หลังเข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธนาคารนครหลวง ไทย คนใหม่ได้เพียงไม่กี่วัน
อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ก็ได้ประกาศนโยบายอย่างชัดเจนออกมาเลยว่า เขาจะปรับบทบาทของธนาคารในช่วงนับจากนี้เป็นต้นไป
ให้เน้นการทำธุรกิจรีเทล แบงกิ้ง เป็นจุดขายหลัก
"เราเป็นธนาคารที่มีสาขามาก เครือข่ายเราจึงมีมาก เพราะ ฉะนั้นเราจึงน่าจะทำทางด้านรีเทล
แบงกิ้งได้อย่างดี" เขากล่าวในการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการครั้งแรก ภายหลังเข้ารับตำแหน่ง
ถึงทิศทางใหม่ของธนาคารแห่งนี้ เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม
อภิศักดิ์ ได้ลาออกจากตำแหน่งรองผู้จัดการทั่วไป บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
และเริ่มเข้ามารับตำแหน่งในธนาคารนครหลวงไทย เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา
การเริ่มต้นงานใหม่ของเขา เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วัน หลังจากที่ธนาคารนครหลวงไทย
ได้โอนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวน 2.6 หมื่นบัญชี คิดเป็นวงเงินทั้งสิ้น
1.6 แสนล้านบาท ไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี (PAMC) ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกก่อนที่จะโอนหนี้จำนวนนี้เข้าไปยังบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย
ผลจากการโอน NPL ออกไปครั้งนี้ ทำให้สภาพของธนาคาร นครหลวงไทยช่วงก่อนที่อภิศักดิ์จะเข้ามาเป็นผู้บริหาร
กลายเป็น กู๊ดแบงก์ทันที โดยมีสินทรัพย์ดีเหลืออยู่ประมาณ 3.6 หมื่นบัญชี
มูลค่ารวม 7 หมื่นล้านบาท และมีทุนจดทะเบียน 3.1 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ การโอน NPL ไปยัง PAMC ทำให้ธนาคารได้รับการโอนเงินสำรองของ
NPL ก้อนนี้ กลับคืนมาอีกเป็นเงิน 4 หมี่นล้านบาท ซึ่งเมื่อหักกับยอดขาดทุนสะสมเดิมที่มีอยู่ประมาณ
1 หมื่น ล้านบาทแล้ว ธนาคารนครหลวงไทยได้กลับมามีกำไรทางบัญชีทันที เป็นเงินถึง
3 หมื่นล้านบาท
ตามขั้นตอนการฟื้นฟูหลังจากนี้ไปในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ธนาคารนครหลวงไทยจะต้องลดทุนจดทะเบียนลงมาเหลือ
1 หมื่น ล้านบาท เพื่อให้มีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ในระดับ
12% ก่อนเปิดทางให้กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ในสัดส่วน 51%
"ตอนนี้เราเป็นกู๊ดแบงก์ที่ไม่มี NPL และภาระขาดทุนสะสมเหลืออยู่แล้ว ดังนั้นจึงอยู่ในสภาพพร้อมที่จะเริ่มทำธุรกิจต่อได้ทันที"
เขาบอก
ธุรกิจที่ธนาคารนครหลวงไทยจะเริ่มทำหลังจากนี้ คือการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งอภิศักดิ์จะเน้นกระจายไปยังลูกค้าทุกกลุ่ม
แต่จะให้ ความสำคัญกับลูกค้ารายย่อย โดยเฉพาะลูกค้าเก่าที่ธนาคารเคยมีอยู่ก่อนที่จะเกิดปัญหา
และลูกค้ากลุ่ม SMEs
ธนาคารนครหลวงไทย เป็นธนาคารเก่าแก่ มีฐานลูกค้าเดิม อยู่เป็นจำนวนมาก
อภิศักดิ์ยอมรับว่าหลังจากที่ได้เข้ามาศึกษาข้อมูล แล้วพบว่าในช่วงที่ทางการยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนออกมา
เกี่ยวกับอนาคตของธนาคารแห่งนี้ ส่งผลให้ลูกค้าเดิมจำนวนมากหนีไปใช้บริการของธนาคารอื่น
ดังนั้นเขาจึงกำหนดเป็นหน้าที่ของผู้จัดการสาขาทุกแห่งในช่วงต่อจากนี้ ที่จะต้องตามลูกค้ากลุ่มนี้ให้กลับเข้ามา
ใช้บริการกับธนาคารให้มากที่สุด
สำหรับลูกค้าในกลุ่ม SMEs นั้นเขามองว่าจะเป็นฐานลูกค้าสำคัญสำหรับธนาคารในอนาคต
"ช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ธนาคารทุกแห่งจะเข้ามาเน้นลูกค้า SMEs กันหมด แต่ผมเชื่อว่าในอนาคต
เมื่อภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น ลูกค้ากลุ่มนี้ ก็จะถูกละเลย"
งานเร่งด่วนที่อภิศักดิ์ต้องทำเพื่อให้การดำเนินธุรกิจของธนาคารหลังจากนี้ไป
สามารถเดินหน้าไปได้อย่างราบรื่น คือการสร้างขวัญ และกำลังใจให้กับพนักงาน
ตลอดจนการปรับองค์กรการบริหารของธนาคารใหม่
ปัจจุบันธนาคารนครหลวงไทย มีพนักงานทั้งสิ้น 4,200 คน มีสาขาจำนวน 210
สาขา ในจำนวนนี้เป็นสาขาที่อยู่ในกรุงเทพฯ ถึง 70 สาขา
แผนกงานที่เขามองว่าธนาคารแห่งนี้ยังขาดอยู่ คือหน่วยงานทางด้านการบริหารความเสี่ยง
และทีมงานการตลาด
"การบริหารความเสี่ยงของธนาคารที่ผ่านมา ยังทำกันอย่าง ไม่เป็นระบบ จึงมีความเป็นไปได้ว่าอาจมีการแยกฝ่ายออกมาทำงาน
ด้านนี้โดยเฉพาะ"
ส่วนงานด้านการตลาด ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจ กับลูกค้ารายย่อย
เขาจะใช้วิธีการกำหนดหน้าที่ของพนักงานที่อยู่ตามสาขาใหม่ โดยเฉพาะบางสาขาที่ทับซ้อนกัน
หรือบางสาขาที่ไม่สามารถทำกำไร อาจมีการยุบรวมกับสาขาใกล้เคียง และเกลี่ยจำนวนพนักงานเข้ามาทำหน้าที่ด้านการตลาดมากขึ้น
เพื่อหลีกเลี่ยง การลดจำนวนพนักงาน โดยการให้ออก
นอกจากนี้ เขามองว่าธนาคารจะต้องมีการลงทุนอีกเป็นจำนวนมาก เพื่อปรับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของธนาคารแห่งนี้
ใหม่ทั้งหมด เพราะที่ผ่านมาการพัฒนาด้านเทคโนโลยีของธนาคารนครหลวงไทย มีการทำกันอย่างไม่เป็นระบบ
ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการทำธุรกิจรีเทลแบงกิ้งในอนาคต
"ธนาคารต่างประเทศที่เขาเข้ามาบุกด้านรีเทลในไทย เขาได้เปรียบตรงที่มีเทคโนโลยี
แต่เขาไม่มีเครือข่าย แต่ของเราซึ่งมีคน มาก มีสาขามาก ถ้าเราลงทุนใส่เทคโนโลยีลงไป
ก็จะสามารถแข่งขันกับธนาคารต่างประเทศเหล่านั้นได้"
เขายังไม่ได้ประเมินว่าวงเงินที่ธนาคารต้องลงทุนทางด้านเทคโนโลยีนั้น จะเป็นจำนวนเท่าใด
แต่เขามั่นใจว่าทิศทางที่ได้กำหนดไว้ เป็นทิศทางที่ถูกต้อง ที่จะทำให้ธนาคารนครหลวงไทยสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
โดย ไม่เกิดปัญหาขึ้นอีกเช่นในอดีต
"เราจะกลับมามีกำไรตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป และหลังจากนี้ เราจะมีกำไรตลอด"