การเข้ารับตำแหน่ง รองกรรมการผู้จัด การธนาคารกสิกรไทย โดยดูแลรับผิดชอบสายงานวิภัชธุรกิจ
(Consumer Banking) ของ David Hendrix เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มิได้มีความ
หมายเพียงการยอมรับในประสบการณ์ และความสามารถของเขาเท่านั้น หากยังบ่งบอกถึงสัญญาณในการรุกเข้าสู่กิจกรรมการตลาดที่มีกลุ่มเป้าหมาย
เป็นลูกค้าขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงธุรกิจบัตรเครดิต และเครือข่ายสาขา
ทั่วประเทศของกสิกรไทยในคราวเดียวกันด้วย
เส้นทางการเติบโตของ David Hendrix ในธุรกิจสถาบันการเงินนับเป็นกรณีที่น่าสนใจไม่น้อย
เพราะหากพิจารณาจากภูมิหลังด้านการ ศึกษาแล้วจะพบว่า เขาไม่ใช่ผู้บริหารที่สำเร็จการศึกษาจาก
Business School ดังเช่นที่กำลังนิยมกันอยู่ในปัจจุบัน หากแต่หลังจากสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีจาก
University of Utah แล้ว เขาได้ศึกษาต่อจนได้รับปริญญาบัตร MALD จาก Fletcher
School of Law and Diplomacy แห่งมหาวิทยาลัย Tufts ในเมือง Boston รัฐ Massachusetts
ซึ่งนับเป็นสถาบัน ชั้นนำสำหรับนักกฎหมายและนักการทูตแห่งหนึ่งของโลก
ช่วงปี 1969-1973 เขาได้รับราชการเป็นส่วนหนึ่งของ U.S. Marine Corps.
ก่อนที่จะเริ่มเส้นทางอาชีพในแวดวงการเงินการธนาคาร กับ Citibank ในตำแหน่ง
Assistant Vice President ประจำการอยู่ในฮ่องกง
David Hendrix ใช้เวลาส่วนใหญ่ในช่วงระหว่างปี 1973-1986 รับผิดชอบงานในตำแหน่ง
หลากหลายเพื่อดูแลกิจกรรมของ Citibank ในเขต Greater China ซึ่งนับรวมตั้งแต่
Hong Kong, Macau, จีน และไต้หวัน ก่อนที่ในช่วงปลาย ของปี 1986-1995 เขาจะได้รับการโยกย้ายให้ดำรงตำแหน่ง
General Manager และ CCO ของ Citibank ในประเทศไทย
ระยะเวลา 8-9 ปีในประเทศไทยนานพอที่จะบ่มเพาะให้เขาเกิดความรู้สึกผูกพัน
โดย หลังจากที่เขาได้รับการโยกย้ายให้ไปดำรงตำแหน่ง VP และ GCB Country Head
ของ Citibank Taiwan ได้เพียง 1 ปี ในเดือนเมษายน 1997 เขาก็กลับมาเมืองไทยอีกครั้งโดยเข้าร่วมงานกับธนาคารเอเชีย
ในตำแหน่ง Executive Vice President รับผิดชอบกลุ่มงาน consumer banking
ของธนาคารแห่งนี้
ช่วงเวลาดังกล่าวนี้เองที่ David Hendrix ได้แสดงความจัดเจนในธุรกิจ consumer
banking ให้เห็นอย่างเด่นชัดอีกครั้ง ด้วยการรุกเข้าไปเปิด สาขาย่อยและให้บริการตู้
ATM ในพื้นที่ของห้าง สรรพสินค้าและ Supercenter-Supermarket อย่าง หลากหลาย
ซึ่งนับเป็นกิจกรรมเชิงรุกที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักของธนาคารเอเชีย
กระนั้นก็ดี วันเวลาของ David Hendrix ในธนาคารเอเชีย มิได้ยั่งยืนมากนัก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ ABN AMRO ได้เข้ามาซื้อกิจการในช่วงปี 1998 พร้อมกับนโยบายที่มุ่งเน้นไปสู่การเป็น
Wholesale Banking มากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งเมื่อพ้นจากภาระผูกพันของสัญญาการซื้อขายหุ้นธนาคารเอเชียที่กำหนดว่า
ห้ามผู้บริหารของ ธนาคารเอเชียลาออกจากตำแหน่งในช่วงระยะ 3 ปีแรกของการควบรวมกิจการ
ก็ถึงคราวของ David Hendrix ในการแสวงหาที่ทำงานใหม่ที่เปิดโอกาสให้เขาได้แสดงฝีมืออีกครั้ง
ธนาคารกสิกรไทย กลายเป็นคำตอบที่ลงตัวสำหรับ David Hendrix ในห้วงยามเช่นนี้
เขาได้รับการกล่าวถึงในฐานะที่เป็นอีกหนึ่งในหลากหลายความภาคภูมิใจของ บัณฑูร
ล่ำซำ แต่อาจจะเป็นการด่วนสรุปจนเกินไปว่าเขาจะเป็นจักรกลสำคัญ ในการขับเคลื่อนธุรกิจรายย่อยของธนาคารที่มีรากฐานมั่นคงมากแห่งนี้
ในการแถลงข่าวการเข้ารับตำแหน่งเมื่อ ไม่นานมานี้ David Hendrix กล่าวไว้อย่างน่าสนใจตอนหนึ่งว่า
สถาบันการเงินแต่ละแห่งอาจมีวัฒนธรรมและจารีตที่แตกต่างกันบ้าง ในรายละเอียด
แต่โดยองค์รวมแล้วทุกแห่งมีเป้าหมายใกล้เคียงกัน สิ่งที่น่าสนใจก็คือในช่วงที่ผ่านมาธนาคารไทยหลายแห่งได้ว่าจ้างบริษัท
ที่ปรึกษาจากต่างประเทศให้ทำการศึกษาวิจัย ซึ่งล้วนแต่มีบทสรุปที่ดี แต่ที่น่าผิดหวัง
ก็คือไม่สามารถนำมาปฏิบัติให้เหมาะสมกับภาวะแวด ล้อมของท้องถิ่นได้
"หน้าที่ของผมก็คือนำประสบการณ์ที่มี ผสานเข้ากับผลการวิจัยที่มีประโยชน์ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
ภายในกำหนดเวลาที่รวดเร็ว ซึ่งนับเป็นความท้าทายที่มีความสำคัญที่สุดในตำแหน่งนี้"
บทบาทและความรับผิดชอบของเขาในธนาคารกสิกรไทยในช่วงเวลานับจากนี้ จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจติดตาม
ซึ่งสิ่งที่เขาตระหนักเป็นอย่างดีก็คือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ล้วนแต่ดำเนินไปท่ามกลางเงื่อนเวลา
และความเข้าใจระหว่างตัวเขากับทีมงานที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น