ดินแดนแห่งวัฒนธรรมหลากหลายมนต์เสน่ห์ของหมวกอะคูบรา (Akubra Hat) หรือแม้กระทั่งจิงโจ้
และ Koalasย่อมไม่ใช่จุดสนใจหรือห้วงความคิดคำนึงแรกๆ สำหรับผู้ปกครองและนักเรียน
นักศึกษา ในการตัดสินใจไปศึกษาเล่าเรียน
ในออสเตรเลีย แต่ด้วยความเป็นดินแดน
ที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักที่อยู่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุด และเป็นดินแดน
ที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมหลากหลาย
มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สิ่งเหล่านี้ทำให้ ออสเตรเลีย ยังคงเป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ
ในการศึกษาต่อในต่างประเทศ
อย่างไม่ต้องสงสัย
เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา Mentor International โดยความร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย
ได้จัดนิทรรศการแนะแนวการศึกษาภายใต้ชื่อ Australian High Schools Exhibition
ซึ่งนับเป็นกิจกรรมที่ Mentor ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนมีลักษณะเป็นประหนึ่งงานประจำปี
ท่ามกลางความพยายามที่ผู้ให้บริการแนะแนวการศึกษาแต่ละรายต่างบุกเบิกและขยายกลุ่มเป้าหมาย
ให้กว้างขวางออกไปทุกขณะ
กระนั้นก็ดี นิทรรศการการศึกษา โดยกลุ่มโรงเรียนมัธยมศึกษาจากประเทศ ออสเตรเลียในครั้งนี้ก็ได้เปิดเผยให้เห็นความ
เคลื่อนไหวที่น่าสนใจมากประการหนึ่ง ก็คือ รัฐบาลออสเตรเลีย กำลังขยายบริการด้านการศึกษาให้ก้าวไปสู่การเป็นแหล่งรายได้ใน
การอุดหนุนค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดการ ระบบการศึกษาในประเทศไปในคราวเดียว
โดยมีนักเรียนนักศึกษาจากเอเชียแปซิฟิกเป็น ตลาดที่เปี่ยมด้วยกำลังซื้ออย่างมหาศาลในปัจจุบัน
ความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์และที่ตั้งของออสเตรเลีย กลายเป็นจุดขายสำคัญว่าด้วยการเป็นประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก
ซึ่งอยู่ใกล้กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทยมาก ที่สุด ขณะที่ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาและค่าครองชีพอยู่ในระดับที่เหมาะสม
ท่ามกลางสื่อการเรียนและวิธีการสอนที่ก้าวหน้าทันสมัยภายใต้การรับประกันคุณภาพการศึกษา
โดยรัฐบาลและนานาชาติรับรอง
บรรยากาศของนิทรรศการในครั้งนี้ แม้จะมีผู้เข้าร่วมงานไม่มากนัก หากเปรียบเทียบกับแหล่งการศึกษาใหม่ๆ
ที่เปิดตลาดรุกคืบเข้ามาในช่วงก่อนหน้านี้ แต่นั่นก็มิได้หมายความว่า ออสเตรเลียเสื่อมความนิยมลงแต่อย่างใด
"หากแต่จำนวนผู้เข้าชมที่บางตาเหมาะแก่พื้นที่ในครั้งนี้ เป็นผลมา จากในช่วงที่ผ่านมา
ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถาบันการศึกษาของออสเตรเลีย ได้เข้าสู่การรับรู้ของผู้ปกครองและนักเรียนนักศึกษา
ชาวไทยมามากแล้ว" เจ้าหน้าที่ของ Mentor รายหนึ่งให้ความคิดเห็น
ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่า ความสนใจและความนิยมของนักเรียนจากประเทศไทย
ในการไปศึกษาต่อยังประเทศออสเตรเลียในความรับรู้ของผู้คน ทั่วไปดูเหมือนจะมีอยู่มาก
โดยปัจจุบันคาดว่ามีนักเรียนไทยศึกษาอยู่ในออสเตรเลียไม่ต่ำกว่า 7,000 คน
ควบคู่กับการรวมกลุ่ม เป็นชุมชนคนไทยในเขตเมืองขนาดใหญ่ของ ออสเตรเลีย ทำให้ดูประหนึ่งว่า
กลุ่มนักเรียน ไทยเป็นนักศึกษาจากต่างประเทศกลุ่มใหญ่ของออสเตรเลีย แต่หากเปรียบเทียบสัดส่วน
ของนักเรียนนานาชาติที่มีอยู่กว่า 158,000 คน แล้ว นักเรียนไทยก็มีสัดส่วนเป็นเพียง
5% ของนักเรียนนานาชาติทั้งหมดในออสเตรเลีย เท่านั้น
กลุ่มนักเรียนไทยได้กลายเป็นตลาดขนาดใหญ่สำหรับธุรกิจบริการด้านการศึกษา
ของออสเตรเลีย ดังจะเห็นได้จากการจัดตั้งศูนย์การศึกษาออสเตรเลีย (Australia
Educa-tion Center) ขึ้นภายในสถานเอกอัครราชทูต ประจำประเทศไทย ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการด้านข้อมูล
และแนะแนวการศึกษาแก่นักเรียนอย่างครบวงจร ทั้งในส่วนของหลักสูตรการใช้ชีวิต
และขั้นตอนการ สมัครลงทะเบียน และยื่นขอ visa ด้วย
นุ่นและแพร สองสาวพี่น้องในชุดนักเรียนของ Tintern Angligan Girls Grammar
School ในเมือง Melbourne รัฐ Victoria ที่เธอ ทั้งสองได้ลงทะเบียนเรียนมากว่า
2 ปี กลาย เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการที่สร้างแรงจูงใจ ให้ผู้เข้าเยี่ยมชมกิจกรรมในครั้งนี้สนใจใคร่รู้
และไถ่ถามข้อมูลยิ่งขึ้น
มูลเหตุที่ทำให้เธอทั้งสองบินลัดฟ้า ไปเรียนในออสเตรเลีย คงไม่แตกต่างจาก
เยาวชนผู้ใฝ่เรียนทั่วไปมากนัก เพราะแม้เธอ จะเล่าเรียนอยู่ในโรงเรียน convent
ชั้นนำ ย่านสีลม ซึ่งจัดได้ว่าเป็นสถาบันที่มีความเข้มข้นในวิชาภาษาอังกฤษ
แต่สำหรับพวกเธอแล้วดูเหมือนว่าประเด็นดังกล่าวไม่เพียงพอสำหรับการดำเนินชีวิตในอนาคต
"ก่อนไปเรียนที่ออสเตรเลีย เราเคย เรียนในโรงเรียนนานาชาติแห่งหนึ่งที่ภูเก็ต
ซึ่งแม้จะเป็นโรงเรียนที่ดีแต่สภาพแวดล้อมทั่วไปของภูเก็ต ไม่ได้ส่งเสริมให้เราสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างเต็มที่
คุณพ่อคุณแม่ เองก็เห็นว่า การเรียนในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักในชีวิตประจำวันน่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่า
และเป็นโอกาสที่ดีในการได้เรียนรู้ จากผู้คนที่หลากหลายมากกว่า"
ประเด็นที่รัฐบาลออสเตรเลีย พยายามเน้นว่าเป็นจุดน่าสนใจสำหรับการ ศึกษาเรียนรู้ของเยาวชนจากต่างแดนก็คือ
ความเป็นดินแดนที่มีวัฒนธรรม ผสมผสาน จากการหลอมรวมผู้คนเชื้อชาติต่างๆ เข้าด้วยกัน
ภายใต้บรรยากาศที่เป็นมิตรและปลอดภัย ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถศึกษาหาความรู้
ได้โดยผ่านการใช้ภาษาอังกฤษที่เป็นภาษาหลักของแผ่นดินนี้
ข้อความดังกล่างคงไม่เป็นการกล่าวอ้างที่เกินเลยจากความเป็นจริงจนเกินไปและ
สามารถสัมผัสได้จากนิทรรศการครั้งนี้ด้วย
Teresa Nguyen เจ้าหน้าที่จากกระทรวงศึกษาธิการ การจ้างงาน และการฝึกอบรม
หรือ Department of Education, Employment and Training ของรัฐ Victoria
เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นมากในกรณีเช่นนี้
เธอเติบโตในครอบครัวของชาว เวียดนาม ซึ่งอพยพเข้ามาอยู่ในรัฐ Victoria
ประเทศออสเตรเลีย เมื่อประมาณ 15 ปีที่ผ่านมา และสามารถดำรงสถานะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมออสเตรเลียได้อย่างไม่ผิดแผก
แตกต่างจากชาวออสเตรเลียอื่นๆ
"ออสเตรเลียเป็นดินแดนที่ทุกคนสามารถแสวงหาและสร้างโอกาสให้กับตัวเอง ได้ตามความสนใจ
และศักยภาพของแต่ละคนได้โดยไม่มีขีดจำกัดมากนัก ซึ่งกรณีเช่นนี้ย่อมเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับนักเรียนนักศึกษาในการแสวงหาความรู้"
เป็นคำบอกเล่า ที่เต็มไปด้วยความรู้สึกของ Teresa Nguyen
จุดเน้นในเรื่องการจัดการระบบการศึกษาของออสเตรเลีย ประการสำคัญอยู่ที่
การดำเนินไปภายใต้ระบบคุณวุฒิทางการศึกษาที่เป็นหนึ่งเดียวทั่วประเทศ ที่รู้จักกันใน
นาม Australian Qualifications Framework : AQF อันเป็นเค้าโครงคุณวุฒิการศึกษา
ซึ่งอนุมัติโดยรัฐบาลออสเตรเลีย โดยครอบคลุม ภาคการศึกษาทั้งระบบ และทำให้นักเรียน
สามารถโอนหน่วยกิตที่สะสมได้จากการศึกษาในระดับการศึกษาหนึ่งจากสถาบัน การศึกษาใดๆ
ไปยังอีกระดับการศึกษาหนึ่ง ในสถาบันการศึกษาอื่นได้โดยไม่ยากนัก
ภายใต้ระบบ AQF นักเรียนนักศึกษา สามารถสร้างเส้นทางการศึกษา ได้อย่างกว้าง
ขวางระหว่างโรงเรียน วิทยาลัยด้านเทคนิคและอาชีพ และมหาวิทยาลัย เท่าที่นักเรียนมีความใฝ่ฝันทางด้านอาชีพ
และเป็นข้อได้เปรียบอย่างสำคัญสำหรับนักเรียนนานาชาติ ที่เข้ามาเรียนในประเทศออสเตรเลีย
ประเด็นที่น่าสนใจ แต่อาจเป็นสิ่งที่ไม่มีผู้ปกครองท่านใดรับรู้มากนักในช่วงก่อน
หน้านี้ก็คือ ภายใต้ข้อกำหนดทางกฎหมายว่าด้วยการตรวจลงตราและการตรวจคนเข้าเมือง
(visa and immigration) ของออสเตรเลีย ระบุว่า ในช่วงระยะเวลา 12 เดือนแรกของการศึกษาในออสเตรเลียนั้น
นักเรียนนักศึกษาจากต่างประเทศ จะไม่สามารถเปลี่ยนผู้ให้บริการการศึกษาไปสู่ผู้ให้บริการรายอื่นได้
มิฉะนั้นจะต้องเดินทางกลับไปขอ visa ใหม่
ระเบียบวิธีปฏิบัติดังกล่าวได้สร้างความน่าสนใจให้แก่สถาบันการศึกษาของรัฐ
อย่างมาก เพราะนอกจากจะมีค่าเล่าเรียนถูก ภายใต้คุณภาพการศึกษาที่มีมาตรฐาน
ใกล้เคียงกันแล้ว ระบบเครือข่ายของโรงเรียนทั้งในแบบชายล้วน หญิงล้วน หรือสหศึกษาที่รวมแล้วมีมากกว่า
200 แห่งในแต่ละรัฐแล้ว ข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงผู้ให้บริการการศึกษาเช่นว่านี้
ยังถือว่ารัฐแต่ละรัฐดำรงสถานะเป็นผู้ให้บริการรายเดียว ต่าง จากโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาเอกชน
ที่ แต่ละแห่งมีฐานะเป็นผู้ให้บริการอย่างเป็นเอกเทศ
"แม้ว่าผู้ปกครองและนักเรียนแต่ละรายจะได้ศึกษาข้อมูลของโรงเรียนต่างๆ
มา เป็นอย่างดี ก่อนสมัครเข้าศึกษาในสถาบัน เหล่านี้ แต่สภาพที่เป็นจริง
เมื่อเดินทางไปศึกษาอาจแตกต่างไปจากที่คิดวาดภาพไว้ ซึ่ง อาจก่อให้เกิดปัญหาแก่นักเรียนได้
โรงเรียนรัฐบาลแห่งรัฐต่างๆ ของออสเตรเลีย จึงอาจ เป็นทางเลือกที่ดีกว่า"
Teresa Nguyen กล่าว
อย่างไรก็ดีภายใต้รูปแบบการปกครองที่กระจายอำนาจการบริหารจัดการ ออกไปสู่รัฐบาลท้องถิ่นในแต่ละรัฐ
ทำให้หลักสูตรและคุณภาพการศึกษาในโรงเรียน ของรัฐ ในแต่ละรัฐมิได้ถูกจำกัดให้อยู่ภายใต้
มาตรฐานเดียวกันทั้งระบบ โดยแต่ละรัฐ จะเป็นผู้กำหนดและออก Certificate of
Edu-cation อย่างเป็นเอกเทศและกลายเป็นจุดเน้น ที่แต่ละรัฐบาลท้องถิ่นแต่ละรัฐพยายามสร้าง
ให้เป็นข้อโดดเด่นในการดึงดูดนักเรียนนักศึกษาจากต่างประเทศ แม้ว่าในหลักการ
ทั่วไปแล้ว Certificate of Education ของแต่ละ รัฐจะมีความใกล้เคียงกันอย่างมากก็ตาม
นอกเหนือจากโรงเรียนเอกชนที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยม ซึ่งเป็นทั้งความใฝ่ฝัน
และตัวเลือกแรกๆ ที่ผู้ปกครองและนักเรียนจะคิดถึงแล้ว โรงเรียนแห่งรัฐที่มีอยู่มากมาย
ของออสเตรเลีย น่าที่จะเป็นอีกหนทางหนึ่งในการศึกษาต่อในออสเตรเลียภายใต้สถาน
การณ์ทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ชัดเจนนี้
ข้อควรพิจารณาสำหรับผู้สนใจในการ ส่งบุตรหลานไปศึกษาในดินแดนที่ไกลตานี้
จึงอยู่ที่ข้อมูลจำเพาะของสถาบันการศึกษา แต่ละแห่งว่าสอดคล้องกับความสนใจและเป็นไปเพื่อพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่ของนักเรียนหรือไม่
นอกเหนือจากความพร้อมทางด้านเศรษฐกิจด้วย