ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ซึ่งใกล้กับโรงแรมโอเรียนเต็ล โรงแรมที่ดีที่สุดในโลกนั้น
มีอาคารเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี หลังหนึ่งตั้งอยู่ น่าเสียดายที่ความทรุดโทรมของตัวตึกและ
สภาพแวดล้อม ทำให้แทบมองไม่เห็นร่องรอยของความงาม ทางด้านสถาปัตยกรรมหลงเหลืออยู่เลย
หากมองย้อนอดีตกลับไปเมื่อ 113 ปีก่อนซึ่งตรงกับสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
อาคารศุลกสถานซึ่งใช้ เป็นที่ทำการของกรมศุลกากรหลังนี้เคยสวย งามและทรงคุณค่าทางด้านสถาปัตยกรรม
จนเป็นที่ร่ำลือตั้งแต่สร้างเสร็จในปี พ.ศ.2431 ก่อนที่กรมฯ นี้จะย้ายไปอยู่ที่คลองเตย
ในปี พ.ศ.2492
ตัวอาคารมีรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยคลาสสิค เป็นรูปสี่เหลี่ยมยาวแผ่ขนานไปกับแม่น้ำเจ้าพระยา
มีระเบียงทางเดินด้าน หน้าซึ่งประกอบด้วยซุ้มหน้าต่างตลอดแนวอาคาร ชั้นล่างเป็นซุ้มสี่เหลี่ยมเรียบๆ
ส่วนชั้น 2-3 เป็นซุ้มโค้ง ขอบระเบียงเป็นลูกกรงแก้วปูนปั้น มีเสาอิงเป็นระยะสลับกับแนวหน้าต่าง
ช่วงกลางเป็นจั่ว รูปสามเหลี่ยมบรรจุนาฬิกาทรงกลมในจั่ว เหนือจั่วมีกระบังหน้าคล้ายมงกุฎปั้นเป็นตราแผ่นดิน
ผู้ออกแบบคือ โยคิม กราซี (Joachim Crassi) สถาปนิกชาวอิตาลี ซึ่งเข้ามารับราชการในราชสำนักสยามตอนต้น
รัชกาลที่ 5 มีหน้าที่ช่วยออกแบบก่อสร้างสถานที่ราชการ วัง และบ้านเสนาบดีที่มีฐานะในช่วงนั้น
ในหนังสือ Bangkok Times Guide Book ปี ค.ศ.1890 ได้บันทึกถึงอาคารศุลกสถานไว้ว่า
"เป็นสถานที่งดงามแห่งหนึ่งในบรรดาสถานที่ซึ่งสร้างขึ้นในกรุงเทพฯ ภายในระยะ
10 ปีที่ล่วงมานี้ และตั้งอยู่ ริมแม่น้ำในที่สง่าผ่าเผย เนื้อที่ซึ่งใช้เป็นท่าเรือ
โกดังสินค้า ตัวตึกที่ทำการ และที่อยู่พนักงานที่เกี่ยวข้องกับศุลกสถาน โดยตรง
มีขนาดกว่า 10 เอเคอร์ (3-4ไร่) ท่าเรือมีทางสะดวกสำหรับขนถ่ายสินค้าจากเรือลำเลียง
แม้เรือกลไฟขนาดใหญ่ ก็เข้าเทียบขนส่งสินค้าได้ มีโรงพักสินค้า และที่พักพนักงาน
ตัวตึกใหญ่นั้นรูปทรงงดงามมี 3 ชั้น"
ในหนังสือตำนานกรมศุลกากร ของพระยาอนุมานราชธน ก็ได้เขียนชมความงามไว้เช่นกันว่า
"สมัยนั้น ถ้านั่งเรือไปตามแม่น้ำจะปรากฏตัวตึกกรมศุลกากรตั้งตระหง่านเด่นเห็นได้แต่ไกล
ด้วย เป็นตึกที่ตอนกลางสูงถึง 3 ชั้น ซึ่งในสมัยนั้นนอกจากกระทรวงกลาโหมแล้ว
ดูเหมือนจะมีแต่ตึกกรมศุลกากร เท่านั้นที่เป็นตึกขนาดใหญ่ และสง่างาม"
เพราะความงดงามและมีคุณค่าของอาคารหลังนี้ ในสมัยนั้นทางราชการจึงได้ใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมเกี่ยวกับชาวต่างประเทศ
บ้างใช้เป็นที่รับรอง บ้างใช้เป็นสถานที่เต้นรำ ในคราวพระราชพิธีเฉลิม พระชนมพรรษา
รวมทั้งพระราชพิธีสมโภชพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จนิวัติพระนครจากการเยือนประเทศในยุโรปครั้งแรก
ปัจจุบันอาคารหลังนี้เป็นที่พำนักและเป็นที่ทำการของตำรวจน้ำ และน่าเสียดายอย่างยิ่งที่ขาดงบประมาณในการดูแลรักษา
และยังมิได้ใช้ประโยชน์จากคุณค่าทางสถาปัตยกรรมของอาคารอย่างเต็มที่ จนกลายเป็นอาคารเก่าแก่รกรุงรังริมน้ำอาคารหนึ่ง
เมื่อมองแล้วอดเปรียบเทียบกันไม่ได้กับตึก Author'sWing ของโรงแรมโอเรียนเต็ลซึ่งอยู่ใกล้กัน
ถูกออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาลีเหมือนกัน และสร้างเสร็จในระยะ เวลาใกล้เคียงกันคือ
ในปี พ.ศ.2430 แต่ทุกวันนี้ยังคงได้รับการดูแลรักษาอย่างดีจนกลายเป็นสถานที่แห่งหนึ่ง
ที่นักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้ามาชื่นชม และเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก