หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล เป็นคลื่นลูกใหม่ในวงการภาพยนตร์ไทยที่มาแรงตั้งแต่
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นยุค ที่ดอกไม้แห่งเสรีภาพกำลังเบ่งบาน
หนัง วิพากษ์สังคมอย่างเรื่อง "เขาชื่อกานต์" ซึ่งสร้างจากนวนิยายรางวัล
สปอ. ของสุวรรณี สุคนธา ก็เลยประสบความสำเร็จอย่างมาก
หลังจากนั้นภาพยนตร์ในแนวนี้ของท่านก็ไม่เคยสร้างความผิดหวังให้กับคนดูเลย
เช่นเรื่อง "ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น" "อุกาฟ้าเหลือง", "ครูสมศรี",
"มือปืน" และยังมีหนังดีๆ อีกหลายเรื่องที่แฟนหนังไม่เคยพลาดเช่นเรื่อง
"เสียดาย", "กล่อง" ที่ตามมาเรื่อยๆ ด้วย
และล่าสุดเรื่องราวที่มี "ปมแห่งประวัติศาสตร์" ก็เกิดขึ้น "สุริโยไท"
ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ เป็นผลงานครั้ง ยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของท่านที่กำลังฉายอยู่ในวันนี้
5 ปีในการค้นคว้าข้อมูล 3 ปีในการใช้เวลาถ่ายทำด้วยเม็ดเงินไม่ต่ำ 300
ล้านบาท โดยผีมือนักแสดงชั้นนำของเมืองไทย หลายต่อหลายคนที่อยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง
ของหนังประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับการรวม พลังของผู้กำกับชั้นครูยุคนี้ในเมืองไทยอีกหลายคน
เช่น เปี๊ยก โปสเตอร์, นนทรีย์ นิมิบุตร, อดิเรก วัฎลีลา
และยังได้ทุ่มทุนจ้างมืออาชีพในด้าน ต่างๆ ในวงการภาพยนตร์โลก มาร่วมงานด้วย
เช่น Igor Luther (อิกอร์ ลูเธอร์) ตำแหน่ง Director of Photography, Conrad
Bradley Slater ตำแหน่ง Sound Recorder เพลงประกอบภาพยนตร์โดย Richard Harvey
ชาวอังกฤษ ซึ่งจะนำเอาเครื่องดนตรีสากลวงออร์เคสตาร์ขนาดใหญ่ มาผสมผสานกันอย่างกลมกลืนกับเครื่องดนตรีไทย
การว่าจ้างชาวต่างชาติมาร่วมงานด้วยในครั้งนี้ท่านให้เหตุผลว่าอยากให้หนังมี
อารมณ์เป็นอินเตอร์ เพราะเป็นการเล่าเรื่องโดยฝรั่งชาวโปรตุเกส และเพื่อทำให้คนไทยในกองถ่ายได้มีโอกาสเรียนรู้งานจากมืออาชีพจริงๆ
ซึ่งการมีทีมงานต่างประเทศมาทำงานด้วยก็เหมือนจ้างเขามาสอนเรา
จุดมุ่งหมายของการสร้างหนังเรื่องนี้ ท่านมุ้ยกล่าวว่าไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อความแม่นยำทางประวัติ
ศาสตร์แต่ต้องการ สร้างให้คนไทยได้รู้ถึงประวัติศาสตร์ได้ลึกซึ้งกับรากของตนเอง
"เป็นหนังฟอร์ม ยักษ์ที่อาจจะไม่ยากนัก สำหรับชาวต่างประเทศ ที่มีพร้อมทั้งเงินทุนและเครื่องมือ
แต่มันแสดง ให้เห็นว่าคนไทยก็ทำได้เหมือนกัน ถ้าถามว่าหนังดีๆ อย่างนี้หวังการทำเงินในตลาดต่างประเทศไหม
ผมยอมรับว่าผมคาดหวังไว้ระดับหนึ่งเหมือนกัน" ม.จ.ชาตรีเฉลิม กล่าวกับ
"ผู้จัดการ" เมื่อวันไปร่วมงานกับธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งเป็นสปอนเซอร์ในการสร้างหนังรายหนึ่ง
หนังไทยกำลังไปได้ดีในต่างประเทศ สุริโยไทเองก็ถูกวางแผนบุกตลาดต่างประเทศ
ตั้งแต่ต้น โดยท่านมุ้ยจะเป็นคนเดินทางไปพบกับตัวแทนสายหนัง ด้วยตัวเองซึ่งมีทั้งที่ติดต่อมาและเป็นผู้ติดต่อไป
การเดินสายเอง ในฐานะผู้กำกับจะสามารถอธิบายได้ดีกว่าคนอื่นๆ ได้มีการส่งตัวอย่างหนังไปให้ดู
เอา หนังไปฉายโชว์ตามงานประกวดหนังในประเทศต่างๆ ด้วย เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแรกของ
ท่านในการนำไปฉายต่างประเทศ "ทองพูน โคกโพ" ก็เคยนำไปฉายในต่างประเทศแล้วเช่นกัน
สำหรับการทำตลาดในเมืองไทยได้มอบหมายให้ทีมงาน ของสหมงคลฟิล์มเป็นคนทำการประชาสัมพันธ์
เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่มีการจัดทำ เว็บไซต์ www.suriyothai.mweb.co.th
ซึ่งถูกดีไซน์ อย่างสวยงาม เสียงเพลงอันกระหึ่มเร้าใจที่ออกมาพร้อมกับอักษรวิ่งที่ปรากฏต่อ
สายตาว่า "476 ปี...ปมแห่งประวัติศาสตร์ ความขัดแย้งแห่งราชบัลลังก์ หนึ่งวีรสตรีหาญกล้า
พลิกหล้าดับร้อน แผ่นดินเพลิง" หลังจากนั้น ก็จะค่อยๆ มีภาพลายเส้นรูปพระสุริโยไทบนคอช้างอันเป็นโลโก
ของหนังเรื่องนี้ขึ้นมา เว็บนี้ออกมาอุ่นเครื่องเรียก ความสนใจก่อนหนังฉายหลายเดือน
โดยแบ่งหมวดหมู่ของเรื่องราวต่างๆ เอาไว้ มีทั้งเค้าโครงเรื่อง ความเป็นมา
รายละเอียดของนักแสดง มีเบื้องหน้าเบื้องหลังของการถ่ายทำ ฉากสำคัญ คำถามจากคนอ่าน-คำตอบจากทีมงาน
และข่าวคราวความคืบหน้า ต่างๆ ที่น่าติดตามตลอดเวลา
หม่อมกมลา ยุคล ณ อยุธยา ในตำแหน่ง Executive Producer ของภาพยนตร์ สุริโยไท
และในฐานะภรรยาเล่าว่า ต้องยอม รับว่าหนังเรื่องนี้เป็นที่สุดของท่านมุ้ย
ทั้งเหนื่อย ทั้งลำบาก และใช้เวลานานที่สุดเพราะเป็นภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ที่ต้องลงทุนสูงในทุกเรื่อง
เช่น เสื้อผ้าตัวประกอบ ทุกอย่างต้องศึกษาค้นคว้า ค้นหาและจัดทำขึ้นมาสมจริงที่สุด
ไม่ได้นึกฝันจากจินตนาการ แต่ต้องมีทีมงานศึกษาจากหลักฐานภาพเขียน สีในสมัยอยุธยาตอนปลาย
จากปราสาทหิน ลวดลายปูนปั้นมาก่อน เช่นเดียวกันกับเรื่องสร้างฉากที่ต้องใช้เวลาในการศึกษา
และสร้าง เองใหม่หมด
ม.จ.ชาตรีเฉลิม เป็นเชื้อพระวงศ์ที่คลุกคลีอยู่ในกองถ่ายตั้งแต่ยังเล็กๆ
เนื่องจาก
เสด็จพ่อและหม่อมแม่คือผู้บุกเบิกภาพยนตร์ ไทยและก่อตั้งบริษัทละโว้ภาพยนตร์
ซึ่งผลิต ภาพยนตร์เรื่องแรกใน พ.ศ.2481
เรื่องราวในชีวิตมีสีสัน และมีรสชาติอย่างมากๆ ท่านเคยเขียนประวัติให้หนังสือแพรวสุดสัปดาห์
ชื่อ "เจ้าพเนจร" ออกตีพิมพ์เป็นรายสัปดาห์ น่าเสียดายที่ไม่ยอมเขียนต่อจนจบ
แต่ทำให้ทุกคนรู้ว่าท่านเป็นคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายมาก
ด้วยหัวใจที่รักหนังไทย และมุ่งมั่นในการทำหนังไทยดีๆ ถึงแม้ว่าในวัย 59
ปีนี้ จะมีปัญหาเรื่องสุขภาพอยู่บ้าง ก็ยังบอกว่าจะหยุดทำหนังไทยก็ต่อเมื่อหมดแรง
และ เตรียมดูหนังฟอร์มใหญ่จากท่านได้ในเรื่องต่อไปคือ "เพชรพระอุมา"
บทประพันธ์ที่ลือลั่นของพนมเทียน