ชีวิตของธีรพงศ์ จันศิริ ได้ถูกกำหนดมา ตั้งแต่ยังเล็กๆ แล้วว่าต้องเป็นผู้สืบทอดกิจการ
โรงงานอาหารทะเลส่งออก ที่พ่อของเขา ไกรสร จันศิริ ก่อตั้งขึ้น
ธีรพงศ์ จัดเป็นคนหนุ่มที่สามารถก้าวขึ้น เป็นผู้บริหารกิจการซึ่งมียอดขายระดับ
2 หมื่นล้านบาท ได้อย่างรวดเร็ว เขาขึ้นเป็นประธานกรรมการบริหาร บริษัทไทยยูเนี่ยน
โฟรเซ่น โปรดักส์ (TUF) ในช่วงที่เพิ่งมีอายุครบ 30 ปีพอดี
ความที่เขาต้องติดตามบิดาเข้าไปคลุก คลีอยู่ในโรงงานตั้งแต่เด็ก เขาจึงเป็นคนที่เข้าใจ
ระบบการทำงานในโรงงาน สามารถผสมผสานประสบการณ์ทำงานของคนรุ่นพ่อ เข้ากับความรู้
ทางวิชาการของธุรกิจในยุคปัจจุบันได้อย่างกลม กลืน "ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่ต้องทำงานหนัก
มือต้องเลอะไม่สวยงาม" เขาบอก
ขณะเดียวกัน ก็ต้องมีมุมมองทางธุรกิจทั้งในด้านกว้าง และด้านลึก
ช่วงที่ประเทศไทยประสบกับปัญหาวิกฤติค่าเงิน แต่เขากล้าตัดสินใจนำ TUF
ออกไปเทกโอเวอร์กิจการหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา เพื่อแก้ปัญหาเรื่องตลาดส่งออก
ภายในประเทศ เขาก็มีการเทกโอเวอร์กิจการผลิตผักและผลไม้กระป๋อง เพื่อขยายสายการผลิตให้กว้างขึ้น
แม้ TUF จะมีการลงทุน ซื้อกิจการเป็นจำนวนมาก แต่กิจการที่ซื้อมาทั้งหมด
ก็อยู่ในสายการผลิตเดียวกัน ไม่ได้แตกไลน์ออกไปเหมือนการขยายตัวของธุรกิจอื่นในช่วงก่อนฟอง
สบู่แตกที่ชอบทำกัน และการขยายตัวของ TUF แต่ละครั้ง ใช้เงินจากเงินทุนหมุนเวียนในบริษัทเป็นหลัก
พยายามหลีกเลี่ยงการกู้มากที่สุด
แนวทางนี้ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เขาถูกปลูกฝังไว้ตั้งแต่เด็ก จากพ่อของเขา
"ถ้าเราจำเป็นต้องกู้ ก็เพื่อนำเงินเข้ามาใช้หมุนเวียนในบริษัท"
แม้การขึ้นเป็นผู้บริหารสูงสุดใน TUF จะเป็นการรับช่วงการบริหารต่อจากบิดา
แต่เขาก็สามารถพิสูจน์ผลงานให้เห็นได้ว่าทิศทางเดินของ TUF ในยุคของเขานั้นถูกต้อง
ผลประกอบการปีที่แล้ว TUF มียอดขาย 19,808 ล้านบาท และมีกำไร 1,509 ล้านบาท
ส่วนในไตรมาสแรกของปีนี้ มีกำไรสุทธิ 476.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกัน
ของปีก่อน
ปัจจุบันหุ้น TUF ในตลาดหลักทรัพย์ฯ กลายเป็นหุ้นบลูชิปตัวหนึ่ง ที่กองทุนต่างชาติจำเป็นต้องซื้อเก็บเข้าไว้ในพอร์ต