ โดยไม่มีการบังคับ แน่นอนการเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้นบทบาทสำคัญของผู้บริหารในยุคนี้ก็คือการสร้างฐานรากที่มั่นคงแข็งแรงเอาไว้

หลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้เพียงปีเดียว S&P ก็ขยายสาขาแรกไปยังกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ ในถิ่นผู้ดีคนชั้นสูงใกล้ๆ กับห้างดัง Harrod โดยใช้ชื่อว่า "PATARA" ซึ่งแสดงถึงความรักและการให้เกียรติกับภัทรา ศิลาอ่อน และยังเป็นชื่อไทยๆ มีเอกลักษณ์ที่ชาวต่างชาติสามารถออกเสียงได้อย่างไม่ยากนัก และใช้ชื่อนี้ในร้านอาหารไทยทุกสาขาในต่างประเทศด้วย

การเปิดสาขาที่ประเทศอังกฤษนั้น เกิดขึ้นด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ ขจรเดช ไรวา ได้ส่ง ลูกไปเรียนหนังสือ เลยถือโอกาสไปเปิดร้านอาหารไทยเล็กๆ ที่นั่น เพื่อจะได้ดูแลลูกได้สะดวก ขึ้นเท่านั้น ไม่ได้วางแผนเปิดฉากเริ่มบุกต่างประเทศแต่อย่างใด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือรสชาติของอาหาร และรสนิยมในการตกแต่งร้านภัทรากลายเป็นที่ชื่นชอบของชาวอังกฤษ จนปัจจุบันที่กรุงลอนดอนมีร้านอาหารภัทราแล้วถึง 3 สาขา จากสาขาแรกที่มีเพียง 40 ที่นั่ง สาขาที่ 2 ขยายใหญ่ขึ้นเป็น 60 ที่นั่ง และสาขาที่ 3 ล่าสุดที่จะเปิดปลายปี 2544 นี้เป็นร้านใหญ่มีถึง 100 ที่นั่ง S&P มีการขยายเครือข่ายอย่างต่อเนื่องทั้งที่เป็นร้านอาหารและให้บริการเฉพาะการซื้อกลับบ้าน ครอบคลุมทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัด สำคัญรวมกันถึง 147 สาขา ส่วนสาขาในต่างประเทศนอกจากในลอนดอนแล้ว ก็ยังมีที่สิงคโปร์ 4 สาขา กรุงไทเป 1 สาขา และสาขาที่เป็นความภาคภูมิใจของพี่น้องกลุ่มนี้อย่างมากๆ นั้นคือการเปิดสาขาที่โรงแรมโบรีวาช โรงแรมระดับ 5 ดาว ที่มีชื่อเสียงมานานกว่า 100 ปีริมทะเลสาบเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ร้านอาหารในต่างประเทศ มีหลักการขยายงานด้วยตัวเองรวมทั้งการร่วมทุนกับนักลงทุนท้องถิ่น เช่น แอนโทนี หว่อง ในสิงคโปร์ แต่ไม่เคยคิดจะขายแฟรนไชส์ หลังจากเคยทำมาครั้งหนึ่งแล้วแต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

ภัทราให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า งานทุกอย่างในร้านอาหารต้องทำด้วยใจรัก ต้องลงมาดูแลเองเพราะเป็นงานที่มีศิลปะอย่างหนึ่ง การขายแฟรนไชส์ให้กับผู้ที่ไม่เข้าใจในเรื่องนี้ จะทำให้ S&P ไม่สามารถควบคุมมาตรฐานทุกอย่างได้ดีพอ และอาจจะมีผลเสียต่อบริษัทแม่ในระยะยาวก็ได้

ปัจจุบัน S&P ขยายผลิตภัณฑ์และบริษัทในเครือเพิ่มขึ้นเป็น 9 บริษัท มีพนักงานอยู่ในความดูแลถึง 3,000 คน โครงสร้างรายได้จะแบ่งเป็น 7 หมวดหลัก คือ

1. ร้านอาหาร S&P และเบเกอรี่ชอป ซึ่งแบ่งการบริการออกเป็นภัตตาคารมังกรทอง ซึ่งเป็นร้านอาหารจีนแบบดั้งเดิม ในซอยสุขุมวิท 62 ร้านอาหาร Patio ซึ่งเป็นร้านอาหารร่วมสมัยไทย-ฝรั่ง ที่ห้างอิเซตัน และเซ็นทรัลลาดพร้าว รวมทั้งเบเกอรี่ชอป ที่ให้บริการลูกค้า แบบสะดวกซื้อ ที่มีขนาดกะทัดรัดและเคาน์เตอร์มีสาขาอยู่ตามซูเปอร์มาร์เก็ต อาคารสำนัก งาน และสถานีบริการน้ำมัน JET

2. ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ ซึ่งมีทั้งขนมปัง คุกกี้ เพรสตี้ และขนมไหว้พระจันทร์

3. ผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็งภายใต้ชื่อ Quick Meal Frozen Dough Econo Meal และ NC Food

4. ผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยว S&P ซึ่งนอกจากขนมแล้วยังมี น้ำดื่ม อาหารกระป๋อง ประเภทแกงกะหรี่และ น้ำซุปเนื้อที่ได้พัฒนา ขึ้นมาใหม่เพื่อป้อนตลาดต่างประเทศ

5. บริการจัดเลี้ยงและส่งถึงบ้านและบริการอาหารปิ่นโต ซึ่งเป็นการให้บริการแบบ ครบวงจร ตั้งแต่งานปาร์ตี้เล็กๆ งานวันเกิด ไปจนถึงงานประชุมสัมมนาต่างๆ

6. ผลิตภัณฑ์ Haagen-Dazs ซึ่งเป็นไอศกรีมนำเข้า 100 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันมี 14 สาขาในกรุงเทพฯ พัทยา และภูเก็ต

7. ผลิตภัณฑ์ไส้กรอก เส้นพาสต้าและ กลิ่นสี

ผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในประเทศดำเนินการจัดจำหน่ายโดยบริษัทเอสแอนด์พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ส่วนอาหารและเครื่องดื่มที่จำหน่ายในต่างประเทศดำเนินการ โดยบริษัทเอสแอนด์พี โกเบิล จำกัด การที่มีอาหารให้เลือกหลากหลายเพื่อลูกค้าทุกเพศทุกวัย ในหลายระดับราคากลายเป็นเอกลักษณ์ของร้าน S&P และมีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้กลายเป็นร้านยอดนิยมไปได้ในที่สุด ตลอดระยะเวลา 28 ปี โครงสร้างการ บริหารงานส่วนใหญ่ พี่น้องกลุ่มเดิมยังเป็นผู้บริหาร และคงสัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่เอาไว้

"คนอื่นที่ไม่ใช่ไรวาและศิลาอ่อน ก็มีสิทธิ์เข้ามาอยู่ระดับผู้บริหาร ซึ่งตอนนี้เขาก็มีตำแหน่งต่อจากพวกผม ที่จริงจะว่าไปแล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่มาถึงวันนี้มันเป็นเพราะ รสนิยมส่วนตัวของครอบครัว เป็นวัฒน-ธรรมของเรา"

วรากรได้อธิบาย "วัฒนธรรมของครอบครัว" ไว้ว่า "ในตัวของพี่ใหญ่จะเห็นชัดเจนเลยว่าจะต้องเลือกของดีมีคุณภาพ พี่ใหญ่เป็นคนเนี้ยบ ผมเชื่อว่า S&P ในยุคต่อๆ ไปถึงจะไม่มีคนในตระกูลของเราแล้วก็จำเป็นต้องเป็นอย่างนี้ ต้องสืบทอดในเรื่อง นี้ให้ได้ เพราะนี่คือปัจจัยสำคัญที่สุดของความสำเร็จตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา"

วัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่งของ S&P ที่อาจจะแตกต่างจากบริษัทที่ทำอุตสาหกรรมอาหาร ทั่วๆ ไป ก็คือขั้นตอนในการรับคน โดยเฉพาะพ่อครัว หรือแม่ครัว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากๆ ในการทำร้านอาหาร

ที่ S&P ไม่ตัดสินใจรับพ่อครัวแม่ครัวที่มีประสบการณ์จากที่อื่น หรือมีใบปริญญาทางด้านอาหารหรือโภชนาการมาเป็นการันตี แต่สิ่งที่ผู้บริหารให้ความสำคัญมากที่สุดคือเรื่องของจิตใจ

วรากรย้ำเรื่องนี้ว่า "กุ๊กของเราต้องเป็นคนที่มีใจรักงาน และเป็นคนที่มีจิตใจดี 2 เรื่อง นี้ต้องมาก่อน ส่วนในเรื่องของรสมือเรามั่นใจว่าสอนกันได้"

เมื่อสัมภาษณ์ พูดคุยกันผ่านขั้นตอนแรกไปแล้ว พนักงานเหล่านี้ยังไม่ถูกส่งไปยังห้องครัวเพื่อเรียนรู้ทันทีแต่จะต้องไปเข้าโครงการอบรมด้านการมีสมาธิ สติ และฝึกการนั่งกรรมฐานเสียก่อน หลังจากนั้นวิธีการต่างๆ ในเรื่องการทำอาหารจึงจะถูกถ่ายทอด

"บางคนมองว่ามันคนละเรื่องกัน แต่จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องเดียวกัน ในระยะยาว เรา ต้องการให้คนที่ทำงานกับเราเข้าใจชีวิตและมีความสุข และจะส่งผลกับงานที่ทำในที่สุด"

เป็นทฤษฎีการทำงานที่วรากรเป็นเจ้าของหลักสูตร โดยปฏิเสธทฤษฎีจากโลกตะวันตก ที่มองเห็นเม็ดเงินขาดทุน-กำไร เพียงอย่างเดียว

จากประสบการณ์ทำงานที่ยาวนาน ทำให้ภัทราสรุปแนวทางการรับคนครัวใหม่ไว้ว่า การที่ได้คนใหม่ไม่มีประสบการณ์การทำครัวมาก่อนนั้น จะทำให้คนคนนั้นเปิดใจกว้าง พร้อมที่จะเรียนรู้รูปแบบต่างๆ ของ S&P ในขณะที่หากเป็นผู้เชี่ยวชาญมาก่อนก็จะเชื่อมั่นในวิธีการของตนมากเกินไป ซึ่งอาจจะไม่ใช่สไตล์ของ S&P ก็ได้

แม่ครัวของ S&P ทุกคนจะถูกฝึกอบรมโดยทีมงานของแม่ครัวใหญ่ ซึ่งจะมีทีมที่ทำอาหารเก่งเฉพาะอย่างประมาณ 10 คน เทคนิคและวิธีการต่างๆ จะได้รับการถ่ายทอดไปเหมือนๆ กัน

"ทุกคนจึงไม่ใช่แม่ครัวที่เก่งมาจากที่อื่นมาสมัคร S&P รับไว้แล้วส่งไปตามสาขา แม่ครัว ทุกสาขาก็ต้องมาหัดทำอาหารเหมือนกัน อย่างเดือนหน้าจะทำข้าวแช่ก็ต้องฝึกตั้งแต่เดือนนี้ ช่วงไหนมีเมนูใหม่อะไรแต่ละสาขาก็ต้องส่งแม่ครัวในสายงานนั้นๆ มาฝึก ครั้งแรกเมื่อคุณใหญ่ เคาะเมนูนี้ปั๊บ คุณอุรีย์ก็จะเรียกแม่ครัวในแต่ละสาขามา เพื่อทำการฝึกอบรมในเรื่องต่างๆ"

อุรีย์ รักสกุล เป็นแม่ครัวอยู่กับครอบครัวนี้มานานตั้งแต่เริ่มเปิดสาขาแรก เป็นเด็กใน บ้าน มีฝีมือในการทำอาหาร มีรสมือที่เรียกว่า มีพรสวรรค์ เป็นมือขวาคนสำคัญของภัทราที่รู้ใจเพราะอยู่กันมานาน

ประสบการณ์ที่สะสมมาอย่างต่อเนื่อง เหล่านี้กลายเป็นโมเดลที่ถูกเซ็ตไว้อย่างเป็น ระบบโดยภัทรา ในขณะที่งานด้านอื่นๆ ก็เดิน หน้าด้วยบทบาทของบุคคลในครอบครัว กลายเป็นจิ๊กซอว์ที่มาต่อเชื่อมกันได้อย่างลงตัว

วรากร ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ใหญ่ คนปัจจุบันนั้น ให้ความสำคัญอย่างมาก ในเรื่องการพัฒนาจิตใจ เพื่อสร้างให้เป็นราก ฐานที่สำคัญในการพัฒนาคน ตัวเขาเองนั้นสนใจธรรมะมาร่วม 20 ปี เป็นผู้บรรยายธรรม พิเศษของของยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย และเป็นผู้กำหนดนโยบายให้พนักงานว่า บริษัทแห่งนี้ถือว่าการไปนั่งวิปัสสนา 7 วัน ไม่ถือเป็นวันหยุด และหัวหน้างานทุกฝ่ายควรจะสนับสนุนให้พนักงานได้ลาไปด้วย พนักงานที่เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะฝ่ายบริการซึ่งเป็นด่านแรกที่จะสร้างความประทับใจ ทำให้วรากรจำเป็นต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นพิเศษ

สถานที่ฝึกอบรมของบริษัทจะใช้บ้าน ของคุณวรากร ที่อำเภอศรีราชา ฝึกได้ครั้งละ 50-60 คน ทุกปีจะมีโปรแกรม 2-3 ครั้ง และต่อไปจะกำหนดเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 6 ครั้ง ครั้งละ 3 วัน โดยพนักงานแต่ละหน่วยงานจะหมุนเวียนเปลี่ยนกันไป

พรพิไล ภรรยาของวรากร จะเป็นผู้ช่วยดูแลด้านบัญชีมาตั้งแต่ทำร้านสาขาแรก

ขจรเดช ไรวา มีบทบาทสำคัญในเรื่องหาทำเลที่มีศักยภาพเพื่อการขยาย สาขา เป็นคนที่พี่น้องทุกคนยอมรับว่ามีหัวด้านการค้ามากกว่าคนอื่นๆ ส่วน พันทิพา ภรรยาของขจรเดช ดูแลเรื่องการค้าในต่างประเทศ

ประเวศวุฒิ ไรวา รับผิดชอบด้านการตลาดโฆษณาประชาสัมพันธ์ เกษสุดา ภรรยา ดูแลด้านการเงินและต่างประเทศ

"ข้อดีของความเป็นมืออาชีพนั้นมีอยู่ก็จริง แต่บางครั้งความสามารถของ เขาอาจจะไม่เหมือนใจเราอยากจะทำ เขามั่นใจในความเป็นมือโปรมากเกินไปก็เลยอาจจะตัดสินใจบางเรื่องรวดเร็วไปและที่สำคัญการยอมรับ การให้อภัย และความผูกพัน มันไม่เหมือนคนที่เป็นพี่น้อง ทำงานด้วยกัน"

นั่นคือ "ความในใจ" ของวรากร กรรมการผู้จัดการของเอสแอนด์พีฯ ที่มี ต่อมืออาชีพที่จะเข้ามาร่วมงาน

อย่างไรก็ตาม ในระดับผู้บริหารรองลงไป เอสแอนด์พีฯ ก็ยังมีผู้บริหารอีกหลายคนที่ไม่ใช่คนในตระกูลกำลังเรียนรู้งานตามๆ ขึ้นมา ในขณะเดียวกันผู้บริหารรุ่นลูก ก็เริ่มเข้ามา เช่น วิฑูร ศิลาอ่อน บุตรชายของภัทรากับอมเรศ มีตำแหน่งผู้จัดการส่วนพัฒนา ผลิตภัณฑ์ วิสาขา บุตรสาวของวรากร จะมาดูแลงานด้านครีเอทีฟ เกี่ยวกับกล่องบรรจุสินค้า ทำให้สินค้าดูน่ารักสวยงามสดใส เป็นที่ถูกใจวัยรุ่นและเด็กๆ มากขึ้น ส่วนจุฬามณี บุตรสาว อีกคนของวรากร จะเข้ามาช่วยงานด้านการวางแผนระบบคอมพิวเตอร์

ปัจจุบันรายได้หลักของ S&P มาจากเบเกอรี่ที่ครองสัดส่วนมากถึง 43 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2543 โดยมีอาหารและเครื่องดื่มทำรายได้รองลงมา (ดูรายละเอียดในตาราง)

ในปี 2545 อาหารแช่แข็งสำเร็จรูปภายใต้ ชื่อ "Quick Meal" ได้ถูกกำหนดบทบาทให้โดดเด่นขึ้นมา

อาหารแช่แข็งสำเร็จรูปของ S&P เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2538 ด้วยเหตุผลที่ว่า S&P ต้องการ แก้ปัญหารสชาติของอาหารหลักๆ อย่างเช่น เครื่องแกง หรือผัดไทย ซึ่งมีซอสปรุงรสเป็นตัวหลัก มีรสชาติที่แตกต่างกันตามรสมือของแม่ครัวในแต่ละสาขา แต่แทนที่จะทำเครื่องแกง หรือน้ำซอสเพียงไม่กี่อย่างส่งไปตามร้านสาขาต่างๆ ก็ผลิตอาหารแช่แข็งอย่างอื่นส่งขายตาม ซูเปอร์มาร์เก็ตไปด้วย

ในปีแรก Quick Meal ไม่ประสบความสำเร็จในการขายเท่าไรนัก ด้วยเหตุผลที่ว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่นิยมการหยิบอาหารจากช่องแช่แข็งในตู้เย็นเข้าไป อุ่นในไมโครเวฟ แล้วนำออกมารับประทาน แต่ S&P ก็มั่นใจว่าวิถีชีวิตของคนในเมืองหลวงที่เร่งรีบ มีเวลาในการทำอาหารน้อยลงนั้น จะทำให้ ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับความนิยมในที่สุด

และเป็นไปตามที่คาดหมาย อาหารแช่แข็งในเมืองไทยเริ่มมียอดขายดีขึ้น จนกระทั่งในปีที่แล้วได้มีการออกผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็งแบบใหม่ภายใต้ชื่อ Econo Meal ซึ่งราคาประหยัดกว่า และไม่ต้องใช้เตา ไมโครเวฟ เพียงแต่ต้มน้ำให้เดือด หย่อน ถุงใส่อาหารลงไป ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีก็สามารถนำอาหารออกมารับประทานได้เช่นกัน

ส่วน Quick Meal ถูกกำหนดเป็นกลยุทธ์ใหม่ในการบุกทะลวงตลาดต่างประเทศที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นเป้าหมายหลัก โดยวิธีการไปเปิดโรงงานอาหารแช่แข็งที่นั่น พร้อมๆ กับการเปิดร้านขายอาหารไปด้วย อาหารแช่แข็งยอดนิยมที่ส่งไปขายและประสบความสำเร็จมากใน 2 ปีที่ผ่านมาก็คือ เกี๊ยวกุ้ง ต้มยำกุ้ง ผัดไทยกุ้ง และของหวานแบบไทยๆ เมื่อนำอาหารประเภทเนื้อเข้าประเทศไม่ได้เพราะมีกฎหมายห้ามไว้ แก้ปัญหาโดยไปสร้างโรงงานแช่แข็งที่อเมริกา และเอาเพียงเครื่องแกงเข้าไป โดยใช้วัตถุดิบ พวกเนื้อต่างๆ จากท้องถิ่น ด้วยวิธีการนี้ S&P สามารถเปิดร้านอาหาร พร้อมๆ กันได้หลายสาขา โดยไม่ต้องมีปัญหาการนำพ่อครัวแม่ครัวเข้าไปในประเทศที่เจอปัญหาความยุ่งยากมาตลอด เพราะสามารถมีคนปรุงอาหารให้ได้มาตรฐานที่โรงงานเพียงชุดเดียวเท่านั้น ส่วนร้านค้า ตามสาขาต่างๆ ก็อาจจะเป็นเพียงพนักงานทั่วไปที่แกะอาหารเข้า ไมโครเวฟแล้วคอยเสิร์ฟเท่านั้น

อาหารแช่แข็งจะเป็นการจับกลุ่มลูกค้าในระดับกลาง ซึ่งอาจจะต้องใช้แบรนด์ใหม่ ในขณะที่ร้านภัทราที่มีอยู่ก่อนนั้น จะจับกลุ่มลูกค้าระดับบนโดยเฉพาะ

นับเป็นอีกบทบาทหนึ่งของบริษัทเอสแอนด์พีฯ ในการเข้าไป เป็น Kitchen of the World ที่มีวิธีคิดที่น่าสนใจทีเดียว

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us