บ้านสไตล์โคโลเนียลสีขาว ซึ่งได้รับอิทธิพลจากงานสถาปัตยกรรมตะวันตกในยุคอาณานิคม
ซึ่งปรับให้เข้ากับภูมิอากาศเขตร้อน เป็นบ้านทรงปั้นหยาคล้ายๆ กับบ้านพักชนชั้นสูงแถวสีลมในอดีต
หรือบ้านพักตากอากาศครั้งแรกๆ ที่หัวหินในรัชกาลที่ 6 เมื่อประมาณ 100 ปีมานี้
สะท้อนรากฐานของ
ผู้สืบทอดตระกูลธุรกิจเก่าแก่ตระกูลเดียวก็ว่าได้ ที่เหลืออยู่
ซึ่งผ่านรุ่นมาแล้วถึงรุ่นเก่า 4 รุ่น รวมเวลากว่า 100 ปีแล้ว
อีกด้านหนึ่งทางด้านมารดามาจากราชนิกุล สืบเชื้อสายมาจากกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ
ต้นสกุลเทวกุล ซึ่งสะท้อนความภูมิใจของเจ้าของบ้านหลังนี้อย่างมาก อิทธิพลของการสร้างบ้าน
สิ่งตกแต่งและความนึกคิดของเจ้าของล้วนมีอิทธิพลทางฝ่ายมารดาอย่างมาก และดูเหมือนจะสูงขึ้นเป็นลำดับ
กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ เป็นพระเชษฐาของพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ในรัชกาลที่
5 ในห้องทำงานที่
บ้านสามญาณ ปรากฏภาพวาดจำลองบรรยากาศในโบสถ์เซนต์พอล ในงานพระราชพิธีกาญจนาภิเษกสมเด็จพระนางเจ้า
วิคทอเรียแห่งสหราชอาณาจักร เมื่อครบรอบ 50 ปี หรือประมาณ 100 ปีที่แล้ว
ในภาพปรากฏทูตานุทูตจากทั่วโลกเข้าร่วมพิธี ในภาพนั้นมีคนนุ่ง
โจงกระเบน แต่งชุดไทยเต็มยศ ซึ่งก็คือ
กรมพระยาเทววงศ์วโรปการนั่นเอง
กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศนาน 38
ปี ทั้งรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 แต่เดิมพำนักอยู่ วังสพานถ่าน ต่อมารัชกาลที่
6 ได้สร้างวังใหม่ให้บนถนนสามเสน บนที่ดินพระราชทานโดยรัชกาลที่ 5 วังเทวะเวศม์
ออกแบบก่อสร้างโดย EG Gollo วิศวกรชาวอิตาเลียน ผู้ทำหน้าที่ดูแลก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม
วังเทวะเวศม์สร้างเสร็จในปี 2461 ในบริเวณเดียวกันนั้นก็มีการก่อสร้างวังขนาดเล็ก
สำหรับลูกๆ ในเวลาต่อมา ซึ่งรวมทั้งวังของ ม.จ.ปรีดิเทพพงษ์ ท่านพ่อของ ม.ร.ว.สำอางวรรณ
วรวรรณ มารดาของบัณฑูร ล่ำซำ ด้วย
ต่อมาวังเทวะเวศม์บางส่วนถูกขายออกไป อาคารหลัก ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ซื้อมาเพื่อบูรณะเป็นอาคารประวัติ
ศาสตร์ เมื่อไม่นานมานี้ บัณฑูร ล่ำซำ เล่าว่า วังเดิมของ ม.จ.ปรีดิเทพพงษ์
ถูกรื้อ เขาได้ซื้อต่อและนำชิ้นส่วนของวัง
มาย่อและสร้างใหม่โดยงานสถาปัตยกรรมเดิม บนที่ดินที่
บ้านสามญาณ โดยให้ชื่อ "เรือนเทวะเวศม์" ซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จเมื่อเร็วๆ
นี้เอง "จะให้แม่มาอยู่เมื่อท่านมาพักผ่อนที่นี่"
เขาเล่าถึงความตั้งใจ
บ้านหลังหลักสร้างขึ้นเพิ่งครบรอบ 10 ปี เมื่อวันสงกรานต์ที่ผ่านมา ส่วนหลังอื่นๆ
ทยอยสร้างมาเป็นระยะ ล่าสุดเพิ่งเสร็จไปก็คือ ห้องหนังสือ ที่รวมรวมหนังสืออ้างอิง
หนังสือเกี่ยวกับศาสนาทุกศาสนา วิดีโอเทป เรื่องราวอ้างอิงทั้งหลาย นับเป็นห้องหนังสือที่รวบรวมหนังสือไว้มากที่สุดห้องหนึ่งในบ้านทั่วไป
อุปกรณ์สำคัญที่ว่าด้วยเทคโนโลยีก็นับว่าเป็นเทคโนโลยีล่าสุด ไม่ว่าคอมพิวเตอร์
หรือทีวี นอกจากนี้มีห้องช่างที่มีอุปกรณ์การทำงานด้วยมือครบถ้วน ซึ่งเขาหวังว่าจะค่อยๆ
ฝึกทำงาน มีกิจกรรมร่วมกับลูกชาย 2 คน "craftsmanship
ถูกจัดอยู่ในมงคลชีวิต 38 ประการ"
เขาเล่าถึงแรงบันดาลใจในห้องนี้
บ้านหลังนี้ก่อสร้างบนเนื้อที่ 10 ไร่ ซึ่งเขาเพียรพยายามหาอยู่นานเพื่อจะได้ที่ใกล้วัดญาณสังวราราม
"สมเด็จฯ บอกให้ไปขอพรสมเด็จ
พระญาณเรศ ซึ่งเป็นพระประธาน
ในโบสถ์ ไม่ใช่ขอพรเฉยๆ ต้องมาอยู่วัด 3 วัน บำเพ็ญภาวนา 3 วัน" บัณฑูร
ล่ำซำ เล่าถึงที่มาของที่ดินแปลงนี้ ซึ่งในที่สุดเขาก็พบ และสามารถซื้อในราคาถูกเพียงตารางวาละ
350 บาท
เรื่องราวบอกเล่าที่ปรากฏในบ้านหลังใหญ่ ในห้องโถง ห้องทำงาน และห้องพระ
เป็นเรื่องราวที่สะท้อนบุคลิกอีกด้านหนึ่งของเขา ที่สะท้อนปรัชญาในการดำเนินชีวิตและการทำงานอย่างดีทีเดียว
ในห้องทำงานในบ้านและที่ทำงานในสำนักงานใหญ่ธนาคารกสิกรไทยมีสัญลักษณ์ต่างๆ
ที่สอดคล้องกัน เริ่มตั้งแต่ภาพบุคคลในพระราชวงศ์ ภาพบรรพบุรุษล่ำซำ อัมราฮัม
ลินคอล์น ซึ่งบัณฑูรถือเป็นปรมาจารย์ด้านการบริหาร รวมทั้งลูกโลก ซึ่งเขาบอกว่าหมอดูฮวงจุ้ยอธิบายความหมายถึงความสัมพันธ์อันดีกับต่างชาติ
"ดวงของผมถูกโฉลกกับต่างชาติ" เขาเล่าทีเล่นทีจริง ซึ่งคงหมายถึงการทำงานที่นำพาธนาคารกสิกรไทย
ผ่านอุปสรรคในการเพิ่มทุนด้วยเงินต่างชาติครั้งแรกของวงการธนาคารไทยในช่วงวิกฤติ
รวมถึงการนำต่างชาติเข้ามาช่วยงานทั้งกรรมการและผู้บริหารในยุทธศาสตร์ "ใช้ฝรั่งสู้กับฝรั่ง"
บัณฑูร ล่ำซำ มีชีวิตอยู่ภายใต้แรงกดดันเสมอมา โดยเฉพาะความคาดหวังอย่างยิ่งใหญ่ของบิดาของเขา
"บัญชา
ล่ำซำ" ในเรื่องการเรียนโดยเริ่ม
ตั้งแต่การเรียนโรงเรียนประจำที่ดี ที่สุดของสหรัฐฯ Phillips Exeter
Acadamy ซึ่งเขาบอกว่าเป็นช่วงที่ช็อกมากทีเดียว หลังจากนั้นศึกษาต่อที่
Princeton และ Harvard ความภูมิใจอยู่ที่เขาสามารถทำตามความตั้งใจของบิดา
แม้ว่าวันนี้เขาจะเป็นคนหนึ่งที่วงการธนาคารไทยคาดหวังไว้มาก แต่เขาเน้นว่า
ไม่มีความคาดหวังใดที่กดดันมากเท่าเรื่องการเรียนที่ผ่านมา ทั้งนี้ทั้งนั้นเขาไม่ต้องการให้ลูกๆ
อยู่ในสถานการณ์เช่นเดียวกับเขา
เขามีบุตรธิดา 3 คน หญิง 1 ชาย 2 โดยตั้งใจว่าจะให้ลูกเรียนหนังสืออย่างไม่กดดันเกินไป
แต่อยู่ภายใต้บรรยากาศของการเตรียมความพร้อมในโลกกว้างที่มีความสัมพันธ์กันมากขึ้น
เขาเพิ่งตัดสินใจให้ลูกทั้ง 3 ลาออกจากโรงเรียนจิตรลดา ไปเรียนที่โรงเรียนนานาชาติเล็กๆ
แถวสุขุมวิท โดยแผนขั้นต่อไปจะส่งไปเรียนต่อมัธยมที่สวิตเซอร์แลนด์ "ที่เจนีวา
เป็นแหล่งนักการทูต มีโรงเรียนนานาชาติที่ดีหลายแห่ง สามารถเรียนภาษาฝรั่งเศสได้อีกภาษา
ที่สำคัญสามารถเดินทางจากเมืองไทยได้ภายในวันเดียว"
เขาให้เหตุผล
บัณฑูร ล่ำซำ เป็นพุทธมามกะ ผู้ดูแลทรัพย์สินของศาสนาที่มีจำนวนมากมาย
ในฐานะผู้จัดการมูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย และไวยาวัจกร วัดบวรนิเวศวิหาร
และวัดญาณสังวราราม ใกล้ๆ ห้องนอนที่บ้านสามญาณจะมีห้องพระ ซึ่งถูกจัดไว้อย่างพิถีพิถัน
มีพระพุทธรูปที่เขาเลื่อมใสศรัทธาประดิษฐานไว้อย่างเป็นระเบียบ ในเวลาที่มาพักที่นี่ทุกเช้าและก่อนนอนจะต้องสวดมนต์
เป็นกิจวัตรประจำวัน
ฝาผนังด้านหนึ่งของห้องทำงานมีภาพเก่าที่เข้าใจว่าเป็นภาพลายพระหัตถ์ในรัชกาลที่
4 ในช่วงสถานการณ์
บ้านเมืองอึมครึม "เราไม่เข้า-ออกใครเลย รักษาแต่ตัวเป็นข้าแผ่นดิน"
ดูเหมือนจะสอดคล้องกับปรัชญาการทำงานของเขาไม่น้อย
ชีวิตของเขาวันนี้ มีความสมดุล ดูเพียงพอ และ
เรียบง่าย กว่าที่คิด