รายชื่อผู้สนับสนุนการแข่งขันรถ "Formula 1" ที่เห็นกันเจนตานั้นมีทั้งผู้ผลิตยางรถยนต์
น้ำมัน และบุหรี่ แต่ในระยะหลัง จะพบว่ามีชื่อของบริษัทด้านเทคโนโลยี เข้ามาจับจองพื้นที่การสนับสนุนรายการกันมากขึ้น
"สปอนเซอร์จำนวนมากที่เห็นกันตอนหลังนี้ก็คือผู้ที่รับผิดชอบ ด้านเทคโนโลยีของรถที่เข้าแข่งขันนั่นเอง"
ปีเตอร์ บอล (Peter Ball) ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของ Toyota Motorsports กล่าวและให้เหตุผลว่าทีมที่เข้าแข่งขันต่างต้องการมีเทคโนโลยีล่าสุด
ที่จะมาเชือดเฉือนกับคู่แข่งในยุคเทคโนโลยีข้อมูล ส่วนบริษัทเทคโนโลยีเองก็ต้องการมีส่วนเกี่ยวข้อง
ในการแข่งขัน F-i เพื่อสร้างภาพพจน์ให้ตนเองเช่นกัน
ก่อนหน้าช่วงทศวรรษ 1990 การแข่งรถเป็นหนทางที่บริษัทรถจะได้พัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตรถรุ่นใหม่ๆ
แต่ต่อมาทีมที่เข้าแข่งขันกลับเป็นฝ่ายที่ทำให้เกิดการคิดค้นใหม่ๆ เนื่องจากสภาพการขับขี่ทำให้ผู้ขับรถเสนอความคิดเห็นในการปรับปรุงรถยนต์
ซึ่งรวมไปถึง การประหยัดเชื้อเพลิงด้วย
อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมในช่วงหลังจะมาจากโลกของคอมพิว เตอร์และเทคโนโลยีมากขึ้น
และเป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทอย่างสูงในการควบคุมและจับตารถยนต์ที่เข้าประชันความเร็วกัน
ทั้งนี้ เห็นได้จากตัวอย่าง อาทิ ทีม "Williams-BMW" มีสปอนเซอร์หลักคือ
คอมแพคซึ่งสนับสนุนทางด้านไอทีให้กับทีมรถแข่ง ขณะเดียวกันคอมแพคก็อาศัยทีมดังกล่าวในการสร้างภาพพจน์ผ่านงานโฆษณาในสื่อต่างๆ
มัตสุชิตะเป็นผู้สนับสนุนหลักของทีม Toyota F1 โดยหวังว่าจะสร้างภาพพจน์ให้กับกิจการ
"พานาโซนิค อิเล็กทรอนิก" ในยุโรป จึงส่งทีมวิศวกรเข้าไปช่วยทางด้านการสื่อสาร
บริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่ "Orange" ให้การสนับสนุนด้านโนว์ฮาวเกี่ยวกับการสื่อสารไร้สายให้กับทีม
"Arrows" เพื่อแลกกับการที่รถแข่งดังกล่าวใช้สีส้มเป็นสีของตัวถังรถ
บริษัทข้อมูล EMC ของสหรัฐฯ ร่วมมือกับโตโยต้าทางด้านข้อมูล โดยที่รถของทีมโตโยต้ายอมให้ติดตั้งเครื่องตรวจวัดความเร็ว
100 ตัว เพื่อบันทึกข้อมูลในระหว่างการแข่งขัน
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งที่ชี้ให้เห็นแนวโน้มว่า ข้อมูลข่าวสารกำลังเข้ามาเกี่ยวข้องกับ
การแข่งรถมากขึ้นทุกขณะ ในประเด็นนี้ บอลเสริมอีกว่า "ถ้าไม่มีผู้ร่วมงานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลแล้ว
คุณก็ไม่มีทางไปอยู่แถวหน้าได้หรอก"